ศึกพระพุทธสิหิงค์ (6) : ครั้งหนึ่งพระพุทธสิหิงค์เคยถูกตัดพระเศียร!

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับก่อน ได้กล่าวถึงการหายไปของพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ถึง 4 ครั้ง

บางครั้งเมื่อกลับคืนมาปรากฏว่า “ดวงพระเนตรก็หายไป” เหลือแต่เบ้าตากลวงเปล่า หรือกล่าวภาษาแบบบ้านๆ ก็คือ “ถูกควักลูกตาทิ้ง” ไปหน้าตาเฉย

สามารถตีความได้สองกรณี

1. ผู้เอาไปต้องการอัญมณี (เพชรพลอย หรือมุก) ที่ผู้สร้างซึ่งเป็นระดับกษัตริย์ฝังของมีค่าไว้เป็นแก้วตา

หรือ 2. ทำเพื่อต้องการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ ล้างอาถรรพณ์ ให้พระพุทธสิหิงค์สิ้นฤทธิ์เดช

การควักลูกตาพระพุทธสิหิงค์ไป จึงยังพอเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้กระทำได้อยู่บ้าง

แต่การตัดเศียรพระพุทธสิหิงค์เพื่อเอาเนื้อโลหะไปหลอมกระดึงสวมคอวัวนี่สิ! จะให้เข้าใจกันอย่างไรดี?

เสมือนเอาเพชรน้ำเอกที่ทุกคนหมายปอง อยู่ๆ ก็เอาไปหลอมให้เป็นเศษเหล็กโหลๆ ราคาถูกซะงั้น

ศึกพระพุทธสิหิงค์ตอนที่ 6 นี้ รายการคลับเฮาส์ของดิฉันและกลุ่ม “ฉักลุกแพร่มา” ได้เชิญวิทยากรผู้เขียนบทความเรื่อง “เมื่อพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่โดนลอบตัดพระเศียร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2554 มาให้ข้อมูลเรื่องนี้

ท่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ในวิหารลายคำวัดพระสิงห์ มีพระประธานสามองค์ องค์กลางคือองค์ที่เคยถูกตัดเศียรไปแล้วซ่อมใหม่ที่กรุงเทพฯ

พระพุทธสิหิงค์องค์จริงอยู่ไหนกันแน่?

อาจารย์เนื้ออ่อนเกริ่นว่า เมื่อได้ฟังผู้เสวนาท่านก่อนๆ ไล่เรียงกันนำเสนอข้อมูลหลายทิศหลายทาง หลายเวอร์ชั่น จึงชักจะเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ตนกำลังจะกล่าวถึงนี้ (หมายถึงองค์ที่ปัจจุบันเป็นพระประธานองค์กลางในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์) จะใช่พระพุทธสิหิงค์องค์จริงหรือไม่?

ด้วยมีข้อสงสัยที่สอดแทรกมาเป็นระยะๆ หลายประการ

นับแต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง “ขนาด” ของพระพุทธสิหิงค์ที่ควรจะไม่ใหญ่โตเกินไปนัก

มิเช่นนั้นแล้วเจ้าเมืองแสนหวีจักแอบขโมยใส่ถุงย่ามขี่ม้าทะยานหนีไปได้อย่างไร

ยิ่งหากย้อนไปถึงตอนที่ท้าวมหาพรหมแห่งเมืองเชียงรายยอมมอบพระพุทธสิหิงค์แก่พระญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่มา 1 องค์นั้น ให้องค์ไหนไปเล่า องค์จริงหรือองค์จำลอง?

