‘พ่อปกครองลูก’ การเมืองแบบเผด็จการ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

“พ่อปกครองลูก” เป็น “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ”

ถ้าพูดให้กระชับจะได้ความว่า “พ่อปกครองลูก” เป็น “การเมืองแบบเผด็จการ” ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ

ประวัติศาสตร์สุโขทัย ตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างสรุปสั้นที่สุด ดังนี้

(1.) เมืองสุโขทัย-มีจริง

(2.) แต่สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย-ไม่จริง

(3.) กษัตริย์องค์แรกคือ “พ่อขุนศรีนาวนำถุม”

(4.) “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เป็นกษัตริย์สืบต่อมาในวงศ์พระร่วง

(5.) สุโขทัยเป็นรัฐขนาดเล็ก (ไม่อาณาจักร) อยู่ภาคกลางตอนบน (มีดินแดนทางใต้สุดที่นครสวรรค์)

(6.) การเมืองการการปกครองของรัฐสุโขทัยมีลักษณะรวบอำนาจรวมศูนย์ที่กษัตริย์ผู้เป็นสมมุติเทพตามคติลัทธิเทวราช ซึ่งรับจากรัฐละโว้-อาณาจักรกัมพูชา

(7.) หลักฐานสำคัญอยู่ที่นาม “ศรีอินทราทิตย์” กร่อนจาก “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” รับจากกษัตริย์กัมพูชา (นครธม) หมายถึงกษัตริย์สุโขทัยดุจเทวราชคือพระอินทร์และพระอาทิตย์ที่มีบรมเดชานุภาพมหาศาล

 

พ่อปกครองลูก

“พ่อปกครองลูก” หมายถึงระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นการตีความจากจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่มีคำว่า “พ่อขุน” หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินหรือกษัตริย์ ทำให้เชื่อกันสืบมาว่าสมัยสุโขทัยโดยเฉพาะช่วงเวลาของพ่อขุนรามคำแหง คนสมัยนั้นยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือกษัตริย์เป็น “พ่อ” ส่วนประชาชนเป็น “ลูก” แล้วถูกใช้อย่างแข็งแรงเมื่อมีการเมืองแบบเผด็จการ เช่น ช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น

ล่าสุดสมัยปัจจุบันพบในบทนำของไทยรัฐ จะคัดมาเฉพาะ ดังนี้

“คืนสู่ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ ในระหว่างลงพื้นที่สมุทรสงครามเพื่อพบปะประชาชนและหาเสียงเลือกตั้ง———-นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ประกาศว่าตนเป็นนายกฯ ของคนไทยทั้งประเทศ และทุกจังหวัด ทำงานเพื่อทุกคน และเปรียบเทียบนายกฯ เหมือนกับพ่อที่มีลูกกว่า 60 ล้านคนที่จะต้องดูแล เป็นการเปรียบเทียบที่มีเหตุผล แต่จะต้องไม่เผลอคิดว่าตนเป็นพ่อของคนไทยทุกคน นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย

ระบอบที่เรียกว่า ‘พ่อปกครองลูก’ เป็นการปกครองในยุคโบราณ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นับร้อยนับพันปีมาแล้ว นักรัฐศาสตร์บางคนเรียกว่า ‘ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ’ พูดถึงการปกครองแบบพ่อปกครองลูก หรือระบบพ่อขุน คนไทยอาจนึกถึงยุคสุโขทัย แต่นักวิชาการระบุว่าสืบทอดต่อๆ กันมา จนถึงปัจจุบัน

ชัดเจนที่สุดคือยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบทอดการปกครองแบบที่ใช้ยึดอำนาจ แม้จะผิดกฎหมายร้ายแรง แต่พยายามสร้างความชอบธรรมให้อำนาจ ด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้งแต่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มีอำนาจเด็ดขาดที่อาจสั่งฆ่าคนได้

สมัยจอมพลสฤษดิ์มีคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 มอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้นายกรัฐมนตรี เป็นการปกครองด้วย ‘ความกลัว’ ได้ผลระดับหนึ่ง แม้แต่ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ก็มีมาตรา 44 เป็นดาบอาญาสิทธิ์ แต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง เพราะเป็นคนละยุคคนละสมัย ก้าวถอยหลังยาวเกินไป”

(จากบทนำ ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 หน้า 3)

“การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ข้อความชุดนี้มาจากชื่อหนังสือของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ซึ่งมีนักวิชาการแปลจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2514 เป็นหนังสือวิชาการขายดีมาก เพราะเนื้อหาและชื่อหนังสือโดนใจ เมื่อสะท้อนการเมืองการปกครองไทยปัจจุบันย้อนยุค

ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้าง

(1.) “พ่อปกครองลูก” ข้อความนี้ไม่มีในจารึกพ่อขุนรามคำแหง

(2.) จารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นวรรณกรรมการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่สมัยสุโขทัย

(3.) “พ่อปกครองลูก” เป็นประวัติศาสตร์เพิ่งสร้าง ราว 96 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ.2470 พบหลักฐานดังนี้

“การปกครองของไทยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินเช่นบิดาของประชาชนทั้งปวง”

“การปกครองของไทยอย่างบิดาปกครองบุตร หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า Paternal Government ยังใช้เป็นหลักวิธีปกครองประเทศสยามสืบมาจนทุกวันนี้”

(บางตอนจาก ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2470)

สรุป “พ่อปกครองลูก” ถูกสร้างใหม่เพื่อ (1.) ยกย่องย้ำว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของจริงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (2.) สนับสนุนการเมืองรวบอำนาจเผด็จการรวมศูนย์ว่าชอบธรรม

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เจ้าของงานวิจัย “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” เขียนคำนำตอนหนึ่ง ดังนี้

“งานศึกษานี้เป็นหนึ่งในกลุ่มงานแรกๆ ที่ประทับตราความเป็นผู้นำให้กับจอมพลสฤษดิ์ในลักษณะที่ค่อนข้างจะมีความขัดแย้งในตัวเอง ดังปรากฏในคำภาษาไทยที่ผู้เขียนได้สร้างขึ้นมาว่าจอมพลสฤษดิ์เป็น ‘พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’

ส่วนจอมพลสฤษดิ์นั้นจะมีความเชื่อในแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องพ่อขุนหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช่ประเด็นของงานชิ้นนี้ ประเด็นของผู้เขียนคือจอมพลสฤษดิ์นั้นสามารถนำแนวคิดพ่อขุนดังกล่าวนี้ไปใช้ในการให้เหตุผลต่อการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของตนเอง

ในส่วนความเป็น ‘เผด็จการ’ ของการปกครองนั้นอาจจะไม่ค่อยสอดรับกับแนวความคิดพ่อขุนเท่าใดนัก ทั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ใช้การเรียนรู้บ่มเพาะของตนเองในกองทัพในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร ที่ซึ่งคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงย่อมเป็นกฎหมาย และในกองทัพ กฎเกณฑ์การปกครองแบบนี้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกบังคับใช้และควรแก่การบังคับใช้ รวมทั้งจอมพลสฤษดิ์ได้นำแบบอย่างทางบุคลิกภาพในสังคมไทย นั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘นักเลง’ มาใช้ด้วย—-

อย่างพ่อปกครองลูก ขณะแสดงเป็นพ่อของประชาชน จอมพลสฤษดิ์ได้ขอให้ข้าราชการเป็นหูเป็นตา ทั้งได้ไปเยี่ยมเยียน ‘ลูกๆ’ ในต่างจังหวัด ได้ช่วยแนะนำการดับเพลิง การดูแลถนนให้สะอาดเรียบร้อย และให้สัญญาว่าลูกๆ จะมีชีวิตที่ดี—-

การปกครองแบบเผด็จการในฐานะที่เป็นเผด็จการและทรราช จอมพลสฤษดิ์อาจใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ของตน สั่งคุกคามและคุมขังบุคคลพวกที่มีชีวิตที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม พวกวัยรุ่นที่เกะกะระราน ตลอดจนพวกนักเลงอันธพาล ทั้งอาจคุกคามและจำคุกเหล่านักเขียน นักหนังสือพิมพ์ พระสงฆ์ และปัญญาชน และอาจสั่งประหารชีวิตผู้ลอบวางเพลิง ผู้เป็นผีบุญ และผู้เป็นคู่แข่งทางการเมือง

โดยสรุป พ่อแบบนี้ช่างเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาอย่างที่สุด” •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