ปริศนาโบราณคดี : ‘ตู้ไปรษณีย์โบราณทรงมงกุฎ’ ความภูมิใจแบบไทยๆ ที่ไม่ได้มาจากไทย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ณ ยุคนี้ กระแสอาการกระสันหา “ของสะสมในอดีต” ได้กลายเป็นรสนิยมวิไลของชนชั้นกลางไปเรียบร้อยแล้วแบบเนียนๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยสงวนไว้จำเพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น

“ตู้ไปรษณีย์โบราณ” ก็เป็นหนึ่งในกลิ่นอาย เครื่องกระตุ้นเตือนความทรงจำอันแสนงามที่ผู้คนอยากเรียกร้องให้มันหวนคืนกลับมา

ดังเห็นได้จากการปรากฏของตู้ไปรษณีย์โบราณจำนวนไม่น้อยที่ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วจัดวางตามสถานที่ “ย่านเก่าเล่าเรื่อง” ทั้งหลายแหล่ อาทิ สามชุก อัมพวา เบตง คลองสวน ฯลฯ

แต่เบื้องหลังอารมณ์ Nostalgia ที่หลายคนคิดว่าวัตถุเหล่านั้นช่วยตอกย้ำ “ความเป็นคนไทย ไท้ ไท” นั้น ควรจะสำเหนียกไว้บ้างว่า เอาเข้าจริงแล้ว มันคือผลพวงการตกค้างของลัทธิล่าอาณานิคม

ปริศนาตู้ไปรษณีย์สีแดง สวมมงกุฎรูปถ้วย

ตู้ไปรษณีย์โบราณมีหลายรูปทรง แต่รุ่นที่กำลังจะกล่าวถึงนั้น มีความเก๋ไก๋ไฉไลเตะตากว่ารุ่นอื่นๆ เนื่องจาก ไม่ได้ทำเป็นทรงเหลี่ยมเหมือนรุ่นอื่นๆ แต่กลับทำเป็นทรงกระบอกกลมรอบตัว

แถมตอนบนหลังคาของตู้ไปรษณีย์ ยังทำเป็นรูปถ้วยบานออกคล้ายมงกุฎอีกด้วย ชวนให้สงสัยยิ่งนักว่ามีที่มาอย่างไร

ตู้ไปรษณีย์ทรงกลมเหล่านี้หล่อด้วยเหล็กหนักอึ้ง ระบายสีสามสีมาตรฐานที่ใช้กับตู้ไปรษณีย์มาจวบทุกวันนี้ คือพื้นสีแดง และตกแต่งด้วยสีขาวกับดำ เฉพาะส่วนที่สำคัญเท่านั้น เช่น ตราครุฑ จึงจะมีการปิดทองให้โดดเด่น

ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3-1.8 เมตร ภายใต้มงกุฎรูปถ้วย ตกแต่งเป็นขอบสันชักปีกกว้างที่มองเผินๆ คล้ายจานรองถ้วยน้ำชา แท้จริงเป็นเครื่องป้องกันน้ำฝน เนื่องจากถัดลงมาเป็นส่วนของกล่องไปรษณีย์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแนวตั้ง มีช่องสำหรับหย่อนซองจดหมาย

สำหรับตู้ไปรษณีย์ในภาพประกอบนี้ ตั้งอยู่ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ถนนวังซ้าย (ด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) มีเสน่ห์อยู่ที่การใช้ลายมือเขียน ไม่ได้ใช้ตัวพิมพ์

พบว่าแผ่นสีขาวที่ตีตารางเป็นช่องๆ นั้นเขียนรายละเอียดว่า “หนังสือ” กับ “เวลาไข” ระบุว่าจะมีการไขพัสดุไปรษณีย์สามช่วงได้แก่ “เช้ารุ่ง-6 A.M.” “เช้าถึง 4 โมง-10 A.M.” และ “บ่ายถึงสองโมง-14 A.M.” (มีการใช้ตัวเลขสองแบบคือทั้งไทยและอารบิก) มีประตูเปิดล็อกอยู่ด้านข้างกล่อง

ใต้กล่องข้อความ เป็นรูปวงไข่สีขาว เขียนสีทองด้วยรูปครุฑ ขาข้างหนึ่งมีโซ่ร้อยรัดสาส์นตรา คล้ายม้วนหนังสืออยู่ด้านล่าง พร้อมตัวอักษรเขียนว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงไปรษณีย์ตอนล่างของส่วนฐานระบายสีดำ

ลักษณะตู้ไปรษณีย์เช่นนี้ จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ไปรษณียากรที่สามเสน ระบุว่าเป็นตู้ไปรษณีย์โบราณรุ่นที่สองที่ปรากฏขึ้นในประเทศไทย

โดยตู้ไปรษณีย์รุ่นเก่าแก่ที่สุดหรือรุ่นแรกของสยามนั้นเป็นทรงหลี่ยม ตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรแบบที่เรียกว่า Classic Victorian ทำขึ้นในประเทศอังกฤษสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย รัชกาลที่ 5 ทรงรับมอบจากรัฐบาลเยอรมันตั้งแต่เมื่อแรกเปิดกิจการไปรษณีย์ในปี พ.ศ.2426 เนื่องจากมีชาวเยอรมันจำนวนมากได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและวางรากฐานกิจการด้านการโทรคมนาคมและการไปรษณีย์ให้แก่ราชสำนักสยาม

