
ขอบคุณข้อมูลจาก | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
เผยแพร่ |
ถ้าเปรียบชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตของแฝดสยาม อิน-จัน คู่นี้คือนักเดินทางผู้เกรียงไกร กล้าหาญ และเป็นมนุษย์มหัศจรรย์จอมทระนงที่ไม่ยอมก้มหัวต่ออุปสรรคทั้งปวง
ร่างกายประหลาดของเด็กชาย 2 คนที่เกิดมามีหน้าอกติดกัน คลอดมาจากท้องนางนากที่ประดุจโดนคำสาป กลับกลายเป็นคนที่มีพรสวรรค์ พ่อค้าชาวอังกฤษและกัปตันเรือชาวอเมริกันที่เข้ามาทำมาค้าขายในสมัยในหลวง ร.3 มองเห็นเป็น “มนุษย์ทองคำ” จนต้องขอเช่าตัวเด็กแฝดจากแม่เพื่อนำไปแสดงตัวอวดโฉม ตระเวนหาเงินในอเมริกาและยุโรป ทั้งๆ ที่ชาวสยามทั้งมวลไม่เคยทราบว่าอเมริกาคืออะไร อยู่ที่ไหน จะไปหากินกันยังไง ภาษาอังกฤษก็สื่อสารกันแสนลำบาก
การตัดสินใจพาตัวเองลงเรือสินค้าไปกับฝรั่งตอนอายุ 18 ปี ข้ามมหาสมุทร 138 วัน จากบางกอกไปถึงบอสตัน อเมริกา เป็นความกล้าหาญชาญชัยยิ่งนัก แฝดอิน-จันมีใจประดุจเหล็กเพชร มีการครองตนอย่างชาญฉลาด การรู้จักเก็บหอมรอมริบ ในที่สุดชาวสยามคู่นี้สามารถประกอบธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ในอเมริกา
อิน-จัน อดทนต่อความยากลำบากทั้งปวง ปรับตัวปรับใจให้สอดคล้องกับสังคมอเมริกันที่รังเกียจคนผิวสี กีดกันคนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ แต่อิน-จัน มิได้ยำเกรง คนคู่ฝ่าฟันทะลุทะลวงอุปสรรคทั้งปวง โอนสัญชาติเป็นประชาชนอเมริกัน ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ที่เขตปกครองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ซื้อทาสนิโกรผิวดำมาทำงาน สร้างตำนานรักบันลือโลกที่คนแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) แต่งงานกับสองสาวพี่น้องชาวอเมริกันผิวขาว ที่เมืองเมาท์แอรี่ มีลูกโขยงใหญ่ 2 ท้อง 21 คน
ผู้คนพลเมืองฝรั่งต่างตะเกียกตะกายสืบเสาะว่า กินอยู่หลับนอนกับภรรยากันด้วยท่วงทีลีลาเช่นไร ทำไมจึงลูกดกปานฉะนี้?
แฝดอิน-จัน คือคนที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าทั้งสองเป็นชาวสยามคู่แรกที่โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เป็นชาวสยามคู่แรกที่เป็นเจ้าของที่ดินในสหปาลีรัฐอเมริกา (ชื่อในสมัยนั้น) เป็นชาวสยามคู่แรกที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับสาวมะริกัน แฝดสยามมีลูกชายเป็นทหารม้าของกองทัพฝ่ายใต้เข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองอเมริกา แฝดเคยได้รับเชิญให้ไปพบประธานาธิบดีสหรัฐ 2 ท่าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองในทางการเมืองและสังคมของอเมริกาที่แบ่งแยกสีผิว
อิน-จัน เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นนักกีฬา เล่นหมากกระดานเก่งมาก มีทักษะในงานช่าง ล่าสัตว์ ใช้อาวุธได้ทุกชนิด มีอารมณ์ขันหยอกล้อฝรั่งมังค่าทั้งหลายได้สารพัด ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาก่อน
แทนที่จะอับอายในร่างกายที่พิกลพิการ จนฝรั่งทั้งหลายแอบนินทาว่าเป็น Monster (สัตว์ประหลาด-ปีศาจ) แต่แฝดคู่นี้กลับกล้ายืดอกเผชิญกับทุกสายตา ท้าทายทุกคนที่เดินเข้ามาหา เงินทองไหลมาเทมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ร้อนหนาวแค่ไหนไปแสดงตัวได้ทุกที่
ตำนานฝรั่งบันทึกว่า แฝดอิน-จัน มีความคิดเฉกเช่นพ่อค้าเร่ ชอบซื้อมาขายไป เดินทางไปเปิดการแสดงแทบทุกเมือง เหนือจดใต้ในแผ่นดินอเมริกาเมื่อราว 180 ปีที่แล้ว คุ้นเคยกับดิน น้ำ ลม ไฟ สัมผัสผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ในอเมริกายากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน แม้ชาวมะริกันเจ้าถิ่นยังไม่เคยมีประสบการณ์เยี่ยงนี้
