พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สถาปนา ‘เทวราช’ บนเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มาภาพประกอบ : https://media-cdn.tripadvisor.com/media/photo-s/04/1b/19/22/khmer-for-khmer-organisation.jpg

ข้อความในจารึกสด๊กก๊อกธม 2 (พบที่ปราสาทสด๊กก็อกธม อ.โคกสุง จ.สระแก้ว ติดชายแดนไทย-กัมพูชา) มีข้อความระบุว่า เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1345-1393) ได้ทรงสถาปนา “เทวราช” เอาไว้บน “มเหนทรบรรพต”

ส่วนอะไรที่เรียกว่า “เทวราช” ในศิลาจารึกหลักที่ผมอ้างถึงข้างต้นนั้นก็คือ “ศิวลึงค์” ที่จะเป็นที่สถิตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้สถาปนาเทวราชที่ว่านี้ หลังจากที่พระองค์สวรรคต

แต่การไปสถิตอยู่ที่ศิวลึงค์หลังการสวรรคตตามลัทธิเทวราชนั้น ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่พักพิงของดวงพระวิญญาณเท่านั้นนะครับ เพราะองค์ศิวลึงค์นั้นยังทำหน้าที่เป็น “ร่างเสมือน” (substitute body) คือร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นผ่านพิธีกรรม สำหรับใช้เป็นเหมือนกับร่างกายใหม่ในโลกหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ด้วย

ดังนั้น เมื่อพระองค์ไปสถิตอยู่ในร่างเสมือนที่เป็นรูปสัญลักษณ์ของพระอิศวร คือศิวลึงค์แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ก็ได้รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระอิศวรไปพร้อมๆ กันนั้นด้วยนั่นเอง

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ และปัญญาชนสาธารณะระดับไอคอนของไทยในปัจจุบันอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยอธิบายถึง “ลัทธิเทวราช” ของขอมโบราณ ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่มีอยู่ในวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งที่มีฉากหน้าเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เอาไว้ในบทความที่ชื่อว่า “The Devaraja Cult and Khmer Kingship at Angkor” ที่เขียนขึ้นตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2519 ไว้ว่า เป็นอุดมการณ์ร่วมของชนชั้นนำและประชาชน เกี่ยวกับเรื่องความอุดมสมบูรณ์และผีบรรพชน โดยแสดงอออกผ่านพิธีศพ

อ.นิธิอธิบายว่า “ผีบรรพชน” คือแหล่งที่มาของ “อำนาจแห่งชีวิต” ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงให้แก่ชุมชนและผู้คนทั้งหลายได้ และผู้ที่จะนำพาและส่งถ่ายอำนาจแห่งชีวิตนั้นออกไปสู่ชุมชน หรือผู้คนอื่นๆ ได้ก็คือ “กษัตริย์” แต่กษัตริย์เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นยังไม่ได้เป็น “เทวราช” จนกว่าจะเสียชีวิตลง

ดังนั้น พิธีศพตามความเชื่อนี้จึงต้องสร้างสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามความเชื่อของทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยแสดงออกผ่านทางการสร้าง “ปราสาท” ที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพคือ “ศิวลึงค์” (แน่นอนว่า อาจเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้าก็ได้ แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์นั้นจะเลือกนับถือลัทธินิกายใดเป็นสำคัญ) ที่กษัตริย์ผู้ล่วงลับจะกลับเข้าไปรวมเข้ากับเทพเจ้า คืออำนาจแห่งชีวิตที่ช่วยสร้างความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน หรือราชอาณาจักรนั่นเอง

แต่ประเพณีความเชื่ออย่างนี้ไม่มีในอินเดีย อันเป็นดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ คือในอินเดีย และพื้นที่ปริมณฑลหรอกนะครับ

และก็ไม่ใช่ว่าชนชาวชมพูทวีปจะไม่มีความเชื่อในทำนองที่ว่า กษัตริย์ ก็คือเทพเจ้าองค์หนึ่ง หรือเมื่อสิ้นพระชนม์ลงไปแล้วจะไปเป็นเทวดา ที่บนสวรรค์ไม่ได้ แต่แตกต่างจากอุษาคเนย์ในรายละเอียด เพราะในอินเดียนั้น กษัตริย์จะถูกนับเป็นเทพเจ้าได้ แต่ไม่ใช่พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม หรือใครองค์อื่นที่มีรายชื่ออยู่บนสรวงสวรรค์ของพ่อพราหมณ์เขา

