การค้า และศาสนา-การเมือง กระตุ้นกำเนิดอโยธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยามีกำเนิดและมีพัฒนาการเจริญเติบโตก้าวหน้า อันเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการค้าและทางศาสนา-การเมือง

1. การค้า ก่อน พ.ศ.1500 (โดยประมาณ) การค้าในอ่าวไทยต้องผ่าน “คนกลาง” คือ มลายู-จาม (“ศรีวิชัย”)

ต่อมาหลัง พ.ศ.1500 จีนต่อสำเภาออกค้าขายเอง กระทั่งเข้าถึงอ่าวไทยโดยไม่ผ่าน “คนกลาง” จึงกระตุ้นให้เกิดบ้านเมืองรุ่นใหม่หลายแห่ง รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะการเกิดของเมืองอโยธยา

คุณลักษณะของสําเภาจีน นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่ามีระวางบรรทุกสูง และโดยเปรียบเทียบแล้วแข็งแรงกว่าสําเภาชนิดอื่นที่ใช้กันในทะเลจีนและมหาสมุทรอินเดียในช่วงนั้น

ผลก็คือทําให้สินค้าที่กินระวางบรรทุกสูงสามารถส่งไปยังแดนไกลได้มากขึ้น แม้ว่าการค้าสินค้าฟุ่มเฟือยยังมีความสําคัญในการค้าสืบมา แต่สินค้าที่กินระวางบรรทุกก็เข้ามามีสัดส่วนในการค้าทางทะเลเพิ่มมากขึ้นตามลําดับ

ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตของป่าที่สําคัญแห่งหนึ่งมาก่อนแล้ว ก็สามารถป้อนของป่าแก่การค้าทางทะเลได้หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่กินระวางบรรทุก เช่น ไม้ฝาง, หนังสัตว์, อาหาร, ผลเร่ว ฯลฯ เป็นต้น

ฉะนั้น บ้านเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลเกิดการปรับตัวเพื่อสนองความต้องการของตลาดที่มีจีน และสําเภาจีนเริ่มมีบทบาท ส่งผลให้รัฐรุ่นเก่า เช่น ที่อู่ทองลดความสําคัญ แล้วเกิดศูนย์กลางแห่งใหม่บริเวณแม่น้ำท่าจีน

(จากหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ซ่อม” ฉบับเก่า “สร้าง” ฉบับใหม่ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549 หน้า 43-47)

2. ศาสนา-การเมือง ก่อนหน้านั้นบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือศาสนาแบบทวารวดี

ครั้นหลัง พ.ศ.1500 ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกาเป็นที่นิยมและมีอำนาจมากขึ้น เพราะเกื้อกูลอุดหนุนลักษณะการค้าใหม่ โดยเฉพาะการค้าจีน ชนชั้นนำรุ่นใหม่ของบ้านเมืองต่างๆ นับถือมากขึ้นในศาสนาพุทธ เถรวาทแบบลังกา พร้อมกับการขยายตัวของการค้าทางบก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายบทบาทเรื่องเหล่านี้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ภาษาไท-ไตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ปัจจัยสําคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายในดังที่กล่าวแล้ว เนื่องจากพวกไท-ไตตั้งภูมิลําเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดํารงชีพ ฉะนั้น จึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทําให้ภาษาไท-ไตกลายเป็นภาษากลาง อย่างน้อยก็ในการค้าภายในประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่ม หรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไท-ไตได้ในระดับหนึ่ง

 

ความเป็น “เมือง” ของอโยธยา

ความเป็นเมืองของอโยธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) น่าจะมี 2 สมัย คือ สมัยแรก กับ สมัยหลัง

1. สมัยแรก ไม่มีคูน้ำคันดิน เมืองอโยธยาสมัยแรกเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 ราวหลัง พ.ศ.1600

[หลักฐานจากพงศาวดารเหนือ และงานค้นคว้าของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอมฯ (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2547) ตรวจสอบพบว่า เมืองอโยธยามีแล้วเมื่อ พ.ศ.1632]

เมืองสมัยแรกสุดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ (ไม่มีคูน้ำคันดิน) มีขึ้นจากการรวมตัวกันของหลายๆ ชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็ก ซึ่งอยู่บนเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน (สำหรับกรณีเมืองอโยธยา ได้แก่ แม่น้ำลำคลอง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่างๆ)

