ศึกพระพุทธสิหิงค์ (4) : จาก ‘ผีสิงเมือง’ สู่พุทธปฏิมา ‘พระสิงห์’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอนที่ 4 นี้ วิทยากรคือ “คุณเมธี ใจศรี” ปัจจุบันเป็นข้าราชการสังกัดเทศบาลเมืองลำพูน เป็นลูกศิษย์ที่เคยร่ำเรียนวิชาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กับ ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว

คุณเมธีกล่าวว่า สิ่งที่เขาจะพูดในเวทีนี้เป็นบทความเรื่อง “ข้อคิดใหม่เกี่ยวกับพระสิงเมืองเชียงใหม่” ซึ่งอาจารย์อรุณรัตน์ได้เขียนไว้ตั้งแต่ 12 ปีก่อน (นับถึง พ.ศ.2566 ก็ 14 ปีแล้ว) โดยคุณเมธีมีส่วนร่วมในการช่วยค้นคว้าข้อมูลให้อาจารย์อรุณรัตน์ด้วย

หัวข้อที่คุณเมธีจะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์นั้นมีสองประเด็นใหญ่

ประเด็นแรก ตกลงแล้ว พระสิงห์ หรือ พระสิง กันแน่?

ประเด็นที่สอง การหายไปของพระสิงห์ในเชียงใหม่ถึง 4 ครั้ง

ฉบับนี้ น่าจะได้นำเสนอเพียงแค่ประเด็นแรกก่อน เนื่องจากเนื้อหาส่วนนี้ค่อนข้างท้าทาย แปลกใหม่ หาอ่านจากที่อื่นได้ยาก ดิฉันจึงไม่อยากตัดตอนรายละเอียดส่วนปลีกย่อยใดๆ ทิ้งไปเลย

 

ถอดรหัส “ลีเชียงพระ”

ต่อจากฉบับที่แล้ว พระญาแสนเมืองมาได้นำพระสิงห์ หรือพระพุทธสิหิงค์ (ชาวล้านนามักเรียกพระพุทธสิหิงค์ว่า “พระสิงห์”) จากเชียงราย เข้ามาสู่เมืองเชียงใหม่

สถานที่ตั้งพระสิงห์นั้นมีชื่อเรียกเดิมว่า “ลีเชียงพระ” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพระสิงห์” อย่างเป็นทางการ

ใครที่เคยไปในคูเมืองเชียงใหม่ ย่อมทราบดีว่าวัดพระสิงห์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง คุณเมธีอธิบายว่า “ลี” หมายถึง “กาด-ตลาด” เป็นจุดที่มีผู้คนคลาคล่ำ ส่วน “เชียงพระ” นั้น ไม่ได้หมายถึง “วัดหรือเวียงที่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่” ตามที่เคยมีการตีความกันผิดๆ มาตลอด

ภาษาไทดำ ซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มคนที่ยังรักษาความหมายของคำศัพท์ดั้งเดิม อธิบายว่า “เชียง” หมายถึง “ดง, ป่า, สถานที่สถิตของอารักษ์ที่อยู่กลางเวียง” ส่วน “เชียงพระ” พระคำนี้ ไม่ได้หมายถึงพระสงฆ์ หรือพระพุทธรูป แต่หมายถึง พระเป็นเจ้า คือกษัตริย์

เชียงพระ จึงหมายถึง ดงอารักษ์ที่สิงสถิตผีเมืองเชียงใหม่ โดยคุณเมธีชี้ให้เห็นว่า ประตูสามด้านของเมืองเชียงใหม่ สามารถตัดถนนตรงไปได้เลย ทั้งประตูท่าแพทิศตะวันออก ประตูเชียงใหม่ทิศใต้ และประตูช้างเผือกทิศเหนือ

ยกเว้นแต่ประตูสวนดอกทิศตะวันตกทิศเดียว มี “ดงอารักษ์” หรือวัดพระสิงตั้งขวางถนนอยู่ เวลาตัดถนนต้องอ้อมด้านซ้าย-ขวา ไม่ตัดผ่ากลางวัด แสดงว่าคนโบราณรู้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นจุดที่มีผีเมืองอาศัยอยู่นั่นเอง

แล้วทำไมจึงต้องเอาพระสิงห์จากเชียงรายมาไว้ที่นี่?

พระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 แต่ขัดสมาธิราบ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย องค์ที่นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นต้นแบบให้แก่พระสิงห์ในล้านนา หรือบ้างก็ว่า น่าจะเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริง

จากผีสิงเมืองสู่วัดพระสิงห์

ในอดีต ดงอารักษ์ หรือลีเชียงพระแห่งนี้ เคยมีหอศาลบรรจุอัฐิ “พระญาคำฟู” มาก่อน พระญาคำฟูคือกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 4 พระองค์สวรรคตด้วยการ “ถูกเงือกทำร้าย” หรือถูกจระเข้กัดนั่นเอง ที่เมืองเชียงคำ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพะเยา)

พระญาผายู พระโอรส ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 5 ได้อัญเชิญอัฐิของพระราชบิดามาไว้ที่เชียงใหม่ แล้วบรรจุในกู่สถูป ณ ป่าดงกลางเมือง จุดที่เรียกว่า “ลีเชียงพระ” (ต่อมาดงนี้มีตลาดอยู่หน้าอาราม จึงเติมคำว่า ลี) เพื่อให้ผู้คนได้เซ่นสรวงผีอารักษ์เมือง

การนำอัฐิพระญาคำฟูมาไว้ ณ ดงอารักษ์แห่งนี้ ด้วยเคยมีความเชื่อกันมาก่อนแล้วว่า หากมีการสวรรคตแบบฉับพลันทันด่วนของกษัตริย์ ต้องอัญเชิญขึ้นเป็นผีเมือง ดังเช่นกรณีของปฐมกษัตริย์ล้านนา คือพระญามังราย ดังที่ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งแต่ปี พ.ศ.2060 ว่า

“นบพระวรเชษฐ์ช้อย ศรีสิง

สาเทพเบญจาจริง จิ่งพร่าย”

แปลความได้ว่า มีการไหว้เทวดา (ภาษาสุภาพ) หรือ ผี (ภาษาชาวบ้าน) ที่เคยสิงสถิตคอยอารักขาเมืองเชียงใหม่ ณ บริเวณลีเชียงพระ

ยิ่งในโคลงพื้นวัดพระสิงห์ ยิ่งระบุชัดถึง “ผีอารักษ์ 2 ตนที่รักษาเมืองเชียงใหม่” ได้แก่ พระญามังราย (สิ้นพระชนม์เพราะถูกฟ้าผ่า) และพระญาคำฟู ซึ่งกษัตริย์สองพระองค์นี้สิ้นพระชนม์แบบปุบปับ ไม่ทันได้ตั้งตัว จึงมีสถานะคล้าย “ผีนัต” ของพม่า

ทั้งศาสตราจารย์อรุณรัตน์ และคุณเมธีเชื่อว่า ที่มาของคำว่า “พระสิงห์” มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ผีสิงเมือง” เริ่มจากการเซ่นสรวงเลี้ยงผีอารักษ์ที่ดงเชียงพระก่อน ต่อมาค่อยๆ แปรสภาพและเปลี่ยนเป็นวัดชื่อ “วัดพระสิงห์”

ที่วัดพระเจ้าเม็งราย (วัดกาละก้อด) ไม่ไกลจากวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ พบพระพุทธรูปแบบพระสิงห์ 1 เขียนจารึกที่ฐานมีคำว่า “พระพุทธสิหิงค์” ประโยคเต็มเขียนว่า “พระองค์นี้คือ พระพุทธสิหิงค์ สร้างโดยพระมหาสังฆราชศรีสัทธรรมา พ.ศ.2013” สะท้อนว่าคำว่า “พระพุทธสิหิงค์” ใช้เรียกกันหลายองค์

