วรศักดิ์ มหัทธโนบล จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (9)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ประเทศจีนและชนชาติจีน (ต่อ) 

ตรงจุดนี้ได้นำไปสู่การศึกษาอีกทางหนึ่ง คือในทางที่มีการกล่าวถึงชื่อชนชาติจีนโดยตรง ซึ่งพบในบันทึกและปกรณ์ว่า หากชนชาติจีนไม่เรียกตนว่า ฮว๋า ก็จะเรียกว่า เซี่ย จนเรียกรวมกันว่า ฮว๋าเซี่ย

คำเรียกนี้วิวัฒน์มาอีกขั้นหนึ่งตรงที่ทำให้จีนเป็นคนละกลุ่มกับชนชาติอื่น ที่ต่างก็มีชื่อเรียกชนชาติเฉพาะของตนไป

การแยกกันเช่นนี้ไม่เพียงจะมีที่มาจากพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่หรือวัฒนธรรมที่ต่างกันเท่านั้น หากตัวชี้วัดหนึ่งก็คือ สงคราม ที่จะทำให้เห็นว่าชนชาติใดสู้รบกับชนชาติใด ชนชาติใดเป็นฝ่ายรุกรานชนชาติใด และชนชาติใดเป็นฝ่ายชนะ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็มักเป็นชนชาติจีนที่เป็นฝ่ายรุกรานชนชาติอื่นก่อนเสียโดยมาก แล้วก็มาจบลงที่ชนชาติจีนเป็นฝ่ายชนะอยู่ร่ำไป

จากคำเรียกสองคำข้างต้น หากว่าถึงความหมายแล้ว คำว่า เซี่ย โดยทั่วไปหมายถึง ฤดูร้อนหรือคิมหันตฤดู ซึ่งน่าจะเป็นฤดูที่ดีสำหรับชาวจีน (หรือชนชาติอื่นในดินแดนเดียวกัน) ที่มักอยู่กับความหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่

แต่หากพิจารณาในแง่อักษรภาพที่พบในหลักฐานเจี๋ยกู่เหวินหรืออักษรกระดองเต่า-กระดูกวัวแล้ว (1) จะพบว่า เซี่ย เป็นคำที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงศีรษะ ตา มือสองข้าง นิ้วเท้าของมนุษย์ และอุปกรณ์ทางการเกษตร อันสื่อให้เห็นเป็นนัยว่า บุคคลถือเครื่องมือทางการเกษตรในท่าที่เตรียมพร้อมที่จะทำการเพาะปลูก

และฤดูที่ทำการเกษตรก็คือฤดูร้อน

ส่วนคำว่า ฮว๋า หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง แต่จากอักษรภาพในเจี๋ยกู่เหวินนั้นบ่งบอกสัญลักษณ์ของไม้ยืนต้นที่กำลังผลิดอกออกผล อันสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์

ดังนั้น เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น ฮว๋าเซี่ย เพื่อใช้เรียกชื่อชนชาติจีนแล้วก็จะมีความหมายที่ดีที่หมายถึง ชนชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์

 

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า คำว่าเซี่ยยังถูกนำมาใช้เป็นชื่อของราชวงศ์แรกยุคต้นประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย ส่วนคำว่าฮว๋าก็ยังคงเป็นคำเรียกชนชาติจีนสืบมา และโดยมากแล้วจีนนิยมเรียกตนว่าฮว๋ามากกว่าเซี่ย

อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์ของจีนได้ปรากฏขึ้นในระยะแรกนั้น ชื่อราชวงศ์ได้ถูกใช้เป็นชื่อชนชาติด้วย เช่น ราชวงศ์ซาง โจว ฉิน และฮั่น ชาวจีนก็จะเรียกตนว่าเป็นชาวซาง ชาวโจว ชาวฉิน หรือชาวฮั่น ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ชนชาติที่มิใช่ฮั่นก็เรียกชาวจีนเช่นนี้ด้วยเช่นกัน

แต่ตอนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จีนได้ตั้งมั่นในสมัยราชวงศ์ฮั่นแล้วนั้น (โดยไม่นับราชวงศ์ฉินที่มีอายุราชวงศ์เพียงสิบกว่าปี) ราชวงศ์ฮั่นที่มีอายุกว่า 400 ปีก็กลายเป็นคำเรียกแทนชื่อชนชาติจีนเรื่อยมา

