‘จ้วง’ เครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภาพเขียนสมัยใหม่ที่ช่างเขียนสร้างจินตนาการพิธีกรรมตีมโหระทึกยุคดึกดาบรรพ์ (จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2547)

ชาวสยามสื่อสารพูดจากันด้วยภาษาไทยในตระกูลลาว-ไทย(แต่นักวิชาการจีนเรียกตระกูลจ้วง-ต้ง) แล้วยังใช้สื่อสารสืบเนื่องยาวนานถึงสมัยหลังๆ ดังมีหลักฐานบอกไว้ชัดเจนว่าสยามภาษาก็คือภาษาไทยนั่นเอง มีใน”พระธรรมสาตร” (พระธรรมศาสตร์ในกฎหมายตราสามดวง) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเมื่อได้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ภาษามคธ (บาลี) จากเมืองมอญ (รามัญ) จึงให้แปลถ่ายทอดเป็น สยามภาษา คือภาษาไทย

ภาษาไทยในตระกูลลาว-ไทยหรือจ้วง-ต้ง มีอาณาบริเวณสำคัญอยู่ทางตอนใต้ของจีน ตั้งแต่ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง ฯลฯ มีความใกล้ชิดกับพวกฮั่น(คือจีน)ที่มีการค้ากว้างขวาง ทำให้ภาษาไทยที่สื่อสารง่ายและเคลื่อนไหวเร็ว เลยกลายเป็น”ภาษาการค้า” คนในตระกูลอื่นต้องใช้ภาษาไทยเป็น”ภาษากลาง” ในการสื่อสาร ในที่สุดคนจากที่อื่นก็เหมาว่าสยามเป็นพวกไทย-ลาว หรือภาษาสยาม หรือสยามภาษา เท่านั้น แต่ในความจริงมีตระกูลอื่นจำนวนมากปะปนอยู่ด้วยกันเป็นชาวสยาม เมื่อนานเข้าตระกูลภาษานั้นก็เข้ามาผสมกลมกลืนเป็นภาษาสยามในการสื่อสารด้วย

ภาษาไทยเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

มีคนตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์โบราณ เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย แต่คนพวกนี้พูดภาษาอะไรบ้าง? ยังไม่พบหลักฐานอธิบายได้ตรงๆ มีแต่เอกสารจีนบางชุดเรียกคนพวกนี้อย่างรวมๆ ว่า “เยะ” หรือ “เย่ว์” มีมากนับร้อยกลุ่มชาติพันธุ์และพูดภาษาเยะหรือเย่ว์ สื่อสารเข้าใจกัน

เยะหรือเย่ว์ ล้วนเป็นบรรพชนของคนพูดภาษาตระกูลต่างๆ เช่น ตระกูลมอญ-เขมร ตระกูลม้ง-เย้า ฯลฯ รวมทั้งตระกูลไทย-ลาว หรือลาว-ไทย ซึ่งล้วนเป็นชื่อสมมุติขึ้นภายหลังทั้งนั้น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยังไม่มีชื่อเรียกตระกูลภาษาพูดเหล่านี้ แต่เป็นไปได้มากกว่าเป็น”ภาษาร่วม” ที่คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ใช้สื่อสารกันรู้เรื่องตามต้องการของสังคมครั้งนั้นที่มีคำพูดจำกัดมาก

แต่ในความจำกัดและคลุมเครือนั้น มีหลักฐานทางโบราณคดีและอื่นๆ ยืนยันสอดคล้องกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ในมณฑลกวางสีและกวางตุ้งของจีนตอนใต้(จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่) พูดภาษาตระกูลไทย-ลาว หรือลาว-ไทย แต่สมมุติเรียกให้กระชับและเข้าใจอย่างง่ายๆในที่นี่เล่มนี้ว่า ภาษาไทยสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

ปัจจุบันยังมีบางกลุ่มใช้พูดจาสื่อสารกันเองในชุมชนหมู่บ้านและในครอบครัวที่อยู่ห่างไกลจากเมือง แม้คนในเมืองที่ไม่พูดภาษาไทยแล้ว แต่ยังมีความทรงจำบอกเล่าว่าบรรพชนของตนพูดภาษา”จ้วง” อันเป็นตระกูลเดียวกับภาษาไทย แต่ไม่ใช่คนไทย คนพวกนี้มีชื่อรวมๆว่าจ้วง มีมากในมณฑลกวางสี แล้วเรียกภาษาพูดของตนว่าภาษาจ้วง ที่จับสำเนียงได้ว่าใกล้เคียงตระกูลภาษาไทยสำเนียงลาวสองฝั่งโขงและสำเนียงปักษ์ใต้ เช่น นครศรีธรรมราช

จ้วง
เป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด

“จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด” เป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนอธิบายรายละเอียดไว้ในหนังสือชื่อคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗) จะขอสรุปคัดมาลงไว้ ดังต่อไปนี้

ที่ว่า “จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย”-ก็เพราะภาษาจ้วงกับภาษาไทยอยู่ในตระกูลเดียวกัน ฉันทลักษณ์ในบทร้อยกรองของจ้วงกับของไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีพื้นฐานจากคำคล้องจองเช่นเดียวกัน

นิทานปรัมปราและนิยายศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอด”ปากต่อปาก” ด้วยภาษาจ้วงหรือภาษาตระกูลไทย เช่นเรื่องกำเนิดคน เรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสัมพันธ์กับน้ำฝน เช่น กบ ฯลฯ ล้วนคล้ายคลึงกับนิทานและนิยายของชนชาติไทยทุกกลุ่มทุกเหล่า รวมทั้งคนไทยในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ชาวจ้วงย่อมพูดว่า-“ไทยเป็นเครือญาติตระกูลจ้วง”-ด้วยก็ได้

ที่ว่า -“ผู้ยิ่งใหญ่”- ก็เพราะในมณฑลกวางสีมีชาวจ้วงถึง ๑๒-๑๓ ล้านคน และอยู่เขตมณฑลอื่นๆอีกเกือบ ๑ ล้านคน นับเป็นเครือญาติตระกูลไทยมีจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกดินแดนประเทศไทยซึ่งนับว่าใหญ่มาก นอกจากนั้นชาวจ้วงยังมีส่วนเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึกที่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย นี่แหละ “ผู้ยิ่งใหญ่”

ที่ว่า-“เก่าแก่ที่สุด”-ก็เพราะมีร่องรอยและหลักฐานว่าจ้วงมีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยดูจากภาพเขียนที่ผาลายกับมโหระทึกและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ “ผี”

ภาพเขียนมหึมาบนภูผามหัศจรรย์-หรือผาลาย เป็นภาพพิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีภาพมโหระทึกและกลุ่มคนประโคมตีมโหระทึก มีภาพคนประดับขนนกบนหัวแล้วทำท่ากางขากางแขนคล้ายกบ

มโหระทึกเป็นกลองหรือฆ้องทำด้วยสัมฤทธิ์ที่มีตัวตนเป็นวัตถุจริงๆ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ และมีพัฒนาการเกือบ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว อาจนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ก่อนรับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย

เฉพาะบริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวจ้วงในมณฑลกวางสี พบมโหระทึกฝังอยู่ใต้ดินไม่น้อยกว่า ๖๐๐ ใบ และชาวจ้วงทุกวันนี้ยังมีมโหระทึกประจำตระกูลกับประจำหมู่บ้านใช้งานในพิธีกรรมที่ทำสืบเนื่องมาแต่ดึกดำบรรพ์อีกรวมนับพันๆ ใบ แสดงว่าชาวจ้วงให้ความสำคัญต่อมโหระทึกมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่าจ้วงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึก (แม้ชนชาติอื่นจะมีมโหระทึกด้วย แต่รวมแล้วไม่มากเท่าจ้วง)

ทุกวันนี้ชาวจ้วงยังใช้มโหระทึกประโคมตีในพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรม”ขอฝน”เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังพิธีบูชากบประจำปีตามหมู่บ้านต่างๆ มีขบวนมโหระทึกแห่กบ มีการละเล่นแต่งตัวเป็นกบช่วยเหลือมนุษย์ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องกับภาพเขียนที่ผาลาย แสดงว่าชาวจ้วงยังสืบทอดประเพณีและพีธีกรรมตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

พิธีกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นระบบความเชื่อ”ผี” ที่มีอยู่ในนิทานและตำนาน ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับลมมรสุมอันเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และทางวัฒนธรรมที่มีความเจริญมาช้านาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงว่าชาวจ้วงตั้งหลักแหล่งเป็นปึกแผ่นมั่นคงอยู่บริเวณมณฑลกวางสีและเขตใกล้เคียงอย่างสืบเนื่องมาแต่ดั้งเดิมเริ่มแรก ยิ่งการที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นถึง ๑๒-๑๓ ล้านคน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้มาช้านานมากทีเดียว

นี่แหละ “จ้วง-เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด”

แต่-จ้วงไม่ใช่คนไทย เพราะไม่ได้เป็นประชากรของประเทศไทย และไม่ได้อยู่ในดินแดนประเทศไทย ทุกวันนี้ชาวจ้วงเป็นคนจีน เพราะเป็นประชากรจีน และอยู่ในดินแดนประเทศจีน รวมทั้งมีวิถีชีวิตที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องที่อยู่อาศัย และขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่าง

แม้จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองจ้วงกวางสี แต่อาจมีชาวจ้วงบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยสมัยโบราณก็ได้ ส่วนชาวจ้วงเกือบทั้งหมดก็อยู่ที่เมืองจ้วงนั่นแหละ ถ้าไม่มีหลักฐานของชนชาติจ้วง ก็อธิบายไม่ได้ว่า คนไทยมาจากไหน? และ/หรือภาษาไทยมาจากไหน? ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้ว่า

“จ้วง เป็นกลุ่มชนชาติไทยที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ อย่างสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอย่างน้อยก็ราว ๒,๓๐๐-๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้น วัฒนธรรมของชาวจ้วงก็คือวัฒนธรรมไทยที่มีความเก่าแก่ เป็นอารยธรรมเริ่มแรกของภูมิภาคนี้ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลอารยธรรมจีนและอินเดีย”

“แสดงว่าคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย พูดภาษาไทย มีระบบความเชื่อและประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับชาวจ้วง ไม่ได้เพิ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและมีวัฒนธรรมของตนเองเพียงสมัยสุโขทัยราว ๗๐๐-๘๐๐ ปี อย่างที่ใครต่อใครคิดกันไปเองเท่านั้น”

“ถ้าไม่มีชาวจ้วงที่เป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด เป็นผู้สืบทอดอารยธรรมต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วเอาไว้ คนไทยก็คงไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าตนเองก็มีพื้นเพรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์”