ศพใส่หม้อใส่ไห เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ต้นแบบใส่โกศ

โกศใส่ศพ มีต้นแบบดั้งเดิมอยู่ที่ศพใส่หม้อใส่ไหฝังดินเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว

แห่ความตายไปทางเรือ

พิธีศพไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือคนธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืนเพื่อรอขวัญคืนร่าง โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้าแล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเผ่าพันธุ์

คนมีฐานะทางสังคม เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือหมอผี เมื่อตายไป คนทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีศพใหญ่โต แต่ถ้าคนทั่วไปตายลงก็ทิ้งให้แร้งกากิน

คนอุษาคเนย์เชื่อว่าคนเรามาจากบาดาลทางน้ำที่อยู่ใต้พื้นดิน เมื่อตาย (ยุคนั้นเข้าใจความตายต่างจากยุคนี้) ก็คือกลับคืนสูถิ่นเดิมในบาดาลโดยทางน้ำที่มีนาคพิทักษ์อยู่

นี่เป็นต้นเรื่องขบวนเรือศักดิ์สิทธิ์ ลายเส้นบนกลองทองมโหระทึก

ขบวนแห่ศพมีเครื่องประโคม เช่น ฆ้อง กลองทองมโหระทึก และอื่นๆ (มีหลักฐานอยู่ที่ภาพเขียนสีที่ถ้ำตาด้วง จ.กาญจนบุรี)

คนบางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือใกล้ทะเล เคลื่อนศพไปทางน้ำด้วยเรือส่งศพ มีภาพลายเส้นที่ผิวมโหระทึก

แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือ (หรือรางเลี้ยงหมู) เอาศพวางในรางแล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ้ำหรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พบที่แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี ฯลฯ (รางระนาดปัจจุบันก็ได้จากโลงไม้ยุคนี้)

การแห่พระบรมศพด้วยราชรถก็มีเค้าจากเรือ เพราะหัวท้ายราชรถแกะสลักรูปนาค สัญลักษณ์ของน้ำ

 

หินตั้ง

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้านเป็นที่ฝังศพ มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ หรือใต้ถุนเรือน

ต่อมาใช้หินเป็นแท่งเล็กบ้างใหญ่บ้างตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้คนปัจจุบันเรียกหินตั้ง ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่าเสมาหิน

เมื่อเอาศพลงหลุม ต้องเอาเครื่องมือเครื่องใช้ใส่ลงไปด้วย เชื่อว่าจะได้ติดตัวไปใช้ในบาดาล

ฉะนั้น ในหลุมศพจึงมีสิ่งของมากมายล้วนแสดงฐานะของผู้ตายว่าเป็นคนสำคัญ เช่น ภาชนะดินเผาลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ไม่ได้ทำไว้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน แต่ทำไว้ฝังไปกับศพเท่านั้น

 

ต้นแบบโกศ

ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือพิธีศพครั้งที่ 2 เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก

แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหินที่ทุ่งไหหินในลาว, หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไป แต่ขนาดใหญ่พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแบบ “แค็ปซูล”

ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ

ภาชนะใส่กระดูกทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันคือโกศ

แม้แต่การเก็บกระดูกคนตายไว้ตามกำแพงวัดก็สืบเนื่องจากประเพณีดึกดำบรรพ์อย่างนี้เอง

คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้วบางกลุ่มมีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข่าใส่ไหไปฝัง ฯลฯ อย่างนี้เรียกกันภายหลังว่าประเพณีศพนั่ง สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังคือศพเจ้านายในพระบรมโกศ

 

เจดีย์เหนือหลุมศพ

พื้นที่ฝังศพได้รับยกย่องเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของผีบรรพชนราว 3,000 ปีมาแล้ว

เมื่อรับพุทธศาสนาแล้วในสมัยหลัง เลยยกบริเวณนั้นสร้างสถูปเจดีย์เป็นพุทธสถานก็มี เช่น ปราสาทหินพิมาย (อ.พิมาย จ.นครราชสีมา) และวัดชมชื่นที่เมืองเชลียง (อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) ฯลฯ

เรือศักดิ์สิทธิ์ส่งคนตายกลับบาดาลเมื่อราว3,000 ปีมาแล้ว ลายเส้นบนมโหระทึก พบที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
เรือศักดิ์สิทธิ์ส่งคนตายกลับบาดาลเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ลายเส้นบนมโหระทึก พบที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป จำลองพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
ภาชนะดินเผาแบบแค็ปซูลบรรจุศพ ขุดพบที่ทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านเมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด
ถิ่นเดิมของคนคือบาดาลอยู่ใต้ดิน เมื่อตายไปแล้วก็กลับถิ่นเดิม มีเรือเป็นพาหนะรับส่งพิธีศพของคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว จึงต้องมีโลงไม้คล้ายเรือใส่ศพทำพิธีกรรม ดังนักโบราณคดีสำรวจและขดุ พบโลงไม้ บริวณลุ่มน้ำแควน้อย แควใหญ่ จ.กาญจนบุรี และที่ถ้ำผีแมน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน