พระแสงขรรค์ชัยศรี สัญลักษณ์แห่งอำนาจ อาณาบารมี ของวงศ์นครธม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
พระแสงขรรค์ชัยศรี กรุวัดราชบูรณะ

ชื่อ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” อันเป็นหนึ่งในเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ของกรุงเทพฯ นั้น ปรากฏชื่ออยู่เก่าก่อนทั้งในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยา และของกรุงสุโขทัย

โดยมีตำนานที่มาเล่าไว้ในศิลาจารึกจากวัดศรีชุม จ.สุโขทัย หรือที่เรียกกันว่า จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ว่า ได้มาจากราชสำนักของขอม ที่เมืองยโสธรปุระ หรือเมืองพระนครธม ดังข้อความที่ว่า

“เมื่อก่อนผีฟ้า เจ้าเมืองศรียโสธรปุระ ให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวีกับขันชัยศรีให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมือง”

ข้อความในจารึกดังกล่าว แปลความหมายตรงตัวได้ว่า ผีฟ้า เจ้าเมืองยโสธรปุระ ซึ่งก็หมายถึงกษัตริย์แห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวง ของพวกขอม ได้พระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรี พร้อมกับนางสุขรเทวี อันเป็นพระราชธิดาของพระองค์ ให้กับพ่อขุนผาเมือง

ซึ่งตามข้อความในจารึกหลักนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูง อยู่ในราชสำนักสุโขทัย

แต่จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบชัด พระแสงขรรค์องค์นี้ก็ได้กลับกลายมาเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจชิ้นสำคัญของพระมหากษัตริย์อยุธยาไปในที่สุด

 

สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ เป็นพ่อขุนผาเมืองเองนี่แหละครับ ที่ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรีนำเข้ามาในอยุธยา ในช่วงก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 เพราะพ่อขุนผาเมืองท่านเป็นคนรุ่นก่อนหน้าของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่พระราชพงศาวดารอ้างว่า เป็นผู้สถาปนาอยุธยาขึ้นนั่นเอง

น่าสนใจด้วยที่ข้อความในจารึกวัดศรีชุม ได้เล่าถึงพ่อขุนผาเมืองต่อไปอีกด้วยว่า ทรงยึดกรุงสุโขทัยกลับมาจากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วมอบเมืองสุโขทัย พร้อมพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ที่กษัตริย์เมืองนครธมพระราชทานให้พระองค์ (พร้อมๆ กับพระแสงขรรค์ชัยศรี และนางสุขรเทวี) ให้กับพระสหายคนสำคัญก็คือ พ่อขุนบางกลางหาว (คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง โดยชื่อ “อินทราทิตย์” นั้น ข้อความในจารึกหลักเดียวกันนี้อ้างว่ามาจากพระนามที่พ่อขุนผาเมืองมอบให้นี่เอง) แล้วก็ออกไปจากสุโขทัยไปยังที่ใดที่หนึ่ง

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า พระองค์เสด็จไปที่ไหน และทำไมจึงไม่ครองกรุงสุโขทัย แต่กลับมอบให้พระสหายมันเสียอย่างนั้น เพราะไม่ได้มีศิลาจารึกหลักใดระบุเอาไว้อีกเลย นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงสันนิษฐานกันว่า พระองค์ได้เสด็จไปครองราชย์ยังเมืองที่ใหญ่กว่าสุโขทัย ซึ่งก็ว่ากันไปหลายทาง บางท่านก็ว่าคือนครธม บ้างก็ว่าคืออุตรดิตถ์ และบ้างก็ว่าเมืองโคราช

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ก็ตกทอดเข้ามาอยู่ในราชสำนักอยุธยา ในฐานะสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจริงๆ

 

เรื่องที่ผมอยากจะชวนคุยในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องอำนาจของพระแสงขรรค์ชัยศรีองค์นี้ในอยุธยา หรือกรุงเทพฯ หรอกนะครับ

ที่อยากจะชวนเปิดประเด็นในที่นี้คือ ความสำคัญของพระแสงขรรค์ชัยศรีที่ย้อนกลับไปในกัมพูชา ยุคนครธม โน่นเลยต่างหาก

อันที่จริงแล้ว คนในยุคหลัง แม้จะล่วงเลยมาถึงยุคกรุงเทพฯ แล้ว ก็ดูจะทราบดีว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี” นั้นเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่สัมพันธ์อยู่กับวงศ์ของพวกเขมรโบราณ ดังนั้น เมื่อพระขรรค์องค์นี้สูญหายไปจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อที่กรุงจะแตก (บางท่านเชื่อว่าสูญหายไปก่อนหน้านั้นแล้ว) จึงต้องปรากฏมีเรื่องเล่าเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2327 ได้มีชาวประมงทอดแหได้พระขรรค์เก่า ที่ตนเลสาปเขมร ละแวกเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) จึงให้พระยาพระเขมร เชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองคำลงประดับอัญมณี และใช้เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในราชวงศ์จักรีมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

แน่นอนว่านี่ก็คือ พระแสงขรรค์ชัยศรีในราชสำนักกรุงเทพฯ องค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระนามระบุ “ชัยศรี” ระบุเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่พระขรรค์องค์อื่น

ดังนั้น ในหมู่คนชั้นสูงรุ่นต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงย่อมที่จะรู้ดีอยู่แล้วว่า พระขรรค์องค์นี้สัมพันธ์กับอาณาบารมีของราชวงศ์เขมรโบราณมาก่อน ไม่อย่างนั้นอยุธยารบกับอังวะ ราชวงศ์คองบอง อยู่ดีๆ พระแสงขรรค์องค์นี้จึงไปโผล่ที่ตนเลสาปเขมรมันเสียอย่างนั้น?

 

หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นร่องรอยให้เห็นว่า พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่สืบทอดมาจากวงศ์เขมรโบราณนั้น ก็อาจจะเห็นได้จากข้อความบางตอนในหนังสือเก่าฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า” อันเป็นคำให้การของชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาพม่าชื่อว่า “โยธยา ยาสะวิน” (Yodaya Yazawin) แปลตรงตัวว่า “พงศาวดารอยุธยา” โดยแต่เดิมเก็บรักษาไว้ในหอหลวง พระราชวังเมืองมัณฑะเลย์ ดังมีปรากฏมีเรื่องเล่าอยู่ในเอกสารชิ้นนี้ว่า

“ขุนแผน” (คนเดียวกันกับที่เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน) มีดาบวิเศษอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า “ดาบฟ้าฟื้น” ต่อมาเมื่อขุนแผนเฒ่าชราลง ก็นำดาบวิเศษเล่มนี้ไปถวายให้กับพระพันวษา ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับไว้แล้วประสิทธิ์ประสาทนามว่า “พระแสงปราบศัตรู” แล้วโปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวาคู่กับ “พระแสงขรรค์ชัยศรี”

แน่นอนว่า ขุนแผนไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง เช่นเดียวกับที่คงไม่สามารถระบุลงไปได้ว่า พระพันวษานั้นมีตัวตนจริงเป็นพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดหรือเปล่า? และยิ่งไม่ต้องไปตามหาว่าดาบฟ้าฟื้นอยู่ที่ไหน?

แต่นิทานที่เชลยศึกชาวกรุงเก่า เล่าให้การกับทัพของพวกอังวะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ และสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระแสงขรรค์ชัยศรี

โดยเฉพาะสัญลักษณ์แห่งวงศ์เขมร เพราะชื่อ “ฟ้าฟื้น” ของดาบที่ขุนแผนใช้นั้น เป็นชื่อผีบรรพชนวงศ์ของพวกคนพูดภาษาตระกูลไทย-ลาว ที่เมืองน่าน ดังปรากฏชื่อ “ปู่ฟ้าฟื้น” ในจารึกสุโขทัยหลักที่ 45 หรือที่เรียกกันว่า จารึกปู่สบถหลาน

นิทานเรื่องขุนแผนมอบ “ดาบฟ้าฟื้น” ให้ แล้วพระพันวษานำไปใช้ตามเสด็จคู่กับ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” อันที่จริงแล้ว ก็เป็นเรื่องเล่าเชิงสัญลักษณ์ของวงศ์ “เขมรปนลาว” ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถือพระขรรค์ชัยศรี ที่ปราสาทบันทายฉมาร์

ที่สำคัญก็คือ หลักฐานในฝั่งของเขมรเองก็ดูจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอะไรที่เรียกว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี” อยู่ด้วยนะครับ

หนึ่งในหลักฐานที่ว่าก็คือ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” ของจิวตากวน อันเป็นหนึ่งในคณะราชทูตจีนที่เดินทางเข้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนครธมเมื่อ พ.ศ.1839 ดังมีข้อความปรากฏอยู่ในบันทึกฉบับนี้ว่า

“พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ (เจ้าพ่อแห่งวงการจารึกเขมรรุ่นบุกเบิกอย่าง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ว่าคือ ศรีนทรวรมัน) เป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า (พระเจ้าชัยวรมันที่ 8) เดิมมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหาร พระเจ้าแผ่นดินองค์พ่อตาทรงมีพระสิเนหาในพระราชธิดา พระธิดาจึงได้ทรงลักเอา ‘พระขรรค์ทองคำ’ (เน้นคำโดยผู้เขียน) ไปให้พระสวามี เป็นเหตุให้พระโอรสาธิราชทรงสืบสันติวงศ์ต่อไปไม่ได้ จึงได้วางแผนใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ทรงทราบเข้า จึงโปรดให้ตัดนิ้วเท้าเสีย แล้วขังเอาไว้ในห้องมืด”

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “พระขรรค์ทองคำ” ในบันทึกของจิวตากวนนั้น ก็คือ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ในจารึกวัดศรีชุม เพราะทั้งช่วงเวลาและเรื่องราวสอดคล้องกัน (ถึงแม้ว่า วิธีการได้มาของพระขรรค์องค์นี้จะถูกเล่าต่างกันไปก็เถอะ) นั่นแหละ

ควรสังเกตด้วยว่า การที่พระแสงขรรค์ชัยศรีถูกลักพาตัวไปจากราชสำนักของนครธมนั้น ทำให้สืบสันตติวงศ์ต่อไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกับที่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่จำเป็นต้องมีในพิธีบรมราชาภิเษก

อันที่จริงแล้ว ในภาพสลักที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ในประเทศกัมพูชานั้น มีภาพสลักรูปกษัตริย์คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สถาปนานครธม กำลังมีพระบัญชากับบุคคลอีกคนหนึ่งที่น่าจะเป็นศรินทรกุมาร (คนละคนกันกับศรินทรวรมัน ที่ถูกลักเอาพระขรรค์ไป) โดยกำลังถือพระขรรค์อยู่

ผมเดาเอาว่า “พระขรรค์” ในรูปสลักก็คือ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” นั่นแหละครับ เพราะถ้าจะว่ากันจากข้อมูลในจารึกต่างๆ ทั้งที่พบที่ปราสาทแห่งนี้เอง หรือแห่งอื่นๆ ภาพสลักตอนนี้ควรจะเป็นฉากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีบัญชาให้ศรินทรกุมาร (ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นบุตรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือไม่?) ไปรบกับทัพของพวกจาม

ดังนั้น การสลักรูปเหตุการณ์ฉากดังกล่าว โดยที่รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถือพระขรรค์อยู่นั้น ก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ในนครธมเพิ่มขึ้นไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลในบันทึกของจิวตากวน

“พระแสงขรรค์ชัยศรี” จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจแห่งกษัตริย์วงศ์เขมร มาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยนครธม (เผลอๆ ก็เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เองนั่นแหละที่สร้างพระขรรค์องค์นี้ขึ้น เมื่อพิจารณาจากชื่อของพระขรรค์) ก่อนที่จะตกทอดมาถึงราชสำนักของกรุงศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ตามลำดับ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