ศึกพระพุทธสิหิงค์ (จบ) : อวสานแห่งปริศนา แต่หาสิ้นสงสัยไม่

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สมาธิเพชร VS ขัดสมาธิราบ

ถ้าจะว่ากันตามตำนานแล้ว หากพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นในลังกาทวีปจริง พระพุทธปฏิมาก็ควรนั่งขัดสมาธิราบ และควรทำปางสมาธิ อันเป็นพุทธลักษณะยอดนิยมของศิลปะลังกา มิใช่หรือ?

ทว่า ในความเป็นจริง ทั้งพระพุทธสิหิงค์ฉบับล้านนา ฉบับขนมต้มของทางปักษ์ใต้ และพระพุทธสิหิงค์จำลองทั้งหมดของภาคกลาง ไฉนจึงทำพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย อันเป็นศิลปะที่นิยมในแถบอินเดียเหนือสมัยราชวงศ์ปาละ?

สิ่งนี้เองกระมัง ที่น่าจะเป็นมูลเหตุให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ตัดสินพระทัยเลือกเอาพระพุทธสิหิงค์องค์ที่นั่งขัดสมาธิราบและทำปางสมาธิ (แบบลังกา) มาไว้ที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ในเมื่อตำนานที่เขียนถึงพระพุทธสิหิงค์เล่มเก่าสุดคือ “สิหิงคนิทาน” ของพระโพธิรังสี แต่งขึ้นในดินแดนล้านนา นักวิชาการหลายท่านเห็นว่า เราก็ควรยึดเอา “ศิลปะล้านนา” เป็นข้อยุติในการกำหนดรูปแบบพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์องค์ปฐมจึงควรนั่งขัดสมาธิเพชรปางวิชัย และจากนั้นเมื่อถูกอัญเชิญลงมายังกรุงศรีอยุธยาหลายระลอก ก็เริ่มมีการจำลองพระพุทธปฏิมาตามศิลปะล้านนา ด้วยท่านั่งขัดสมาธิเพชรสืบมา

คำถามคือ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่วังหน้าอัญเชิญมา นั่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ (หรือที่นิยมเรียกว่ารุ่นล้านนาสิงห์ 2 เป็นรุ่นที่ทำเลียนแบบศิลปะสุโขทัย ซึ่งสุโขทัยตั้งใจทำเลียนแบบลังกาอีกชั้นหนึ่ง) นี้ ใครเป็นผู้สร้าง สร้างในสุโขทัยหรือในล้านนา เดิมอยู่ที่ไหน ก่อนที่วังหน้าจะมาพบ?

หนังสือวิเคราะห์เรื่องราวพระพุทธสิหิงค์อย่างละเอียด ของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

พระพุทธสิหิงค์
สวนดอกหรือป่าแดง?

การตั้งคำถามนี้สืบเนื่องมาจาก ในรายการคลับเฮาส์ อย่างน้อยวิทยากรสองท่านคือ คุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี และคุณเมธี ใจศรี เห็นตรงกันว่า ตำนานพระพุทธสิหิงค์เขียนขึ้นใน “นิกายสวนดอก” โดยตัวของพระโพธิรังสีนั้นเป็นภิกษุอีกนิกายหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งสวนดอกและป่าแดง

แต่ท่านได้รับอาราธนาจากพระภิกษุนิกายสวนดอกให้รจนาเรื่องนี้ เพื่อให้พระพุทธสิหิงค์เป็นสัญลักษณ์ของนิกายสวนดอก และต่อมาพระรัตนปัญญาเถระได้รจนาตำนานพระแก้วมรกต เพื่อเป็นองค์แทนของนิกายป่าแดง

ในขณะที่ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สรุปไว้ในหนังสือเรื่อง “พระพุทธสิหิงค์จริงทุกองค์ ไม่มีปลอม แต่ไม่ได้มาจากลังกา” ว่า พระโพธิรังสีแต่งพระพุทธสิหิงค์ขึ้นเพื่อโปรพระพุทธศาสนานิกายใหม่จากลังกา นั่นคือนิกายป่าแดง

เหตุที่พระรัตนปัญญาเถระจงใจเน้นคำว่า “สีหลปฏิมา” ตอกย้ำชัดถึงความเป็นลังกา ซึ่งนิกายที่ถือว่าตัวเองมาจากลังกาสายตรงบริสุทธิ์ก็คือ “ป่าแดง” มิใช่ “สวนดอก” อาจารย์พิเศษมองว่า สวนดอกเป็นลังกาวงศ์แบบอ้อมๆ ต้องผ่านนิกาย “รามัญวงศ์” ในเมืองพัน เมืองเมาะตะมะ อีกชั้นหนึ่ง

พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นสัญลักษณ์ของนิกายป่าแดงมากกว่า ประเด็นนี้ แวดวงวิชาการโบราณคดีล้านนาน่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์เจาะลึกกันอย่างละเอียดอีกครั้ง

พระพุทธสิหิงค์ องค์ประธานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ องค์ที่เคยถูกตัดพระเศียรแล้วซ่อมใหม่

แม่เจ้าเมืองกำแพงเพชรมีสัมพันธ์สวาทกับใคร
พระเจ้าอู่ทองหรือท้าวมหาพรหม?

กําแพงเพชรได้พระพุทธสิหิงค์มาอย่างไร? ทั้งสิหิงคนิทานของพระโพธิรังสี และสีหลปฏิมาของพระรัตนปัญญาเถระ กล่าวเนื้อหาตรงกัน อาจต่างกันที่ชื่อเฉพาะของเจ้าเมืองแต่ละองค์ สรุปได้ดังนี้

หลังจากที่พระพุทธสิหิงค์ประทับ ณ กรุงสุโขทัยอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์พระร่วง มาจนถึงพระญาลิไท ในสมัยของพระญาไสยฦๅไทได้ย้ายพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เมืองพิษณุโลก (ตำนานเรียกว่า สองแคว บ้างเรียกชัยนาท)

หมายเหตุชื่อของพระญาลิไท กับไสยฦๅไทนี้ เป็นการเรียกที่ถูกหรือผิด เป็นอีกประเด็นที่ควรดีเบตกันอย่างละเอียด ตกลงแล้วมีชื่อเรียกอย่างไรกันแน่ ตามที่ อ.ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร และ ดร.ตรงใจ หุตางกูร แห่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เคยเสนอไว้ เอาเป็นว่าในบทความนี้ขอใช้คำว่า พระญาลิไทกับพระญาไสยฦๅไท ตามที่คุ้นชินกันไปก่อน

การย้ายพระพุทธสิหิงค์ของพระญาไสยฦๅไทไปไว้ที่เมืองสองแคว ก็เนื่องมาจากกษัตริย์อยุธยาได้ยกทัพขึ้นมายึดสุโขทัยได้ กษัตริย์องค์ดังกล่าว สิหิงคนิทานเรียก “รามาธิบดี” อาจารย์พิเศษเชื่อว่าหมายถึง พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

เมื่อยึดสุโขทัยได้ พระเจ้าอู่ทองมอบหมายให้โอรสคือ ขุนหลวงพะงั่วปกครองสุโขทัย (ตำนานเรียกขุนหลวงพะงั่วว่า “เจ้าเดช/วัตติเดช”) ทำให้กษัตริย์สุโขทัยคือไสยฦๅไทต้องหนีไปสองแคว เมื่อไสยฦๅไทสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอู่ทองโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากสองแควไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยา

อันเป็นการนำพระพุทธสิหิงค์ไปประทับที่อยุธยาครั้งแรก

มีเหตุการณ์ประหลาดคือ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งสิหิงคนิทานเรียก “ญาณดิศ” สีหลปฏิมาเรียก “ติปัญญาอำมาตย์” มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้พระพุทธสิหิงค์มาครอบครอง ถึงขนาดวางแผนการให้ พระมารดาของพระองค์ ผู้มีรูปโฉมโนมพรรณงดงามขั้น “เบญจกัลยาณี” ยอมเอากายเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งพระพุทธสิหิงค์

สิหิงคนิทานเรียก “แม่หลวง” แปลจากภาษาบาลีว่า “มหามาตา” ส่วนสีหลปฏิมาเรียกนางว่า “มารดาของติปัญญา”

โดยญาณดิศส่ง “แม่หลวง” เข้าไปถวายตัวเป็นสนมรับใช้พระเจ้าอู่ทองในราชสำนักอยุธยา พยายามตีสนิทจนเป็นที่โปรดปราน แม่หลวงได้ทีทูลขอพระพุทธปฏิมาสักองค์ไปไว้บูชาที่กำแพงเพชร

พระเจ้าอู่ทองเห็นว่าในกรุงศรีอยุธยามีพระพุทธรูปมากมายหลายองค์ จึงอนุญาตให้นางไปเลือกเอาเองในหอพระ ด้วยนึกไม่ถึงว่าองค์ที่แม่หลวงใช้วิธีติดสินบนกับผู้เฝ้าหอพระด้วยทอง 1 พันชั่ง ก็คือ พระพุทธสิหิงค์

เกิดกระบวนการตามล่าเอาพระพุทธสิหิงค์คืน กองทัพอยุธยายกทัพมาถึงบริเวณปากน้ำโพ นครสวรรค์ สุดท้ายฝ่ายญาณดิศเอาพระพุทธสิหิงค์เข้าเขตลำน้ำปิงแล้ว อยุธยาจึงเอาคืนไม่ได้ แสดงว่าช่วงนั้น สถานะของกำแพงเพชรน่าจะเป็นกึ่งรัฐอิสระ

สิ่งที่ดิฉันสนใจคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กลับระบุว่า ช่วงที่ท้าวมหาพรหมต้องการช่วงชิงบัลลังก์จากหลานคือ พระญาแสนเมืองมานั้น เมื่อสู้หลานไม่ได้ ต้องลงมาขอกองกำลังจากทางใต้ให้ขึ้นไปช่วย

“เจ้าท้าวมหาพรหมลงไปพึ่งพระญาใต้ (หมายถึงเมืองที่อยู่ทางใต้ล้านนาลงไป คือรัฐแถบสุโขทัย สองแคว กำแพงเพชร) ไปมักเมียพระญาใต้… ในขณะนั้น เมียพระญาใต้ลักเอาพระสีหิงค์ให้แก่ท้าวมหาพรหม”

เกิดอะไรขึ้นล่ะหรือ ตกลง “แม่หลวง” มีสัมพันธ์สวาทกับใครกันแน่? ข้อความตอนนี้คล้ายกับจะบอกว่า แม่ของเจ้าเมืองกำแพงเพชรเองก็มีใจปฏิพัทธ์ซึ่งกันและกันกับท้าวมหาพรหม ถึงขนาดแอบเอาพระพุทธสิหิงค์ให้?

ทั้งๆ ที่ตำนานพระพุทธสิหิงค์ทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันว่า กว่ากำแพงเพชรจะได้พระพุทธสิหิงค์มาจากอยุธยานั้น แม่หลวงต้องเอาตัวเข้าแลกเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายให้กับพระเจ้าอู่ทองมาแล้วครั้งหนึ่ง

เราไม่ควรมองข้ามเหตุการณ์เรื่องนี้ว่าเป็น “แค่ตำนาน” ไร้สาระ ดิฉันกลับรู้สึกสนใจเรื่องบทบาทของ “แม่เจ้าเมือง” ที่ถูกบันทึกไว้อย่างน้อยสองครั้งเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธสิหิงค์ ในทำนองว่ามีการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือหรือนางนกต่อเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าสตรีนางนั้นจะเป็นแม่หรือเมียก็ตาม

ซ้ำเมื่อมีศึกจากผู้รุกราน หากประเมินกองทัพแล้วว่าฝ่ายเราสู้ไม่ไหว ก็ให้ผู้หญิงอีกนั่นแหละที่เป็นฝ่ายเสียสละยอมกายยอมตน ยิ่งฝ่ายท้าวมหาพรหม “มักเมียพระญาใต้” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม่หลวงเองก็คงเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องแอบเอาของคู่บ้านคู่เมืองให้ผู้แข็งแกร่งกว่าไปเพื่อแลกกับการมิให้บ้านเมืองต้องเสียเลือดเสียเนื้อ

ตำนานกล่าวต่อไปว่า เมื่อท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์แล้ว นำกลับมาถวายให้ยุวกษัตริย์แสนเมืองมาผู้เป็นหลาน แสนเมืองมาจึงไม่ถือโทษโกรธเคือง ยกเมืองเชียงรายคืนให้พระเจ้าอาว์ท้าวมหาพรหมปกครองดังเดิม

พระพุทธสิหิงค์ ในวิหารลายคำ ภาพปกจากหนังสือที่จัดทำโดยวัดพระสิงห์ เชียงใหม่

ท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์ยุคไหน
พระญากือนาหรือยุคพระญาแสนเมืองมา?

สิหิงคนิทานกับสีหลปฏิมา กล่าวตรงกันว่า การได้พระพุทธสิหิงค์ของท้าวมหาพรหมนั้น ได้มาตั้งแต่สมัยพระญากือนายังมีพระชนม์ชีพ โดยที่ท้าวมหาพรหมลงไปกำแพงเพชรเพราะกิตติศัพท์ความงามความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์จำลองที่หล่อขึ้นโดยพระภิกษุรูปหนึ่งนั่นแท้เทียว

หาได้เกี่ยวข้องกับศึกชิงบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ ที่อาสู้หลานไม่ได้หลังพระญากือนาสวรรคต จนต้องหนีไปพึ่ง “พระญาใต้” ตามที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุไว้ แต่อย่างใดไม่

ไม่ว่าพระพุทธสิหิงค์จักขึ้นมาสู่ล้านนาในยุคของพระญากือนาหรือพระญาแสนเมืองมากันแน่ อย่างน้อยที่สุดเอกสารทั้งหมดนี้ช่วยให้เราสามารถอธิบายถึงเหตุการณ์อันอีนุงตุงนังได้ว่า เป็นช่วงที่เมืองเชียงรายกับเชียงใหม่กำลังแย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง

เป็นช่วงที่เชียงรายลงไปขอกองกำลังจากสุโขทัยให้ขึ้นมาช่วยรบที่เชียงใหม่ แต่ช่วงนั้นสุโขทัยเองก็แทบล่มสลายแล้ว อันเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มรุกคืบกลืนกินแคว้นสุโขทัย และขยายบทบาทให้เมืองสองแควพิษณุโลกค่อยๆ เติบโตแทนที่

ประเด็นที่ควรวิเคราะห์คือ แล้วเมืองกำแพงเพชรเล่า ตั้งอยู่ ณ จุดยุทธศาสตร์ กึ่งกลางระหว่างสามรัฐใหญ่ คือสุโขทัยที่เคยผูกพันกันมาแต่เก่าก่อน ทว่า ใกล้สูญสิ้นบทบาทแล้ว กับอยุธยาอันเกรียงไกรที่แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาเมืองเหนืออย่างไม่หยุดยั้ง

กำแพงเพชรต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าควรไปสวามิภักดิ์กับทางล้านนา รัฐในลุ่มน้ำปิงเดียวกัน หรือไม่ จึงได้ตัดสินใจยกพระพุทธสิหิงค์ให้ไป

เรื่องราวของตำนานพระพุทธสิหิงค์จึงมิใช่แค่นิทานปรัมปรา หากเป็นภาพสะท้อนของเหตุการณ์ทางการเมืองของรัฐไทยหลายแว่นแคว้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 กำลังช่วงชิงอำนาจกันอยู่อย่างดุเดือด

“ศึกพระพุทธสิหิงค์” ยังไม่จบดีนัก ยิ่งเขียนยิ่งขุดคุ้ยยิ่งเจอปมใหม่ประเดประดังผุดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์มาจากกำแพงเพชร เมืองนี้ประดิษฐานพระแก้วมรกตด้วยเช่นกัน

จึงขอรวบยอดปมปริศนาทั้งหมดทั้งมวลไปไว้ในคราวเดียวกันกับที่ดิฉันจะวิเคราะห์ถึงพระแก้วมรกตอย่างละเอียดอีกครั้ง •

 

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