กระบวนการแปลง “สิง” เป็น “สิงห์”

คุณเมธีกล่าวว่า ในอดีตมีนักวิชาการหลายท่านพยายามตีความว่า “พระพุทธสิหิงค์” หรือ “พระสิงห์” หมายถึงอะไรกันแน่ สองคำนี้มีความสัมพันธ์กันหรือไม่

ดังเช่น อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร เคยสรุปว่าเป็นภาษามอญโบราณ มาจาก “สฮิงสเฮย” แปลว่าน่าอภิรมย์ยินดี

หรือ ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน กับ ศ.หม่อมหลวง สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยตีความว่า คำว่าสิหิงค์ มาจากสีห+องค์ หมายถึง สิงห์ แปลว่าพระพุทธรูปมีลักษณะบ่าใหญ่เอวเล็กงามอย่างสิงห์ เหมือนมหาบุรุษ

ในขณะที่ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ ได้เสนอทฤษฎีใหม่ ด้วยการค้นพบศัพท์โบราณในภาษาไทดำว่า “สิง” คำนี้แปลว่า “ด้ำ” หมายถึง โคตรตระกูล/ผีบรรพบุรุษ ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดคือ อาจารย์คำจองฯ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ทฤษฎีบ้านเมือง มีการกล่าวถึงคำว่า “สิง/ลอ/เย็ด/เท้า สิง/เลือง/เย็ด/หมอ” คำเหล่านี้ หลายคำยังคงตกค้างอยู่ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เช่นเรียกบรรพบุรุษว่า ท้าวเลือง

เมื่อพระพุทธรูปได้อัญเชิญมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ต้องมาอยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยมีผีอารักษ์เมือง ดังนั้นการมากราบไหว้พระพุทธรูปที่นี่ เท่ากับเป็นการไหว้บรรพกษัตริย์ที่เป็นอารักษ์เมืองไปด้วยในตัว

โกศทองแดง โกศเงิน โกศทองคำ บรรจุพระอัฐิของพระญาคำฟู ขุดพบในยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะวัดพระสิงห์ ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าอยู่ที่ใด

ถอดแนวคิดพระโพธิรังสี เปลี่ยน “ผี” ให้เป็น “พระ”

คุณเมธีกล่าวว่า การศึกษาเรื่องพระพุทธสิหิงค์ พระสิงห์ พระสิง นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นอะไรที่ทับซ้อนกันอยู่มาก ทั้งในเชิงอักขระคำพ้องเสียงต่างรูป (สิง-สิงห์) ทั้งในเชิงพื้นที่ (ลีเชียงพระ-วัดพระสิงห์) ทั้งในเชิงความเชื่อพื้นถิ่นเรื่องผีกับพุทธศาสนาที่เข้ามาใหม่

อย่างไรก็ดี การจะตีความว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์คืออะไรกันแน่นั้น เราควรขบแนวความคิดหรือนัยยะที่พระโพธิรังสีซุกซ่อนไว้ให้แตกด้วย

เหตุที่พระโพธิรังสีเป็นบุคคลท่านแรกที่หยิบประเด็นเรื่อง พระพุทธสิหิงค์มารจนาในชื่อ “สิหิงคนิทาน” จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ พระรัตนปัญญาเถระ ผู้รจนาชินกาลมาลีปกรณ์ นำไปขยายต่อเรื่อง “พระสีหลปฏิมา”

จากนั้นมายังมีพระภิกษุรุ่นหลังอีกจำนวนมากที่นำขนบการเขียนวรรณกรรมเลียนแบบพระพุทธสิหิงค์ ไปใช้อธิบายการกำเนิดพระพุทธรูปองค์สำคัญ ในทำนองว่าต้องเก่าแก่ไปถึงอินเดีย ลังกา และพระองค์นั้นๆ ต้องเดินทางไกลจากเมืองสู่เมือง

ตามที่คุณเฉลิมวุฒิได้กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ตอนแรกว่า พระโพธิรังสีเป็นพระภิกษุในนิกายดั้งเดิมของล้านนา (นิกายหริภุญไชย/นิกายเชื้อเก่า) แต่ได้รับการอาราธนาจากพระภิกษุในนิกายสวนดอกให้ช่วยเขียนเรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ให้

คุณเมธีมองว่านิกายดั้งเดิมและนิกายสวนดอกน่าจะเข้ากันได้ดีระดับหนึ่ง คือเป็นนิกายที่เข้าใจความต้องการของมวลชนที่มีความเชื่อเรื่องผี เพราะรากฐานของนิกายสวนดอกก็มาจากรามัญนิกาย ซึ่งแนวคิดของชาวมอญในเมืองเมาะตะมะยุคพระอุทุมพรมหาสามี (ผู้เป็นอาจารย์ของพระมหาสุมนเถระที่นำเอานิกายรามัญมาสถาปนาเป็นนิกายสวนดอกในเชียงใหม่) ก็น่าจะละม้ายคล้ายคลึงกับความเชื่อของชาวมอญหริภุญไชย (นิกายเชื้อเก่า) อยู่บ้างบางส่วน

ทำไมแนวคิดของศาสนาพุทธในล้านนาจวบจนปัจจุบัน จึงยังมีอะไรที่พอจะเชื่อมต่อกับแนวคิดของนิกายดั้งเดิมหริภุญไชยและนิกายสวนดอกได้อยู่มากทีเดียว คุณเมธีตั้งคำถาม

ในขณะที่นิกายป่าแดง ล่มสลายแล้วล่มสลายเลย เป็นเพราะนิกายป่าแดงผูกติดอยู่กับชนชั้นนำ ชนชั้นสูงมากเกินไป เข้าไม่ถึงชาวบ้านใช่หรือไม่?

ดังนั้น เมื่อราชวงศ์ล่มสลาย นิกายป่าแดงก็สูญหายไปตามไปด้วย

คุณเมธีเชื่อว่า พระโพธิรังสีเขียนวรรณกรรมสิหิงคนิทานโดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต้องการแปลงผีให้เป็นพระ “จากผีสิงเมือง” กลายเป็น “พระสิงห์” และจาก “พระสิงห์” กลายเป็น “พระพุทธสิหิงค์” ที่ต้องการตอกย้ำ เน้นความเป็นพุทธลังกาวงศ์ (แม้จะผ่านรามัญวงศ์มาแล้วชั้นหนึ่งก็ตาม)

ช่วงที่พระโพธิรังสีกำลังเขียนสิหิงคนิทานนี้ ตรงกับรัชสมัยพระญาสามฝั่งแกน เป็นช่วงที่กำลังเกิดการปะทะต่อสู้กันอย่างรุนแรงมาก ระหว่างนิกายสวนดอกกับนิกายป่าแดง สังคมสงฆ์ในล้านนาเกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดระหว่างเก่า-ใหม่ เป็นช่วงที่พระหนุ่มเณรน้อยยังเติร์กที่เพิ่งกลับมาจากลังกาและเริ่มก่อตั้งนิกายป่าแดง กำลังอยากประลองความรู้กับพระสงฆ์รุ่นพ่อรุ่นปู่อย่างคุกรุ่น

แม้พระโพธิรังสีได้รับอาราธนาจากพระนิกายสวนดอกให้เขียนเรื่องนี้ แต่ท่านก็มีความประนีประนอมสูงมาก โดยที่ท่านต้อง “รักษาความเป็นกลางให้ได้” นั่นคือความพยายามเชื่อมร้อยเรื่องราวระหว่างคติความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระสิงเมือง มาสู่การช่วงชิงพื้นที่ความเป็นนิกาย “สีหล” หรือ “ลังกา” ระหว่างนิกายสวนดอกกับป่าแดง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