เมืองร้อยเอ็ดโบราณ ‘ขอม’ ทับซ้อน ‘ทวารวดี’

ร้อยเอ็ดมีที่ตั้งตัวจังหวัดอยู่บนพื้นที่เมืองโบราณเมืองหนึ่ง (ไม่พบหลักฐานว่ามีชื่อจริงว่าอย่างไร?) ถูกสมมุติสมัยหลังเรียกเมืองร้อยเอ็ด มีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมมุมมน

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ตรวจสอบทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ พบว่าร้อยเอ็ดตัวจังหวัดตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณ 2 เมืองทับซ้อนกัน มีผังต่างกัน เป็นรูปวงกลมรีกับรูปสี่เหลี่ยมมุมมน

ผมเลยขอร้องให้เขียนเล่าเรื่องเอาแต่เนื้อๆ ย่อๆ จะขอคัดทั้งหมดพร้อมรูปประกอบมาแบ่งปันต่อไปนี้ (ดูล้อมกรอบ)

 

ข้อมูลใหม่ในร้อยเอ็ด

ร้อยเอ็ดจากข้อมูลใหม่ บอกความเป็นมาโดยสรุป ดังนี้

1. ชุมชนดั้งเดิมเริ่มแรก สมัยก่อนประวัติศาสตร์ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ฝังศพชนชั้นนำและเครือญาติ อยู่บริเวณตาน้ำมีหนองน้ำอุดมสมบูรณ์ (ปัจจุบันเรียกบึงพลาญชัย)

2. ชุมชนมีคูน้ำคันดินรูปวงกลมรี สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (วัฒนธรรมทวา รวดี) ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องจากชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ด้วยการขุดคูน้ำทำคันดินล้อมรอบเพราะมีคนโยกย้ายไปมาแล้วตั้งบ้านเรือนมากขึ้นจากการค้าโลกเริ่มแรก

3. เมืองมีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมมุมมน สมัยการค้าจีน (วัฒนธรรมขอม) โดยขยายพื้นที่จากคูน้ำคันดินรูปวงกลมรี เนื่องจากมีผู้คนหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะการค้าคับคั่งทางอ่าวไทยและลุ่มน้ำโขง แล้วเชื่อมโยงถึงดินแดนลุ่มน้ำชี-มูล

ตัวเมืองร้อยเอ็ดมีชุมชนโบราณซ้อนอยู่ 2 เมือง (หมายเลข 1) เมืองแรกรูปวงรีทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และ (หมายเลข 2) เมืองที่สองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมมนคล้ายเมืองแบบเขมร (ภาพถ่ายดาวเทียมปรับปรุงจาก pointasia.com)
อูบมุง หรือเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม และใบเสมาหินทรายแบบทวารวดี วัดเหนือ (อยู่กลางเมืองเนินรูปวงรี เมืองร้อยเอ็ด)

เลิกผลิตซ้ำความเท็จ

ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดยังมีตกค้างอีกมากที่ต้องค้นคว้าศึกษาวิจัย ฉะนั้นต้องเร่งรัดยกเลิกไปเลย “หลุมดำ” อำมหิตเรื่อง “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม” แล้วเริ่มต้นใหม่อย่างจริงจังในการศึกษาค้นคว้าแล้วแบ่งปันข้อมูลทั้งร้อยเอ็ด, ทุ่งกุลา และอีสาน เกี่ยวพันประวัติศาสตร์โลก

อย่าเตะถ่วงด้วยการพูดพล่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าต้องชำระประวัติศาสตร์ร้อยเอ็ดเพราะมีนักปราชญ์ทางการของกรมศิลปากรชำระมานานแล้ว แต่ผู้มีอำนาจส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นทำ “ตาแป๋ว” มองไม่เห็น แล้วทำหูทวนลมว่าได้ยินแต่ไม่ฟัง และฟังแต่ไม่ได้ยิน เพื่อประโยชน์ที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