เพื่อนอเมริกันที่สนิทสนมยังเขียนบันทึกชื่นชมการใช้ชีวิตแบบหนักเอาเบาสู้ไม่เคยท้อถอย ประการสำคัญคือ ความมีวิสัยทัศน์ของแฝดที่เลือกมาตั้งรกรากในชนบทของรัฐทางตอนใต้ เพื่อหลบกระแสการต่อต้าน กีดกันชาวจีนที่ทะลักเข้ามาตั้งรกรากในอเมริกา ชาวจีนชอบทำงานเป็นกุลีตามเมืองท่าใหญ่ๆ ในอเมริกาโดยเฉพาะนิวยอร์ก คนผิวขาวเจ้าถิ่นพากันหวาดระแวง
อิน-จัน เติบโตมาจากชนบทเมืองแม่กลอง เรื่องทำไร่เลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ชีวิตเขาแข็งแกร่ง เมื่อมาเป็นเกษตรกรในอเมริกา จึงเป็นเรื่องเล็ก ซึ่งทำเอาเพื่อนฝรั่งแปลกใจไม่น้อย แถมยังเป็นผู้นำชุมชน สร้างโรงเรียน บริจาคที่ดินสร้างโบสถ์ให้กับท้องถิ่น
แฝดคู่นี้เคยได้รับเชิญให้ไปเฝ้าควีนวิกตอเรียที่ทรงอานุภาพของอังกฤษในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม เคยได้รับเชิญจากไกเซอร์ของเยอรมัน และพบปะกับซาร์ของรัสเซียในมอสโคว์
ชีวิตหันเหจากเด็กเลี้ยงเป็ดที่ปากน้ำแม่กลอง กล้าตัดสินใจลงเรือออกมหาสมุทรเสี่ยงตาย แต่ไม่ตายแถมโด่งดัง
อิน-จันเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า “Siamese Twins” ให้โลกรู้จักมาจนถึงปัจจุบัน
ทรรศนะของฝรั่งในหนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph A. Orser บรรยายไว้ว่า แฝดร่างกายประหลาดคู่นี้มีจุดขายคือความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ ความเป็นคนต่างเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาในอเมริกา การใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นเรื่องลึกลับ ท่วงทีลีลาการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ชีวิตร่วมกัน อวัยวะภายในร่างกายที่เป็นปริศนาสำหรับแพทย์ หนังสือพิมพ์ในอเมริกาและยุโรปเกาะติดชีวิตความเคลื่อนไหวขายข่าวได้ตลอดเวลาที่แฝดขยับตัว ซึ่งปัจจัยต่างๆ ล้วนเป็นคุณูปการแก่ชีวิตของแฝดทั้งสิ้น
ประเด็นที่เป็นสีสัน ซ่อนเร้นกินใจฝรั่งผิวขาวตาน้ำข้าวที่แอบตั้งข้องสังเกตคือบรรดาลูกๆ ของแฝดที่ออกมาเค้าจะมีหน้าตา ผิวพรรณ สีของนัยน์ตา สีผม สีคิ้ว ความคมเข้มของใบหน้าแบบไหน
แปลความได้ว่าฝรั่งผิวขาวทั้งหลายตื่นเต้นกับการสมรสข้ามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ คนอเมริกันผิวขาวเกือบทั้งหมดอพยพมาจากยุโรป เป็นพวกคอเคซอยด์ (ฝรั่งผิวขาว) ด้วยกัน เมื่อแฝดสยามเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ (ชาวเอเชียตะวันออก) เข้าไปเป็น “ต้นแบบ-พ่อพิมพ์” แต่งงาน มีลูกผสมออกมาให้เห็น ซึ่งผลที่ออกมาทำให้คนขาวทั้งหลายยอมรับว่า “ลูกครึ่งเหล่านี้รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณดี ฉลาดเฉลียว แข็งแรง” แต่ก็ยังถูกกีดกันจากสังคมว่าไม่ใช่คนผิวขาว ถึงขนาดต้องกรอกในทะเบียนราษฎร์ว่าเป็น “คนผิวสี (Colored)” ซึ่งสังคมคนผิวขาวในอเมริกาในครั้งกระโน้นก็ยังโลกแคบ ไม่ทราบว่ามนุษย์ในโลกนี้เค้าไม่ได้มีเฉพาะคนตัวขาว จึงเรียกลูกๆ ของแฝดอิน-จันว่าเป็นเผ่าพันธุ์พวกมองโกเลียนหรือพวกมาลายัน (Mongolian หรือ Malayan)
เพื่อเป็นการยืนยันแบบข้อมูลเชิงประจักษ์ เรื่องหน้าตา หล่อ-สวย-ขี้ริ้ว-ขี้เหล่ ของลูกอิน-จัน
ในปี พ.ศ.2495 ผู้สื่อข่าวจากนิตยสาร LIFE ซึ่งพิมพ์จำหน่ายไปทั่วโลกได้เดินทางไปที่บ้านของแฝดอินที่เมาท์แอรี่ เพื่อติดตามถามไถ่ ขอดูหน้าตาทายาทรุ่นหลานของแฝด ซึ่งพบว่าทายาทรุ่นหลานของแฝดที่เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ ทุกคนล้วนหน้าตาดี ผิวเข้ม ร่างกายกำยำ ผมดำ เรียกได้ว่าหล่อและสวยกันทุกคน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนขาวขี้อิจฉาต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ เรื่องการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ (Interracial marriage)
ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ลูกครึ่ง ลูกผสมไทย-ฝรั่ง จำนวนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาดี ได้เป็นดาราหนัง นางเอก พระเอกละครในสังคมไทยจนทำให้คนไทยหลายคนต้องไปทำศัลยกรรมใบหน้า ทำตา ทำจมูก อมเหล็กเส้นเต็มปาก เพื่อหลบหนี “หน้าตาดั้งเดิม” และเพื่อให้ดูดีมีอนาคตกะเค้าบ้าง
ในช่วงปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หลาน เหลนของแฝดอิน-จัน ชื่อ Dottie และ Alex คือทายาทกลุ่มแรกที่กล้าประกาศความเป็นผู้สืบสายเลือดของ Siamese Twins อย่างเปิดเผย และพยายามรวบรวมทายาทที่กระจัดกระจายแยกย้ายกันอยู่ในอเมริกา
Alex เป็นทายาทรุ่นหลานของแฝดสยาม เธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ต่อมาในปี พ.ศ.2553 เธอกล้าประกาศต่อสาธารณชนทั้งหลายว่าบรรพบุรุษของเธอคืออิน-จัน
ในเวลาเดียวกัน ลูกหลานของแฝดสยามหลายคนพยายามปกปิดเรื่องบรรพบุรุษของตนที่มีรูปร่างผิดธรรมชาติ เป็นคนผิวสี ทายาทบางคนละอายที่ถูกล้อเลียนซักถาม บางคนขอไปตั้งหลักใช้ชีวิตในฝั่งตะวันตกของอเมริกาที่มีชาวเอเชียอพยพเข้ามาอยู่ เพื่อให้ดูกลมกลืน
เรื่องนี้ต้องขอเรียนกับท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ในยุคสมัยนั้นในอเมริกากระแสการเหยียดผิวเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย การไม่ได้เกิดเป็นคนผิวขาวแล้วทะเล้นไปเดินอยู่ในอเมริกาเป็นเรื่อง “ลำบากยากแค้น แสนสาหัส”
การเลือกปฏิบัติที่เอาจริง เอาจังที่สุดคือ การกีดกัน จำกัดขอบเขตชาวจีนที่กำลังทะลักเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา ซึ่งอิน-จัน ถูกนับรวมแบบเหมาเข่งว่ามีเชื้อจีนเช่นกัน
กลับมาที่เรื่องศพของแฝดครับ
หมอแพนโคสต์ (William H. Pancoast M.D.) หัวหน้าทีมแพทย์ที่ผ่าศพแฝดสยามเพื่อการพิสูจน์อวัยวะภายในของแฝด กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืน คุณหมอเขียนรายงานผลการผ่าศพพิสูจน์ที่ผู้คนทั้งหลายอยากรู้ อยากเห็น ลงในวารสารทางการแพทย์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และส่งผลให้คุณหมอขยับสถานะขึ้นเป็นศาสตราจารย์ ในวิทยาลัยแพทย์ในเวลาต่อมา
เกร็ดประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งยังจารึกด้วยว่าลูกชาย 2 คนของแฝดอิน-จัน คือ คริสโตเฟอร์ เร็น (Christopher Wren) และสตีเฟน เดคาเตอร์ (Stephen Decatur) ตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ขอนำศพของแฝดสยามกลับมาฝังที่เมาท์แอรี่ แทนที่จะบริจาคศพดองในน้ำยาเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้สาธารณชนมาเที่ยวชม เพราะสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นว่า อิน-จัน เป็นคนจีนที่คนผิวขาวไม่ยินดีต้อนรับ
คริสโตเฟอร์กังวลเรื่องนี้มาก ถึงกับกล่าวว่า “แต่นี้ต่อไปจะไม่มีใครได้เห็นแฝดสยามอีกเลย”
ส่วนศพของซาร่าห์ (ภรรยาของอิน) ที่แยกออกมาจากสุสานที่หลังโบสถ์ไวท์เพลนนั้น รุ่นหลานรุ่นเหลนให้ข้อมูลต่อมาว่า เธอได้ร้องขอไว้ก่อนเสียชีวิตในวัย 70 ปีว่า ให้ฝังร่างของเธอไว้ใกล้ๆ กับลูกของเธอที่เสียชีวิตก่อนเธอตรงนั้น
ส่วนอาดีเลด ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของแฝดจัน เธอเสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 94 ปี ถูกฝังไว้ใกล้กับหลุมศพของแฝดอิน-จัน