ต่อมาเมื่อพระนางเจ้าวิกตอเรียของสหราชอาณาจักรจัดพิธีเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบรอบ 60 ปี หรือที่เรียกว่า Golden Jubilee (กาญจนาภิเษก) ในปี ค.ศ.1887 ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบของตู้ไปรษณีย์จากทรงเหลี่ยมคลาสสิค มาเป็นทรงกระบอกกลมอันเป็นสัญลักษณ์ของเสาหรือหมุดปักแบบ Pillar Box

ความหมายแห่ง Pillar Box
เสาหมุดยุคล่าอาณานิคม

หลังคาตอนบนของตู้ไปรษณีย์รุ่น Pillar Box ที่ดูคล้ายถ้วยน้ำชานั้น แท้ที่จริงเป็นรูปมงกุฎ Her Majesty the Queen’s Crown หมายถึงสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองการครองราชย์อันยาวนาน

ตอนล่างในตำแหน่งที่สยามเปลี่ยนมาใช้ตราครุฑถือพระราชสาส์นนั้น ในอังกฤษเขาทำรูป Royal Arms ตราประจำของกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร หรืออักษรย่อของกษัตริย์แต่ละพระองค์ เช่น VR มาจาก Victoria Regina (Regina เรยีนา ภาษาอิตาเลียนหมายถึงพระราชินีหรือ Queen)

จากนั้นได้มีแนวความคิดที่จะนำรูปแบบตู้ไปรษณีย์เช่นนี้ไปเผยแพร่ยังดินแดนอาณานิคมทุกแห่งในเครือจักรภพอังกฤษ เริ่มจากประเทศยิบรอลตาร์เป็นชาติแรก

ถัดมาก็พบในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไซปรัส อินเดีย ฮ่องกง สาธารณรัฐไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์

ขยายไปยังกลุ่มตะวันออกกลางโพ้นทะเล เช่น ปาเลสไตน์ บาห์เรน ดูไบ คูเวต โมร็อกโก ชำแรกแทรกซึมมาสู่ประเทศในเครืออาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส เช่น กลุ่มละตินอเมริกาใต้แถบอาร์เจนตินา อุรุกวัย ฯลฯ

อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการปักหมุดเสาอันมั่นคงแข็งแรงของราชวงศ์อังกฤษต่อประเทศอาณานิคม จึงมีการเรียกขานรูปแบบตู้ไปรษณีย์เช่นนี้ในประเทศต่างๆ ว่า Royal Pillar Mail Boxes รูปทรงเช่นนี้ยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงกษัตริย์องค์ต่อๆ มาได้แก่ พระเจ้า Edward VII, George V, Edward VIII, George VI and Elizabeth II

มงกุฎเสาวิกตอเรียเข้าสู่สยามได้อย่างไร

ตู้ไปรษณีย์ทรง “มงกุฎเสา” (Royal Crown Pillar Mail Boxes) พบในประเทศไทยเช่นกัน ถือว่าเป็นตู้ไปรษณีย์ที่ร่วมสมัยกับตู้ไปรษณีย์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกมากกว่า 150 ประเทศ ณ ยุคสมัยหนึ่ง

และจากข้อมูลของผู้สันทัดกรณีด้านนี้ยืนยันว่า ยังคงหลงเหลือตู้ไปรษณีย์ทรงมงกุฎเสาเช่นนี้ประมาณ 100,000 แห่งทั่วโลก

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ชาวอังกฤษได้เปิดโรงงานผลิตตู้ไปรษณีย์ที่ประเทศสิงคโปร์ จึงเชื่อกันว่าตู้ไปรษณีย์โบราณทรงมงกุฎเสาที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยจำนวนประมาณ 20-30 ใบนั้น เช่นที่สามชุก สุพรรณบุรี แยกหอนาฬิกา อ.เบตง จ.ยะลา (มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือฐานมีความสูง ถึง 1.30 เมตร เส้นรอบวง 1.60 เมตร ส่วนตู้สูง 2.90 เมตร เส้นรอบวง 1.40 เมตร) รวมทั้งที่ลำพูนใบนี้ น่าจะสั่งทำขึ้นจากประเทศสิงคโปร์มากกว่าสั่งตรงจากประเทศอังกฤษ และเริ่มมีแพร่หลายในสยามตั้งแต่ พ.ศ.2454 เป็นต้นมา

จนกระทั่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ได้มีการสร้างตู้ไปรษณีย์ขนาดเล็กแบบทรงแบนๆ วางบนแท่งเสาทั่วราชอาณาจักรไทย

และจากนั้น ปี พ.ศ.2516 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตู้ไปรษณีย์ครั้งใหญ่ทั่วประเทศด้วยรูปทรงที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน