ศึกพระพุทธสิหิงค์ (9) : ชาวกรุงรัตนโกสินทร์ยืนยัน พระพุทธสิหิงค์นั่งขัดสมาธิราบ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สัปดาห์ที่แล้ว เราเพิ่งจะเอาหลักฐานมาแสดงกันจะจะว่าชาวกรุงศรีอยุธยายืนยันว่าพระพุทธสิหิงค์ของแท้ต้อง “นั่งขัดสมาธิเพชร” ไปหยกๆ นี่นา

แล้วก็เป็นที่การันตีของทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองจากเหนือจรดใต้ ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลงไปสู่ดินแดนภาคกลางแถบกำแพงเพชร ลพบุรี ชัยนาท โคกขาม สมุทรสาคร ยันนครศรีธรรมราช จนถึงเมืองตรัง

คนเมื่อ 600 ปีก่อนจนถึง 200 ปีที่ผ่านมา เมื่อคิดจะจำลององค์พระพุทธสิหิงค์มากราบไหว้บูชาคราใด ต่างล้วนมีภาพในใจว่า พระพุทธสิหิงค์ต้องนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยทั้งสิ้น

แล้วเกิดอะไรขึ้นเล่า ที่อยู่ๆ ชาวกรุงรัตนโกสินทร์กลับมายืนยันว่า พระพุทธสิหิงค์ของแท้ควร “นั่งขัดสมาธิราบและปางสมาธิ” ต่างหากเล่า!

นี่คืออีกหนึ่งปริศนาที่หนักหนาสาหัส รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คร่ำหวอดเชี่ยวชาญด้านพระพุทธปฏิมาในสยาม ยอมรับว่า นักวิชาการกี่รุ่นๆ ก็ขบประเด็นนี้ไม่แตกกันสักที

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอัญเชิญจากเชียงใหม่มาประทับที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า

 

พระพุทธสิหิงค์เมื่อครั้งกรุงเก่า
ศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

ย้อนกลับไปมองความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์สมัยยังประดิษฐานที่กรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยาช่วงก่อนจะถูกพม่ายึดครอง ต่อมาชาวเชียงใหม่ที่เป็นทหารร่วมรบให้พม่าจักนำพระพุทธสิหิงค์กลับคืนสู่เชียงใหม่อีกครั้งนั้น

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระพุทธสิหิงค์ได้กลายเป็น 1 ใน 8 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์ปราสาททองสืบต่อมายังราชวงศ์บ้านพลูหลวง จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 อย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งที่เป็นพระพุทธปฏิมาที่อัญเชิญมาจากต่างถิ่น แต่กลับได้รับการประดิษฐานให้อยู่ในสถานะสูงส่ง (ที่อาจจะ) เป็นถึงพระประธานของหมู่พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ด้วยซ้ำใน “มหาวิหารยอดปรางค์ปราสาท” ของหมู่พระราชมณเฑียร

ในคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมได้พูดถึงพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ว่าหลังจากที่กษัตริย์อยุธยาเสด็จไป “เปลื้องเครื่อง” (เปลี่ยนเครื่องทรงภูษา) ที่ศาลาหน้าวัดหลวงแล้ว (สมัยนั้นก็คือวัดพระศรีสรรเพชญดาญาณ)

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการ “พระพุทธสิหิงค์” บนมหาวิหารปรางค์ปราสาท และประกอบกรณียกิจ สะท้อนให้เห็นว่า จุดที่พระพุทธสิหิงค์ประทับนั้นอยู่ในที่อ่าโอ่ “มโหฬาร” มิใช่ที่ “รโหฐาน” คือมิได้นำไปซุกซ่อนแอบไว้ในหลืบซอกมุมลึกลับคับแคบก็หาไม่

นี่คือความสำคัญขั้นเอกอุของพระพุทธสิหิงค์ในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอัญเชิญจากเชียงใหม่มาประทับที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า

วังหน้าอัญเชิญพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ
กลับมายังกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่กลับมาภาคกลางอีกครั้ง เนื่องจากล้านนาอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม

ประเด็นสำคัญก็คือ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่เชิญมาครั้งนี้ กลับกลายเป็นคนละองค์กันกับองค์ที่เคยประทับในมหาวิหารปรางค์ปราสาท สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาก่อน ซึ่งเอกสารคำให้การฯ ระบุชัดว่าองค์นั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า พระอนุชาของรัชกาลที่ 1 กลับนำพระพุทธรูปแบบล้านนาที่นั่งขัดสมาธิราบ (ไม่นั่งขัดสมาธิเพชร) ทำปางสมาธิ (ไม่ทำปางมารวิชัย) พระรัศมีเป็นเปลวไฟ (ไม่ใช่เกตุบัวตูม) และชายสังฆาฏิยาวลงมา (ไม่ใช่ชายสังฆาฏิสั้นๆ เหนือพระถัน ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบ) มาประทับในกรุงรัตนโกสินทร์

พุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ที่วังหน้าอัญเชิญลงมานี้ แตกต่างไปจากพระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ทั่วแผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นสิงห์ 1 และส่งอิทธิพลในรุ่น “พระขนมต้มที่ปักษ์ใต้” แต่องค์นี้วงการนักเลงพระเรียกกันแบบลำลองให้เข้าใจง่ายว่า “พระสิงห์ 2”

เกิดความเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า? บังเอิญ หรือเจตนา? ไฉนสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงยังคงยืนกรานที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั่งขัดสมาธิราบกลับมาไว้ยังกรุงรัตนโกสินทร์?

ไม่มีใครทราบว่าด้วยเหตุผลกลใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ฤๅดีไม่ดีเสียงลือเสียงเล่าอ้างของชาวเชียงใหม่จักเป็นเรื่องจริง ที่ว่าได้มีการนำพระพุทธสิหิงค์องค์จริงไปซ่อน สลับสับเปลี่ยนเอาองค์จำลองมาให้วังหน้าแทน

หรืออาจเกิดจากเจตจำนงของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเอง ที่ตั้งใจจะเลือกองค์นี้มา ด้วยตำนานระบุว่าพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นในลังกา และเคยประทับที่สุโขทัย กำแพงเพชร ซึ่งพุทธศิลป์แบบลังกาและสุโขทัยนั้น นิยมนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากทีเดียว ในเมื่อรัชกาลที่ 1 และพระอนุชาวังหน้า ต่างก็เคยเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักอยุธยามาก่อน และแน่นอนว่าย่อมต้องเคยเห็นพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมมาแล้ว ช่วงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา อย่างน้อยก็น่าจะสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนเสียกรุง

แล้วเกิดอะไรขึ้น พระพุทธสิหิงค์จึงเปลี่ยนจากนั่งขัดสมาธิเพชร กลายมาเป็นขัดสมาธิราบ? ซึ่งยังคงเป็น “ปมปริศนาใหญ่” ที่นักวิชาการมิรู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ก็ยังขบไม่แตก

พระพุทธสิหังคปฏิมากร ในวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สร้างโดยรัชกาลที่ 4 ภาพจากเพจ Arts in Southeast Asia ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถ่ายภาพโดย ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์

พระพุทธสิหิงค์องค์นี้คือองค์จริง
ในความเชื่อคนยุคต้นรัตนโกสินทร์

ในหนังสือ “นิพพานวังน่า” (วังหน้า) เป็นหนังสือที่กล่าวถึงพระประวัติของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้มีการพูดถึงพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ว่า วังหน้าท่านได้อัญเชิญลงมาจากเชียงใหม่ และเป็นองค์จริงที่ถูกต้องตามตำนานสิหิงคนิทาน

สิหิงคนิทานได้พรรณนาว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างพระพุทธสิหิงค์เกิดจากพระอรหันต์ชาวลังกาเป็นผู้ดำริ โดยมีคำทำนายว่า พระพุทธสิหิงค์เมื่อหล่อเสร็จ นิ้วจะแหว่งไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจักบังเกิดผู้มีบุญญาธิการมาทำการซ่อมนิ้วใหม่ให้สมบูรณ์ (ดูรายละเอียดได้ในบทความที่ดิฉันเคยเขียนถึง “ใครต่อนิ้วพระเจ้าดับภัย” ในปริศนาโบราณคดีฉบับก่อนๆ)

