ศึกพระพุทธสิหิงค์ (8) : ชาวกรุงศรีอยุธยายืนยัน พระพุทธสิหิงค์นั่งขัดสมาธิเพชร

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธสิหิงค์ในรายการคลับเฮาส์ของ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ไหลหลั่งพรั่งพรูประดุจสายน้ำ เนื่องจากเป็นประเด็นที่วิทยากรท่านนี้คาใจมานานแล้ว ด้วยเคยตั้งคำถามทุกปริศนามาก่อน ในที่สุดท่านค่อยๆ แกะรอยเงื่อนปมทุกเปลาะ จนได้ข้อสรุปด้วยตัวของวิทยากรเอง

ฉบับก่อน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ได้ปูพื้นถึงแนวคิดเรื่องการจำลองพระพุทธสิหิงค์ทั่วล้านนามาแล้ว ฉบับนี้จักขอข้ามประเด็นต่อเนื่องที่ว่า ทำไมจึงเกิดคติการจำลองพระพุทธสิหิงค์ทั่วภาคกลางนับแต่พระนครศรีอยุธยาลงไปสู่ภาคใต้ของสยามอีกด้วย รวบไปไว้ในฉบับหน้า

เนื่องจากฉบับนี้มีความจำเป็นต้องอธิบายถึงเรื่องที่ว่า พระพุทธสิหิงค์เสด็จลงไปประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้อย่างไร และการรับรู้ของชาวกรุงเก่าที่มีต่อพระพุทธสิหิงค์เป็นเช่นไรบ้าง เสียก่อน

นอกจากนี้แล้ว อยากชวนผู้อ่านย้อนขึ้นไปดูเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนกลางอีกประมาณ 1 ศตวรรษเศษ ว่าทำไมจึงมีการพบร่องรอยของการจำลองพระพุทธสิหิงค์ในกรุงศรีอยุธยาแล้วด้วย ก่อนหน้าที่พระพุทธสิหิงค์องค์จริงจักได้เสด็จมาประทับที่อยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยซ้ำ

พระสิงห์ 1 เคลื่อนสู่ภาคกลางได้อย่างไร ใครนำมาเป็นบุคคลแรก มีการกระจายตัวกี่ระลอก ล้วนเป็นประเด็นน่าติดตาม

พระสิงห์ 1 สำริดขนาดเล็กในพระอุระของพระมงคลบพิตร จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พบพระสิงห์ 1 ในอุระพระมงคลบพิตร ณ วัดชีเชียงสมัยพระไชยราชา

รศ.ดร.รุ่งโรจน์นำเสนอข้อมูลใหม่ที่เชื่อว่าคนทั่วไปนอกแวดวงโบราณคดี รวมทั้งแม้แต่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องพระพุทธสิหิงค์จำนวนมากไม่เคยทราบข้อมูลนี้มาก่อน

นั่นคือ มีการค้นพบพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดสกุลช่างล้านนาแบบสิงห์ 1 (หน้ากลม อมยิ้ม องค์อวบอ้วน เม็ดพระศกโต เกตุบัวตูม สังฆาฏิสั้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร) องค์ไม่เล็กจิ๋วเกินไปนักจำนวนมาก “ในพระอุระของหลวงพ่อมงคลบพิตร”!

เราจะตีความเรื่องนี้ได้อย่างไร รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้ช่องว่า ควรย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของพระพุทธมงคลบพิตรนี้ให้ดีอีกครั้ง ว่าแรกเริ่มนั้นเคยประดิษฐาน ณ วัดไหน

พบว่าผู้สร้างคือสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ร่วมสมัยกับพระเมืองเกษเกล้า และมหาเทวีจิรประภา แห่งล้านนา) กษัตริย์พระองค์นี้มีกรณียกิจสำคัญคือยกทัพขึ้นไปตีลำพูน-เชียงใหม่ แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมา

คำถามคือ พระสิงห์ 1 ในพระอุระพระมงคลบพิตรมาจากไหน ใครสร้าง? เป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มคนล้านนาพลัดถิ่นนั้น ได้นำเอาพระพุทธรูปองค์เล็กองค์น้อยแบบสิงห์ 1 ที่ตนเคยนับถือติดตัวมาด้วย

หรือมิเช่นนั้นแล้ว ประชากรชาวลำพูน-เชียงใหม่เมื่ออยู่ในกรุงศรีอยุธยานานเข้า (แม้จะในสถานะเชลยศึกก็ตาม) แต่ยังหวนหา “พระพุทธสิหิงค์” คู่บ้านคู่เมืองที่พวกตนเคยนับถืออยู่ เมื่อมีโอกาสสร้างพระพุทธรูป จึงเอารูปแบบของพระสิงห์ 1 ที่คุ้นชินมาสร้างใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา

ก่อนจะใช้ชื่อ “หลวงพ่อพระมงคลบพิตร” ที่เรารู้จักกันนั้น วัดที่พระไชยราชาสร้างพระพุทธปฏิมาองค์นี้ เคยมีชื่อว่า “วัดชีเชียง” ตรงกับที่พงศาวดารระบุไว้

ต่อมาสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2146 ได้มีการย้ายองค์พระพุทธปฏิมาจากวัดเชียงไปไว้ในตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันคือ วัดมงคลบพิตร

ส่วนองค์พระสิงห์ 1 องค์เล็กองค์น้อยหลายองค์ที่เคยบรรจุในพระอุระของหลวงพ่อพระมงคลบพิตรนั้น ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (นอกจากนี้แล้วในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ก็พบพระสิงห์ 1 แบบล้านนาขนาดเขื่องด้วยอีกหลายองค์ ดิฉันกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ขอสืบค้นที่มาของพระเหล่านี้ก่อนว่าได้มาจากที่ใด อย่างไร แล้วจะนำเสนอให้ผู้อ่านทราบต่อไป)

การนำเอาพระสิงห์ 1 หลายองค์ไปบรรจุไว้ในพระอุระหลวงพ่อพระมงคลบพิตรนั้น กระทำตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยใคร ด้วยเหตุผลใด ไม่มีใครทราบ มารู้กันเอาในช่วงที่กรมศิลปากรทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างมงคลบพิตรราวปี 2478-2479 นี่เอง

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนว่า มีชุมชนชาวล้านนากลุ่มใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยพระไชยราชาแล้ว และแน่นอนว่าชาวล้านนากลุ่มนี้ย่อมขอพื้นที่ในการสร้างพระสิงห์ 1 เพื่อเป็นองค์แทนแห่งการรำลึกถึงพระพุทธสิหิงค์แห่งเชียงใหม่ จนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางของชาวอยุธยาด้วย

พระสิงห์ 1 แบบล้านนา องค์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ยังไม่ทราบที่มาว่าได้มาจากพระอุระพระมงคลบพิตรด้วยหรือไม่

พระพุทธสิหิงค์ยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หลักฐานจากคำให้การฉบับต่างๆ ไม่ว่า คำให้การของชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ล้วนแต่อธิบายถึงเหตุผลการเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงกันว่า “เพื่อไปเอาพระพุทธสิหิงค์ และพระเจ้าแก่นจันทน์แดง พระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ มาไว้ในกรุงศรีอยุธยา”

เนื้อหาเช่นนี้สะท้อนถึงอะไร รศ.ดร.รุ่งโรจน์อธิบายว่า

สะท้อนถึงทัศนะของคนในสมัยอยุธยา มองพระพุทธสิหิงค์ (รวมทั้งพระเจ้าไม้แก่นจันทน์) ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถปกป้องคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ไว้ได้อย่างยาวนาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องควรค่าเหมาะสมกับผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีบุญญาบารมีด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้ว เชียงใหม่จักเสียเมืองให้แก่พม่าได้อย่างไร

ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตีเมืองเชียงใหม่ได้จากพม่า (แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานพม่าก็ยึดเชียงใหม่คืนได้อีก) พระองค์ก็ย่อมต้องประกาศตนว่า “เป็นผู้มีบุญญาธิการ มีบารมีสูง จึงสามารถครอบครองพระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไว้ได้”

คำให้การของชาวกรุงเก่า ให้ข้อมูลเรื่องพระพุทธสิหิงค์ไว้อีกหลายจิ๊กซอว์ ซึ่งไม่ปรากฏใน “ตำนานพระพุทธสิหิงค์” หรือ “สิหิงคนิทาน” ฉบับเมืองเหนือ นั่นคือมีการอธิบายว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้หล่อพระพุทธสิหิงค์ขึ้น มีอำนาจวิเศษมาก มีแก้วมณีที่มีอานุภาพฝังพระเนตรไว้ ทำให้พระพุทธสิหิงค์เหาะเหินเดินอากาศได้

ในขณะที่ สิหิงคนิทาน ระบุว่า ผู้หล่อพระพุทธสิหิงค์คือ กษัตริย์ลังกา แต่ด้วยบุญบารมีของกษัตริย์เชียงใหม่ จึงได้พระพุทธสิหิงค์ไว้ครอบครอง เห็นได้ว่า ชาวอยุธยาไม่ได้มองว่าเส้นทางเดินของพระพุทธสิหิงค์จะต้องยาวไกลถึงเมืองลังกา

