ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
ฉบับที่แล้ว พื้นที่ทั้งหมดยกให้กับการถอดคำแปลศิลาจารึก ลพ.3 วัดมหาวัน แบบเต็มๆ ชนิดให้อ่านกันอย่างจุใจ คำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัด ครบทั้ง 4 ด้าน เรียบร้อยไปแล้ว
โดยที่ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกวิทยา ได้เพียรพยายามแกะอักขระอันซับซ้อนของภาษาที่ตายไปแล้ว มีทั้งภาษามอญโบราณ บางครั้งปนบาลีสันสกฤต ออกมาเป็นภาษาไทยให้พวกเราอ่าน ต้องขอคารวะในความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวดต่อคุณูปการในครั้งนี้
ถอดเสร็จแล้วยังไงต่อ? อันที่จริง กว่าจะถอดได้แต่ละตัวก็ยากหนักหนาสาหัสสากรรจ์เกินพอแล้ว
ทว่า การทำงานของนักจารึกวิทยาถือว่ายังไม่จบไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ หากปราศจากเสียซึ่งการสังเคราะห์ วิเคราะห์ เทียบเคียง เชื่อมโยง และประมวลผล
ความสัมพันธ์ของจารึกวัดมหาวัน
กับจารึกตชุมหาเถรวัดแสนข้าวห่อ
อาจารย์พงศ์เกษมชี้ว่า จารึกหลัก ลพ.3 ของวัดมหาวัน ไปมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับจารึกอักษรมอญโบราณอีกหลักหนึ่งอย่างแนบแน่น นั่นคือ จารึก ลพ.7 ชื่อจารึกตชุมหาเถร พบที่วัดแสนข้าวห่อ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สถานที่จัดเก็บจารึกมอญโบราณทุกหลักนั่นเอง)
ที่ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งนั้น ก็ด้วยเหตุผลสี่ประการ
ประการแรก ทั้งสองหลักนี้เป็นจารึกที่กล่าวถึงคำว่า “ตชุ” เหมือนกัน (เขียน “ตชุ” แต่อ่าน “ตะจุ๊” เพราะภาษามอญ ตัว “ช” เลื่อนเสียงเป็น “จ”) ตชุ ถือเป็นบุคคลสำคัญหลักในการประกอบพิธีกรรม และเป็นผู้จารข้อความคนแรกในจารึกหลัก ลพ.3 ต่อจากนั้น ก็มีบุคคลอื่นๆ เรียงรายเข้ามาจารชื่อของตนอย่างต่อเนื่อง
จารึก ลพ.3 และ ลพ.7 มิได้ขึ้นต้นด้วยชื่อของกษัตริย์ ผิดกับหลัก ลพ.1 และ ลพ.2 ที่เริ่มด้วยการประกาศบุญญาธิการของกษัตริย์นามว่า “พระญาสววาธิสิทธิ” หรือ พระเจ้าสรรพสิทธิ์ ดังนั้น จารึก ลพ.3 และ ลพ.7 จึงถือว่าเป็นจารึกของฝ่าย “ศาสนจักร” มิใช่ฝ่าย “อาณาจักร”
อนึ่ง คำว่า “ตชุ” เป็นแนวคิดที่มอญรับมาจากอินเดีย หมายถึงอดีตกษัตริย์ที่วางมือแล้วจากการปกครองทางโลกหันมาใฝ่ทางธรรม กษัตริย์ในอินเดียเมื่อมีอายุเข้าสู่วัยชรา มักสละราชบัลลังก์ให้คนเก่งคนหนุ่มมาดูแลบ้านเมืองแทน แล้วตนออกบวชเป็นฤษีแสวงหาโมกขศาสตร์ หรือวิธีหลุดพ้นตามลัทธิต่างๆ
