“ข้าวเหนียว” อาหารหลักเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ข้าว ที่เป็นพันธุ์ข้าวปลูกให้คนเราหุงกินเป็นอาหารเก่าเเก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุราว ๕,๕๐๐ ปีมาแล้ว นักโบราณคดีไทยและเทศ ขุดพบเมล็ดข้าวเก่าแก่นี้ที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำหนดอายุด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ราว ๓,๕๐๐-๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช

เเต่อายุข้าวต้องเเก่กว่านั้นอีกหลายพันปีถ้าคิดถึงวิวัฒนาการจากข้าวป่าขึ้นทั่วไปในธรรมชาติ แล้วคนยังไม่รู้จักว่ากินได้ จนเกิดวิกฤตบางอย่างขึ้นมาคนเราถึงรู้ว่ากินได้ เเล้วเอามาปลูกกินเป็นอาหารจนกลายเป็นข้าวปลูกเเล้วสืบพันธุ์ข้าวต่อเนื่องมา ต่อจากนั้นพบที่บ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น จนถึงบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และบ้านโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี

ฉะนั้น หนังสือบางเล่มอาจใช้อายุข้าวที่พบในประเทศไทยเก่าแก่ถึง ๗,๐๐๐ หรือ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้วก็ได้

แกลบหรือเปลือกข้าวอายุ ๕,๕๐๐ ปีมาแล้ว จากถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประเภทข้าวไร่ที่เจริญงอกงามบนที่สูง มีทั้ง ข้าวเหนียว เมล็ดใหญ่ (Large Type) จัดเป็นพวกชวานิคา (Javanica) และ ข้าวเจ้า เมล็ดเรียว (Slender Type) จัดเป็นพวกอินดิคา (Indica)

คำว่า ข้าวเจ้า เดิมเขียนว่า ข้าวจ้าว เพราะคำว่าจ้าวเป็นคำพื้นเมืองดั้งเดิม แปลว่า แห้ง หมาด ไม่มีน้ำ เรียกข้าวที่หุงให้เป็นข้าวสวยโดยไม่แฉะว่า ข้าวจ้าว

ส่วน ข้าวเหนียว เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ข้าวนึ่ง เพราะเป็นข้าวที่หุงให้เป็นข้าวสวยด้วยการนึ่ง เมื่อสุกเป็นข้าวสวยแล้วจะมียางเหนียวติดกัน

คำว่า ข้าว เดิมที่เขียนว่า เข้า แปลว่า ปี (หรือ ๑๒ เดือน) เพราะเหตุที่พืชพันธุ์อย่างนี้ เพาะปลูกด้วยน้ำฝนตามธรรมชาติได้ปีละครั้งเดียวในฤดูฝนเท่านั้น จึงเรียก เข้า ต่อมาสะกดเพี้ยนเป็น ข้าว จนทุกวันนี้

พันธุ์ข้าว ยุคแรกๆ มาจากป่า มีขึ้นทั่วไป แต่เมล็ดมีลักษณะอ้วน ป้อม จัดอยู่ในตระกูลข้าวเหนียว ถือเป็นต้นตระกูลแห่งข้าวเหนียวของภูมิภาคนี้ และอาจเกี่ยวข้องกับตระกูลข้าวญี่ปุ่นด้วย

ยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ คนทุกเผ่าพันธุ์กินข้าวป่ามาก่อน ซึ่งเป็นตระกูล ข้าวเหนียว พบเเกลบข้าวเหนียวอยู่ในเเผ่นอิฐตามศาสนสถานยุคทวารวดีทั่วทั้งประเทศไทย รวมทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สุโขทัย นครปฐม ลงไปถึงนครศรีธรรมราช แสดงว่าคนกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ตั้งแต่เหนือจรดใต้

นักโบราณคดีกรมศิลปากรขุดพบเมล็ดข้าวเหนียวที่หุงหรือนึ่งเเล้วตกอยู่ในดินบริเวณศาลาโถงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยด้วย เเสดงว่าคนทั่วไปเเละพระสงฆ์ยุคนั้นกินเเละฉันข้าวเหนียวในชีวิตประจำวันเป็นอาหารหลัก