คำให้การของชาวกรุงเก่า เล่มเดิมกล่าวต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระพุทธปฏิมาสององค์คือพระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าแก่นจันทน์แดงมาไว้ในครอบครองแล้ว ก็ประกาศว่า

“พระพุทธปฏิมากรสององค์เกิดขึ้นได้ และอยู่ในเชียงใหม่ได้ก็ด้วยบารมีของเรา เราจักยอมถวายชีวิตเพื่อดูแลพระพุทธปฏิมากรสององค์นี้”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า การขึ้นมาตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คงมิได้มีเจตนาเพียงแค่มายึดครองพระพุทธปฏิมากรสององค์ดังที่คำให้การของชาวกรุงเก่าเขียนไว้

ในความเป็นจริงแล้ว พระองค์มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองด้วย นั่นคือต้องการกวาดต้อนผู้คนในแถบล้านนาลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาด้วยมากกว่า เพราะหากปล่อยไว้จักกลายเป็นฐานกำลังให้แก่กองทัพพม่า

คำประกาศว่าการขึ้นมาเชียงใหม่ เพื่อจะมาเอาพระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าแก่นจันทน์แดงนั้น จึงเป็นเพียงหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่ใช้เป็นข้ออ้างเท่านั้น

พระพุทธรูปสกุลช่างอยุธยาทั่วไป นิยมนั่งขัดสมาธิราบ ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระพุทธสิหิงค์ต้องนั่งขัดสมาธิเพชร

คําให้การขุนหลวงหาวัด พรรณนาเหตุการณ์เรื่องพระพุทธสิหิงค์คล้ายคลึงกับคำให้การของชาวกรุงเก่า แต่มีการเพิ่มประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่พบในเอกสารคำให้การของชาวกรุงเก่า นั่นคือ

“พระพุทธสิหิงค์นั้น เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า การขยายความเช่นนี้สะท้อนว่า ในทัศนะของชาวอยุธยามองว่าท่านั่งแบบ “ขัดสมาธิเพชร” เป็นของแปลกตา ผิดหูผิดตายิ่งนักสำหรับความคุ้นชินของชาวอยุธยาและคนในภาคกลาง ถึงกับต้องระบุท่านั่งเช่นนี้ไว้ด้วย

เนื่องจากท่านั่งหลักของพระพุทธปฏิมาทั่วราชอาณาจักรตามวัดต่างๆ ที่ชาวอยุธยารู้จักมักคุ้นคือ “ท่าขัดสมาธิราบ” (พระชงฆ์ข้างหนึ่งจะทับซ้อนอีกข้าง จึงมองไม่เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง)

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงจำเป็นต้องระบุเจาะจงไปให้ชัดๆ เลยว่า “พระพุทธสิหิงค์ที่ได้มาจากเชียงใหม่น่ะหรือ ก็คือองค์ที่นั่งสมาธิเพชรไงเล่า?” เป็นการแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระปฏิมาต่างถิ่นที่มาใหม่ และพระปฏิมาพื้นถิ่นของอยุธยา

หลวงพ่อพระมงคลบพิตร ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง

พระพุทธสิหิงค์หน้าตัก 2 เมตร?!

ยังมีคำให้การอีกฉบับหนึ่ง ที่เขียนไว้แตกต่างจากฉบับอื่น คือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เขียนช่วงกรุงแตกจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ต้นฉบับได้จากหอหลวง ระบุว่า พระพุทธสิหิงค์เป็น 1 ใน 8 ของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของกรุงศรีอยุธยา

ระบุว่า “พระพุทธสิหิงค์นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตัก 4 ศอก”

มาตราวัดปัจจุบัน 4 ศอก = 2 เมตร ต้องถือว่าเป็นพระพุทธปฏิมาที่มีขนาดใหญ่มากทีเดียว ในความเป็นจริงนั้น องค์พระพุทธสิหิงค์ที่เรารู้จักและยอมรับกันสามองค์ ไม่ว่าที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ที่นครศรีธรรมราช และที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า ไม่มีองค์ใดเลยที่มีขนาดหน้าตักใหญ่เช่นนั้น

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ทิ้งท้ายว่า ประเด็นนี้น่าจะมีความคลาดเคลื่อน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ระหว่างเกิดความเข้าใจผิดขณะที่มีการบันทึกเอกสาร หรือหากคำให้การนี้เป็นความจริง กล่าวคือข้อมูลที่บันทึกไว้ไม่คลาดเคลื่อน แสดงว่าพระพุทธสิหิงค์ทั้งสามองค์นั้น ไม่ใช่องค์จริงสักองค์เลยล่ะหรือ?

เรื่องนี้จำเป็นต้องหาคำอธิบายกันต่อไป •

 

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