วัง ทำด้วยไม้ เหมือนคุ้มหลวง, เรือนจันทน์

วัด แยกเป็นสถูปเจดีย์กับโบสถ์วิหารการเปรียญและกุฏิสงฆ์ สถูปเจดีย์ ทำด้วยอิฐ แต่ถูกสร้างใหม่ครอบ โบสถ์วิหารการเปรียญกุฏิสงฆ์ ทำด้วยไม้ที่ย่อยสลายหมดแล้ว

2. สมัยหลัง มีคูน้ำคันดิน เมืองอโยธยาสมัยหลังเมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 ราวหลัง พ.ศ.1700 แรกมีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ผังเมืองแบบเดียวกันและคราวเดียวกันกับเมืองสุพรรณภูมิ จ.สุพรรณบุรี)

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการค้ากับจีนขยายตัวกว้างขวางมากกว่าแต่ก่อน เพราะเทคโนโลยีการเดินเรือสมุทรมีสูงขึ้น ขนาดของเรือใหญ่ขึ้น บรรทุกสินค้ามากขึ้น บ้านเมืองมั่งคั่งขึ้น ทำให้กษัตริย์มีทรัพยากรมากพอในการเกณฑ์แรงงานสร้างคูน้ำกำแพงเมือง

การค้ากับจีนหลัง พ.ศ.1500 กระตุ้นให้มีชุมชนและสถานีการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา (สมัยนั้นยังไม่มีป่าสักไหลมาลงตรงนี้) แล้วเติบโตเป็นเมืองอโยธยา (ก่อนสมัยอยุธยา) กระทั่งสร้างวัดพนัญเชิงสมัยอโยธยา (ก่อนมีอยุธยา 26 ปี) (ภาพจากโดรน มติชนทีวี ตุลาคม 2565)

ชุมชนอโยธยา

ในไทยมีประสบการณ์ไม่มากพอต่อการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาวิถีชุมชนชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นการขุดค้นหลุมศพ (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) และขุดค้นโบราณสถานวัดวังเพื่อการบูรณะเท่านั้น

อโยธยามีชุมชนขนาดใหญ่ระดับชุมชนเมือง แต่การขุดค้นทางโบราณคดีหาชุมชนชาวบ้านทั่วไปน่าจะไม่พบ หรือพบลำบากมาก เพราะสภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านไม่เอื้อเหลือหลักฐานให้นักโบราณคดีขุดพบ

ส่วนหลักฐานที่นักโบราณคดีขุดพบ “บางแห่ง” เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำ หรือเศรษฐีมีทรัพย์ จึงพบภาชนะหลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีน (ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีใช้)

ชนชั้นต่างระดับ เครื่องมือเครื่องใช้สมัยอโยธยา เป็นไปตามชนชั้นทางสังคมที่มีต่างระดับ ดังนี้

1. ชนชั้นนำ และเครือญาติชนชั้นนำ มีภาชนะหลากหลายทั้งที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีต่ำในประเทศ และผลิตด้วยเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, กัมพูชา เป็นต้น

2. ชาวบ้านทั่วไป ไม่มีภาชนะผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันผลิตในชุมชนซึ่งมีเทคโนโลยีต่ำ มีหม้อหุงข้าว 1 ใบเป็นหลักใช้หุงข้าวและนึ่งข้าว ส่วนภาชนะอย่างอื่นได้จากธรรมชาติ ได้แก่ กระบอกไผ่, ใบไม้ (เช่น ใบตอง ฯลฯ), กาบกล้วย และอื่นๆ จากธรรมชาติ

ภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีของนักโบราณคดีไทย ไม่ใช่หลักฐานชี้ขาดการมีชุมชนทั่วไปสมัยก่อนๆ ดังนี้

[หนึ่ง] ภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งของได้จากหลุมศพชนชั้นนำและเครือญาติตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี ซึ่งไม่ใช่สมบัติของชาวบ้าน

[สอง] ชาวบ้านสามัญชนคนทั่วไปไม่ฝังศพ เมื่อมีคนตายก็เอาศพไปวางสถานที่จัดไว้ให้แร้งกากินตามความเชื่อทางศาสนาผี และไม่พบเศษภาชนะเครื่องมือเครื่องใช้ •