ความคิดในทำนองแบบลัทธิ “เทวราช” นี้จึงเป็นสิ่งที่กลายรูปมาจากความเชื่อในศาสนาผีของอุษาคเนย์ อย่างเรื่องเมื่อคนตายแล้ว “ขวัญ” ในร่างกายจะกลับไปรวมเข้ากับ “แถน” คือพลังงานของบรรพชน เพียงแต่เปลี่ยนจากแถนมาเป็น พระอิศวร, พระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้า ก็เท่านั้น

 

ส่วน “มเหนทรบรรพต” ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ขึ้นไปสถาปนา “เทวราช” คือ “ร่างเสมือน” ของพระองค์นั้น ก็คือ “เทือกเขาพนมกุเลน” (แปลตรงตัวว่า ภูเขาลิ้นจี่ป่า) เป็นเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ของพวกขอมมาตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ยุคก่อนรับศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดูแล้วนะครับ

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เป็นภูเขาที่ “เฮี้ยน” (ความศักดิ์สิทธิ์แบบผีๆ) มาตั้งแต่ในศาสนาผีนั่นแหละ

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะบนเทือกเขาพนมกุเลน เป็นต้นน้ำของแม่น้ำกบาลสเปียน (หรือ สตรึงกบาลสเปียน ตามสำเนียงซาวด์แทร็กภาษาเขมร โดยคำว่า “กบาลสเปียน” นั้นเป็นภาษาเขมร แปลไทยตรงตัวว่า “หัวสะพาน”) ที่ไหลผ่านเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยตั้งอยู่ห่างจากกลุ่มโบราณสถานเมืองพระนคร และนครธม ราว 25 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

และที่ต้นน้ำของสตรึงกบาลสเปียนนั้นก็มีศิวลึงค์นับพันองค์ที่ได้ถูกบรรจงแกะสลักลงบนลานหินใต้ลำน้ำที่หัวสะพาน ในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1593-1609)

แต่ที่ต้นน้ำหัวสะพานไม่ได้มีเฉพาะหมู่ศิวลึงค์เท่านั้น เพราะยังประดับไปด้วยรูปเทพเจ้าสำคัญต่างๆ เช่น พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระพรหม พระอิศวรในปางต่างๆ แทรกอยู่เป็นจังหวะ ตามโขดหินนานา ก่อนจะลงไปถึงจุดสิ้นสุดของหัวสะพาน ซึ่งเป็นเหวเตี้ยๆ และมีน้ำตกลงไปข้างล่าง

ณ บริเวณที่จุดสิ้นสุดของชุดภาพสลักที่กบาลสเปียน มีหินก้อนใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงบริเวณที่น้ำจะทอดตัวตกลงไปยังเบื้องล่าง พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดในพื้นที่กบาลหัวสะพานแห่งนี้

 

หินใหญ่ก้อนที่ว่าเคยมีภาพสลักพระอิศวรอยู่ ในปางที่เรียกว่า ภิกษาตนมูรติ คือพระอิศวรที่ปรากฏกายในรูปของนักบวชประดับอยู่ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันรูปพระอิศวรจะถูกคนใจทรามกะเทาะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเศษเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ของตนเอง

แต่ก็ยังน่าสนใจมากเป็นพิเศษพอที่จะทำให้ควรดั้นด้นไปสังเกตการณ์ เพราะด้านบนของพระอิศวร ที่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงรูโหว่ไปแล้วนั้น สลักรูป “จระเข้” เอาไว้ด้วย

“จระเข้” นั้นเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ในทำนอง “ผีบรรพชน” นะครับ ตัวอย่างเช่น ชาวจามบางกลุ่มถือว่าบรรพชนของตนเองเป็นจระเข้ เช่น จามบ้านครัว เป็นต้น

ตำนานเรื่อง “พระนางจามเทวี” เล่าว่า พระนางคนนี้เป็นเชื้อสายราชวงศ์มอญ ที่ขึ้นไปครองหริภุญไชย แต่บ้านเกิดเมืองนอนที่พระนางจากมานี่ไม่ได้มอญเลยสักนิด เพราะพระนางเสด็จไปจาก “เมืองละโว้” หรือ “ลพบุรี” ที่ใครๆ ต่างก็รู้กันดีว่า เป็นเมืองฐานที่มั่นสำคัญของพวกขอมสมัยโบราณ

ชื่อพระนางผู้มาจากละโว้คนนี้ ออกเสียงแบบมอญว่า “กยามเทวี” แปลว่า “พระนางจระเข้” เพราะ “กยาม” ในภาษามอญ แปลเป็นไทยว่า “จระเข้” ซึ่งเป็นร่องรอยที่สำคัญ เพราะในกรณีนี้จระเข้เป็น “ผีบรรพชน” โดยถูกแสดงผ่านชื่อของเชื้อพระวงศ์ (โดยเฉพาะเมื่อนับทางฝ่ายหญิง ตามธรรมเนียมโบราณ) ที่ขึ้นไปปกครองเมืองใหม่คือ หริภุญไชย

หลักฐานอีกประการที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของศาสนาผี ที่หินใหญ่ก้อนนี้ก็คือ หินแกะสลักรูป “กบ” นั่งเฝ้าพระอิศวรอยู่ด้วย กบรูปนี้สลักขึ้นอย่างโดดๆ ลงบนหินก้อนเล็กๆ ที่ลำธารไหลผ่าน จ้องมองขึ้นไปยังรูปพระอิศวรบนหินก้อนใหญ่ด้วยอาการเคารพ

ทั้งเจ้ากบตัวน้อย และจระเข้นั้น เป็นทั้งผีบรรพชน และสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ในศาสนาผีแน่ แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งก็คือ ภาพสลักเหล่านี้ถูกสลักอยู่บน “หินใหญ่” ซึ่งเป็นของที่ “เฮี้ยน” ตามความเชื่อในศาสนาผีด้วย

ที่มาภาพประกอบ : https://media-cdn.tripadvisor.com/media/photo-s/04/1b/19/22/khmer-for-khmer-organisation.jpg

บนเทือกเขาพนมกุเลน ยังมีพื้นที่โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ “สระดำเรย” เพราะเป็นบริเวณที่มี “ตาน้ำ” อยู่

แม้ว่าปัจจุบันจะเหือดแห้งไปมากแล้ว แต่ทุกวันนี้เราก็ยังสามารถเห็นตาน้ำดังกล่าวได้นะครับ โดยที่บริเวณใกล้กันกับตาน้ำก็มี “หินใหญ่” สูงหลายเมตรตามธรรมชาติตั้งตระหง่านเป็นกลุ่มอยู่หลายก้อน

สองก้อนในบรรดาหินใหญ่ที่ว่านั้น ตั้งอยู่ใกล้กันมาก จนเกิดเป็นช่องว่างแคบๆ เหมือนทางลาดลงมาสู่ตาน้ำ ซึ่งเคยมีน้ำผุดท่วมเต็มบริเวณพื้นที่ และไหลลงหน้าผาจนเกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กมาก่อน

โดยก้อนหนึ่งสลักเป็นรูป “ช้าง” ขนาดใหญ่ (อันเป็นที่มาของชื่อสระดำเรย เพราะคำว่า ดำเรย ในภาษาเขมรแปลว่า ช้าง)

ส่วนอีกก้อนสลักเป็นรูปสิงห์ เช่นเดียวกับอีกก้อนหนึ่งที่อยู่ถัดออกไป โดยมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันตามขนาดของหินตามธรรมชาติดั้งเดิม

แน่นอนว่า หินใหญ่เหล่านี้ย่อมเคยเป็นหินใหญ่ที่มีความเฮี้ยนในศาสนาผี ดังนั้น จึงได้ถูกสลักรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ไว้ในภายหลัง ไม่ต่างอะไรกับก้อนหินใหญ่บริเวณต้นน้ำกบาลสเปียน ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมกุเลนเหมือนกัน

เอาเข้าจริงแล้ว ก่อนหน้าที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จะขึ้นมาสถาปนา “เทวราช” องค์แรกในวัฒนธรรมเขมรโบราณบนเขาพนมกุเลนนั้น เทือกเขาลิ้นจี่ป่าแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์มาก่อนแล้ว การสถาปนาเทวราชบนเขาเทือกนี้จึงเป็นการตอกย้ำความต่อเนื่องของแนวคิดเรื่องผีบรรพชน ผู้นำความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่ราชอาณาจักรอย่างที่ อ.นิธิเคยว่าเอาไว้เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้วนั่นแหละครับ •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