ราว พ.ศ.๑๕๐๐ มีพันธุ์ข้าวเมล็ดเรียวยาวจากอินเดียในตระกูลอินดิคา (Indica) แพร่เข้ามาพร้อมกับพระสงฆ์ พราหมณ์ และพ่อค้าจากชมพูทวีป แล้วเป็นที่นิยมก่อนในกลุ่มชนชั้นสูงของรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียก ข้าวเจ้า หมายถึงข้าวที่เจ้าเสวย หลังจากนั้นพันธุ์ข้าวชนิดนี้จึงแพร่กระจายทั่วไป ในชุมชนหมู่บ้านบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สืบมาจนถึง ข้าวหอมมะลิ ยุคปัจจุบัน

ชุมชนหมู่บ้านเก่าที่สุดในประเทศไทย พบที่ภาคอีสานมีอายุราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ชุมชนที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ คนในชุมชนปลูกข้าวอยู่ริมหนองน้ำธรรมชาติ นับเป็นชาวนาชาวไร่ยุคเริ่มแรก พบเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างทำด้วยสัมฤทธิ์และเหล็ก ใช้ทำนาทำไร่และล่าสัตว์ รวมทั้งทำเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี มีแกลบหรือเปลือกข้าวเป็นส่วนผสม และรู้จักทอผ้าด้วย

การปลูกข้าวสมัยแรกๆ มี ๒ อย่าง เรียก นาลุ่ม กับ นาดอน

นาลุ่ม เป็นนาน้ำฝน ยังไม่ไถนา ทำนาด้วยวิธีหว่านพันธุ์ข้าวลงบริเวณน้ำท่วมถึง ภายหลังจึงรู้จักทดน้ำไว้หล่อเลี้ยง ทั้งหมดนี้มีชื่อเรียกอยู่ในจารึกว่า นาทางฟ้า คืออาศัยน้ำฝน

นาดอน ใช้ไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมแทงดินเป็นรู หยอดพันธุ์ข้าวลงไปแล้วเอาดินกลบ รอน้ำค้างและน้ำฝนโปรยลงมาจนข้าวเติบโต บางทีเรียก นาน้ำค้าง

คนยุคแรกราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว แบ่งกว้างๆ เป็น ๒ พวก คือ พวกที่สูงกับพวกที่ราบ มีวิธีทำนา ๒ อย่าง คือ เฮ็ดไฮ่กับเฮ็ดนา

 

พวกที่สูง “เฮ็ดไฮ่”

พวกนี้อาศัยอยู่บริเวณป่าเขาลำเนาไพร มีแหล่งเพาะปลูกน้อย มีแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ เพาะปลูกด้วยระบบที่เรียกว่า “เฮ็ดไฮ่” (ทำไร่) หรือแบบล้าหลัง คือเอาไฟเผาป่าให้ราบลงเป็นแปลงเท่าที่ต้องการ ไม่ต้องพรวน ไม่ต้องไถ อย่างดีก็เอาจอบช่วยเกลี่ยหน้าดินนิดหน่อย แล้วเอาไม้ปลายแหลมแทงดินให้เป็นรู เอาเมล็ดพันธุ์พืชหยอดลงทีละรูๆ แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม แล้วแต่ดิน ฝน และแดด

พันธุ์พืชหรือพันธุ์ข้าวชนิดที่ปลูกก็เป็นพันธุ์ป่าที่ไม่ต้องขวนขวายทดน้ำมาหล่อเลี้ยง พอพืชโตได้ที่มีดอกออกผลก็เก็บเกี่ยว แล้วก็ทิ้งที่ดินแปลงนั้นให้หญ้าและต้นไม้ขึ้นไปตามเรื่อง ใช้ได้ครั้งเดียว ปีรุ่งขึ้นก็ขยับไปเผาป่าในที่ถัดออกไปใหม่ ขยับเวียนไปรอบทิศตามสะดวก ไม่มีใครหวงห้ามหรือจับจอง บางที ๒-๓ ปีผ่านไปหันกลับมาเผาที่ตรงแปลงเดิมใหม่ แต่ถ้าหากดินจืดใช้ไม่ได้ผล ก็ย้ายหมู่บ้านกันเสียที ไปเลือกทำเลใหม่ หอบไปแต่สิ่งของสำคัญๆ ไม่มีสมบัติ

