เสวนาอ่านหนังสือ ‘คนดีเมืองเหนือ’ เปิดตัวกองทุน ‘สงวน โชติสุขรัตน์’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ทายาทของ “อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ทำพิธี “ทานสะเปาคำ” หรือส่งดวงวิญญาณครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้วายชนม์ ได้ก้าวข้ามห้วงมหานทีไปสู่อีกปรโลกหนึ่งอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปนานมากถึง 48 ปี

งานนี้จัดขึ้นที่ “บ้านปราชญ์ล้านนา” เยื้องวัดพระนอนขอนตาล บ้านแม่ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อันเป็นนิวาสสถานของ คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์ ลูกสาวคนโตท่านอาจารย์สงวน ที่อุทิศพื้นที่ให้เป็นห้องสมุดรวบรวมจัดเก็บผลงานหนังสือ ภาพถ่าย และเอกสารลายมือเขียนของคุณพ่อ โดยยินดีเปิดบริการประชาชน

ภาคบ่ายของวันนั้นมีกิจกรรมสำคัญคือ การล้อมวงเสวนาวิเคราะห์เจาะลึกทุกประเด็นเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” เอกสารโบราณฉบับสำคัญยิ่งที่มีการถอดความปริวรรตโดยนักวิชาการหลายคนหลายสำนวน ซึ่งอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ เอง ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่อ่าน แปลและถอดความ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” จากต้นฉบับอักษรธัมม์ล้านนาอย่างขะมักเขม้น และปัจจุบันมีการพิมพ์ใหม่อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา

เนื้อหาที่ได้จากการเสวนามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ดิฉันจักได้นำเสนอให้อ่านกันในฉบับหน้า ฉบับนี้อยากพูดถึงผลพวงอีกชิ้นหนึ่งที่ได้จากการเสวนาในวันนั้นก่อน

นั่นคือ นักวิชาการทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส ทั้งรุ่นอาวุโสจนถึงรุ่นเยาว์ มีฉันทานุมัติว่าเห็นสมควรให้มีการจัดตั้ง “กองทุนสงวน โชติสุขรัตน์” ขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์หลักๆ สามประการ ดังนี้

1. เพื่อสนับสนุนทุนทำวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีล้านนา ให้แก่นักวิชาการในท้องถิ่น

2. เพื่อจัดประกวดบทความด้านประวัติศาสตร์ ทั้งแนวจารีตและทั้งแนวประยุกต์กึ่งนวนิยายร่วมสมัย อันเป็นการกระตุ้นให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ล้านนาไม่ห่างหายไปจากสงัคมไทย

3. เพื่อนำผลงานการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการในท้องถิ่น และบทความที่ชนะเลิศจากการประกวดมาเปิดเวทีให้มีการนำเสนอเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง

ต้องขอกราบขอบพระคุณ “อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ” เป็นอย่างสูง ที่นอกจากจะรับเป็นวิทยากรหลักในการวิเคราะห์ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ให้แล้ว ท่านยังได้มอบเงิน 5,000.- (ห้าพันบาทถ้วน) เป็นก้อนแรกสำหรับเริ่มต้นขับเคลื่อนกองทุนอีกด้วย

เปิดตัว “กองทุนสงวน โชติสุขรัตน์”

วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ เป็นวันครบรอบ 102 ปีชาตกาลของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ คุณพันธุ์นพิตผู้เป็นลูกสาว ได้หารือดิฉันในการจัดกิจกรรมเปิดตัวกองทุน ในที่สุดเราได้ข้อสรุปดังนี้

ภาคเช้า ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ขออนุญาตใช้สถานที่ห้องประชุมของ มูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย ตรงข้ามวัดศรีโสดา ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “แถลงข่าวเปิดตัวกองทุนสงวน โชติสุขรัตน์”

โดยจะเชื้อเชิญนักวิชาการ นักวิจัย ทั้งที่มีสังกัดทั้งที่อิสระ เขียนโครงการวิจัยด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของท่านมานำเสนอต่อคณะกรรมการของกองทุน

อีกด้านหนึ่ง จะมีการจำหน่ายหนังสือเพื่อหาเงินเข้ากองทุน

 

เสวนาอ่านหนังสือ “คนดีเมืองเหนือ”

