ปริวรรตใหม่อีกครั้ง ศิลาจารึกมอญโบราณ ลพ.3 วัดมหาวัน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วัดมหาวันหรือมหาวนาราม เป็นหนึ่งในวัดสี่มุมเมืองประจำทิศตะวันตกของจังหวัดลำพูน หรือเป็น 1 ใน 5 มหาอารามแห่งนครหริภุญไชยที่ตำนานมูลศาสนากับจามเทวีวงส์กล่าวว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราว 1,300 ปีเศษ

ชื่อเสียงของวัดนี้ที่โด่งดังเป็นพลุแตกคือการค้นพบ “พระพิมพ์รุ่นพระรอด” อันลือลั่น ทำให้ตั้งแต่ราว พ.ศ.2480 จวบจนปัจจุบัน ถนนทุกสายมักมุ่งตรงมาที่วัดแห่งนี้

กระทั่งถึงยุคที่เจ้าอาวาสวัดมหาวันรูปปัจจุบันมีนามว่า “พระประกอบบุญ สิริญาโณ” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “ครูบาอ๊อด” ท่านเป็นพระนักวิชาการ มีความประสงค์ที่จะชำระสะสาง ไม่เพียงแต่ประวัติความเป็นมาของวัดมหาวันเท่านั้น

หากยังรวมไปถึงการที่ท่านอยากชำระประวัติศาสตร์ของนครหริภุญไชยอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูบาอ๊อดทราบดีว่า “ต้นทุน” อันสูงยิ่งของวัดมหาวัน หาใช่มีเพียงแค่ “พระรอด” เท่านั้น

หากยังมี พระสิขีปฏิมาศิลาดำ พระบุเงิน บุทอง (พระหน้ากาก) โบราณวัตถุสมัยหริภุญไชยประเภทประติมากรรมดินเผา เครื่องถ้วย น้ำต้น ปูนปั้นประดับศาสนสถาน ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

เหนือสิ่งอื่นใด วัดมหาวันมีการพบศิลาจารึกสมัยหริภุญไชย เคยปักอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นจารึกรุ่นเก่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เขียนด้วยตัวอักษรมอญโบราณ กรมศิลปากรกำหนดให้เรียกว่า ลพ.3

นี่คือขุมทรัพย์อันล้ำค่ายิ่ง เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยไขปริศนาประวัติความเป็นมาอีกหน้าหนึ่งของวัดและประวัติศาสตร์เมืองลำพูน

 

เมื่อดำริเช่นนี้ ท่านครูบาประกอบุญจึงหารือดิฉันว่า อยากให้ช่วยหาผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญโบราณมาทำการปริวรรตศิลาจารึกหลัก ลพ. 3 ใหม่อีกครั้ง เหตุที่เมื่อมาพินิจพิเคราะห์ตัวศิลาจารึกหลักนี้ใหม่อีกครั้ง พบว่าแต่ละด้านมีความยาวมากถึงราว 22-23 บรรทัด (ขนาดว่าฐานจารึกตอนล่างเว้าแหว่งไปแล้ว)

ถือว่าเป็นจารึกที่มีการเขียนพรรณนาอักขระข้อความมากที่สุดในบรรดาจารึกอักษรมอญโบราณทั้งหมดที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

ทว่า ปรมาจารย์รุ่นก่อนกลับถอดความไว้สั้นๆ เพียง 6-7 บรรทัดเท่านั้นเอง

เป็นที่มาของการที่ดิฉันเชิญ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและอักขระมอญโบราณ รามัญคดี มารับหน้าที่ปริวรรตจารึกหลักดังกล่าวเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2565

และหลังจากที่ปริวรรตใหม่เสร็จแล้ว ทางวัดมหาวันยังได้เปิดเวทีเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับข้อมูลใหม่ของจารึกหลัก ลพ.3 ณ ห้องประชุมวัดมหาวันอีกด้วย

ไม่เพียงแต่เท่านั้น การปริวรรตจารึก ลพ.3 วัดมหาวันครั้งนี้ ถือเป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” ของการศึกษาจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชย เพื่อเป็นชิ้นนำร่องไปก่อน 1 หลัก

แบนเนอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม เชิญฟังการปริวรรตศิลาจารึกหลัก ลพ.3 วัดมหาวันใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565

อันที่จริง ความตั้งใจของท่านครูบาประกอบบุญยังต้องการให้ดิฉันและอาจารย์พงศ์เกษมช่วยกันทำการศึกษา วิเคราะห์ ปริวรรตใหม่ บรรดาจารึกอักษรมอญโบราณทุกหลักในลำพูน-เชียงใหม่ นับ 10 กว่าหลัก ด้วยซ้ำ

และจะให้เข้มข้นยิ่งกว่านั้น หากเป็นไปได้ ท่านอยากให้เราศึกษาเชิงเปรียบเทียบแบบเจาะลึกไปถึงรากเหง้าก่อนที่จะมีอักขระมอญโบราณเลยทีเดียว นั่นคือจารึกกลุ่มอักษรปัลลวะตอนปลาย (ไม่พบในดินแดนล้านนา ส่วนใหญ่พบที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสานบางส่วน) เนื่องจากอักษรปัลลวะเป็นต้นกำเนิดให้แก่อักษรมอญโบราณหริภุญไชย

หากงานชิ้นนี้สำเร็จ การนำเสนอกลุ่มศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชย 10 กว่าหลัก ให้เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก (Documentary Memorial of the World) ที่ดิฉันเคยทำค้างไว้กับท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม

จารึกหลัก ลพ.3 วัดมหาวัน ลำพูน เป็นจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17

ย้อนมองเส้นทางที่เคยอ่าน-ปริวรรต

ศิลาจารึกวัดมหาวัน ตามที่นิยมเรียก จารึก ลพ.3 มีเลขทะเบียนว่า 356/18 เป็นจารึกพิเศษมากคือ ปรากฏจารึกถึง 4 ด้าน หมายความว่าตามขอบสันสองข้างก็เต็มไปด้วยข้อความเบียดแน่นเต็มไปหมด ผิดกับหลักอื่นๆ ที่นิยมเขียนแค่สองด้านหลักๆ คือหน้า-หลังเท่านั้น

จารึกนี้มีขนาดปานกลาง กว้าง 78 ซ.ม. สูง 131 ซ.ม. และหนา 24 ซ.ม. ตอนล่างของจารึกทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีรอยชำรุดสึกกร่อนทำให้ตัวอักษรลบเลือนไปหลายบรรทัด

กรมศิลปากรเคยทำการอ่านกึ่งปริวรรตจารึก ลพ.3 มาก่อนแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือปี 2518 โดยคณะของอาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ อาจารย์จำปา เยื้องเจริญ และอาจารย์เทิม มีเต็ม

กับครั้งที่ 2 ในยุคที่ดิฉันดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศิลปากรให้จัดทำแคตตาล็อก เป็นคู่มือนำชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี 2549 ช่วงนั้นดิฉันได้ขอให้อาจารย์พงศ์เกษมช่วยอ่าน-กึ่งปริวรรตจารึก ลพ.3 นี้ใหม่อีกครั้ง

ผู้อ่านอาจมีคำถามว่า อ้าว! ในเมื่ออาจารย์พงศ์เกษมเคยมาอ่านจารึก ลพ.3 ให้กับกรมศิลปากรแล้วนี่นา ทำไมครูบาประกอบบุญยังต้องเชิญมาอ่านครั้งล่าสุดด้วยเล่า เอาข้อมูลชุดเดิมของปี 2549 มาให้ทางวัดมหาวันไปใช้งานเลย มิได้หรือ?

คำตอบคือ เมื่อคราวที่อาจารย์พงศ์เกษมมาช่วยอ่านจารึกอักษรมอญโบราณช่วงระหว่างปี 2545-2549 นั้น เป้าหมายของดิฉันคือต้องการทราบว่า “หริภุญไชย-หริภุญชัย-หริปุญไชย” เขียนอย่างไรกันแน่?

ดังนั้น การเชิญอาจารย์พงศ์เกษมขึ้นมาอ่านจารึกอักษรมอญโบราณแต่ละหลัก จึงเป็นการอ่านแบบมุ่งเน้นค้นหาคำว่า “ภุญเชยฺย-ปุนเชยฺย” ว่าปรากฏในจารึกชิ้นไหนบ้าง เป็นประเด็นหลัก

ในส่วนที่ไม่พบคำว่า “ภุญเชยฺย-ปุนเชยฺย” (เช่นหลัก ลพ.3 มหาวัน) จึงเป็นการอ่านแบบคร่าวๆ ยังไม่ได้ลงรายละเอียด และยังไม่ทันได้ทำการวิเคราะห์เจาะลึกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ บุคคล สถานที่ หรือประวัติศาสตร์ในภาพรวมของหริภุญไชยแต่อย่างใด

อีกประการหนึ่ง ช่วงนั้นอาจารย์พงศ์เกษมยังสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ ทุ่งมหาเมฆ ด้วย ผิดกับคราวนี้ เมื่อเราเชิญท่านมาอ่านอีกครั้ง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว จึงมีเวลาวิเคราะห์จารึก ลพ.3 กันอย่างเต็มที่

หนังสือที่มีการอ่านจารึก ลพ.3 วัดมหาวันครั้งแรก เป็นการสรุปความกว้างๆ ในภาพรวม ยังไม่ใช่การปริวรรตอักขระทีละตัว ทีละคำ ทีละบรรทัด

เนื้อหาที่อ่านปี 2518

กลุ่มนักภาษาโบราณของกรมศิลปากรที่ได้กล่าวนามมาแล้วคือ อาจารย์ฉ่ำ อาจารย์จำปา และอาจารย์เทิม ได้ทำการอ่านเป็นครั้งแรก แต่ผู้ค้นพบคือ ศาสตราจารย์ฮัลลิเดย์ ตามที่ได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลในวารสารโบราณคดี แต่ท่านฮัลลิเดย์มิได้ทำการอ่าน บอกแต่เพียงว่าอักษรลบเลือนอ่านยาก

ส่วนข้อความที่อ่านในปี 2518 มีดังนี้

เรื่องที่จารึก กล่าวถึงความสัตย์อย่างแท้จริง (เพราะมีคำว่า จรมฺตต) ในผลงานของกษัตริย์ผู้บำเพ็ญพระราชกุศลในพระพุทธศาสนา ต่อมากล่าวถึงการสร้างเจดีย์ พระพุทธรูปทั้งสาม การสร้างกุฏิคูหา การทำฉัตรกั้นพระพุทธรูป

ต่อมากล่าวถึง การถวายข้าพระหรือเลกวัดไว้สำหรับบำรุงรักษาและรับใช้พระภิกษุสงฆ์ในพระอาราม กล่าวถึงพระญาติวงศ์ (ในราชตระกูล) และผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจการนี้ (ส่วนมากเป็นคำวิสามัญนาม) และกล่าวถึงการอุทิศถวายวัตถุสิ่งของต่างๆ สำหรับพระสงฆ์และวัด

หนังสือแคตตาล็อกนำชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีการนำเอาจารึก ลพ.3 มาอ่านกึ่งปริวรรตใหม่อีกครั้งในปี 2549 โดย ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย แต่ก็ยังไม่ใช่การปริวรรตเต็มรูปแบบ

เนื้อหาที่ปริวรรตปี 2549 โดย ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย

รายละเอียดปรากฏอยู่ในแคตตาล็อกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ชื่อหนังสือว่า “โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย” ดิฉันเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าเรียบเรียง

อาจารย์พงศ์เกษมตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะการขึ้นต้นของจารึก ลพ.3 เหมือนกันกับจารึก ลพ.1 (จารึกพระญาสววาธิสิทธิ) และอีกหลักคือจารึก ลพ.6 (จารึกวัดบ้านหลวย) กล่าวคือ ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการทำสัตยาธิษฐาน ในการทำบุญของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง

ประเด็นถัดไปสำคัญมาก กล่าวถึงการนิมนต์ ตชุอรหทีปนี ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นนักบวชผู้เป็นที่นับถืออย่างสูงในขณะนั้น เดินทางมายังลำพูน ตชุรูปนี้ได้ทำบุญร่วมกับผู้ปกครอง คณะเจ้านายชั้นสูง

นอกจากนี้ จารึกยังกล่าวถึงการสร้างเจดีย์ที่มีคูหา การบริจาคที่ดิน เงิน ทอง ข้าทาส ที่สำคัญคือกล่าวถึงพระนามเฉพาะของพระพุทธรูป 2 องค์

อาจารย์พงศ์เกษมกล่าวโดยสรุปว่า จารึกหลักนี้เต็มไปด้วยชื่อเฉพาะ (วิสามานยนาม) ของบุคคลชั้นสูง ซึ่งจะจารึกไว้ด้านหลักคือด้านหน้ากับด้านหลัง

ส่วนบุคคลผู้อยู่ในสถานภาพทางสังคมที่รองลงไป จะจารึกชื่อไว้ทางสันด้านข้างทั้งสองของตัวจารึก

เห็นได้ว่า เมื่อคราวที่ทีมปรามาจารย์ด้านภาษาโบราณของกรมศิลปากรทำการอ่านจารึก ลพ.3 นั้น เป็นการอ่านแบบจับใจความรวบยอด ยังไม่มีรายละเอียดของชื่อเฉพาะบุคคล

ครั้นต่อมา การอ่านครั้งแรกของอาจารย์พงศ์เกษมในปี 2549 เริ่มถอดรหัสชื่อเฉพาะบุคคลได้ว่า “ตชุอรหทีปนี” ถือว่าเป็นการขยายความให้ชัดเจนขึ้นมาอีกหน่อย ทว่า ในภาพรวมก็ยังเป็นการกล่าวกว้างๆ ตามขนบเนื้อหาที่พบได้ทั่วไปในการสร้างจารึก

ฉบับหน้ามาดูกันว่า เมื่อทิ้งช่วงไปนานกว่า 7-8 ปี การปริวรรตครั้งใหม่ล่าสุดแบบละเอียดยิบ บรรทัดต่อบรรทัด ประโยคต่อประโยค วลีต่อวลี ซ้ำยังเชื่อมโยงเนื้อหาไปสัมพันธ์กับจารึกมอญโบราณหลักอื่นๆ อีกด้วย

อาจารย์พงศ์เกษมจักค้นพบอะไรที่แปลกใหม่เพิ่มขึ้นมาบ้าง? •

 

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