การเพาะปลูกแบบนี้ผลิตอาหารได้น้อย เพราะมีพื้นที่น้อย และทำได้ไม่สม่ำเสมอ ฉะนั้น นอกจากมีอาหารเลี้ยงคนได้น้อยแล้ว ยังเป็นเหตุให้ชุมชนต้องเคลื่อนย้ายไปตามเเหล่งเพาะปลูกแห่งใหม่อยู่เสมอๆ พวกนี้มีลักษณะเป็นสังคมแบบชนเผ่าที่อยู่ด้วยกันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งหลักแหล่งถาวรไม่ได้ ขยายต่อไปเป็นเมืองก็ไม่ได้

 

พวกที่ราบ “เฮ็ดนา”

พวกนี้อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มหุบเขา ที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีลำคลองหนองบึง เเละที่ราบด้านชายฝั่งทะเลซึ่งเหมาะเเก่การเพาะปลูกกว้างขวางกว่าเขตที่สูง

ข้าวที่ใช้เพาะปลูกเริ่มแรกเป็นพันธุ์ “ข้าวป่า” ที่เกิดในป่าและตามหนองบึงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ต่อมามนุษย์นำข้าวเหล่านี้ไปปลูก โดยหว่านลงบนที่ราบน้ำท่วมถึง แล้วปล่อยให้ข้าวที่หว่านไว้นี้เติบโตขึ้นเองจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว ไม่มีการปรับปรุงเทคนิควิธีการเพาะปลูก โดยเฉพาะการทดน้ำและระบายน้ำอย่างใหญ่โต เรียกการปลูกข้าวแบบนี้ว่า นาน้ำท่วม หรือฟลัดไรซ์ (Flood rice)

การปลูกข้าวเเบบนี้เป็นวิธีการง่ายๆ ที่กระทำบนที่ลุ่มบริเวณใกล้ชุมชนชั่วคราว เป็นเหตุให้เกิดเป็นชุมชนหมู่บ้านอย่างถาวรนั้น เพราะไม่ต้องการเคลื่อนย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้ชุมชนหมู่บ้านขยายตัวใหญ่โตจนมีลักษณะซับซ้อนขึ้น

บริเวณนี้มีน้ำท่วมถึง หรือการชักน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกได้ ทำให้โคลนหรือตะกอนจากที่อื่นๆ เข้ามาทับถมกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ที่ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์เสมอๆ ทุกๆ ปี จนไม่ต้องโยกย้ายไปหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ เเละสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยพอเลี้ยงคนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งมีส่วนกันพอที่จะนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่นๆ ด้วย ทำให้ท้องถิ่นนั้นมีผู้คนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุดก็แบ่งงานกันทำกิจกรรมเฉพาะ รวมทั้งมีโอกาสร่วมมือกันในกิจการงานต่างๆ เช่น ทดน้ำหรือระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูก ติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่น และขยายชุมชนไปทั้งบริเวณใกล้เคียงรวมทั้งชุมชนบนที่สูงด้วย เป็นเหตุให้พวกที่สูงบางกลุ่มทยอยเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ที่ราบ แล้วผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกลายเป็นพวกที่ราบ คงมีร่องรอยอยู่ในนิทานปรัมปราหลายเรื่อง เช่น ท้าวฮุ่ง เรื่องปู่จ้าวลาวจก เป็นต้น

ฉะนั้น เขตนี้มักมีพัฒนาการจากหมู่บ้านเป็น “เมือง” แล้วก้าวหน้าเป็น “รัฐ” และ “อาณาจักร” ได้ เช่น รัฐต่างๆ ในยุคทวารวดีจนถึงราชอาณาจักรสยามที่กรุงศรีอยุธยา ฯลฯ แต่ก็มิได้หมายความว่า ทุกหนทุกแห่งในที่เขตที่ราบจะมีโอกาสก้าวหน้าได้เหมือนกันหมด เพราะยังมีข้อแตกต่างอื่นๆ ที่อาจเป็นทั้งสิ่งเอื้ออำนวยและข้อจำกัดอีก

วิถีทำนาดังกล่าว ทำได้ปีละครั้งเดียวเท่านั้น เพราะผูกพันสัมพันธ์อยู่กับน้ำฝนที่มีตามธรรมชาติหรือตามฤดูกาลปีละครั้งเดียว เลยเรียกสิ่งนี้ว่า เข้า แปลว่า ปี ภายหลังได้กลายเป็น ข้าว