ในจารึก ลพ.7 วัดแสนข้าวห่อ (วัดนี้นามเดิมชื่อ เพียคุรุวิศวะ เพีย = วัด หมายถึงวัดหรือสถาบันสอนการช่าง) ปรากฏชื่อว่า “ตชุมหาเถร” ตามทฤษฎีของอาจารย์พงศ์เกษม ตชุผู้นี้ต้องเคยเป็นกษัตริย์มาก่อน ไม่ใช่สังฆราชาธรรมดา แต่เรายังไม่ทราบว่าหมายถึงอดีตกษัตริย์พระองค์ใด
ส่วน ลพ.3 วัดมหาวัน พบชื่อของ “ตชุมหาสวัสดิ์” บางครั้งเขียน สมิงมหาสวัสดิ์ (สมิง หมายถึงเจ้านายชั้นสูง) เป็นผู้นิมนต์ “ตชุอรหทีปนี” จากวัดเชตวันมาร่วมการบุญที่วัดมหาวัน และจากนั้นก็มีบุคคลมากมายมาร่วมถวายสิ่งต่างๆ อย่างล้นหลาม
นัยยะของชื่อวิสามานยนามทั้งสองนี้สำคัญมาก ทั้งตชุที่ชื่อ มหาสวัสดิ์ กับ อรหทีปนี เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ สถานที่ บุคคลในสมัยหริภุญไชยนั้นต้องยอมรับว่าเราพบน้อยมาก
ยิ่งในตำนานจามเทวีวงส์ ชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา ยิ่งแทบไม่มีการกล่าวถึงบุคคลในเชิงลึกเช่นนี้มาก่อนเลย
ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์สำคัญและชื่อกษัตริย์ 50 พระองค์เท่านั้น
ทำให้ ณ ตอนนี้เราพอจะทราบคร่าวๆ ได้ว่า ผู้เป็นใหญ่ในศาสนจักรปกครองวัดมหาวันช่วงนั้น (ยังไม่ทราบว่าตรงกับรัชกาลไหน พุทธศักราชใด) มีชื่อว่า “ตชุมหาสวัสดิ์” มีบารมียิ่งใหญ่พอๆ กับอีกท่านหนึ่งชื่อ “ตชุอรหทีปนี” ซึ่งปกครองศาสนจักรที่วัดเชตวัน หรือเชตวนาราม
มหาวนารามตั้งอยู่ทิศตะวันตก ส่วนเชตวนารามตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำปิงเก่า (กวง) ในตำนานมูลศาสนาระบุว่าทั้งสองวัดนี้ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ หลังจากที่เคยสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี
โดยเฉพาะวัดมหาวันเคยมีสถานะเป็นถึงหนึ่งในวัดสี่มุมเมืองทิศตะวันตกที่สร้างโดยปฐมกษัตรีย์ และหากเชตวนาราม ของตชุอรหทีปนี เป็นวัดเดียวกันกับอรัญญมิการาม หนึ่งในสี่มุมเมืองทิศตะวันออกด้วย ก็ย่อมหมายความว่า วัดทั้งสองแห่งนี้ มหาวัน-เชตวัน ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ทุกพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง
คำถามคือ เหตุการณ์ในจารึก ลพ.3 นี้ จะตรงกับสมัยพระญาสววาธิสิทธิด้วยหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันข้อสมมุติฐานอย่างแน่ชัด เนื่องจากจารึก ลพ.3 ไม่ระบุศักราช
ประการที่สอง จารึกทั้งสองหลักพบคำว่า “มหาวัน” ในหลัก ลพ.3 เขียนว่า “มหาวัน” ใช้ น.หนู หมายถึงป่าใหญ่ ที่สันแท่งศิลาจารึกด้านขวาบรรทัดล่างสุด สะท้อนถึงการปิดข้อความ หมายความว่าการบุญทั้งหมดที่กระทำนี้ประกอบขึ้นในวัดมหาวัน
ในขณะที่หลัก ลพ.7 เขียนคำว่ามหาวันเป็น “มหาวัลล์” ใช้ ล.ซ้อนสองตัว (แม้จะเขียนต่าง แต่หมายถึงวัดมหาวันเดียวกัน) ปรากฏอยู่ในแผ่นจารึกด้านหลังบรรทัดที่ 2 ข้อความโดยรวมกล่าวว่า ตชุมหาเถรแห่งนครหริภุญไชยได้ประกอบพิธีกรรมที่เจดีย์วัดมหาวัลล์ (หลัก ลพ.7 นี้ก็เช่นกัน จะมีการปริวรรตถอดความใหม่อย่างละเอียดอีกครั้งโดยอาจารย์พงศ์เกษม เร็วๆ นี้)
ประการที่สาม ทั้ง ลพ.3 และ ลพ.7 พบการเขียนตัวเลขที่แปลว่า 5 อ่านว่า “เมียะซุน” โดยที่รูปแบบอักขระนี้ไม่พบในจารึกหลักอื่นๆ เลย
ประการที่สี่ พบคำว่า “นรสิง” ทั้งในจารึก ลพ.3 ลพ.7 (อันที่จริงพบในจารึกหลักอื่นๆ ด้วยอีกหลายหลัก) อาจารย์พงศ์เกษมอธิบายว่า เดิมคนเข้าใจผิดคิดว่าคำนี้เป็นชื่อเฉพาะของบุคคลนามว่า “นรสิง”
ภาษามอญโบราณ นรสิง มาจากสองคำรวมกัน นร = คน, สิง ภาษามอญอ่านว่า ซางซะด๊าด แปลว่ายกย่องเทิดทูน นรสิง จึงแปลว่าบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่องเทิดทูน
ดังนั้น เหตุการณ์สมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา กรณีของพันท้ายนรสิง (ต่อมาเติม ห์ เป็น นรสิงห์) อาจารย์พงศ์เกษมเชื่อว่า ก็น่าจะหมายความว่า พันท้ายนายนี้เป็นบุคคลที่น่ายกย่องเชิดชูเช่นเดียวกัน
พบร่องรอยสันสกฤตและอิทธิพลศรีวิชัย
บรรทัดที่ 5 ของจารึก ลพ.3 ด้านแรก พบการใช้ภาษาสันสกฤตอยู่หนึ่งคำ ได้แก่ชื่อเฉพาะของบุคคลนามว่า “พิสสุกรรม” คนชื่อพิสสุกรรมท่านนี้ได้ทำบุญถวายสิ่งของ…จำนวน 6 บาท (ข้อความในจารึกถูกกะเทาะหายไป)
การใช้ ร.หัน หรือ ร.เรือซ้อนสองตัว ในคำว่า “กรรม” เป็นการเข้าอักขรวิธีตามอย่างภาษาสันสกฤต ไม่ใช่ภาษาบาลี หากเป็นภาษาบาลีต้องเขียนว่า “พิสสุกัมม์”
อาจารย์พงศ์เกษมกล่าวว่า การเข้าอักขรวิธีเกือบทั้งหมดของจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชยจำนวน 10 หลักนี้ ใช้ภาษาบาลีปนอักษรมอญ นานๆ ทีจึงจะเห็นการใช้ภาษาสันสกฤตเข้ามาปะปน ดังนั้น การปรากฏคำว่า “พิสสุกรรม” ที่ “กรรม” เข้าอักขระแบบสันกฤตของ ลพ.3 จึงเป็นปริศนาที่น่าค้นหาคำตอบกันต่อไป
อย่างไรก็ดี อาจารย์พงศ์เกษมชี้ว่า ร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างจารึกมอญโบราณหริภุญไชย กับจารึกอักษรปัลลวะตอนปลายของกลุ่มอาณาจักรศรีวิชัย ก็ปรากฏมีให้เห็นแทบทุกหลักอยู่แล้วทั้ง ลพ.1, ลพ.2, ลพ.3 ฯลฯ
นั่นคือตัว ส.เสือ ที่เขียนซ้อนกันสองชั้น เรียก ส.สองห้อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า อักษรมอญโบราณหริภุญไชยรับอิทธิพลตัว ส.สองห้อง มาจากกลุ่มจารึกอักษรปัลลวะที่ศรีวิชัย เช่น จารึก นศ.3 วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
การปรากฏชื่อของ “พ่อสุริยา”
หมายถึงพระญาอาทิตยราช?
การปรากฏชื่อของ “พ่อสุริยา” หรือ “พ่อสุริยะ” มีขึ้นถึงสองครั้ง ครั้งแรกบนแผ่นจารึกด้านหลังบรรทัดสุดท้าย และอีกครั้งพบที่สันจารึกด้านขวาตอนท้ายๆ ใกล้จบอีกเหมือนกัน
เป็นการตอกย้ำว่า บุญกุศลที่สองตชุ คือตชุมหาสวัสดิ์แห่งวัดมหาวัน กับตชุอรหทีปนีแห่งวัดเชตวัน ที่ชักชวนใครต่อใครมาทำบุญนั้น ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลทั้งหมดให้แด่บุคคลที่ชื่อว่า “พ่อสุริยา”
ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง ในเวทีสัมมนาเราตั้งคำถามกันว่า “พ่อสุริยา” หรือ “สุริยราช” ท่านนี้คือใคร? จะหมายถึง “พระญาอาทิตยราช” กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างพระมหาธาตุแห่งนครหริภุญไชย ผู้นำทัพไปตีลวปุระ ได้หรือไม่?
พระญาอาทิตยราชเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 32 (ตำนานแต่ละเล่มระบุลำดับ และศักราชที่ปกครองนครหริภุญไชยไม่ตรงกัน) โดยประมาณคร่าวๆ มีอายุห่างจากสมัยของพระนางจามเทวี 3-400 ปี ช่วงชีวิตของพระองค์จึงน่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ.1570 ถึง 1610
พระองค์เป็นบิดาของพระญาธัมมิกราชา (ธรรมิกราช) ถัดมามีพระญารถราช ปกครองสืบต่อ (เกี่ยวกับพระญารถราชนี้ ยังมีข้อสงสัยว่าควรเป็นโอรสหรืออนุชาของธัมมิกราชา?) จากนั้น พระญาสววาธิสิทธิเป็นโอรสของพระญารถราช และยุคนี้เองที่พบจารึกของพระองค์หลายหลัก
ดังนั้น สถานะของพระญาอาทิตยราชจึงเป็นปู่หรือทวดของพระญาสววาธิสิทธิ หากคำว่า “พ่อสุริยา-พ่อสุริยะ” ในจารึก ลพ.3 หมายถึงพระญาอาทิตยราชจริง จารึกวัดมหาวันก็อาจจะสร้างร่วมสมัยกับ ลพ.1 ลพ.2 คือสร้างในรัชกาลของพระญาสววาธิสิทธิด้วยเช่นกัน คือราว พ.ศ.1620-1650 (เรื่องศักราชยังต้องสอบชำระกันอีกหลายยก)
ต่างกันแค่ว่า จารึก ลพ.1 ลพ.2 จารโดยกษัตริย์ชื่อ สววาธิสิทธิ ผู้ลูก กำลังนั่งบัลลังก์ จึงเป็นจารึกของฝ่ายอาณาจักร ส่วนจารึก ลพ.3 (อาจรวมถึง ลพ.7 ที่ปรากฏคำว่า ตชุ ด้วย) เป็นจารึกของฝ่ายศาสนจักร
คนที่เป็น ตชุ ใน ลพ.3 ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นกษัตริย์มาก่อน อาจเป็นพระราชบิดา/ปิตุลา/ไอยกาของพระญาสววาธิสิทธิ กล่าวคือ ไม่ธัมมิกราชก็รถราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกของอาทิตยราช จึงทำบุญให้แก่พ่อของตน
การถอดรหัสจากจารึก ลพ.3 ยังขยายความไม่หมด ฉบับหน้าจะจำแนกให้เห็นว่าที่วัดมหาวันมีการสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยรวมแล้วกี่องค์กันแน่? และตบท้ายด้วยความสำคัญของอักษรมอญโบราณในระดับอุษาคเนย์ ที่เรายังไม่ค่อยยกย่องเชิดชูกันเท่าไหร่นัก •
ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022