จารึก ลพ.3 วัดมหาวัน อ่านกันใหม่อีกครั้งครบทั้ง 4 ด้าน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดังที่ได้เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้วว่า ทาง พระประกอบบุญ สิริญาโณ เจ้าอาวาสวัดมหาวัน ลำพูน ได้ประสานให้ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญโบราณ ทำการปริวรรตศิลาจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย หลักที่ชื่อว่า ลพ.3 ซึ่งได้มาจากวัดมหาวัน ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย นั้น

โดยดิฉันเป็นผู้ประสานงาน มีการจัดกิจกรรมเสวนาเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการปริวรรตใหม่ เชิญอาจารย์พงศ์เกษมมาเป็นวิทยากรเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ภาคบ่ายมีการลงสำรวจพื้นที่วัดร้างสมัยหริภุญไชยหลายแห่งสองฟากแม่น้ำกวง (ปิงเก่า)

กระทั่งวันที่ 2 กันยายน 2565 อาจารย์พงศ์เกษมได้ส่งต้นฉบับลายมือเขียนบนกระดาษฟุลสแก๊ปให้แก่ดิฉัน เป็นฉบับที่กลับไปอ่านทวนอีกครั้งหลังจากเสวนาที่วัดมหาวัน

การปริวรรตทุกครั้ง อาจารย์พงศ์เกษมจะทำสี่ขั้นตอนคือ

ขั้นแรก แกะอักษรมอญโบราณทีละตัว ทีละคำ ออกมาเป็นอักษรไทยกลางปัจจุบัน แต่เสียงอ่านยังเป็นภาษามอญโบราณ ที่ศัพท์หลายตัวไม่มีใครเข้าใจ เพราะสูญหายไปแล้วในภาษามอญปัจจุบัน

ขั้นที่สอง แกะภาษามอญโบราณออกมาเป็นภาษามอญที่เข้าใจได้ในปัจจุบัน โดยยังคงรูปอักขระ พยัญชนะ สระ ตัวสะกด ให้เป็นภาษามอญ แต่เขียนด้วยอักษรไทย

ขั้นที่สาม แปลภาษามอญมาเป็นภาษาไทย ด้วยการแปลทีละคำ หากพบศัพท์ยากที่ไม่สามารถแปลเป็นไทยได้ ก็จะคงทับศัพท์ภาษามอญตามต้นฉบับเดิมไว้ เอาคำต่างๆ ที่แปลมาวางเรียงไว้ก่อน ยังไม่ได้เรียบเรียงประโยค

ขั้นที่สี่ เรียบเรียงคำทีละคำที่แปลมาได้นั้น ตามอักขรวิธีภาษาไทย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายต่อการรับรู้ในปัจจุบัน ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้การตีความช่วย และการเติมศัพท์บางคำในส่วนที่เว้าแหว่งชำรุดไป เข้าช่วยด้วยเช่นกัน

ดังนั้น อาจารย์พงศ์เกษมจึงออกตัวว่า การอ่านจารึก ลพ.3 วัดมหาวัน เป็นการทำงานที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เหตุที่จารึกสึกกร่อนมาก การอ่านทวนใหม่แต่ละรอบก็ได้แง่คิด และตีความได้ไม่เหมือนกัน

และยินดีมาก หากจะมีนักจารึกวิทยาด้านอักษร-ภาษามอญโบราณ มาอ่านอีกครั้งในอนาคต ขอให้เอาฉบับที่อาจารย์พงศ์เกษมปริวรรตใหม่ครั้งนี้ ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการสอบทานด้วยอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง นอกเหนือจากเวอร์ชั่นของกรมศิลปากรสองฉบับ (ปี 2518 และ 2549)

รายละเอียดที่อาจารย์พงศ์เกษมทำการอ่านและปริวรรตใหม่ ทั้งสองด้านหน้า-หลัง และสันข้างทั้งสอง มีดังนี้

จารึกวัดมหาวัน ลพ.3 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

จารึก ลพ.3 ด้านที่ 1

บรรทัดที่ 1 : นี้คือ คำจารึกอันเป็นสัตย์จริงของ “ตชุตฺรล มหาสวัสดิ์”

บรรทัดที่ 2 : แห่งอาณาจักร ในคราวที่นิมนต์ “ตชุอรหทีปนี” มาจาก (เชตะวัน?)

