“อภัยภูเบศรภาคเขมร” ใครคือเจ้าเมืองพระตะบอง ที่ปกครองตลอดชั่ว 110 ปีนั้น?

และว่า ทำไมชาวเขมรเก่าจึงอาลัยหนักลงแวก (ละแวก-ราชธานีของกัมพูชาในอดีต) ก็เพราะว่าตอนที่กรุงกลายเป็นกรุแตกเพราะสงครามนั้น มันหายวับดับไป ไม่เหลือพื้นที่ที่พอจะประจุความทรงจำเล็กๆ แก่คนรุ่นหลังต่อมา

พลันพอหลังลงแวกแตกสิ้น วิถีกษัตริย์เขมรที่แก่งแย่งและแตกแยก ก็ดูจะยิ่งลำบากขึ้นไปอีก เมื่อได้แต่อาศัยแถบราชสำนักเล็กๆ ที่กระจัดกระจายริมฝั่งแม่โขง เช่น ศรีสนธร/กำปงจาม จตุมุข/พนม

ท้ายที่สุด พระบาทไซยเซษฐาที่ 2 (2161-2171) ก็ตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่เรียกกันว่า “อุดงค์เมียนจัย”

ราวปี พ.ศ.2542 เมื่อแมท ดิลล่อน บุกอุดงค์ (ไม่มีคำว่าเมียนจัย) เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ “City of Ghosts” ฉันซึ่งตอนนั้นมีโอกาสอยู่ในกองถ่ายนั้นด้วย ได้พบถึงลักษณะพิเศษมากของอุดงค์ คือลักษณะอันลาดชั้นเนินเขา เจดีย์อันปรักพัง และกลางดงป่าที่ไม่พบถึงความโดดเด่นของภูมิสถาปัตย์ และโครงสร้างอันโดดเด่นของความเป็นราชธานีเลย นอกเสียจาก นอกจากแนวปราการของดงป่า ที่บ่งบอกถึงสภาพการหลบภัยทางสงครามของเมืองนี้ในอดีต

กรุงอุดงค์ฯ นั้นเล็กมาก จนแม้แต่เครนกล้องมุมตัวเดียวก็ยิงภาพได้ทั้งเมือง กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยการแก่งแย่งในอำนาจของกลุ่มฝ่ายต่างๆ รวมทั้งภัยสงครามจากภายนอก

หาไม่แล้ว เจ้าฟ้าทลหะ (แบน) ขุนนางเขมรคนหนึ่งซึ่งผิดหวังจากเมืองนี้ คงไม่ลี้ภัยไปตั้งรกรากที่พระตะบองและกลายเป็นเจ้าเมืองคนหนึ่งซึ่งปกครองพระตะบองถึง 6 ชั่วโคตร (พ.ศ.2340-2450)

และบทบันทึกประวัติศาสตร์ฝ่ายเขมรที่มีต่อพระตะบองตลอด 110 ปีเต็มที่ผ่านมานั้น

ดูเหมือนว่า พระตะบองจะถูกบันทึกให้จดจำว่า การที่เขมรเสียเมืองต่อไทยนั้น มาจากบทบาทของเสนาบดีคนหนึ่ง ซึ่งแยกตนออกจากพระราชอำนาจกษัตริย์เขมร นั่นคือ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” หรือที่ชาวเขมรรู้จักกันในนาม “เจ้าพระยาอภัยธิเบศร” (1)

ผ่านมาครบ 110 ปีแล้ว ที่ดูเหมือนว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศรของไทย กับเจ้าพระยาอภัยธิเบศรของเขมรจะมีเรื่องราวพิสดารบางอย่างที่ไม่พ้องกัน

 

อภัยภูเบศรภาคเขมร
แล้วใครคือเจ้าเมืองพระตะบอง
ที่ปกครองตลอดชั่ว 110 ปีนั้น?

กล่าวกันว่า เขาคือเจ้าพระยาอภัยธิเบศร ซึ่งพงศาวดารเก่าเขมรมีนามเดิมว่า “แบน” หรือเจ้าฟ้าแบน (Chavfea Baen) ขุนนางชาวเมืองตรัง/ตาแก้ว ร่วมรัชกาลพระบาทนารายณ์ราชา หรือ “พระองค์ตน” (2)

ซึ่งในสมัยของกษัตริย์เขมรองค์นี้นี่เองที่ทรงเพิกเฉย ไม่ยอมรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินในฐานะกษัตริย์หลังกู้เอกราชได้ไม่นาน (พ.ศ.2307)

ไม่กี่ปีต่อมา พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชสาสน์ไปอีกคำรบ แต่พระองค์ตนก็ยังคงแสดงท่าทีนิ่งเฉย ไทยจึงสมเด็จพระยาจักรี (ด้วง) และพระองค์นวน เจ้าชายแขฺมร์ผู้ลี้ภัยอยู่ในไทย ยกทัพผ่านกำปอดเข้าตีอุดงค์เมียนจัยจนแตกพ่าย จากนั้นก็ให้พระองค์นวนรักษาเมืองหลวงไว้

