“สนามหลวง” พื้นที่ร่วมกันของหลวงกับราษฎร เคยมีสนามกอล์ฟ-ร.5 โปรดให้ปลูกต้นมะขามโดยรอบ

กรีนปักธงขาว อยู่ตรงศาลสถิตยุติธรรม

สนามหลวงอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีมาแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดิน ร.1

เป็นบริเวณที่โล่งจัดไว้อย่างเดียวกับสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ชั้นสูง ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ”

ต่อมา ร.4 โปรดให้เรียก “ท้องสนามหลวง” เนื้อที่เดิมมีอยู่เพียงครึ่งเดียวของสนามหลวงปัจจุบัน

เมื่อยกเลิกวังหน้าในแผ่นดิน ร.5 ได้ขยายเนื้อที่ออกไปอีกครึ่งหนึ่งแล้วแต่งเป็นรูปไข่และปลูกต้นมะขาม 2 แถวโดยรอบ (อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน)

พื้นที่โล่งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ยังไม่ทำเป็นรูปโค้งเรียก “สนามหลวง” อย่างทุกวันนี้ (แผนที่กรุงเทพฯ ทำในแผ่นดิน ร.5)

จับกบทุ่งพระเมรุ

ถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าราวหนองบึงที่ชุมนุมของสารพัดสัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหารของไพร่บ้านพลเมืองที่ถูกเกณฑ์จากสงคราม ดังมีในเนื้อร้องเพลงลาวแพน (เวียงจันท์) น่าจะแต่งในสมัย ร.5

เพลงลาวแพนมีคำร้องแรกสุด 2 ชุด มีเนื้อความต่างกัน เรียกลาวแพน (พระลอ) ประกอบละครเรื่องพระลอ กับลาวแพน (เวียงจันท์) พรรณนาเหตุการณ์สงครามตีได้เวียงจันท์ (แล้วเผาทิ้ง) สมัย ร.3

ลาวแพน (เวียงจันท์) พรรณนาเชลยลาวถูกไทยกวาดต้อนจากเวียงจันท์ลงไปกรุงเทพฯ (สมัยนั้นยังเรียกอยุธยาเป็นชื่อเก่าตกค้าง) มีชีวิตอดๆ อยากๆ ลำบากลำบนแสนสาหัส ข้าวปลาอาหารขาดแคลน ถ้าหน้าฝนมีฝนตกก็ไปจับกบทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) มาต้มกินแกล้มเหล้า

ถูกทำเป็นรูปโค้งในสมัยหลัง (แผนที่กรุงเทพฯ ทำในแผ่นดิน ร.6)

สนามหลวงสมัยแรกถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่โล่งกลางกรุง (รกร้างเหมือนหนองบึงบุ่งทามในอีสาน) แหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของไพร่บ้านพลเมือง หลังจากนั้นถูกใช้เป็นพื้นที่ของ “ผู้ดี” เป็นสนามกอล์ฟ, สนามแข่งว่าว, สนามแข่งม้า, การสวนสนามของทหาร ฯลฯ

สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน เป็นที่ “ติดตลาดนัด” เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ (ก่อนย้ายไปวังสราญรมย์ และต่อจากนั้นย้ายไปสวนจตุจักร) ส่วนวันธรรมดาเป็นที่มีกิจกรรมของประชาชน เช่น เช่าจักรยานขี่เล่น, เช่าจักรยานหัดขี่ (เพราะขี่ไม่เป็น), เล่นกลขายยา, หมอดู, ขายน้ำอัดลมใส่น้ำแข็ง, ขายปลาหมึกปิ้ง ฯลฯ หน้าร้อนเมษายนมีเล่นว่าว, แข่งตะกร้อลอดบ่วง, ออกร้านอาหารมีสุราเบียร์ ฯลฯ

สนามหลวงเคยมีชีวิตและวิญญาณทางการเมืองสมัยใหม่ เริ่มจากแป็นแหล่ง “ไฮด์ปาร์ก” (เลียนแบบอังกฤษ) แสดงความคิดเห็นทางการเมือง, เป็นแหล่งชุมนุมหาเสียงทางการเมือง, เป็นที่ชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ท้ายที่สุดยังเป็นศูนย์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ฯลฯ

ทุกวันนี้สนามหลวงถูกริบเป็นสมบัติรัฐราชการรวมศูนย์ แล้วกีดกันประชาชนพลเมืองมิให้ใช้งานสาธารณะเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน 

 

ท้องสนามหลวงสมัย ร.5 ยังไม่ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง (ภาพกองทหารสวนสนามน่าจะถ่ายราว พ.ศ. 2436 จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พ.ศ. 2436 เปิดเผยแสนยานุภาพของกองทัพสยามในกรณี ร.ศ. 112) (คำอธิบายภาพ โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)
ท้องสนามหลวงสมัย ร.5 ยังไม่ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง (ภาพกองทหารสวนสนามน่าจะถ่ายราว พ.ศ. 2436 จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พ.ศ. 2436 เปิดเผยแสนยานุภาพของกองทัพสยามในกรณี ร.ศ. 112) (คำอธิบายภาพ โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

ท้องสนามหลวงกว้างขวางกว่าเดิม แล้วปลูกต้นมะขามโดยรอบ มีขึ้นสมัย ร.5 ต่อจากนั้นพัฒนาสืบมาอย่างต่อเนื่อง จะสรุปจากงานศึกษาค้นคว้าของ เทพชู ทับทอง มาดังต่อไปนี้

ร.5 โปรดให้รื้อกำแพงป้อมปราการที่ไม่สำคัญของวังหน้าทางด้านทิศตะวันออก คงไว้แต่ที่สำคัญๆ กับรื้อสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่มีมาแต่รัชกาลก่อนๆ ท้องสนามหลวงจึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกถึงเท่าตัว

โปรดให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา

เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 (จุลศักราช 1244) สมัย ร.5 ก็ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตราอย่างใหญ่ มีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนเท้า ส่วนรอบท้องสนามหลวงก็ปลูกโรงไทยทานสำหรับเลี้ยงพระเลี้ยงไพร่ตลอดงาน

นอกจากนั้นยังจัดให้มี “นาเชนนัล เอกซฮิบิเชน” การแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยให้ราษฎรได้ชมเป็นเวลาถึง 3 เดือนอีกด้วย

หลังจากที่ ร.5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ก็ได้มีพวกข้าราชการ ฯลฯ มาเฝ้ารับเสด็จบริเวณท้องสนามหลวงหลายครั้ง

พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) ร.5 มีพระชนมพรรษา 50 พรรษา ทรงจัดให้มีพระราชกุศลนักขัตฤกษ์เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาที่ท้องสนามหลวงด้วยส่วนหนึ่ง โดยพระองค์และมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พลับพลาให้ประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าเฝ้าถวายพระพรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน

งานสนุกๆ ที่ท้องสนามหลวง

งานใหญ่ๆ ที่สนุกสนานมากซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวงใน ร.5 ยังมีอีก 2 งาน คือ

เล่นโขนกลางแปลงรับเสด็จ ร.5 กลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ดัดแปลงท้องสนามหลวงให้เป็นบ้านเมืองและเป็นป่า

งานสงครามบุปผาชาติแต่งแฟนซี และตกแต่งรถจักรยานสองล้อด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ แล้วขี่ขว้างปากันด้วยกระดาษลูกปาและกระดาษสายรุ้ง ซึ่ง ร.5 ทรงจัดรับเสด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ประเทศรัสเซีย เสด็จกลับประเทศไทยชั่วคราวเมื่อ พ.ศ. 2442

ปลายสมัย ร.5 กีฬาว่าวท้องสนามหลวงเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่เจ้านายและข้าราชการตลอดจนพ่อค้าประชาชน ถึงขนาดมีการแข่งขันชิงถ้วยทองคำพระราชทาน สนามหลวงยังเคยเป็นสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟ

สืบเนื่องจาก ร.5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรป ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมต่างก็พร้อมใจกันจัดให้มีงานฉลองน้อมเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดีต่างๆ

ส่วนการเล่นกอล์ฟนั้น ก็เริ่มต้นที่ท้องสนามหลวงเหมือนกัน เพราะสมัยนั้นมีสนามขนาดใหญ่อยู่ใกล้กันเพียง 3 สนามเท่านั้น คือสนามหลวง สนามสถิตย์ยุติธรรม และสนามไชย เจ้าพระยามหินทร์เล่าว่าพวกข้าราชการที่เป็นชาวต่างประเทศที่ชอบเล่นกอล์ฟ ได้อาศัยสนามทั้ง 3 นี้รวมกันทำเป็นสนามกอล์ฟเล่นได้ 9 หลุมพอดี

กรีนปักธงขาว อยู่ตรงศาลสถิตยุติธรรม