ร่มกระดาษ ต้นแบบฉัตร เคยเป็นเครื่องยศขุนนางบรรดาศักดิ์ ในกรุงศรีอยุธยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“พระแสงขรรค์ชัยศรี” เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ หรือสิทธิธรรมของกษัตริย์ของผู้คนแถบนี้มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.1800 หย่อนๆ จนกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในภายหลังแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีเครื่องราชูปโภคที่แสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นของอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งดูจะสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “ฉัตร”

และก็สำคัญมากพอจนทำให้รัชกาลที่ 4 ตั้งชื่อ “วันบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์” ว่า “วันฉัตรมงคล” เลยทีเดียว

อันที่จริงแล้ว การใช้ฉัตรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะชาวสยามแต่คงจะเป็นลักษณะโดยทั่วไปของชาวอุษาคเนย์ ภาพสลักที่ระเบียงคตปราสาทนครวัด แสดงภาพขบวนไพร่พลต่างๆ ที่มีอำนาจและฐานันดรลดหลั่นโดยใช้ฉัตรเป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ.1650 เป็นอย่างน้อย

แต่อะไรที่เรียกว่า “ฉัตร” ในภาพสลักที่ปราสาทนครวัดนั้น ไม่ได้ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นเหมือนร่มคันใหญ่ๆ หลายๆ คัน และดูเหมือนว่า ยิ่งใครมีร่ม หรือฉัตรมากแล้ว ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มากขึ้นไปด้วย ไม่ต่างอะไรกับจำนวนชั้นของฉัตรตามคติในปัจจุบัน

ภาพสลัก (บน) ขบวนแห่ของพลละโว้ (ซ้าย) ขบวนแห่ของพวกสยาม (สยามก๊ก)

ลักษณะของฉัตรแบบดั้งเดิมนี้ยังมีร่องรอยตกค้างอยู่ใน เครื่องยศขุนนางบรรดาศักดิ์ที่ระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลของกรุงศรีอยุธยา ที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ว่า ผู้มีศักดินา 5000 “ขี่ยั่วร่มทงยู” แปลว่า นั่งเครื่องแบกหาม และมีเครื่องบังแดดฝนที่เรียกว่า ร่มทงยู

ปราชญ์อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายไว้ในหนังสือที่ชื่อ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติเอาไว้ว่า “ทงยู” เป็นภาษาเขมร ปัจจุบันเขียน “ทำงยู” ออกเสียงว่า “เตียงยู” แปลว่า “ร่มกระดาษ” โดยจิตรได้สันนิษฐานต่อไปว่า คำว่า “ร่มทงยู” ในกฎมณเพียรบาลอยุธยานั้น ร่มทำจากกระดาษที่ใช้ประดับยศผู้มีศักดิ์ อย่างเดียวกับที่มีสลักอยู่ในระเบียงคตปราสาทนครวัดนั่นแหละครับ

เอาเข้าจริงแล้ว ร่มกระดาษที่เรียกว่า “ร่มทงยู” นั้นจึงเป็นเครื่องประดับยศเก่าแก่ของอุษาคเนย์ ที่พัฒนาความซับซ้อนของระบบสัญลักษณ์จนกลายมาเป็น “ฉัตร” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอำนาจบารมีของกษัตริย์ในยุคต่อมา จนกลายมาเป็นเครื่องหมายสำคัญของการบรมราชาภิเษก จนรัชกาลที่ 4 ใช้ตั้งเป็นชื่อเรียกว่า “วันฉัตรมงคล” ในที่สุด