จนทุกวันนี้ชาวจีนจะเรียกตนในแง่ชาติพันธุ์ว่าเป็นชนชาติฮั่น

ส่วนราชวงศ์หลังจากนี้ที่แม้มีอายุไม่ยืนยาวเท่าฮั่นแต่เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้กัน เช่น ราชวงศ์ถัง หมิง ชิง เป็นต้น กลับไม่ถูกนำมาเป็นชื่อชนชาติ

 

ถึงตรงนี้ก็เป็นอันสรุปได้ว่า ชื่อของชนชาติจีนโดยมากนิยมเรียกว่าฮั่น ในขณะที่คำว่าฮว๋าที่เก่าแก่กว่าคำว่าฮั่นก็ยังคงใช้เรียกขานกันอยู่แม้ในทุกวันนี้ เพียงแต่ว่ามิได้กว้างขวางเท่าคำว่าฮั่นเท่านั้น

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า การเรียกชนชาติจีนว่าฮั่นที่มีที่มาจากชื่อราชวงศ์ฮั่นนั้น ยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียกจากชนชาติที่มิใช่ฮั่นอีกด้วย กล่าวคือ ในบางช่วงที่ราชวงศ์ฮั่นมีความอ่อนแอจนเป็นรองชนชาติที่มิใช่ฮั่นนั้น ชนชาติฮั่นจะถูกเรียกว่า ฮั่นเอ๋อร์ หรือ ฮั่นจื่อ

ทั้งสองคำนี้หากแปลตรงตัวจะหมายถึง ลูกหลานชาวฮั่น แต่ความหมายจริงๆ คือ เด็กฮั่น ซึ่งถือเป็นคำที่มีนัยเชิงดูถูกดูแคลน

การเรียกที่มีนัยดูถูกนี้ดำรงเรื่อยมาจนสิ้นราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ไปแล้ว คำทั้งสองก็กลายมาเป็นคำเรียกใช้เรียกชาวจีนทั่วไปเป็นปกติ ไม่มีนัยดูถูกดูแคลนอีกต่อไป ในประเด็นนี้ทำให้เห็นว่า คำเรียกขานชื่อชนชาติจีนหรือชาวจีนนี้ในด้านหนึ่งยังมีที่มาจากการเรียกของชนชาติอื่นอีกด้วย

นอกจากนี้ การเรียกขานชาวจีนยังมีที่พิเศษเฉพาะแตกต่างไปจากที่กล่าวอีกด้วย นั่นคือ การเรียกในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล (Oversea Chinese) โดยเฉพาะชาวจีนที่มาจากมณฑลกว่างตงหรือที่เรียกกันว่า ชาวกว่างตง (Cantonese)

ที่ว่าเป็นการเรียกที่พิเศษเฉพาะก็เพราะชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้มักเรียกตนว่า ชาวถัง (ถังเหญิน) ซึ่งมีที่มาจากชื่อของราชวงศ์ถัง การที่เรียกเช่นนี้ทำให้มีผลต่อการเรียกสิ่งอื่นๆ ไปด้วย เช่น เรียกชุมชนชาวจีน (Chinatown) ว่า ถังเหญินเจีย เรียกอาหารจีนว่า ถังไช่ เรียกเสื้อผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของตนว่า ถังจวง และเรียกชื่อประเทศจีนของตนว่า ถังซาน

การเรียกเช่นนี้ย่อมมีผลต่อการเรียกของชนพื้นเมืองที่ชาวจีนเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ไม่มากก็น้อย

 

แต่พัฒนาการชื่อชนชาติจีนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เอาเข้าจริงก็ยังมิใช่คำเรียกชื่อประเทศอยู่ดี จะมีที่พอแทนชื่อประเทศได้ก็ตรงที่ใช้ชื่อราชวงศ์มาเรียกแทนเท่านั้น (ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว) แต่ที่ดูเป็นทางการก็คือชื่อของราชวงศ์ชิง โดยในช่วงที่ทำสนธิสัญญากับต่างชาติหลายฉบับนั้น ราชวงศ์นี้ได้ลงนามของตนในเอกสารว่า ต้าชิง (มหาราชวงศ์ชิง) คำคำนี้จึงกลายเป็นชื่อประเทศไป

