“เลี้ยงผีเจ้านาย” ให้ศาลคอยช่วยเหลือผู้คน เข้าสิงร่างทรง “ม้าขี่”

“เจ้านาย” หมายถึงวิญญาณของวีรบุรุษหรือนักรบ ตลอดจนวิญญาณของผู้มีเชื้อสายเป็นเจ้าระดับเจ้าเมือง ซึ่งมีกรรมบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถไปจุติในภพภูมิอื่นได้

เมื่อมีคนสร้างศาลหรือ “หอ” แล้วเชิญให้ไปสถิตอยู่ จึงเข้าสถิตในศาลคอยให้ความช่วยเหลือผู้คน โดยการเข้าสิงร่างทรงที่เรียกว่า “ม้าขี่”

สถานภาพของผีเจ้านายมีหลายระดับ ส่วนใหญ่เป็นระดับเชื้อสายเจ้า การใช้สรรพนามแทนตัวมีทั้งเจ้าปู่ เจ้าพ่อ และเจ้าพี่ ตามอายุในขณะที่ผีเจ้านายนั้นๆ เสียชีวิต เช่น

เจ้าปู่ เป็นผีที่เสียชีวิตในขณะอายุ 70-80 ปี

เจ้าพ่อ เป็นผีที่เสียชีวิตตอนอายุตั้งแต่ 60-70 ปี

ส่วนที่อายุยังน้อย ต่ำกว่า 40 ปี มักจะให้เรียกเป็นเจ้าพี่ เป็นต้น

 

ศาลหรือหอของผีเจ้านายจะมีผู้ดูแลอยู่ ซึ่งมักจะเป็นเจ้าของพื้นที่หรือร่างทรง และมีผู้ช่วยที่เรียกว่า “ตั้งเข้า” หรือ “แม่ตั้ง” คอยเป็นผู้ติดต่อเชื้อเชิญหรือประสานงานกับผีเจ้านาย เมื่อมีคนมาขอความช่วยเหลือ (ซึ่งผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะเรียกว่า “ลูกเลี้ยง” หรือ “ลูกเลี้ยงเอี้ยงคำ”) ร่างทรงจะประกอบพิธีประทับทรงตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับพิธีประทับทรงจะเริ่มที่ ตั้งเข้า หรือแม่ตั้ง จุดธูปบูชาครูและเชิญผีเจ้านาย สักครู่หนึ่งผีจะเข้าสิงม้าขี่ เมื่อผีเข้าสิงแล้วม้าขี่จะจัดแจงแต่งกายในชุดผีเจ้านาย คือนุ่งโสร่ง สวมเสื้อ โพกศีรษะ จากนั้นจึงเริ่มทักทายไถ่ถามความประสงค์ที่ลูกเลี้ยงมาหา ด้วยน้ำเสียง ลีลาและคำศัพท์ตามลักษณะของคนโบราณ

ด้านสิ่งที่มักจะมาขอความช่วยเหลือจากผีเจ้านายนั้นมีหลายประการ เป็นต้นว่า รักษาโรค ทำนายของหาย ช่วยให้ประสบผลสำเร็จ หรือช่วยให้ความคุ้มครอง เป็นต้น

ซึ่งผีเจ้านายในร่างทรงก็จะให้ความช่วยเหลือผ่านกรรมวิธี อาทิ เป่ากระหม่อม พรมน้ำมนต์ พ่นสุรา ตามแต่กรณี

เมื่อเสร็จสิ้นพิธี บางคนสมหวัง หลายคนไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ทุกคนก็พอใจในระดับหนึ่ง

แปลว่า ฟ้อนบูชาผี

งานสำคัญของผีเจ้านายที่จะต้องปฏิบัติ คือ งานเลี้ยงประจำปี งานนี้จะมีการเชิญผีเจ้านายสำนักอื่น และลูกเลี้ยงที่ให้ความศรัทธามาร่วมงานด้วย

ขั้นตอนในการเลี้ยง เริ่มต้นด้วยการสร้างปะรำขึ้น ณ บริเวณหน้าศาล แล้วจัดเครื่องเซ่นสังเวยพอประมาณไว้ก่อน ตกเย็นจะมีการฟ้อนบูชาผีโดยม้าขี่เจ้าภาพ และร่างทรงของผีเจ้านายที่มาร่วมงาน

ในวันรุ่งขึ้นอีกวันถึงจะมีพิธีใหญ่ มีการจัดเครื่องเซ่นชุดใหญ่ เช่น หัวหมู ไก่ต้ม อาหารคาวหวาน มะพร้าว กล้วย อ้อย ขนม ผลไม้ เป็นต้น

วันเลี้ยงใหญ่นี้จะมีดนตรีปี่พาทย์วงใหญ่บรรเลงประกอบการฟ้อนรำของผีเจ้านายที่มาร่วมงานเป็นที่สนุกสนาน และสร้างความศรัทธาให้ผู้คนที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

การเลี้ยงผีเจ้านายเริ่มแต่ตอนเช้า หลังจากนั้นจะมีการฟ้อนจนถึงเวลาเย็น เวลานั้นบรรดาผู้ที่มาร่วมงานมักจะเข้าไปขอให้ผีเจ้านายผูกข้อมือ ให้ทำน้ำมนต์ ตลอดจนขอลาภขอพร

อันเป็นกิจกรรมสุดท้าย ก่อนที่จะเสร็จสิ้นพิธี •