ศึกพระพุทธสิหิงค์ (3) : ท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์มาเชียงราย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธสิหิงค์ เชื่อว่าทุกท่านจะโฟกัสไปที่ 3 องค์

1. ในวิหารลายคำ ทิศใต้ของวัดพระสิงห์ เชียงใหม่

2. หอพระ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช

และ 3. องค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า กรุงเทพฯ

น้อยคนนักที่จักรู้ว่าแท้จริงแล้ว “พระพุทธสิหิงค์” ก็มีความเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงรายอย่างแนบแน่นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น วิทยากรในคลับเฮาส์คนที่ 3 ที่ดิฉันเชิญมาร่วมเสวนาก็คือ “คุณอภิชิต ศิริชัย” นักวิชาการอิสระด้านล้านนาศึกษา เป็นชาวเชียงราย

คุณอภิชิตร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล 4 ประเด็นคือ

1. บทบาทของท้าวมหาพรหมผู้นำพระพุทธสิหิงค์มาจากกำแพงเพชร

2. พระพุทธสิหิงค์ที่เชียงรายมี 2 องค์

3. การทวงคืนพระพุทธสิหิงค์สู่เชียงใหม่ของพระญาแสนเมืองมา

4. พระพุทธสิหิงค์น้อยองค์ปัจจุบัน ณ วัดพระสิงห์เชียงราย ตกลงได้มาจากไหน?

พระพุทธสิหิงค์น้อย ในวิหารแก้ว (วิหารพระพุทธสิหิงค์) วัดพระสิงห์ เชียงราย อัญเชิญมาจากเชียงใหม่ช่วงฟื้นเมืองเชียงรายจากพม่า

อำนาจของท้าวมหาพรหม

คุณอภิชิตกล่าวว่า เรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ เชื่อว่าค่อนข้างอันซีนสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะพระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ในเชียงรายนั้น เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องที่ปรากฏให้ได้ยินบ่อยนัก

ก่อนอื่นขอปูพื้นด้วยคำถามที่ว่า “ท้าวมหาพรหมคือใคร?”

ในเมื่อท้าวมหาพรหมเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ผู้นำเอาพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาจากกำแพงเพชร ซ้ำไม่ได้เอามาแค่องค์เดียว ทว่า ยังเอามาคู่กับพระแก้วมรกตอีกด้วย ความกล้าหาญชาญชัย หรือความสามารถในการนำพระพุทธรูปคู่บ้านคูเมืององค์สำคัญจากเมืองทางใต้ล้านนาขึ้นมาได้ แสดงว่าพระองค์ต้องไม่ธรรมดา!

ประวัติของท้าวมหาพรหมแบบตรงๆ ก็ไม่ได้มีบันทึกไว้มากนัก ทราบกันแค่ว่า ขณะที่พระญากือนา พระเชษฐาของพระองค์ปกครองเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์ก็ปกครองเมืองเชียงรายตีคู่กันมา

เชียงรายในยุคของท้าวมหาพรหมนั้น แตกต่างไปจากเชียงรายในยุคพระญามังราย (ช่วงก่อนที่มังรายจะไปยึดลำพูนแล้วสร้างเชียงใหม่) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ทั้งยังแตกต่างไปจากยุคของพระญาไชยสงคราม กษัตริย์ล้านนาลำดับที่สอง ซึ่งไม่ประสงค์จะนั่งเมืองที่เชียงใหม่ แต่หวนกลับมานั่งเมืองที่เชียงราย พระญาไชยสงครามก็มีอำนาจแถบเชียงรายในบางแว่นแคว้น

หันไปมองกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 3 คือพระญาแสนพู (แสนภู) รับราชสมบัติที่เชียงราย แต่กลับไม่โปรดที่จะประทับที่นั่น พระองค์ไปสร้างราชธานีใหม่ที่เชียงแสนแทน

เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ คุณอภิชิตตั้งข้อสังเกตว่า การย้ายที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินไปๆ มาๆ เป็นว่าเล่น จากเมืองโน้นไปเมืองนี้ เมืองนี้ไปเมืองนั้น ในช่วงสั้นๆ แค่เพียง 3 รัชกาล สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพของอาณาจักรล้านนาในช่วงต้นราชวงศ์มังรายยังไม่ดีพอเท่าใดนัก

หลังจากนั้นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 4 คือพระญาคำฟู ยังคงประทับที่เชียงแสน หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว พระญาผายู กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 5 ก็ย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่อีกรอบ จากนั้นมาเชียงใหม่ก็กลายเป็นราชธานีถาวรจวบจนยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่มีการฟื้นฟูล้านนาอีกครั้ง

พระญากือนา กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 ประทับที่เชียงใหม่ แต่งตั้งให้ท้าวมหาพรหม อนุชานั่งเมืองที่เชียงราย

ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าอำนาจของท้าวมหาพรหมมีครอบคลุมไปถึง 5 หัวเมืองสำคัญคือ เชียงราย เชียงแสน เมืองฝาง เมืองหาง และเมืองสาด กล่าวคือ แม้จะมีสถานะเป็น “อุปราช” แต่ก็มีอำนาจล้นเหลือ มากพอที่จะท้ารบ และคานอำนาจกับพระเชษฐากือนาได้สบายๆ เลยทีเดียว

อะไรเป็นสาเหตุให้ท้าวมหาพรหมสามารถอัญเชิญพระคู่บ้านคู่เมืองของกำแพงเพชรขึ้นมายังเชียงรายพร้อมกันได้ถึงสององค์? ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ไม่มีเครือญาติหรือฐานกำลังในเขตสุโขทัยแต่อย่างใด เป็นประเด็นที่น่าคิด และต้องศึกษากันต่อไป

เมื่อนำพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาแล้ว พระองค์มีความตั้งใจจะถวายพระพุทธสิหิงค์ให้แก่พระเชษฐากือนา ทว่าห้วงเวลานั้น พระญากือนามีพระราชประสงค์จะสร้างคูหา (ซุ้ม) สำหรับเป็นที่ประทับพระพุทธสิหิงค์ให้แล้วเสร็จเสียก่อน

เป็นเหตุให้ท้าวมหาพรหม จำต้อง “รับฝาก” แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน “เป็นการชั่วคราว” ที่เชียงราย

ดิฉันเห็นว่าข้อความในตำนานช่วงนี้มีอะไรทะแม่งๆ อยู่ไม่น้อย ลำพังเพียงแค่ยังไม่มีมณฑปโขงพระพุทธรูป ก็ถึงกับยินยอมให้อนุชานำพระพุทธสิหิงค์ไปเชียงรายก่อนเลยล่ะหรือ ทำไมไม่เก็บรักษาในหอพระแห่งใดแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ก่อนก็ได้

แล้วที่เชียงรายเล่า แน่ใจได้อย่างไร ว่าท้าวมหาพรหมจักนำเอาพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานในซุ้มมณฑปอันอลังการขณะที่รอ ในเมื่อพระองค์ก็เพิ่งได้รับพระพุทธรูปและเพิ่งเสด็จกลับจากกำแพงเพชร?

การนำเอาพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เชียงรายของท้าวมหาพรหมนั้น จึงน่าจะมีเงื่อนงำอะไรบางอย่างมากกว่าที่ตำนานเขียน

พระพุทธสิหิงค์น้อย วัดพระสิงห์ เชียงราย ด้านข้าง

พระพุทธสิหิงค์มี 2 องค์

คุณอภิชิตกล่าวต่อไปว่า เมื่อท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมายังเชียงรายแล้ว ก่อนจะสร้างวัดพระสิงห์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ในเชียงราย ท้าวมหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปทำพิธีอบรมสมโภชก่อน ณ เกาะดอนแท่นกลางแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงแสน

เกาะดอนแท่นนี้ถือเป็น “สังฆมณฑล” ของเมืองเชียงแสน เทียบได้กับบุปผารามสวนดอกที่เป็นสังฆมณฑลของเมืองเชียงใหม่ สถานที่ซึ่งพระญากือนาทรงอุปถัมภ์ ในขณะที่สวนดอกมีพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยเป็นสังฆราชา ณ สังฆมณฑลเกาะดอนแท่นก็มีพระสิริวังโสเป็นสังฆราชา

ท้าวมหาพรหมและพระสิริวังโสทำการสมโภชพระพุทธสิหิงค์ ณ เกาะดอนแท่นถึง 7 วัน จึงอัญเชิญกลับมายังวิหารหลวงเมืองเชียงราย หลังจากนั้นทำการจำลองหล่อทองสำริดพระพุทธสิหิงค์ โดยให้ช่างมาปั้นกำหนดสัดส่วน ขนาด รูปร่าง รูปทรง เหมือนกันกับองค์จริงที่นำมาจากกำแพงเพชรทุกประการ

เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็อัญเชิญองค์จำลองไปอบรมสมโภชที่เกาะดอนแท่นเหมือนกับที่กระทำพิธีให้องค์จริงดั้งเดิมด้วย แสดงว่า ณ ช่วงนั้น มีพระพุทธสิหิงค์เกิดขึ้นที่เชียงราย 2 องค์แล้ว ข้อสำคัญพุทธลักษณะย่อมต้องเหมือนกันทุกประการอีกด้วย

มณฑปโขงพระเจ้า ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์น้อย วัดพระสิงห์ เชียงราย เคดิตภาพประกอบทุกภาพในตอนนี้จากเฟซบุ๊ก คุณนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ

ศึกอา-หลาน ชิงพระพุทธสิหิงค์

เหตุการณ์ตัดไปถึงตอนที่พระญากือนาสวรรคต ก่อนหน้านั้นไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าพระองค์จะมาทวงคืนพระพุทธสิหิงค์เลย จนกระทั่งถึงสมัยพระญาแสนเมืองมา โอรสของพระญากือนาผู้ขึ้นครองเชียงใหม่ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

สร้างความไม่พอใจให้แก่ท้าวมหาพรหมยิ่งนัก ด้วยเห็นว่าพระองค์เป็นอนุชาของพระญากือนา มีความเหมาะสมกว่าทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จึงบุกชิงราชสมบัติจากหลานที่เชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ก่อนกลับเชียงรายจึงแก้เกี้ยวด้วยการเสไปกวาดต้อนผู้คนและสมบัติจากเมืองหริภุญไชย อย่างน้อยก็ไม่ได้กลับเชียงรายมือเปล่า!

หลังจากนั้น พระญาแสนเมืองมาก็บุกขึ้นมาสู้รบกับพระเจ้าอามหาพรหมที่เชียงราย ตำนานบางเล่มบอกว่าท้าวมหาพรหมมีเครือข่ายมากมายไปขอพึ่งบารมีจากทางอยุธยาให้ขึ้นมาช่วย บ้างว่าต่อสู้กันด้วยคาถาอาคม

ในที่สุดฝ่ายท้าวมหาพรหมปราชัย พระญาแสนเมืองมาจึงโปรดให้นำเอาพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เชียงใหม่ ตำนานไม่ได้บอกว่าเอาองค์จริงหรือองค์จำลองไป แต่เชื่อได้ว่า โดยอำนาจของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เหนือกว่าเชียงรายในขณะนั้น ย่อมเอาองค์จริงไปนั่นเอง

คุณอภิชิตกล่าวว่า น่าเสียดายที่เราไม่พบพระพุทธสิหิงค์จำลองของท้าวมหาพรหมนั้นเลย ซึ่งควรจะมีที่เชียงรายอีกหนึ่งองค์ หากเราได้พบ ก็จะช่วยคลี่คลายปมปริศนาที่นักวิชาการถกเถียงกันยาวนานกว่า 5 ทศวรรษว่า ตกลงแล้วพระพุทธสิหิงค์ ควรมีพุทธลักษณะแบบใดกันแน่

เหตุที่ต่อมาทั้งเชียงรายและเชียงแสนกลายเป็นเมืองร้าง ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ทำให้เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงราย จึงหล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ลบเลือนจากการรับรู้ของผู้คน

พระประธานในวิหารหลวงวัดพระสิงห์ เชียงราย เป็นพระสิงห์เช่นกัน แต่ไม่ใช่องค์พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์น้อยองค์ปัจจุบัน

คุณอภิชิตกล่าวว่า วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย ที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในสภาพดั้งเดิมตั้งแต่สมัยล้านนา รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์องค์จำลองที่ควรมีอายุราว 650 ปี ของท้าวมหาพรหม ก็สูญหายไปแล้ว

เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูใหม่ราวปี พ.ศ.2386 เพิ่งจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ วัดพระสิงห์ถือเป็นวัดสำคัญแรกสุดที่ได้รับการบูรณะจากเจ้านายตระกูลเจ้าเจ็ดตน

มีบันทึกว่า พระพุทธรูปที่เรียกกันว่า “พระพุทธสิหิงค์น้อย” องค์ที่ประดิษฐานในวิหารแก้ว หรือวิหารพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ เชียงรายนั้น

“ถูกอุ้มมาจากเมืองเชียงใหม่” ในช่วงที่ฟื้นเมืองเชียงราย โดยให้นำหน้าขบวน คู่กับพระแก้วขาวเสตังคมณี (พระพุทธสิหิงค์น้อยนี้ไม่ระบุว่านำมาจากวัดใดในเชียงใหม่)

เมื่อทำพิธีสมโภชเมืองเชียงรายเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญพระเสตังคมณีกลับคืนวัดเชียงหมั้นที่เชียงใหม่ ส่วนพระพุทธสิหิงค์น้อยให้อัญเชิญเข้าประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์ เชียงราย

เป็นสัญลักษณ์ว่าแม้นพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมจะหายไปแล้ว (ช่วงเชียงรายถูกม่านรุกราน) แต่ ณ บัดนี้ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์อีกองค์กลับมาเป็นหลักชัย สถาปนาให้บ้านเมืองมั่นคงดังเดิมแล้ว

เป็นที่มาของการสร้างวิหารแก้ว หรือวิหารพระพุทธสิหิงค์ ในวัดพระสิงห์ เชียงราย แยกออกมาจากวิหารหลักหลังใหญ่ หรือที่เรียกว่าวิหารหลวง

ในพระวิหารหลวงเอง ก็มีพระประธานอีกองค์ เป็นพระสิงห์ขนาดใหญ่ แต่ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาว่าพระสิงห์องค์นี้สร้างเมื่อไหร่ บ้างว่าสร้างใหม่พร้อมวิหารหลวงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บ้างก็ว่าอาจเป็นของเดิมตั้งแต่ยุคล้านนาตอนปลาย

สัปดาห์หน้า พระพุทธสิหิงค์จากเชียงรายจักเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่เชียงใหม่แล้ว เหตุการณ์จะเป็นเช่นไร โปรดติดตาม •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