ร.1 ไม่ได้เขียนใหม่ กฎหมายตรา 3 ดวง | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยามีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางสถานีรถไฟอยุธยา สมัยโบราณเป็นเมืองมีความเจริญทางสังคมก้าวหน้าขั้นสูง เพราะมีกฎหมายเป็นระเบียบแบบแผนใช้ควบคุมสังคม พบหลักฐานกฎหมายเก่าแก่ฉบับหนึ่ง เรียก “พระอัยการเบ็ดเสร็จ” (กฎหมายเบ็ดเตล็ด) ซึ่งตราขึ้นใช้ พ.ศ.1778 หรือราว 115 ปีก่อนมีกรุงศรีอยุธยา (อยุธยาเริ่มมี พ.ศ.1893)

การกำหนดอายุของ “พระอัยการเบ็ดเสร็จ” ทำโดยนักปราชญ์ 2 ท่าน ดังนี้

(1.) จิตร ภูมิศักดิ์ (นักปราชญ์สยาม) ค้นคว้าศึกษาและคำนวณอายุอย่างรอบคอบอยู่ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 45-47)

(2.) ต่อมา ล้อม เพ็งแก้ว (นักปราชญ์เมืองเพชรบุรี) ตรวจสอบซ้ำแล้วสนับสนุนการคำนวณอายุกฎหมายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าตราขึ้น 115 ปีก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งแรกใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2529 หน้า 42-44)

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ รวมอยู่ใน “กฎหมายตรา 3 ดวง” ชำระสมัย ร.1

“ชำระ” หมายถึงตรวจสอบความถูกต้องโดยคณะนักปราชญ์สมัยนั้น เหมือนการ “สังคายนา” พระไตรปิฎก (ของพระสงฆ์) ไม่ใช่ตราขึ้นใหม่ หรือเขียนใหม่ทั้งหมดสมัย ร.1

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงแต่งเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูวัฒนธรรม” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2500 หน้า 36) กรณีชำระกฎหมายตรา 3 ดวง ของ ร.1 ไม่ใช่เขียนใหม่ ดังนี้

“พระเจ้าอยู่หัวจึ่งตรัสว่าฝ่ายพุทธจักรก็ได้โปรดให้ชำระพระไตรปิฎกไว้เป็นหลักเป็นพุทธการกธรรมกองการกุศลอันประเสริฐแล้ว และฝ่ายข้างอาณาจักรกฎหมายยังฟั่นเฟือนวิปริตผิดต่างกันไปเป็นอันมาก จึ่งโปรดให้มีกรรมการชำระกฎหมายดุจได้ชำระพระไตรปิฎกให้มีหลักดุจกัน”

ร.1 ชำระกฎหมายสมัยอโยธยา-อยุธยา ไม่ได้เขียนใหม่กฎหมายตรา 3 ดวง ตามบทความของนักวิชาการคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร [พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากเพจ พิกุลบรรณศาลา)]
ร. 1 ไม่ได้เขียนใหม่ “กฎหมายตรา 3 ดวง” แต่เป็นการชำระ ยังมีคำอธิบายของนักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

กฎหมายตรา 3 ดวง เป็นประมวลบทกฎหมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึง ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสภาพเดิมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยให้เราสามารถย้อนกลับไปศึกษากฎหมายในอดีตของไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง

การชำระกฎหมายใน ร.1 เป็นไปเพื่อคงสภาพเดิมของกฎหมายไว้ มิได้ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายหรืออย่างธรรมเนียมทางกฎหมายแต่อย่างใด นอกจากการประกาศให้ชำระกฎหมายทั้งฉบับ และใช้ตรา 3 ดวงเป็นเครื่องหมายของกฎหมายฉบับหลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น

ข้อสันนิษฐานซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยายในปัจจุบันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการชำระกฎหมายในรัชกาลที่ 1 ว่าเป็นการชำระสะสางอย่างขนานใหญ่จนกลายเป็นกฎหมายอีกสมัยหนึ่งสำหรับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เสมือนการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ (codification) อย่างที่ได้กระทำกันครั้งแรกๆ ในยุโรป กระทั่งอาจขนานกฎหมายนี้ได้ว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

[สรุปจากคำนำเสนอของบรรณาธิการในหนังสือ กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1 (มี 3 เล่ม) ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งแรก 1 ตุลาคม 2481) แก้ไขปรับปรุงใหม่ 24 มิถุนายน 2548 (กำธร เลี้ยงสัจธรรม บรรณาธิการ) หน้า (44), (53)]

กฎหมายตรา 3 ดวง ถูกชำระสมัย ร.1 “เพื่อคงสภาพเดิมของกฎหมายไว้ มิได้ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายหรืออย่างธรรมเนียมกฎหมาย” ดังนั้น จึงถูกใช้อ้างอิงในการค้นคว้าวิจัยสังคมตั้งแต่สมัยอโยธยา, อยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์ แล้วมีการสัมมนาใหญ่เรื่อง “กฎหมายตรา 3 ดวง กับสังคมไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2533 มีบทความวิชาการหลากหลายอ้างอิงกฎหมายตรา 3 ดวง วิเคราะห์สังคมไทยตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา-สมัยอยุธยา โดยนักปราชญ์นักค้นคว้าและนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ โยเนเอะ อิชิอิ, เอกวิทย์ ณ ถลาง, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, แล ดิลกวิทยรัตน์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ศรีศักร วัลลิโภดม, ฉลอง สุนทราวาณิชย์, สุเทพ สุนทรเภสัช, พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นต้น

(หนังสือกฎหมายตราสามดวงกับสังคมไทย รวมบทความวิชาการโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2535)

 

ล่าสุดมีนักวิชาการทางโบราณคดีระบุอย่างน่าอัศจรรย์ว่ากฎหมายตรา 3 ดวง เป็นกฎหมายเขียนขึ้นสมัย ร.1 โดยไม่บอกเหตุผล และไม่แสดงหลักฐาน ดังนี้

“กฎหมายตราสามดวง เป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 และถูกยกเลิกไปเมื่อมีการประมวลกฎหมายใหม่ขึ้นใช้”

[จากหนังสือ โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา จัดทำโดยภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2559 หน้า 48]

นักวิชาการผู้นี้มีสิทธิ์ “คิดต่าง” อย่างมีเหตุผลและหลักฐาน แต่หากเขียนมาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานก็อันตราย ดังนั้น ต้องทบทวนแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อนักศึกษาและประชาชนที่อ่านพบจะได้ไม่หลงทางและเสียโอกาสทางการศึกษาค้นคว้า แล้วตามทันความก้าวหน้าทางวิชาการในโลกกว้างอย่างสากล •