ไหนจะเหตุการณ์ตอนที่วังหน้านำพระพุทธสิหิงค์ไปจากวัดพระสิงห์สมัยรัชกาลที่ 1 ชาวเชียงใหม่ได้แอบเอาพระสิงห์องค์จริงไปซ่อนอีก?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจารย์เนื้ออ่อนจะกล่าวถึงในรายการนี้ จะหมายถึงองค์ที่เป็นพระประธานนั่งกลางบนแท่นแก้วในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์

 

ตำรวจเชียงใหม่ ร้องทุกข์ต่อสมเด็จฯ กรมดำรง

อาจารย์เนื้ออ่อนได้อ้างอิงถึงเอกสารจดหมายเหตุส่วนบุคคลแฟ้มสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก หมวด สว.2.33 แผนกฎีการ้องทุกข์ ผู้ร้องทุกข์คือรองอำมาตย์เอก หลวงบำรุงนวกร ตำรวจเมืองเชียงใหม่

หัวจดหมายลงวันที่ 25 มีนาคม 2464 (นับแบบปัจจุบันคือปี 2465 เพราะในอดีตเริ่มการขึ้นศักราชใหม่ในเดือนเมษายน) เล่าว่าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2464 ได้มีคนร้ายงัดกุญแจลอบเอาพระเศียรของพระสิงห์ พระสุโท (?) พระเมาลี และพระเทียม (?) ไป

ตำรวจจึงลงไปสอบสวนชาวบ้านที่อยู่หน้าวัดพระสิงห์ชื่อ “นายปัน” ให้ข้อมูลว่า ของเหล่านี้น่าจะไปอยู่ที่บ้านช่างหล่อ (บ้านช่างหล่ออยู่นอกประตูเมืองเชียงใหม่ทางทิศใต้) แล้ว เนื่องจากมักมีคนชอบลักลอบเอาพระพุทธรูปไปขายที่นี่ให้กับนายลุน นายใหม่ และนายป้อม อยู่เสมอ

เมื่อตำรวจเมืองเชียงใหม่ตามไปที่บ้านช่างหล่อ พบว่ากล่นเกลื่อนไปด้วยพระเศียร และองค์พระทองเหลืองจากทั่วสารทิศ ล้วนถูกทำลายเป็นชิ้นส่วนเตรียมนำไปหลอมใหม่เพื่อทำกระดิ่งโค หรือกระดึงวัวสำหรับขายพ่อค้าวัว

สภาพของบ้านช่างหล่อเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ตอนแรกเจ้าของสถานที่ปฏิเสธ ไม่รับรู้ว่าใครเอาชิ้นส่วนพระพุทธรูปเหล่านี้มาวางเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ตำรวจพยายามเค้นสอบปากคำชนิดให้ยอมจนมุม

ได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่ลักลอบตัดเศียรพระแล้วนำมาขายชื่อ “นายเซียงคำ” ระบุว่า “สัญชาติลาว” (ตรงนี้น่าสงสัย ว่าเป็นชาวลาวล้านช้างหรือเช่นไร ในเมื่อบางครั้งการรับรู้ของสยามก็เรียกชาวล้านนาว่าลาวเช่นเดียวกันอยู่แล้ว) ร่วมกับคนพื้นเมืองอีก 4 คน ซึ่งเป็นคนในบังคับสยาม

ทั้ง 5 นำชิ้นส่วนพระพุทธรูปมาขายแก่บ้านช่างหล่อในราคา 12 รูเปีย/รูปี (1 บาทเท่ากับ .80 รูเปีย) ในที่สุดตามจับผู้ร้ายทั้ง 5 คนได้ และศาลาพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี

ภาพถ่ายเก่าของ ดร.โจเซฟ เอฟ. ร็อค นักพฤกษศาสตร์ ถ่ายปี 2464 ก่อนพระพุทธสิหิงค์องค์กลางถูกลักลอบตัดพระเศียร (ขอบคุณภาพจาก รศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว)

เหลือเพียงภาพเก่าของ Dr.Joseph F. Rock

เรื่องราวเกี่ยวกับจดหมายร้องทุกข์มีเพียงสั้นๆ แค่นั้น แต่อาจารย์เนื้ออ่อนพยายามสืบค้นต่อไปถึงภาพถ่ายเก่าของพระพุทธสิหิงค์องค์ประธานในวัดพระสิงห์ ว่าจะพอมีใครถ่ายไว้บ้างหรือไม่

กระทั่งได้ไปพบหนังสือ National Geographic มีการตีพิมพ์ภาพพระพุทธสิหิงค์ก่อนถูกตัดพระเศียร 2 ครั้ง

ครั้งแรกฉบับเดือนมีนาคม 2465 (นับแบบปัจจุบันคือ 2466 แต่อย่าลืมว่ากว่าจะตีพิมพ์ได้ต้องใช้เวลาเป็นปี กล่าวคือ ผู้ถ่ายภาพต้องเดินทางกลับไปแล้ว)

และอีกครั้งภาพนี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำอีก 80 ปีถัดมา พ.ศ.2545 ฉบับเดือนตุลาคม

ผู้ถ่ายภาพนี้คือ ดร.โจเซฟ เอฟ. ร็อค (Dr. Joseph F. Rock) นักพฤกษศาสตร์ ประจำกองสำรวจพันธุ์ไม้ของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่มาเสาะหาพืชสมุนไพรพื้นเมืองคือ “ไม้กระเบา” เพื่อนำไปปลูกในรัฐฟลอริดา จากนั้นจะนำไปปรุงยารักษาโรคเรื้อน

ภาพถ่ายนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ เราจะพบพระพุทธรูปนั่งบนแท่นแก้วสามองค์ องค์กลางคือพระประธานก่อนถูกตัดเศียร องค์ซ้ายจากการดูของเรา (หรือองค์ขวาของพระประธาน) เป็นองค์เดียวกันกับที่ถูกย้ายไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ซึ่งดิฉันใช้เป็นภาพประกอบบทความในตอนที่แล้ว

ส่วนองค์ขวามือที่เราเห็น (หรือองค์ซ้ายของพระประธาน) ปัจจุบันยังประดิษฐานที่เดิม

 

พระราชายาฯ ส่งพระพุทธสิหิงค์ไปบูรณะที่สยาม

การปล่อยให้พระพุทธสิหิงค์เศียรขาดอยู่เช่นนั้น น่าจะเป็นที่ไม่สบายพระทัยแก่เจ้านายฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จกลับมาประทับที่เชียงใหม่เป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2457 แล้ว

พระราชชายาฯ มีพระประสงค์ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งถูกทิ้งไว้นานด้วยขาดช่าง (ในเมื่อปกติแล้วบ้านช่างหล่อ ประตูเชียงใหม่เคยเป็นแหล่งหล่อพระพุทธรูปย่านสำคัญ แต่กลับมารับซื้อของโจรเสียงเอง รู้ทั้งรู้ว่าเป็นพระเศียรของพระพุทธสิหิงค์ ยังกล้าเอามาหล่อทำกระดึงวัว ดังนั้น เป็นที่แน่ชัดว่า ในเมืองเชียงใหม่ คงยากที่จะไว้ใจใครให้หล่อพระเศียรพระพุทธสิหิงค์ได้อีก)

พระราชชายาฯ จึงปรึกษากับพระยาสุรบดินทร์ พระยาสุรบดินทร์กราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 6 ทรงทราบ เรื่องมาถึงเสนาบดีกระทรวงวัง คือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เห็นว่าการบูรณะพระพุทธสิหิงค์มีสองทางเลือก คือหนึ่ง ส่งช่างหลวงไปที่เมืองเชียงใหม่ หรือสอง ส่งพระวรกายของพระพุทธสิหิงค์ให้มาซ่อมที่สยาม

ในที่สุดทั้งฝ่ายพระราชายาฯ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เห็นพ้องกันว่าควรเลือกประการหลัง คือขอให้ส่งองค์พระพุทธสิหิงค์ลงมาปฏิสังขรณ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อมองด้านเหตุผลทางการเมืองแล้ว ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายมากกว่า

กล่าวคือ ในมุมมองของสยามเชื่อว่าชาวล้านนาย่อมถือว่า เรื่องนี้จักเป็นพระเกียรติคุณ ที่ราชสำนักสยามยินดีรับเป็นองค์อุปถัมภ์พระคู่บ้านคู่เมืองให้แก่ชาวล้านนา อันจะทำให้เชียงใหม่มีความผูกพันกับกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น

พระพุทธสิหิงค์กลางในวัดพระสิงห์ มีการซ่อมพระเศียรใหม่ ซึ่งไม่แนบสนิทกับพระวรกายนัก

วันที่ 10 สิงหาคม 2465 มีมติให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปบูรณะที่กรุงเทพฯ จากนั้นเรื่องราวเงียบหายไปนานมาก

จนกระทั่ง 5 ปีผ่านไปถึงสมัยรัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์จักเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ เพื่อดูความเป็นไปของบ้านเมืองฝ่ายเหนือ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินพระทัยว่าจะแต่งตั้งลูกหลานเจ้านายองค์ใดให้เป็นเจ้าผู้ครองนครต่ออีกบ้าง แต่ละองค์มีความเหมาะสมมากน้อยประการใด

คือช่วงก่อนหน้านั้นมีเจ้านายฝ่ายเหนือหลายพระองค์ถึงแก่พิราลัย โดยที่ตำแหน่งยังว่างอยู่

อาทิ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าหลวงเมืองน่าน พิราลัยปี 2460 (ต้นเดือนเมษายนจึงนับเป็น 2461) เจ้าบุญวาทวงค์มานิตย์ เจ้าหลวงลำปางพิราลัยปี 2465 การที่จะแต่งตั้งเจ้านายแต่ละพระองค์ให้เป็นผู้ครองนครแต่ละแห่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณของแผ่นดินด้วย โดยรวมแล้วประมาณ 3 แสนบาทต่อปี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี พระนางเจ้ารำไพพรรณี จึงตัดสินพระทัยเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรความเป็นไปของหัวเมืองทางล้านนาให้เห็นด้วยพระเนตรของพระองค์เอง

ผู้วางแผนทำหมายกำหนดการเส้นทางแต่ละจุดคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

วันที่ 6 มกราคม 2469 (นับแบบปัจจุบันคือ 2470) คือวันเริ่มต้นออกเดินทางจากสถานีรถไฟจิตรลดา เมื่อเสด็จมาถึงแต่ละเมืองมีการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา นมัสการพระธาตุศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญ เช่น พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุดอยสุเทพ ฯลฯ

ส่วนการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ที่หล่อพระเศียรใหม่และให้ช่างลงรักปิดทองเสร็จแล้ว ได้รับการเคลื่อนย้ายจากโรงหล่อกรมศิลปากรกลับคืนสู่วัดพระสิงห์ นำขึ้นรถไฟจากสถานีหัวลำโพงถึงเมืองเชียงใหม่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2469 (2470) ให้ทันงานปอยหลวง สมโภชเสนาสนะหลังต่างๆ ภายในวัดพระสิงห์ ซึ่งรัชกาลที่ 7 รับเป็นองค์อุปภัมภ์ในการบูรณะหอไตรและพระอุโบสถสองสงฆ์ด้วย

ในที่สุดพระพุทธสิหิงค์องค์กลางบนแท่นแก้วก็กลับคืนสู่เชียงใหม่อีกครั้ง พร้อมพระเศียรองค์ใหม่ ซึ่งอาจารย์จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะล้านนา ได้กล่าวตอนบรรยายให้คณะผู้เข้าอบรมประวัติศาสตร์ล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ฟังว่า

“หากมองพระพุทธสิหิงค์องค์กลางในวิหารลายคำใกล้ๆ เราจะพบว่าตรงช่วงพระศอมีรอยต่อรอยเชื่อมที่มุมบิดเอียงเล็กน้อย ไม่แนบสนิทพอดีนัก ส่วนพระเศียรนั้นก็กล่าวกันหลายกระแส ว่าใช้ต้นแบบมาจากพระสิงห์องค์ใด เป็นเรื่องราวที่น่าสนุก ต้องช่วยกันสืบค้นต่อไป” •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