เมื่อแถลงข่าวเปิดตัวกองทุนเสร็จ จะมีเวทีเสวนากึ่งวิชาการ วิเคราะห์เจาะลึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ต้องขอบอกว่า เป็นหนังสือยอดฮิตติดตลาดลำดับต้นๆ ในบรรดาหนังสือ 30-40 เล่มที่อาจารย์สงวนเรียบเรียงไว้ นั่นคือหนังสือเรื่อง “คนดีเมืองเหนือ”

อาจารย์สงวนเขียนหนังสือเล่มนี้เสร็จก่อน พ.ศ.2515 เนื่องจากปีที่พิมพ์ “คนดีเมืองเหนือ” ครั้งแรกคือปี 2515 ท่านได้เพียรพยายามรวบรวม “บุคคลสำคัญในดินแดนล้านนา” ที่ทำคุณูปการต่อสังคมด้านต่างๆ จำนวนมากถึง 33 คนมาให้พวกเราอ่าน

ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับบรรยากาศ ของผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเอกสารเชิงลึกทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น คือช่วงก่อน พ.ศ.2515 เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่งก่อตั้งปี 2507 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ก็เพิ่งดำริจัดตั้งในปี 2514

แหล่งข้อมูลของอาจารย์สงวนที่ได้มาหลักๆ นั้น จึงย่อมไม่ใช่ได้มาจากการค้นคว้าหนังสือในห้องสมุดของสถาบันการศึกษาอย่างแน่นอน หากส่วนใหญ่ได้มาจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคล และขออ่านเอกสารต้นฉบับพวกคัมภีร์ใบลาน ปั๊บสาตามวัดและจากปราชญ์ท้องถิ่นต่างๆ ที่มีเอกสารส่วนตัวเป็นหลัก

รายชื่อบุคคลที่อาจารย์สงวนคัดเลือกมาเป็น “คนดีเมืองเหนือ” จำนวน 33 คน ประกอบด้วย

1.ขุนเจื๋องมหาราช 2.พระเจ้าพรหมมหาราช 3.พระเจ้าเมงรายมหาราช (ปัจจุบันเรียก พระญามังราย) 4.พระเจ้าชัยสงคราม 5.พระเจ้าติโลกราช 6.พ่อท้าวศรีบุญเรือง 7.เทพสิงห์ วีรบุรุษแห่งเมืองยวม 8.เจ้าศรีสองเมือง วีรบุรุษแห่งนันทบุรี

ถัดมาเป็นบัญชีรายพระนามกษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย และตามด้วย

9.วีรกรรมพระเจ้ากาวิละฯ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 10.ท้าวมหายักษ์ 11.พระยาจ่าบ้าน 12.พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2 13.เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 14.เจ้าหลวงแผ่นดินเย็น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 4 15.พระเจ้ามโหตรประเทศ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 5 16.พระเจ้ากาวิโรรสฯ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 17.พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 18.เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 19.เจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9

ถัดมาเป็นการเทียบอายุรัชกาลและนามเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และตามด้วย

20.ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย (ปัจจุบันใช้คำว่า ล้านนา) 21.ท้าวสุนทร จินตกวีขี้เมา 22.ศรีวิชัย (โข้) กวีบอดแห่งเวียงโกศัย 23.ของดีจากบันทึก พระมหาหมื่น วุฒฑิญาโณ 24.หมื่นด้ำพร้าคต นายช่างเอกแห่งลานนาไทย 25.พรหมมินทร์ รัตนกวีแห่งล้านนาไทย 26.เจ้าเมืองไชย อัศวินใจสิงห์ 27.สิริมังคลาจารย์ บุรพาจารย์แห่งลานนาไทย

28.พระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 29.ครูบาฝายหิน ปฐมสังฆราชาลานนาไทย 30.พระยาไชยบูรณ์ ผู้สร้างวีรกรรมที่เมืองแพร่ 31.ชานกะเล พ่อเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก 32.ฝรั่งที่ทำคุณงามความดีให้แก่ภาคเหนือ 33.ปะขาวปี๋ นักบุญผู้เจริญรอยตามครูบาเจ้าศรีวิชัย

