นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร แหล่งมรดกโลกที่อาจจะถูกถอดถอน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เคยมีมติถอดถอนแหล่งมรดกโลกมาแล้ว 4 แห่ง โดยแต่ละแห่งนั้นก็ถูกถอดถอนให้สูญเสียสถานะมรดกโลกด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

การถอดถอนมรดกโลกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2550 โดยแหล่งมรดกโลกที่ถูกถอดออกนั้นก็คือ “เขตรักษาพันธุ์ออริกซ์อารเบีย” (Arabian Oryx Sanctuary) ในประเทศโอมาน ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นเนื่องจากเป็นพื้นที่ทะเลทราย ที่อยู่ในเขตเนินเขาเลียบชายฝั่งทะเล จึงทำให้มีลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์บางชนิด

และพระเอกของอดีตแหล่งมรดกโลกดังกล่าว ก็คือตัวออริกซ์ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงรูปด้วยนมกับคู่ เคี้ยวเอื้อง และมีเขาสวยงาม จำพวกเดียวกับตัวแอนทีโลป (antelope) หรือตัวกาเซลล์ (gazelle) ที่มีถิ่นที่อยู่ในแหลมอารเบีย ร่วมกับสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่สำคัญก็คือ ตัวกาเซลล์, กบภูเขานูเบียน (Nubian ibex), หมาป่าอาหรับ (Arabian wolf), ฮันนี่ แบดเจอร์ (honey badger) และตัวคาราคัล (caracal)

แน่นอนว่าเจ้าสัตว์โลกเขาสวยอย่างตัวออริกซ์นั้น อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นะครับ

ดังนั้น ทางองค์การยูเนสโกจึงยอมรับที่จะประกาศเขตรักษาพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งมีขนาดพื้นที่ราว 2,750,000 เฮกตาร์ เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2537 ด้วยมีลักษณะสอดคล้องกับเกณฑ์มรดกโลกข้อที่ 10 ซึ่งมีใจความระบุว่า

“เพื่อบรรจุแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่สำคัญและมีลักษณะสำคัญที่สุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งกำเนิด รวมถึงแหล่งที่มีสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าสากลโดดเด่นจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ถูกคุกคาม”

แต่ต่อมาได้มีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ออริกซ์อารเบีย จนทำให้รัฐบาลของประเทศโอมานลดขนาดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ดังกล่าวลงถึง 90% ซึ่งยังผลให้จำนวนของตัวออริกซ์ในพื้นที่ลดลงเป็นอย่างมาก

โดยจากผลการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2539 นั้น มีจำนวนตัวออริกซ์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวถึง 450 ตัว แต่ผลจากการรุกล้ำพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ เพื่อขุดเจาะน้ำมันนั้น ทำให้ใน พ.ศ.2550 มีจำนวนตัวออริกซ์เหลืออยู่เพียง 65 ตัว และสามารถผสมพันธุ์ได้เพียง 4 คู่เท่านั้น

ด้วยเหตุผลข้างต้น คณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การยูเนสโก จึงได้ประกาศถอดถอนเขตรักษาพันธุ์ออริกซ์อาระเบียออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2550

 

ส่วนการถอดถอนแหล่งมรดกโลกอีก 3 แห่งที่เหลือนั้น เป็นแหล่งมรดกโลกในเชิงวัฒนธรรมทั้งหมด แต่อาจจะจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ เมืองที่เป็นแหล่งมรดกโลก กับสิ่งปลูกสร้างที่ได้เป็นมรดกโลก

ในส่วนของเมืองที่เป็นแหล่งมรดกโลก นั้นประกอบไปด้วย ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาแม่น้ำเอลเบอ เมืองเดรสเดน (Dresden Elbe Valley) ประเทศเยอรมนี และเมืองท่าการค้าข้ามสมุทรลิเวอร์พูล (Liverpool-Maritime Mercantile City) ในสหราชอาณาจักร

ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาแม่น้ำเอลเบอ เมืองเดรสเดน ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2547 ด้วยภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2250-2450 (ศตวรรษที่ 18-19) ที่ทอดยาวไปตามริมฝั่งแม่น้ำเอลเบอร่วม 18 กิโลเมตร จากพระราชวังอูบิเกา (?bigau Palace) ไปตามทุ่งออสตราเกเฮเกอ (Ostragehege field) จนถึงพระราชวังพิลนิตซ์ (Pillnitz Palace) และเกาะกลางแม่น้ำเอลเบอ ทางตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทางยังประกอบไปด้วยอนุสรณ์สถานและสวนต่างๆ ที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2050-2500 (ศตวรรษที่ 16-ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20) โดยได้ผ่านเกณฑ์มรดกโลกถึง 4 ข้อ คือข้อ 2-5 ดังมีรายละเอียด ดังนี้

“แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางคุณค่าของมนุษย์ที่สำคัญหรือภายในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของโลก, พัฒนาการทางสถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยี, อนุสรณ์สถานทางศิลปะ, การวาวงผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์” (ข้อ 2)

“เป็นประจักษ์พยานถึงประเพณีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หรืออย่างน้อยก็มีความพิเศษ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือที่สาบสูญไปแล้ว” (ข้อ 3)

“เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทอาคาร, สถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยีทั้งมวล หรือภูมิทัศน์ที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์” (ข้อ 4)

“เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเพณีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์, การใช้ที่ดินหรือการใช้ทะเล ซึ่งเป็นภาพตัวแทนทางวัฒนธรรม หรือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งนั้นมีความเปราะบางเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่แก้ไขไม่ได้” (ข้อ 5)

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงปีเดียว ในเมืองเดรสเดนก็ได้มีผ่านการทำประชามติเพื่อที่จะสร้างสะพานวัลท์ชเลิสเซิน (Waldschlösschen Bridge) ขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

จนทำให้ในเรือน พ.ศ.2551 คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ได้จัดให้ “ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาแม่น้ำเอลเบอ เมืองเดรสเดน” อยู่ในรายชื่อของแหล่งมรดกโลกที่ได้รับอันตราย (List of World Heritage in Danger) ด้วยหวังจะให้หยุดก่อสร้างสะพานดังกล่าว เพื่อความสมบูรณ์ของของภูมิทัศน์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

แต่ก็ไม่เป็นผลจนต้องมีการถอดถอนเมืองเดรสเดนออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลกในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 โดยนับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ที่ถูกถอดถอน

ลักษณะในทำนองเดียวกันได้เกิดขึ้นที่เมืองลิเวอร์พูล ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2547 ปีเดียวกับเมืองเดรสเดน พื้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือบริเวณปากน้ำที่แม่น้ำเมอร์ซีย์ (Mersey river) ได้ออกมาบรรจบกับทะเลไอริช (Irish Sea) อันเป็นพื้นที่สำคัญในการเติบโตขึ้นของจักรวรรดิบริติช ในฐานะเมืองผู้บุกเบิกในการพัฒนาท่าเทียบเรือสมัยใหม่ ระบบการขนส่ง การจัดการท่าเรือ และการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โดยถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของโลกระหว่าง พ.ศ.2050-2480 (ศตวรรษที่ 16-ต้นศตวรรษที่ 20) จนผ่านเกณฑ์การเป็นมรดกโลกถึง 3 ข้อ คือข้อที่ 2-4

เรือน พ.ศ.2553 บริษัทเอกชนได้เสนอโครงการ “Mersey Waters Enterprise Zone” ให้กับสภาเมืองลิเวอร์พูล โดยจะมีการสร้างตึกระฟ้าหลายแห่งในบริเวณปากน้ำเมอร์ซีย์

โดยสภาเมืองลิเวอร์พูลได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวในอีก 2 ปีต่อมา

จึงทำให้ภายในปีเดียวกันนั้นเองคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ได้จัดให้ “เมืองท่าการค้าข้ามสมุทรลิเวอร์พูล” อยู่ในรายชื่อของแหล่งมรดกโลกที่ได้รับอันตราย พร้อมส่งคำเตือนต่อสภาเมืองลิเวอร์พูลว่าโครงการนี้จะทำให้ “เกิดความสูญเสียความเป็นของแท้ดั้งเดิมทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง” (serious loss of historic authenticity)

อย่างไรก็ตาม สภาเมืองลิเวอร์พูลยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อ โดยในกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ยังอนุมัติให้มีการสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ที่ท่าเรือเก่าแก่แห่งหนึ่งในบริเวณพื้นที่แหล่งมรดกโลกอีกด้วย

จึงทำให้วันที่ 21 กรกฎาคม ในปีเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกได้ถอดถอน “เมืองท่าการค้าข้ามสมุทรลิเวอร์พูล” ออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลก

โดยอ้างว่า “การสูญเสียคุณลักษณะที่สื่อถึงคุณค่าสากลอันโดดเด่นของทรัพย์สินอย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้” (irreversible loss of attributes conveying the outstanding universal value of the property)

จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งล่าสุดที่ถูกถอดถอนออกไป

ส่วนแหล่งมรดกโลกอีกแห่งที่ถูกถอดถอนนั้นก็คือ อาสนวิหารบรากาติ (Bragati Cathedral) ที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1550-1650 ที่ประเทศจอร์เจีย ซึ่งแต่เดิมขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอาสนวิหารเกลาติ (Gelati Monastery) ในจอร์เจียเช่นกัน แต่เนื่องจากมีการดัดแปลงตัวอาคารที่อาสนวิหารบรากาติจนเสียความเป็นของแท้ดั้งเดิมของตัวอาคาร จึงถอดถอนเฉพาะอาสนวิหารแห่งนี้ออกจากแหล่งมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2560 แต่ยังคงสถานะมรดกโลกของอาสนวิหารเกลาติเอาไว้

ในประเทศไทยของเราเองก็เคยมีข่าวว่า “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร” (Historic City of Ayutthaya) อาจถูกถอดถอนออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลกเหมือนกันนะครับ

โดยเมื่อ พ.ศ.2553 องค์กรยูเนสโกได้ออกมาแสดงความกังวลถึงสภาพภูมิทัศน์ที่เสื่อมโทรมของอยุธยาอันเนื่องมาจากปัญหาชุมชนบุกรุกเข้าไปในเขตพื้นที่โบราณสถาน

และการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2551 ที่ทำให้พื้นที่บริเวณโดยรอบมีภูมิทัศน์ไม่สวยงามเหมือนเมื่อครั้งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่องค์กรยูเนสโกออกมาเตือนว่าจะถอดถอนอยุธยาออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลกนั้น ใกล้เคียงและต่อเนื่องกับการถอดถอนเขตรักษาพันธุ์ออริกซ์อารเบีย และที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาแม่น้ำเอลเบอ เมืองเดรสเดน

โดยนับจากนั้นเป็นต้นมา กรมศิลปากรได้รับลูก และพยายามปรับปรุงแก้ไขให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร เป็นไปตามมาตรฐานแหล่งมรดกโลก

แต่ก็ยังมีเสียงเตือนจากองค์กรยูเนสโกอีกรอบที่สำคัญคือเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2560 ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศเตือนรัฐบาลไทยให้จัดการกับปัญหาการบุรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอีกหน

จนกระทั่งล่าสุดนั้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2564 องค์การยูเนสโกได้ออกมาเตือนประเทศไทยอีกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนออกจากการเป็นแหล่งมรดกโลก เพราะโครงการสร้างรถไฟความเร็วผ่านพื้นที่ปริมณฑลของบริเวณแหล่งมรดกโลก (ทับเส้นทางรถไฟสายเดิม)

 

“นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร” นั้น ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 โดยใช้เกณฑ์ข้อที่ 3 เช่นเดียวกับเมืองเดรสเดน และเมืองลิเวอร์พูล

ดังนั้น ถ้ามีการโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะต้องมีการตอกเสาเข็มหลายแท่งลงไปบนเมืองอโยธยา (เมืองเก่าที่มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 ซึ่งตั้งอยู่ทางซีกตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ตรงที่ทางรถไฟตัดผ่านพอดี) เพื่อสร้างรางรถไฟอยู่ด้านบนเหมือนรถไฟฟ้านั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเมืองลิเวอร์พูลแล้ว ก็คงไม่แคล้วต้องโดนถอดถอนออกจากการเป็นเมืองมรดกโลกแน่

ก็ในเมื่อแค่เมืองเดรสเดนเขาสร้างสะพานเพียงแห่งเดียวยังไม่พ้นที่จะถูกถอดถอนเลยนี่ครับ

การได้แปะยี่ห้อว่าเป็นแหล่งมรดกโลกนั้นมีประโยชน์แน่ ไม่ใช่แค่มีคนโฆษณา พร้อมประทับตราผ่านมาตรฐานความเป็นของแท้ดั้งเดิม เพื่อผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวเท่านั้น

แต่แหล่งมรดกโลกยังได้รับการปกป้องหากมีสงครามตามข้อตกลงในอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) แถมการเป็นแหล่งมรดกโลกยังทำให้มีภาษีในการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการปกป้องและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกจากทั่วโลก เนื่องจากได้รับการการันตีว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่แค่ของชนชาติใดเพียงชาติหนึ่ง (ข้อหลังนี้ผมไม่แน่ใจนักว่า หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องนั้นเคยใช้ประโยชน์จากตรงนี้หรือเปล่า?)

ที่เหลือขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศแล้วนะครับว่า จะใช้ความเป็นเมืองมรดกโลกของอยุธยาเป็นทุนสำหรับต่อยอดในทางด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน หรือเพียงจะเห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าให้รถไฟความเร็วสูงตัดผ่านเมืองจนสูญเสียคุณลักษณะที่สื่อถึงคุณค่าสากลอันโดดเด่นของทรัพย์สินอย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่แหล่งมรดกโลกอื่นๆ เคยทำ? •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