หลังจากที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้าแล้ว พระองค์นั่นเองคือบุคคลผู้กระทำการต่อนิ้วที่ชำรุดให้พระพุทธสิหิงค์ หลังจากที่เว้าแหว่งมานานเกือบ 500 ปี

ฉะนี้แล้ว ความเชื่อโดยสนิทใจ การรับรู้อย่างไร้ข้อกังขา ของชาวรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ ยิ่งถูกตอกย้ำให้ชัดแจ้งลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า พระพุทธสิหิงค์องค์จริง ย่อมไม่ใช่องค์ที่นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย แต่ต้องเป็นองค์ที่นั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิแบบลังกา แถมนิ้วมือนิ้วหนึ่งต้องมีรอยตำหนิมาก่อนด้วย

พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์ 1 ที่กำลังจะกลายเป็น “ขนมต้ม” ที่วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร มีจารึกที่ฐานว่าสร้างปี 2232 ตรงกับสมัยพระเพทราชา ระบุว่า “พระญาณโชติได้สถาปนาพระสิหิงค์ พระองค์นี้เป็นทอง 37 ชั่ง ขอเป็นปัจจัยแก่นิพพาน” ภาพจากหนังสือ “ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” ของ ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์

พระพุทธสิหิงค์หวนกลับมา
พบพระแก้วมรกต

เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทถึงแก่ทิวงคตไปแล้ว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของวังหน้าไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ก่อนแล้ว

ถือเป็นการโคจรมาพบกันอีกครั้ง ระหว่าง “พระแก้ว” กับ “พระสิงห์” ที่ต้องเริดร้างจากดินแดนล้านนา ที่ครั้งหนึ่งพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์เคยประทับอยู่ร่วมกันมาก่อน (หากเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ที่วังหน้าอัญเชิญมาคือองค์จริงองค์ดั้งเดิม)

พระพุทธสิหิงค์ประทับในวัดพระแก้วอยู่หลายทศวรรษ จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 3

รัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกจากพระบรมมหาราชวัง กลับไปประทับที่วังหน้าอีกครั้ง ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะให้ไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ววังหน้า (วัดบวรสถานสุทธาวาส) ด้วยซ้ำ ถึงขนาดให้มีการวาดภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์บนผนังอุโบสถ เตรียมไว้

แต่แล้วมีเหตุให้ไม่อาจนำพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่พระแก้ววังหน้าได้ ต้องเอากลับมาประทับยังพระที่นั่งพุทไธสวรรยฺตามเดิม

อย่างไรก็ดี รัชกาลที่ 4 มีความเลื่อมใสต่อองค์พระพุทธสิหิงค์เป็นอย่างมาก โปรดให้หล่อจำลองไปไว้ตามที่ต่างๆ องค์สำคัญคือที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลของพระองค์ โปรดพระราชนามว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร”

หรือโปรดให้หล่อถวายแด่องค์พระปฐมเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์จำลองของรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ในซุ้มด้านทิศตะวันออก และอีกองค์อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขนาดเล็ก

ดังนั้น คำว่าพระพุทธสิหิงค์จำลองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จักไม่ใช่รูปแบบพระสิงห์ 1 หรือแบบขนมต้มอีกต่อไป หากเป็นพระสิงห์ 2 นั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ รัศมีเปลว โดยยึดเอาพระพุทธสิหิงค์ของวังหน้าเป็นต้นแบบ

ฉบับหน้า ดิฉันในฐานะผู้เปิดประเด็นตั้งคำถามต่อวิทยากรหลากหลายท่านนานาทัศนะ จักได้มากล่าวสรุปว่าดิฉันมีมุมมองต่อพระพุทธสิหิงค์อย่างไรบ้าง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