เปิดตัวหนังสือ ‘พระนางจามเทวี : ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันที่ 10-19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถึงนี้ จังหวัดลพบุรีได้จัดงานประจำปีคืองานแผ่นดินสมเด็จพระรายณ์มหาราชอีกครั้ง โดยกำหนดเปิดงานวันที่ 10 และไฮไลต์คือวันที่ 16 อันตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระองค์ประสูติวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2175)

ก่อนหน้านั้น 1 วัน วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีจะมีงานเปิดตัวหนังสือเรื่อง “พระนางจามเทวี : ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ” เขียนโดยดิฉัน ณ หอประชุม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ช่วงเช้าระหว่างเวลา 09.00-13.30 น.

ที่มาของการจัดทำหนังสือเล่มนี้ สืบเนื่องมาจากงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปีกลาย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ดิฉันได้รับเชิญจากอาจารย์อำนวย จั่นเงิน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ให้มาเป็นวิทยากร บรรยายหัวข้อ “ตามรอยพระนางจามเทวี จากลวปุระสู่หริภุญไชย” อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึกประวัติศาสตร์ “เมืองลพบุรี” ณ หอประชุมพระนารายณ์ อาคารรัตนเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

หลังจากเสร็จสิ้นการสัมมนาแล้ว สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ได้ประชุมหารือกันมีความเห็นว่า อยากให้ดิฉันช่วยเรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับ “พระราชประวัติของพระนางจามเทวี” ผู้เป็นปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชย เนื่องจากคนทั่วไปเกิดความสับสนด้านข้อมูล เพราะบางตำนานว่าพระนางประสูติที่ละโว้ บ้างว่าประสูติที่ลำพูน อันเป็นปัญหาที่ท้าทายภูมิปัญญานักวิชาการมานานข้ามศตวรรษ

ในเล่มนี้ ดิฉันได้นำเสนอเอกสารจากทั้งสองฝ่าย โดยทิ้งไว้เป็นปลายเปิดให้ถกเถียงกันต่อไปอีกหลายศตวรรษ ด้วยเรามิอาจตัดสินเรื่อง “ชาติกำเนิด” ของพระนางจามเทวีให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งได้เลย เหตุที่ตำนานทั้งสองฝ่ายต่างมีน้ำหนักความน่าเชื่อถืออยู่ในตัวเอง

ปมปัญหาเรื่องชาติกำเนิดพระนางจามเทวีนั้น หาใช่อุปสรรคที่ทำให้เราต้องถอดใจไม่ ในเมื่อสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีต้องการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับพระนางจามเทวี ในฐานะที่พระองค์มีความเกี่ยวข้องกับกรุงละโว้ เรายังสามารถเจาะลึกเรื่องราวของพระองค์ได้อีกมากมายหลายมิติหลายแง่มุม

อย่างน้อยสิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือเรื่องราวก่อนหน้าที่พระนางจามเทวีจักเสด็จพระราชดำเนินไปเสวยราชสมบัติที่นครหริภุญไชยนั้น พระนางได้เจริญพระชันษาและเรียนรู้ขัตติยราชประเพณีในแผ่นดินละโว้ อยู่ในสถานะพระราชธิดาของพระเจ้าจักรวรรดิวัติแห่งกรุงลวปุระ (ไม่ว่าบางตำนานจะกล่าวว่าเป็นธิดาสะใภ้ บ้างว่าธิดาบุญธรรม อย่างไรก็ตาม)

ดิฉันรับอาสาเรียบเรียงหนังสือเล่มดังกล่าวด้วยความเต็มใจยิ่ง ถือเป็นเกียรติแก่ชีวิต เพราะเคยศึกษาเรื่องราวของพระนางจามเทวีมาก่อนแล้วในทุกแง่ทุกมุมนานกว่า 2 ทศวรรษ ทว่าหลักฐานส่วนใหญ่ค่อนข้างเน้นหนักไปในส่วนของภาคเหนือ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ตาก ฯลฯ

จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ดิฉันจักได้มาเติมเต็มองค์ความรู้เชิงลึกให้รอบด้านยิ่งขึ้นไปอีก ในพื้นที่ภาคกลางแถบลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ตั้งแต่กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลงไปจนถึงเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี สะแกกรัง ท่าจีน แม่กลอง (รวมแล้วมากกว่า 20 จังหวัด) โดยเน้นการลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวารวดีในลพบุรีและเมืองใกล้เคียง รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์ แม่น้ำ ลำคลอง

 

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ที่เราเคยคุยกันวันที่ 10 กุมภาพันธ์ปีกลาย ครบรอบ 1 ปีพอดี หนังสือที่ดิฉันตั้งชื่อไว้ว่า “พระนางจามเทวี : ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ” ถือกำหนดคลอด พร้อมเปิดตัวในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงประเด็นอะไรบ้าง แน่นอนว่าคงพอจะช่วยไขความกระจ่างให้แก่ผู้อ่านหลากหลายประเด็น อาทิ

ประเด็นแรก เหตุใดจึงมีผู้เขียนเรื่องชาติกำเนิด และปูมหลังของพระนางจามเทวีอย่างต่างขั้วเช่นนั้น รวมทั้งพระองค์ทรงมีคุณูปการต่ออาณาประชาราษฎร์ด้านใดบ้าง

ประเด็นที่สอง พระราชวังขณะที่พระนางจามเทวีทรงประทับอยู่ที่เมืองละโว้นั้นควรตั้งอยู่แถวใด

ดิฉันตั้งใจที่จะรวบรวมหลักฐานด้านโบราณคดียุคทวารวดีที่มีอายุร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีทั้งในกรุงละโว้ และดินแดนรายรอบลุ่มน้ำลพบุรี เจ้าพระยา ป่าสัก มาใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับอารยธรรมอันรุ่งเรืองในนครหริภุญไชยว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในมิติใดบ้าง

ประเด็นที่สาม คือเรื่องที่ทุกคนรอคอย นั่นคือเรื่องเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีโดยชลมารค (ทางน้ำ) ตั้งแต่เมืองลวปุระถึงหริภุญไชยนคร (ในที่นี้ใช้ชื่อหนังสือว่า “หริปุญชยะ” เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “ลวปุระ”) ว่าพระองค์ทรงแวะพักกระบวนเสด็จเพื่อ “ยั้งแรม” “ตั้งเมือง” แวะนมัสการพระธาตุ พระบาท สร้างวัด ปลงศพสนม ทหาร ณ ที่แห่งใดบ้าง

ทำไม ชื่อเมืองที่ระบุว่าพระนางจามเทวีเสด็จผ่านมาตั้งเมืองเป็นแห่งแรกในตำนานทุกเล่มจึงมีชื่อว่า “พระบาง” ซึ่งอยู่บริเวณวัดเขากบ ปากน้ำโพ นครสวรรค์ แล้ว

ทั้งนี้ ระยะทางจากละโว้กว่าจะถึงพระบางนั้นเล่า พระนางจามเทวีทรงใช้เส้นทางไหน ระหว่างออกจากแม่น้ำบางขามขึ้นเมืองโบราณจันเสน ออกอู่ตะเภา มโนรมย์ หรือควรใช้เส้นทางเมืองอินทร์บุรี เข้าสู่พระบรมธาตุชัยนาท?

ประเด็นที่สี่ หลังจากที่พระนางจามเทวีปกครองนครหริภุญไชยแล้ว ทรงมีบทบาทด้านการทำนุบำรุงศาสนา การหลอมรวมชาติพันธุ์ การรับมือกับสงคราม และมีวิเทโศบายในการขยายดินแดนอย่างไร

อันที่จริงหลักฐานสมัยทวารวดีที่มีอายุเก่าถึง 1,300 กว่าปีนั้น ถือว่าค่อนข้างจำกัดทีเดียว อย่างไรก็ดี คำตอบที่ดิฉันพยายามค้นคว้ามานำเสนอในหนังสือเล่มนี้ พยายามตีความอย่างสุขุมลุ่มลึกบนสมมุติฐานใกล้เคียงกับความน่าจะเป็นมากที่สุด

หนังสือเล่มนี้จักสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้เลย หากปราศจากเสียซึ่งงบประมาณสนับสนุนในการจัดทำต้นฉบับจาก รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณหญิง อัมพร สุคนธมาน

การค้นคว้าเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ใช้เวลาเพียง 8 เดือนก็จริงอยู่ แต่การตกผลึกของข้อมูลนั้น ต้องใช้เวลาหยั่งรากมาอย่างยาวนานก่อนแล้ว

กล่าวคือ ดิฉันได้นำเอาข้อมูลจากการลงพื้นที่ครั้งล่าสุด (ของปี 2565) มาทำการวิเคราะห์ประมวลผล ประกอบกับข้อมูลงานวิจัยเดิมที่ดิฉันเคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี

ทั้งจากหลักฐานด้านโบราณคดี เอกสารลายลักษณ์ จารึก ตำนาน คำบอกเล่า มุขปาฐะ นิทานพื้นบ้าน ในระหว่างช่วงที่ดิฉันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย และช่วงที่เคยร่วมงานสำรวจแหล่งพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีบางแห่ง เพื่อจัดทำต้นฉบับข้อมูลเรื่อง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครหริภุญไชย” ระหว่างปี 2559-2562 ในฐานะที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมให้กับ ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

กล่าวให้ง่ายก็คือ ดิฉันได้นำข้อมูลเก่าที่เคยค้นคว้าไว้จนตกผลึกจากทั้งสองส่วนเดิมนี้มาชำระสะสาง ช่วยเกื้อหนุนข้อมูลที่เก็บเพิ่มใหม่ในปี 2565 แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว

 

เนื้อหาของหนังสือ

บทนำ : ระหว่างตำนานและหลักฐานทางโบราณคดี ศัพทาธิบาย

บทที่ 1 : ดินแดนหริภุญไชยยุคก่อนการเสด็จมาของพระนางจามเทวี

บทที่ 2 : กรุงลวปุระ ปฐมราชธานีแห่งราชนารีจามเทวี

บทที่ 3 : กระบวนเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวี จากลุ่มเจ้าพระยาสู่พิงคนที

บทที่ 4 : สู่ประตูหน้าด่าน และเวียงบริวารสองฟากแม่ระมิงค์

บทที่ 5 : ปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา

บทที่ 6 : ศึกวิรังคราช และการขยายอาณาเขตสู่เขลางค์นคร

 

ลงทะเบียนร่วมงานและสั่งจองหนังสือ

งานเปิดตัวหนังสือ “พระนางจามเทวี : ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ” ในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ศกนี้ สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ขอเรียนเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี ด้วยการลงทะเบียน แจ้งชื่อสกุล เบอร์โทรศัพท์ อาชีพ/หน่วยงาน ของท่านไปยังคณะกรรมการของสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี คุณรัชนี แสงอิ่ม/คุณปนัดดา แก้วสิงห์ โทร. 09-2863-8985

หรือท่านใดสะดวกที่จะแจ้งความจำนงร่วมงานผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก Pensupa Sukkata ของดิฉันก็ได้ ดิฉันจักรวบรวมรายชื่อทั้งหมดส่งให้สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีจัดทำใบลงทะเบียน

การสั่งจองหนังสือเล่มนี้ (เนื่องจากไม่ได้วางแผงตามร้านหนังสือทั่วไป) จำหน่ายในราคาเล่มละ 390.- บวกค่าจัดส่งไปรษณีย์ทั่วประเทศ 50.- รวมราคาเล่มละ 440.- (สี่ร้อยสี่สิบบาทถ้วน)

ผู้สนใจโปรดติดต่อสั่งซื้อสั่งจองได้สองช่องทางเช่นเดียวกัน ช่องทางแรกประสานผ่านสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี (สอบถามขอเลขบัญชีธนาคารของสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีได้จากเบอร์โทร.ที่ให้ไป)

อีกช่องทางหนึ่งประสานสั่งซื้อผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊กของดิฉัน

รายได้จากการจำหน่ายหลังหักต้นทุนค่าพิมพ์หนังสือแล้ว ในส่วนของอาจารย์อำนวย จั่นเงิน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำ “หนังสือเสียง” เผยแพร่ในยูทูบ/พอดแคสต์ และจัดทำอีบุ๊กต่อไป

ในส่วนของดิฉันก็เช่นกัน จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อยอดจัดกิจกรรมทัศนศึกษา “ตามรอยพระนางจามเทวี ณ สถานที่สำคัญต่างๆ” โปรดรอติดตามโปรแกรมเดอะซีรีส์เป็นระยะๆ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