เห็นได้ว่า ลำดับ 1-2 เป็นวีรบุรุษในตำนาน, ลำดับ 3-6 เป็นกษัตริย์และโอรสกษัตริย์ในราชวงศ์มังราย, ลำดับ 7 และ 31 เป็นบุคคลสำคัญของแม่ฮ่องสอน, ลำดับ 8 และ 21 เป็นบุคคลสำคัญของเมืองน่าน, ลำดับ 9, 11-19 เป็นบุคคลสำคัญที่เคลื่อนไหวในยุคฟื้นฟูเชียงใหม่ และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทุกรัชกาล

ลำดับที่ 20, 23, 27, 29, 33 เป็นนักบวชรูปสำคัญในล้านนา, ลำดับที่ 21, 22, 24, 25 เป็นศิลปิน กวี สล่า (ช่าง) คนสำคัญ, ลำดับที่ 26, 30 เป็นบุคคลสำคัญของเมืองแพร่ และลำดับที่ 32 เป็นชาวต่างชาติในล้านนา

เรียกได้ว่า อาจารย์สงวนพยายามรวบรวมเรื่องราวของบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างค่อนข้างครบรส หลายท่านถือว่าเป็นบุคคลที่ร่วมสมัยกับอาจารย์สงวน จึงน่าจะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้

พบว่าในบทความหลายชิ้นอาจารย์สงวนมักบอกว่าท่านได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากคำบอกเล่าสายตรงที่ท่านทันเหตุการณ์เช่น ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระมหาหมื่น วุฒฑิญาโณ หรือครูบาอภิชัยขาวปี เป็นต้น

วิทยากรที่จะมาร่วมหยิบยกสาระและถกประเด็นสำคัญที่ได้จากหนังสือ “คนดีเมืองเหนือ” กอปรด้วย ดร.พระครูธีรสุตพจน์ (พระมหาสง่า ธีรสํวโร เจ้าอาวาสวัดผาลาด), อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ, อาจารย์ภูเดช แสนสา และตัวดิฉัน เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมเสวนา

นั่งรถรางพาเที่ยววัดชัยศรีภูมิและวัดกู่เต้า

กิจกรรมในภาคบ่าย ผู้จัดจะพาท่านนั่งรถรางนำเที่ยวที่ได้รับอนุเคราะห์จาก “เครือข่ายเขียวสวยหอม” ไปรู้จักวัดสำคัญสองแห่งที่มักถูกมองข้าม ได้แก่ วัดชัยศรีภูมิ ตั้งอยู่ที่มุมคูเมืองด้านนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครเชียงใหม่

วัดนี้เมื่อแรกสร้างเคยทำทำหน้าที่เป็น ศรีเมือง แต่ต่อมาสมัยพระเจ้าติโลกราชมีการทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระองค์ถูกคุณไสยจากไส้ศึก จึงหลงผิดเปลี่ยนทักษาเมืองใหม่ด้วยการโค่นต้นโพธิ์ทิ้ง

จุดนี้วิทยากรบรรยายนำชมหลักคือ อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ และ อาจารย์ภูเดช แสนสา

อีกวัดหนึ่ง อยู่นอกคูเมืองไปทางประตูช้างเผือก ข่วงสิงห์ ชื่อ วัดเวฬุวนาราม หรือ วัดกู่เต้า วัดนี้มีเจดีย์รูปทรงประหลาด คล้ายน้ำเต้า หรือที่เรียกว่า “ถะ” ของจีน เจดีย์รูปทรงเช่นนี้เข้ามาในล้านนาได้อย่างไร

วิทยากรหลักที่จะมาช่วยอธิบายเรื่องรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมคือ อาจารย์จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ล้านนา

นอกจากนี้ จะได้วิเคราะห์ถึง หน้าที่การใช้งานของเจดีย์องค์นี้ ว่าสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง กล่าวว่า ภายในมีอัฐิของเจ้าฟ้ามังทรา (นรธามังช่อ) โอรสของพระเจ้าบุเรงนองประดิษฐานไว้ จริงหรือไม่?

ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โปรดลงทะเบียนได้ที่กล่องข้อความในเฟซบุ๊กของดิฉัน Pensupa Sukkata หรือแจ้งชื่อสกุล หน่วยงาน เบอร์โทรศัพท์ของท่าน ได้ที่คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์ เบอร์ 08-6916-8251 ด่วนรับจำนวนจำกัดเพียง 50 คนเท่านั้น •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