พระบาทนารายณ์ราชาซึ่งหนีไปพึ่งญวน ยกทัพกลับมาขับไล่พระองค์นวน ล่าถอยไปตั้งทัพที่กำปอด และเรียกตัว “เจ้าพระยาแบน” จากเมืองตรังมาทำศึก

ระหว่างนั้น พระบาทนารายณ์ราชาส่งคณะทูตไปถวายพระราชสาสน์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งพระองค์ก็ทรงยุติทำศึกกับเขมร อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่พระองค์ตนหันไปคบญวน ทำให้ต่อมาทรงถูกกดดันโดยฝ่ายพระราชาคณะ พระองค์ตนยอมสละราชสมบัติ แล้วรับตำแหน่งเป็นแค่องค์อุปโยราช โดยมีพระองค์นวนรามาขึ้นมาครองราชย์แทน (2320)

6 ปีต่อมา พระองค์ตนถึงทิวงคต ส่วนพระบาทองค์นวนรามาก็กรำศึกกับญวน จนเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ขุนศึกที่ยังสวามิภักดิ์กับพระองค์ตน โดยเฉพาะความไม่พอใจที่กษัตริย์เขมรเกณฑ์ไพร่พลไปร่วมรบกับทัพไทยในสงครามล้านช้าง จนกลายเป็นกลุ่มกบฏตามหัวเมืองรอบกรุงอุดงค์ฯ

พระบาทองค์นวนรามาบัญชาให้เจ้าฟ้าทลหะ (มู) ลงโทษออกญามนตรีสเนหา (โสร์) โดยการประหารชีวิต และริบบรรดาศักดิ์ของออกญาเดโช (แทน) ออกญาแสนกังฟ้า (แพง) แต่เจ้าฟ้าทลหะมูกลับช่วยกบฏซึ่งมีศักดิ์เป็นเครือญาติของฝ่ายตน

พระบาทองค์นวนรามาจึงเลื่อนขั้นออกญาวงศา (แบน) เป็น “ออกญายมราช” ยกกำลังเข้าปราบเจ้าฟ้าทลหะมู แต่กลับถูกตีตลบหลัง จนถูกสังหาร กลุ่มกบฏออกญาได้ถวายคืนราชสมบัติแก่พระบาทองค์เอง โอรสน้อยในพระบาทองค์ตน ส่วนเจ้าฟ้าทลหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการ และออกญายมราชแบน ถูกส่งไปรับราชการที่กำปงสวาย

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ออกญายมราช (แบน) ในฐานะข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดกับกษัตริย์ฝ่ายไทยถูกเรียกตัวกลับ

การกลับไทยครั้งนี้ หาทำให้ออกญายมราชแบนได้รับการปูนบำเหน็จแต่ใดไม่ ตรงกันข้าม พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้ลงโทษหนัก ฐานที่ไม่ปกป้อง ห้ามปราม แลปล่อยพระมหากษัตริย์และวงศ์ตระกูลทั้งหมดถูกสังหาร

ทรงมีพระบัญชาให้เฆี่ยนด้วยหวาย 100 ครั้ง ตัดหูทั้ง 2 ข้าง (บางส่วนของอวัยวะ) จากนั้นให้จำขังคุก

บันทึกประวัติศาสตร์เขมรตอนนี้ ทำให้เห็นถึงความเด็ดขาดของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่น่าจะเป็นหลักฐานหนึ่งในการศึกษาว่าด้วยอุปนิสัยในการปกครองของพระองค์ กล่าวคือ

หลังจากทรงลงโทษเจ้าพระยายมราชแบนอย่างหนักเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงให้ปล่อยตัว เพื่อร่วมทัพไปกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ด้วง) ไปปราบกบฏกรุงอุดงค์ฯ

ขณะเดียวกัน ในบันทึกเขมรต่อมา พบว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตัดสินใจเลิกทัพไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวหาว่าพระสติฟั่นเฟืองและถูก (ลวง) สังหารเสียเอง

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติและเปลี่ยนราชธานีจากธนบุรีเป็นกรุงเทพฯ ขณะที่เมืองอุดงค์ ออกญายมราชแบนได้ร่วมมือกับออกญาโสร์ สังหารเจ้าฟ้าทลหะมู ตั้งตนเป็นเจ้าฟ้าทลหะแบน นำว่าที่ยุวกษัตริย์พระองค์เองพร้อมคณะพระพี่เลี้ยง (ปก) มายังกรุงเทพฯ

ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ในฐานะพระราชโอรสบุญธรรมในพระมหากษัตริย์ไทย ขณะเดียวกันความวุ่นวายที่กรุงอุดงค์ฯ ที่เกิดจากกลุ่มภักดีเจ้าฟ้าทลหะมูได้ยึดเมืองหลวง และตั้งออกญาเดโชแทนขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทละ (แทน) ปกครองกรุงอุดงค์ฯ

ถึงตอนนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทินนามแก่เจ้าฟ้าทลหะแบนตามภาษาเขมรคือ “เจ้าพระยาอภัยธิเบศร วิเศษสงคราม รามนรินทร์ อภัยไพรี บวรกรมพหุ”

โปรดสังเกตว่า พงศาวดารแขฺมร์เรียกเจ้าฟ้าทลหะแบน ว่า “เจ้าพระยาอภัยธิเบศร” ไม่ใช่ “อภัยภูเบศร” ตามที่พบในบันทึกฝ่ายไทย แม้สุดท้าย จะระบุว่เป็นต้นสกุล “อภัยวงศ์” เช่นเดียวกัน

แต่แผกกันอย่างมาก ที่ฉบับเขมรนั้นยืนยันว่า เจ้าพระยาอภัยธิเบศรแบนตลอดจนลูกหลานที่ปกครองพระตะบองทุกฝ่ายมีเชื้อสายทางเขมร

 

ใช่แต่สกุล “อภัยวงศ์” เท่านั้นที่เขมรกล่าวอ้าง แต่สกุลเก่าแห่งราชสำนักแขฺมร์ที่เป็นปฏิปักษ์อภัยวงศ์อีกสกุลหนึ่งคือ สมเด็จเจ้าฟ้า (ปก) ต้นสกุล “ปกมนตรี” ซึ่งมีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมในยุวกษัตริย์เขมร และต่อมาคือที่ปรึกษาราชการในพระมหากษัตริย์นั้น ก็เป็นชาวเขมร

หาใช่ขุนนางไทยที่ถูกส่งตัวไปช่วยราชสำนักกัมพูชา ดังที่ปรากฏตามหลักฐานฝ่ายไทยแต่อย่างใด

ซึ่งทั้ง 2 สายสกุลเขมรที่กล่าวนี้ ต่างมีส่วนขับเคลื่อนให้เมืองพระตะบองแยกตัว มาเป็นเมืองขึ้นของไทย

ดังที่ทราบความวุ่นวายในอุดงค์ฯ ทำให้ไทยส่งทัพไปปราบเจ้าฟ้าทลหะแทน และศึกแย่งกรุงอุดงค์ฯ หนนี้ กลายเป็นการประลองทัพระหว่างไทย-ญวนจนกระทั่งสงบลง จากความวุ่นวายดังกล่าว ราชสำนักไทยจึงตัดสินใจส่งพระองค์เองกลับประเทศ (2337)

แต่การกลับมาของว่าที่กษัตริย์หนุ่มที่พลัดถิ่นไปถึง 14 ปี ได้ก่อให้เกิดสุญญากาศอำนาจแห่งกรุงอุดงค์ครั้งใหม่ ทั้งขั้วเก่าเจ้าฟ้าทลหะแทน ที่ได้รับอภัยโทษจากกรุงเทพฯ และเจ้าฟ้าปก บิดาองค์อุปถัมภ์และผู้บริบาลในพระองค์

เพื่อหนีการหลีกเลี่ยงการนี้ โดยเฉพาะกรณีเจ้าฟ้าปก ซึ่งกลับมามีอำนาจกึ่งเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระยาอภัยธิเบศรแบน จึงขอแยกตนไปปกครองพระตะบอง

พระบาทองค์เองทรงจำยอม เมื่อขุนนางของพระองค์ไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ของไทย เพื่อทูลขอกองทัพให้คุ้มครอง ทำให้ทางการไทยมีหนังสือ “ขอแยกปกครองเมืองพระตะบองและเสียมราฐออกจากเขมร” ตั้งแต่นั้นมา

ในพงศาวดารเขมรกล่าวถึงตอนนี้ว่า แม้พระบาทองค์เองจะไม่ยินดี และ “ทรงหวังลึกๆ ว่าการยกหัวเมืองเขมรทั้ง 2 นี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเท่านั้น”

ทว่ากลับโชคร้าย เมื่อพระองค์นั่นเองที่เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน (พ.ศ.2349) แลในรัชกาลต่อๆ มา กัมพูชาก็ยังเผชิญปัญหายุ่งเหยิงของฝ่ายต่างๆ ในราชสำนัก

ด้วยเหตุนี้ พระตะบองสมัยเจ้าพระยาอภัยธิเบศร จึงมีความน่าพิสดารไปตามฉบับกัมพูชา

 


(1) Battambang: During the time of the Lord Governor/Hin Sithan, Carol Mortland และ Judy Ledgerwood : แปล)

(2) โดยพระบาทนารายณ์ราชานี้ พงศาวดารเขมรบางฉบับอ้างว่าเป็นพระนามของ “พระองค์เอง” ส่วน “พระองค์ตน” นั้นคือพระบาทอุทัยราชา)