อย่างไรก็ตาม การเรียกชื่อประเทศในทำนองที่คล้ายกันนี้ยังมีคำอื่นอีกมาก ซึ่งเท่าที่มีการรวบรวมกันมาได้ก็คือคำว่า เสินโจว ฮว๋า จูฮว๋า จงฮว๋า เซี่ย ฮว๋าเซี่ย จูเซี่ย จงเซี่ย ฟางเซี่ย หานเซี่ย อี่ว์เฉิง อี่ว์จี อี่ว์เตี้ยน จิ่วโจว จิ่วมู่ จิ่วชีว์ จิ่วอี้ว์ ปาโจว ไห่เน่ย เป็นต้น

คำเรียกเหล่านี้ถูกใช้ในต่างกรรมต่างวาระมาเป็นระยะ และปรากฏอยู่ในปกรณ์ที่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าของปกรณ์จะเรียก คำเรียกเหล่านี้จึงมีที่ใช้น้อยกว่าคำที่ยกมาก่อนหน้านี้ แต่กระนั้น คำเรียกชื่อประเทศดังกล่าวก็ยังไม่ใช่ชื่อที่รู้จักกันในทุกวันนี้ว่า จงกว๋อ

คำว่า จงกว๋อ แปลตรงตัวว่า อาณาจักรกลาง รัฐกลาง หรือประเทศกลาง ด้วยจีนเชื่อว่าประเทศของตนเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล อันเป็นความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่จีนถือตนว่ามีอารยธรรมและวัฒนธรรมสูงกว่าชาติอื่น

ปัญหาจึงมีว่า ในเมื่อเชื่อเช่นนี้แล้วเหตุใดจีนจึงไม่เรียกชื่อประเทศตนว่า จงกว๋อ เสียแต่อดีต หากกลับใช้ชื่อราชวงศ์แทน?

 

จากปัญหานี้อาจทำให้เข้าใจได้ว่า จงกว๋อ เป็นชื่อที่เกิดและเรียกกันในชั้นหลัง การคิดเช่นนี้แม้จะไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียเลยทีเดียว เพราะเมื่อศึกษาย้อนกลับไปแล้วก็ยังพบอีกด้วยว่า คำว่า จงกว๋อ นั้นมีที่มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานมาก

ว่าตามข้อเท็จจริงแล้ว คำว่า จงกว๋อ หาได้ปรากฏแต่ในปัจจุบันไม่ หากมีในบันทึกหรือปกรณ์แต่ครั้งอดีตมานานแล้ว หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ระบุคำนี้คือบันทึกราชวงศ์โจวตะวันตกสมัยกษัตริย์อู่ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.1046-1042) กับกษัตริย์เฉิง (ครองราชย์ ก.ค.ศ.1042-1020) อันเป็นสองรัชกาลแรกของราชวงศ์นี้

โดยบันทึกระบุว่า จงกว๋อ คือเมืองหลวงลว่ออี้ ด้วยว่าเป็น “รัฐกลาง” ที่ล้อมรอบด้วย “จตุรัฐ” จาก “จตุทิศ” อย่างสุขสงบเรียบร้อย พอถึงบันทึกสมัยราชวงศ์ฮั่นก็ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า ลว่ออี้ตั้งอยู่ตรง “ธรณีกลาง” ที่ล้อมรอบด้วย “จตุทิศ” ที่ล้วนมีผู้ปกครองอยู่ทั้งสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ธรณีกลาง” จึงคือ “รัฐกลาง” และ “ผู้ปกครอง” ทั้งสี่ทิศก็ย่อมหมายถึงรัฐทั้งสี่

แต่รัฐทั้งสี่นี้มิได้มีจำนวนตามนั้น หากมีอยู่มากมายหลายรัฐ ขณะเดียวกัน รัฐทั้งหมดนี้มีทั้งที่มีผู้ปกครองเป็นชนชาติจีนและชนชาติอื่น ต่อมารัฐเหล่านี้ก็ขัดแย้งและทำศึกกับ “รัฐกลาง” แทบทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น ความขัดแย้งและการศึกจึงย่อมเป็นไประหว่าง “รัฐกลาง” กับรัฐที่มีผู้ปกครองเป็นชนชาติจีนหรือชนชาติอื่น

สุดแท้แต่เหตุการณ์ในแต่ละยุคสมัย

——————————————————————————————————
(1) เจี๋ยกู่เหวินหรืออักษรกระดองเต่า-กระดูกวัวเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ระบุถึงการมีอยู่ของราชวงศ์ซาง เป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่นักโบราณคดีหรือนักอักษรศาสตร์อ่านได้ โดยตัวอักษรยังคงเห็นถึงความเป็นอักษรภาพอย่างชัดเจน