ที่มาของชื่อ “สามเหลี่ยมทองคำ” และ “อ.เชียงแสน”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า "สามเหลี่ยมทองคำ"
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สามเหลี่ยมทองคำ”

 

สามเหลี่ยมทองคำ คือดินแดนพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เป็นการบรรจบกันของสามประเทศ คือ ไทย (เชียงราย) ลาว (แขวงบ่อแก้ว) และเมียนมา (ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน) เป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกมาบรรจบกัน หรือที่เรียกว่า สบรวก ตั้งอยู่ใน ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เมื่อมองจากฝั่งไทยไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นหมู่บ้านในฝั่งลาว ส่วนเมียนมาจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตก โดยจุดนี้มีพระพุทธนวล้านตื้อ พระพุทธรูปองค์ใหญ่สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ ประทับนั่งบนเรือแก้วกุศลธรรม ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 9 เมตร 99 เซนติเมตร สูง 15 เมตร 99 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ให้ผู้มาเยือนได้กราบสักการะ

ที่มาของชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ เนื่องจากสมัยก่อนบริเวณนี้มีการปลูกฝิ่นและค้าขายฝิ่น โดยใช้ทองคำในการซื้อขาย จนทำให้ชื่อเสียงของสามเหลี่ยมทองคำเป็นไปในทางไม่ดีไม่งาม เพราะเป็นพื้นที่ยาเสพติด ต่อมาโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระดำริให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงพิษภัยของฝิ่น และได้พัฒนาความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น จนเลิกปลูกฝิ่นไปในที่สุด

ปัจจุบันสามเหลี่ยมทองคำเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองชายแดน มีท่าเรือนำนักท่องเที่ยวนั่งชมความงามของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านดินแดนทั้งสามประเทศ มีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อ.เชียงแสน เดิมมีชื่อว่า หิรัญนครเงินยางเชียงลาว หรือเหรัญนครเงินยางเชียงลาว หรือนครเงินยางไชยบุรีศรีเชียงแสน มีแหล่งโบราณสถาน 139 แหล่ง อยู่ในเขตกำแพงเมือง 76 แหล่ง อยู่นอกเขตกำแพงเมือง 63 แหล่ง โดยโบราณสถานที่สำคัญซึ่งอยู่ภายใต้การอนุรักษ์ของกรมศิลปากร มีดังนี้ วัดธาตุเขียว วัดธาตุโขง และวัดพระธาตุ

ทั้งนี้ ยังพบว่าสภาพพื้นที่ของเมืองเชียงแสน มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จึงนับได้ว่าดินแดนแถบนี้มีความบริบูรณ์ ทั้งการอยู่อาศัย การคมนาคม และการค้าขายยิ่ง

หากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนมีความสนใจในประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสน สามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เชียงแสน มีการจัดแสดงที่มุ่งเน้นไปในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ เกี่ยวข้องกับการตั้งหลักแหล่งของชุมชน ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีประชาชนชาวไทย ชาว สปป.ลาว ชาวเมียนมา และนักท่องเที่ยว ร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ สรงน้ำพระ และเดินขบวนแห่พระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นความงดงามทางวัฒนธรรมที่ทั้งสามประเทศมีร่วมกัน •

ท่่าเริอฯอที่ชยฯงแสนฯ ท่าเรือที่เชียงแสน

 

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง