ทำไมโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า จึงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“พระพุทธสิหิงค์” เป็นพระพุทธรูปสำคัญ มีตำนานอ้างว่ามาจากลังกาทวีป มีพระยานาคตนหนึ่งที่มีโอกาสได้พบกับพระพุทธเจ้าขณะยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้จำแลงร่างเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นแบบให้ประติมากรจัดสร้างรูปเหมือนของพระพุทธองค์ไว้ให้สักการบูชา

แต่เรื่องพระพุทธสิหิงค์เองก็ยังมีปัญหาอยู่มาก เพราะมีอยู่หลายองค์ เฉพาะองค์หลักๆ ที่ต่างก็เชื่อต่อๆ กันมาว่าองค์นี้คือพระพุทธสิหิงค์องค์จริงตามสิหิงคนิทาน ก็มีอยู่สามองค์แล้วเลยทีเดียว

องค์แรกประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ องค์ต่อไปประดิษฐานอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเคยประดิษฐานอยู่ก่อนที่จะอัญเชิญไปถึงแผ่นดินล้านนา ส่วนองค์สุดท้ายประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นี่เอง

พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ไม่มีองค์ไหนเลยที่มีลักษณะของงานพุทธศิลป์อย่างลังกา และอันที่จริงแล้วชาวลังกาก็ไม่รู้จัก “พระพุทธสิหิงค์” เสียด้วยซ้ำไป เพราะไม่มีตำนานเล่าเรื่องพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์นี้ไว้ในเกาะลังกาเลย และถ้าจะว่ากันตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีแล้ว ตำนานเรื่องพระพุทธสิหิงค์นั้น ควรจะถูกแต่งขึ้นในอุษาคเนย์ ที่ดินแดนล้านนามากกว่าจะเป็นที่อื่น

 

ในบรรดาดินแดนทั้งสามแห่งที่ต่างก็อ้างว่าครอบครององค์พระพุทธสิหิงค์เอาไว้นั้น แผ่นดินล้านนามีความนิยมเรื่องพระพุทธสิหิงค์ที่สุด และอันที่จริงแล้วได้มีการค้นพบพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่มีจารึกอยู่ที่องค์ฐานพระว่านี่คือพระพุทธสิหิงค์ในดินแดนนี้อยู่อีกหลายองค์เลยด้วยซ้ำ

แต่อย่าเพิ่งแปลกใจไปครับ นี่ไม่ต่างอะไรกับที่เราสร้างพระพุทธชินราชจำลอง พระแก้วมรกตจำลอง และอีกสารพัดสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำลอง เพราะสิ่งที่เฮี้ยน ที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้าโดดๆ แต่เป็นพระพุทธเจ้าในรูปของพระพุทธสิหิงค์ พระแก้วมรกต พระพุทธโสธร ฯลฯ ที่โบราณเขาเชื่อกันว่า มี “ผี” ปกปักพระพุทธรูปอยู่ต่างหาก

เฉพาะที่กรุงเทพฯ พระราชพงศาวดารอ้างไว้ว่า กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท วังหน้าพระองค์แรกในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ไปอัญเชิญมาหลังจากเชียงใหม่ หลังรบชนะเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2338

น่าแปลกที่ลักษณะเชิงช่างของพระพุทธสิหิงค์องค์ที่กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทอัญเชิญมานั้น เป็นฝีมือช่างอย่างอยุธยา ไม่ใช่อย่างล้านนาเลย

นักวิชาการสันนิษฐานกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่กรมพระราชวังบวรฯ จะไม่เคยเห็นองค์พระพุทธสิหิงค์มาก่อน เพราะก่อนหน้าที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 พระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระนารายณ์ตีเชียงใหม่ได้เมื่อปี พ.ศ.2205

กรมพระราชวังบวรฯ รับราชการมาแต่ยุคปลายกรุงเก่าแล้ว จะไม่เคยเห็นพระพุทธสิหิงค์ ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์สัตยาเลยหรือครับ?

พระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

อันที่จริงแล้วทางฟากเชียงใหม่ ก็ยังมีเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาอย่างเป็นมุขปาฐะว่า พระพุทธสิหิงค์องค์ที่กรมพระราชวังบวรฯ ได้ไปนั้นเป็นองค์ปลอม องค์จริงยังคงประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ที่วัดพระสิงห์ ชาวเชียงใหม่จึงยังศรัทธาอยู่อย่างสนิทใจว่า พระพุทธสิหิงค์ยังอยู่กับพวกตน

แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่องค์ไหนจริง หรือองค์ไหนปลอม ปัจจุบันนี้นักวิชาการทางด้านโบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านต่างออกมายืนยันว่า พระพุทธสิหิงค์จริงทุกองค์ ไม่มีปลอม

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าจึงเป็นการที่กรมพระราชวังบวรฯ ประกาศว่าได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่กรุงเทพฯ ต่างหาก

พระพุทธสิหิงค์มีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวเชียงใหม่ ด้วยโทษฐานที่มีฐานะเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ไม่ต่างกับพระแก้วมรกตของคนกรุงเทพฯ (หรือคนไทยในความหมายอย่างกว้างๆ ในปัจจุบัน) พระพุทธสิหิงค์องค์ที่กรมพระราชวังบวรฯ อัญเชิญมาจะจริงหรือปลอมจึงไม่สำคัญเท่ากับที่พระองค์ได้นำพยานของอำนาจเหนืออธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ณ ขณะจิตนั้นลงมาด้วย

ซ้ำร้ายพยานปากเอกนั้น ยังเป็นทั้งขวัญ และกำลังใจของชาวเชียงใหม่ทั้งหมดด้วยอีกต่างหาก

แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง “พระพุทธสิหิงค์” จึงกลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำ “วังหน้า” ไปโดยปริยาย โดยถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงบุญญาธิการ และบารมีของวังหน้า นับจากวันนั้นมาโดยตลอด

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส สร้างโดยกรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็น “วังหน้า” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (เดิมคือ โรงเรียนนาฏศิลป์) ข้างโรงละครแห่งชาติ ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะเรียกพระอุโบสถแห่งนี้ว่า “โบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า” มากกว่า

ที่เรียกว่า พระแก้ววังหน้า ไม่ใช่เพราะมีพระแก้วประดิษฐานอยู่ภายใน เหมือนพระแก้วมรกตของวังหลวงนะครับ

แต่เป็นคำเรียกเปรียบเทียบว่าเป็นวัดประจำวังหน้าไม่ต่างจาก วัดพระศรีรัตนปฏิมากร หรือวัดพระแก้ว ของวังหลวง

ภายในพระอุโบสถแห่งนี้มีพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ อย่างพระจักรพรรดิราช ประทับยืน แสดงปางห้ามสมุทร งานช่างอย่างที่นิยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่เป็นพระพุทธรูปประธานภายในโบสถ์

แต่ภายในอาคารที่สร้างอยู่บนผังรูปจตุรมุข ที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง และช่องประตูกลับเขียนเรื่อง “ตำนานพระพุทธสิหิงค์” มันเสียอย่างนั้น

แน่นอนว่า การที่กรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 โปรดให้มีการเขียนรูปตำนานพระพุทธสิงค์ที่โบสถ์ วัดพระแก้ววังหน้า จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เตรียมการจะนำพระพุทธิสิหิงค์มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานภายในโบสถ์หลังนี้ เพียงแต่อาจจะไม่ทันได้ดำเนินการ หรือติดขัดด้วยเหตุผลกลในบางอย่าง

โดยเฉพาะเมื่อยังมีประวัติอีกอย่างหนึ่งที่เล่าเกี่ยวกับโบสถ์หลังนี้ว่า แต่เดิมนั้น กรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพตั้งพระทัยจะสร้างโบสถ์หลังนี้เป็นอาคารทรงจตุรมุข ที่มียอดเป็น “ปราสาท” แต่ถูกคัดค้านไว้ว่า “จตุรมุขยอดปราสาท” นั้น เป็นอาคารทรงที่สงวนไว้ใช้เฉพาะใน “วังหลวง” เท่านั้น หากดันทุรังสร้างต่อไปจะถือเป็นการท้าทายอำนาจกับวังหลวง

เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวกับการนำพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่โบสถ์แห่งนี้ด้วยก็ได้ ใครจะไปรู้? •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