บรรทัดที่ 3 : ในเดือนเจตร (เชษ-มีนาคม) เผดียงพฺฤตตสงฆ์องค์หนึ่ง

บรรทัดที่ 4 : บาทกับยี่สิบ … ข้าทาส… มหาสามี สอง (บาท)

บรรทัดที่ 5 : หก พิสสุกรรม สิบ สฺรลายสามสิบบาท 628 เบี้ย สมฺฤ ห้า (บาท)

บรรทัดที่ 6 : สร้างเจดีย์กับกรุนี้ II มาลกฺกบริจาคฉัตรห้าร้อย เจ้านายท่านหนึ่งก่อปูนสร้างพระพุทธรูป…บาทกับสามร้อยสอง สฺรกญา สามสิบ… ในกาลที่ ข้าน้อย…(ถวาย)…บาท รุธสี สองบาท

หมายเหตุ ขีดตรงยาวสองเส้น II และ II๐II เรียก “อังคั่น” หมายถึงการคั่นข้อความว่าจบกิจธุระของรายแรกแล้ว ผู้ทำบุญรายต่อมาสามารถมาเขียนสิ่งที่ตนทำบุญต่อได้เลย และเมื่อจบการบุญของอีกคน ก็ใส่เครื่องหมาย II อีก

บรรทัดที่ 7 : ร้อยเก้าสิบ ตะนัง (จำนวนที่ดิน) II ตฺสาม…ฉัตรด้วยกัน กับจฺราง ร้อยกับอีก…

บรรทัดที่ 8 : สิบบาท II พริ ห้าสิบบาท…ท่านหนึ่ง…กฺกว ห้าสิบบาท กับโยมเมตตริยะ…

บรรทัดที่ 9 : บาท II กฺสาร สามบาท II สฺรี สิบบาท…นโจ ถวายที่ดิน II๐II … วัสสุ ร้อยบาท (ภาษามอญโบราณใช้หน่วย “ทิงเกล”) ท่านผู้เป็นใหญ่อัง…

บรรทัดที่ 10 : สิบบาท II ติร์ สิบบาท…จาตกับลาลสาม…ท่านหนึ่งชื่อ ฆิ ถวายหนึ่งร้อย ชลิง…

บรรทัดที่ 11 : หนึ่ง ข้าพเจ้าท่านอินวิงหนึ่ง II …วาตสิบบาท กับติรสฺวป หนึ่ง

บรรทัดที่ 12 : บาท กับของถวายหนึ่ง II พร้อมท่านตฺรลางหนึ่งท่านให้…ทำ…หนึ่ง

บรรทัดที่ 13 : โกทให้แสนห้า (เบี้ย?) ฉัตรหนึ่งร้อย II๐II สุกร์เลี้ยงพระห้าบาทกับที่ดินสามตะนัง

บรรทัดที่ 14 : บาท โปบ…บาท พ่อสลุยกับตชุ…บาท… สองแสน (เบี้ย) II พระพุทธรูปพ่อไสย์หนึ่งองค์

บรรทัดที่ 15 : ถวายพระพุทธรูปปางตรัสรู้ พ่อนายสามบาท… ท่านหนึ่งสิบบาท II พ่อทินร้อย…

บรรทัดที่ 16 : พระของฉันเอง…บาท สิงตาซื้อ II …ร่วมเป็นหนึ่ง II สธาอ์หนึ่ง

บรรทัดที่ 17 : หนึ่ง…หนึ่ง II …ห้าสิบ…พลทูลถวาย…

บรรทัดที่ 18 : บาท…เรา…สฺรล ฉัตรสามเล่ม II แม่ นมช

บรรทัดที่ 19 : พระพุทธรูปนางเมียะเรียงหนึ่งร้อย… กับหนึ่ง II ผ้า ทนฺน…

บรรทัดที่ 20 : พ่อเนียงหนึ่ง…ให้ทูลถวายกับพ่อสิ… สิบ

บรรทัดที่ 21 : หนึ่ง ลกฺย …ส

บรรทัดที่ 22 : อ…ริ…กะละ…อา…

หมายเหตุ ตอนล่างของศิลาจารึกเริ่มชำรุดมาก ตั้งแต่บรรทัดที่ 21 ลงไปอ่านและแปลความไม่ได้แล้ว

จารึกวัดมหาวัน หลัก ลพ.3 เขียนด้วยตัวอักษรมอญโบราณ แต่ละบรรทัดมีรายละเอียดค่อนข้างมาก น่าเสียดายที่อยู่ในสภาพชำรุด พื้นผิวมีรอยกะเทาะ

จารึก ลพ.3 ด้านที่ 2

ด้านนี้อาจารย์พงศ์กล่าวว่า เริ่มเป็นรายชื่อของกลุ่มผู้ทำบุญที่อยู่ในชนชั้นวรรณะรองลงไปจากด้านแรก ในขณะที่คนในวรรณะสูงจะปรากฏนามในหน้าแรก

บรรทัดที่ 1 : ข้าทาสมากมาย มงคล…กับท่านรังกาล…

บรรทัดที่ 2 : ชำรุดแปลไม่ได้

บรรทัดที่ 3 : ให้… พระสงฆ์กับ พน (พน อาจหมายถึง ฯพณฯ) มหาอัศม ท่านหนึ่ง

บรรทัดที่ 4 : มหาพิส…ท่านคุเลจ์…ท่านมงอุย ข้างใน II กับ

บรรทัดที่ 5 : มหิ…โวง…พระสงฆ์สร้างพระ ลูกชางพย์

หมายเหตุ ตอนอาจารย์พงศ์เกษมอ่านสด อ่านคำว่า ชาวพย์ เป็น “ชางไม” สอดคล้องกับคำว่า ชวงฮไมล์/ชางฮไมล์ ที่ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา ศึกษามาว่า คำนี้แปลว่า “เชียงใหม่” เป็นภาษาลัวะโบราณ

บรรทัดที่ 6 : หนึ่ง…สงฆ์ มหาสวัสดิ์ II พระสงฆ์ลูกอิงอุย

บรรทัดที่ 7 : หนึ่ง II พ่อกะวะยะ (กวย) II สุกหนึ่ง พ่อเลฺกย์ II ลูกเคลอ์ II ตะเมาะ II เพฺอจ์

บรรทัดที่ 8 : เมียะเรียกแม่ยู แม่ยง II พันนา แม่สวัสดิ์หนึ่ง กบา กสภู อิสปัล II โจงปา

บรรทัดที่ 9 : ปัจหนึ่ง II บูชานมัสการ II พ่อ…พระพุทธรูป พ่อท่านมหากสฺสป

บรรทัดที่ 10 : กส ผ้า II พระพุทธรูป… ลูปอุปาหุ II สฺรีญา

บรรทัดที่ 11 : …รุ พว ยสฺสย นายทัพ…ลูกเลงฺง ปรญา II แม่ยุ

บรรทัดที่ 12 : ลูก เลทาริย์ ตามลำดับ ท่านพญาผู้เป็นใหญ่ หนึ่ง

บรรทัดที่ 13 : อสุทสฺส… ศาลาของท่านมหาบัณฑิต II เพียะอุต (พญาอุต)

บรรทัดที่ 14 : ศาลาของสุปุญ II ข้าทาส II มตฺต อทุราจา II พร้อมกับ

บรรทัดที่ 15 : …พ่อ นวางโฉย ทินาม

บรรทัดที่ 16 : แม่สลุง ท่านเลียะกุญ ใส่ไว้ในกรุ

บรรทัดที่ 17 : แม่ท่าน… อ… อินกฺยา มหาสวัสดิ์

บรรทัดที่ 18 : …สฺรีมา II มหาเมียะทาง กับลูก

บรรทัดที่ 19 : ถวายให้พ่อสุริยาในกาล…นี้

บรรทัดที่ 20 : กระทำไว้ในศาสนา

ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ระหว่างนั่งอ่านรายละเอียดจารึก ลพ.3 ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

จารึก ลพ. 3 ที่สันข้างทั้งสองด้าน

พื้นที่ซ้าย-ขวาบนจารึกทั้งสองด้านของจารึก ลพ.3 ยังคงเป็นรายชื่อบุคคลชั้นรองมาร่วมทำบุญ บางคนมีแต่ชื่อ บางคนระบุยอดเงิน ส่วนใหญ่เป็นข้อความสั้นๆ แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอให้เป็นการบันทึกไว้ว่ามีการปริวรรตใหม่ ดังนี้

ข้อความบนสันด้านซ้ายมี 21 บรรทัด ขอใช้คำว่า บ. แทนบรรทัด

บ.1 : กทร, บ.2 : ตามลำดับ นัง, บ.3 : วยติงเจต II โวก, บ.4 : ข้าน้อย กิร II๐II ฉัตร, บ.5 : สี่ II ปรา 25,705 เบี้ย II สาม, บ.6 : กว ทสฺส …พ่อปรุย, บ.7 : กสฺส II กปฺสร II สฺส, บ.8 : จวสฺส พ่อฆสฺส, บ.9 : กสฺสป ปุกะ ทวิสฺส ท่าน, บ.10 : สฺสัง II สคม จักพร II ธุวรา ให้ กวสฺ

บ.11 : ..ว ลฺว คุ สินซาย II ตฺร, บ.12 : ท่าน II ปัญ II วาง กสุวร, บ.13 : สุกร II ฃล II พง์, บ.14 : ยสฺส II กรว จำนวน II พรฺวา, บ.15 : ยสฺสาม ท่านผู้ใหญ่ II วน, บ.16 : ท่าน ปกฺกส II อามหัญ, บ.17 : II๐II ขา..เอกฺก II สวย, บ.18 : ทรัพย์สินของพิย II จฺย, บ.19 : กรเวง กตู พ, บ.20 : ฆาป มงคล พ่อกม, บ.21 : ทั้งหมด

 

ผู้เข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “ข้อมูลใหม่จารึก ลพ.3 วัดมหาวัน” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมวัดมหาวัน พระประกอบบุญ สิริญาโณ เจ้าอาวาสวัดมหาวัน ขวาสุด, ถัดมาคือ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย, ตัวดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ และซ้ายสุดคือ ผศ.ดร.อัมเรศ เทพมา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ข้อความบนสันด้านขวามี 20 บรรทัด

บ.1 : มุน, บ.2 : ข้าพเจ้า, บ.3 : หนึ่งร้อย, บ.4 : แม่ตุก, บ.5 : ลาล, บ.6 : ตฺรา, บ.7 : ลาพ II นรสิง (คนกล้าที่คนยกย่อง) บ.8 : ..พฺร, บ.9 : II ตป II สรสุรสัส, บ.10 : ยฺย II ปัลล II สวฑัญ

บ.11 : กับ II๐II มวญ, บ.12 : ฑิญ II วนังค, บ.13 : ตุรว II เฑญ, บ.14 : วสฺส มนภิงค, บ.15 : มสฺสุริยะ, บ.16 : เฑญ, บ.17 : กรคลัง, บ.18 : เกมฺม อกฺลอว์, บ.19 : สปุญ พ เฑญ, บ.20 : มหาวัน

นี่คือการถ่ายถอดอักขระอย่างละเอียดที่สุด ชนิดคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค บรรทัดต่อบรรทัด ด้วยความยากยิ่งของภาษามอญโบราณสมัยหริภุญไชย โดยปราชญ์ด้านรามัญศึกษา ผู้รู้ด้านอักษรมอญโบราณเพียงไม่กี่คนที่เหลืออยู่ในประเทศไทย ฉบับหน้าจะมาสรุปเนื้อหาสาระที่ได้จากจารึกหลักนี้ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