ส่งสการ ‘อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย’ ทานสะเปาคำ ‘อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์’ ละสังขารยามรุ่งสางวันตรุษจีน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ละสังขารยามรุ่งสางวันตรุษจีน

เช้าวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 ดิฉันได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “ตามรอยวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างและบูรณะในอำเภอเมืองลำปางและอำเภอเกาะคา” จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วัดพระธาตุดอยน้อย (บ้านดอยนางแตน) วัดพระธาตุจอมปิง วัดพระบาท และวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จัดโดยภาควิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ผ่านการประสานงานของ “อาจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น”

ทันทีที่ได้พบหน้า “น้องวีนัส ไกด์ท้องถิ่นลำปาง” ที่มาร่วมทริปด้วย ดิฉันได้ถามถึง “อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย” ว่าอาการท่านเป็นอย่างไรบ้าง

“ท่านเพิ่งจากไปเมื่อเช้าตรู่ 6 โมงเศษๆ วันนี้เองเจ้า อาจารย์เพ็ญ” น้องวีนัสตอบ

อีกเพียงเดือนเดียวจะครบรอบวันเกิดของท่าน 95 ปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่แล้วเชียว

หัวใจของดิฉันแทบสลาย เต้นไม่เป็นส่ำ เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าช่วงวันเกิดท่าน ดิฉันจะไปนั่งอู้จาเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีประเด็น “พระนางจามเทวี-เจ้าอนันตยศ” กับท่านอีกรอบ หลังจากที่ไปเยี่ยมเยือนครั้งหนึ่งนานแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564

วันเสาร์ตลอดทั้งวันจึงเป็นวันที่เศร้ารันทด ดิฉันได้รับแจ้งข่าวการสูญเสีย “ปูชนียบุคคล” ผู้เป็น “เสาหลักด้านประวัติศาสตร์” แห่ง “นครเขลางค์-อาลัมพางค์” จากเครือข่ายบุคคลที่เคารพรักท่านอาจารย์ศักดิ์ อย่างไม่ขาดสายตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทั้งทางไลน์ กล่องข้อความในเฟซบุ๊ก และทางโทรศัพท์

ไม่ว่าจะจากกลุ่มทายาทสายสกุล ณ ลำปาง, กลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดลำปาง, กลุ่มสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ฯลฯ

กลุ่มแม่ครู-พ่อครู ปราชญ์ชาวบ้าน ลูกศิษย์ลูกหาเครือข่ายนักอนุรักษ์ ผู้ได้รับการฝึกฝนถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจนสามารถบรรยายนำชมรถม้า-รถรางบริการนักท่องเที่ยว ตามชุมชนต่างๆ ได้ เป็นต้น

ทำให้ทราบว่า ทายาทได้นำสรีระร่างท่านอาจารย์ศักดิ์ ขึ้นบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดเชียงราย ตั้งแต่บ่ายวันนั้นเอง มีการสวดอภิธรรม 1 สัปดาห์ และวันเสาร์ที่ 28 มกราคม จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ พุทธสถาน วัดเชียงราย อ.เมือง จ.ลำปาง

จากนั้นเคลื่อนศพไปประชุมเพลิง ณ สุสานร่องสามดวงต่อไป

อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ยืนที่ 4 จากขวามือ

เปลวเทียนมลายลับ
มิอาจดับมโนสรวง

การจากไปของ “อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย” ถือเป็นการสูญเสียเสาหลักทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีครั้งสำคัญยิ่งของนครเขลางค์-อาลัมพางค์ กระเทือนไปถึงแวดวงประวัติศาสตร์ล้านนาในภาพกว้างอีกด้วย

นับต่อแต่นี้ไป คงเหลือเพียงแค่ผลงานของท่านที่ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์เกินคณานับ บางชิ้นงานรวบรวมตีพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้ว บางชิ้นท่านน่าจะต้องการปรับปรุงรีไรต์ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ท่านผ่านการฟังความเห็นของนักวิชาการท่านอื่น แต่ยังมิทันได้ลงมือทำ

และแน่นอนว่าบางชิ้นยังกระจัดกระจายอยู่ตามหนังสือพิมพ์ หรือเป็นข้อถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงสัมมนา ที่ท่านยังไม่ได้นำมาเขียนร้อยเรียงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่วนนี้ดิฉันยินดีช่วยสืบสานต่อด้วยความเต็มใจยิ่ง

ดิฉันเคยเขียนบทความถึงท่านสองตอน ในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี ฉบับวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564 และฉบับวันที่ 29 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2664 ชื่อหัวข้อ เยี่ยมเยือน “อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย” จากหัวใจ “ลูกสาวลำปาง” โดยได้ถ่ายทอดความในใจของท่านไปบ้างแล้วบางส่วนว่า

ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเห็นจังหวัดลำปางมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สังกัดกรมศิลปากร อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

กับอีกประเด็นคือ ท่านอยากให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลโบราณวัตถุ โบราณสถานในจังหวัดลำปาง มากกว่าให้จังหวัดน่านดูแล

ผลงานของอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย

บัดนี้ เมืองลำปางก็มีพิพิธภัณฑ์แล้วในอาคารแสนงาม ชื่อ “ลำปางมิวเซียม” (บ้างเรียก “มิวเซียมลำปาง”) แม้จะไม่ได้ขึ้นตรงกับกรมศิลปากร แต่ก็ถือว่าเป็นโมเดลที่เก๋ ทันสมัย และดึงหัวใจจุดเด่นของความเป็นลำปางทั้งหมดออกมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

ส่วนอีกความฝันหนึ่งของท่าน ที่ไม่อยากให้ลำปางสังกัดสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน

ทั้งนี้ มิใช่ว่าท่านรังเกียจเมืองน่านแต่อย่างใดเลย เนื่องจากท่านเห็นว่า ทำเลที่ตั้งกับระยะทางของสองจังหวัดนั้นห่างไกลกันเกินไป

อีกทั้งรากอารยธรรมของลำปางกับน่านก็มากันคนละสาย ท่านจึงรู้สึกอบอุ่นกับการที่อยากให้ทางลำพูนเข้ามาช่วยดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของลำปางมากกว่า

ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน ก็ได้รับมอบหมายจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ให้ทำหน้าที่ดูแลด้านโบราณวัตถุ โบราณสถานในจังหวัดลำปาง เพิ่มอีกหนึ่งจังหวัดแล้ว ถือว่าสายใยสัมพันธ์ระหว่างเมือง “หริภุญไชย-เขลางค์” หรือ “ลำพูน-ลำปาง” ได้หวนกลับมาเป็นโครงสร้างเดิมอีกครั้ง เฉกสมัยที่ดิฉันเคยทำหน้าที่นั้นไว้อย่างดีที่สุดจนท่านอาจารย์ศักดิ์ประทับใจกระนั้นแล้ว

จึงได้แต่หวังว่า ดวงวิญญาณของท่านอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย คงปลอดโปร่งโล่งอก เบาสบายใจไปได้หลายเปลาะแล้ว

ภารกิจที่เหลืออื่นๆ ก็น่าจะเป็นความฝันใฝ่ในเชิง “แรงปรารถนาอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานการเขียนตั๋วเมืองที่ท่านจัดทำตำราอักขระไวยากรณ์ฉบับเรียนไว ไว้ให้พร้อมแล้ว”

ส่วนเรื่องข้อคิดเห็นเชิงประวัติศาสตร์ในประเด็นต่างๆ อาทิ กรณีที่ ทำไมท่านจึงยืนหยัดใช้คำว่า “ลานนา” แทนคำว่า “ล้านนา” นั้น ถือเป็นการแสดงความเห็นเชิงวิชาการอย่างอิสระ ที่ท่านมีเหตุผลรองรับอย่างละเอียด ไม่ได้ดื้อดึงดันแต่อย่างใด

ประเด็น “ลานนา-ล้านนา” เป็นภาพสะท้อนถึงความอาจหาญ ความเป็นตัวเองของท่าน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีความคิดที่จะต้องไปเอาชนะคะคานคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ชนิดหัวชนฝา

ดิฉันคิดว่า อีกสักระยะ นักวิชาการรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ด้านลำปางศึกษา คงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาทางวิชาการครั้งใหญ่ เพื่อพูดถึงชีวิตและผลงานของอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ต่อไป อีกไม่นานเกินรอ

ทานสะเปาคำ
“อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์”

ช่วงที่ดิฉันไปเยี่ยมคาวระท่านอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย เมื่อปลายปี 2564 นั้น ดิฉันได้พา คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์ บุตรีของ อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ไปด้วย เนื่องจากช่วงนั้นเราเตรียมงานจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีชาตกาล อาจารย์สงวน

เหตุที่อาจารย์ศักดิ์ กับอาจารย์สงวน เป็นเพื่อนกัน อาจารย์สงวนมีอายุมากกว่าอาจารย์ศักดิ์ประมาณ 5-6 ปี แต่ถือว่าเป็นบุคคลวงการเดียวกัน ทั้งด้านสื่อสารมวลชน เป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนสารคดี นักคิดนักเขียน นักค้นคว้าข้อมูล นักประวัติศาสตร์ แทบจะเหมือนกันทุกกรณี

จำได้ดีว่า อาจารย์ศักดิ์ทักว่าคุณพันธุ์นพิต หน้าตาเหมือนคุณพ่อสงวนเปี๊ยบ

เมื่อพูดถึงอาจารย์สงวน อาจารย์ศักดิ์มีน้ำตาคลอเบ้า บอกคิดถึงเพื่อน อายุสั้นเกินไป เป็นคนเก่ง ไฟแรง จิตใจดี

“ทุกครั้งที่สงวนต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลที่ลำพูน เขาจะนอนพักบ้านมหาสิงฆะ วรรณสัย แถววัดสันป่ายางหลวง และหากมาลำปาง เขาจะมานอนบ้านผม สมัยก่อนโรงแรมที่พักมีน้อย แล้วสงวนเป็นคนชอบเดินทางเก็บข้อมูลทุกหนทุกแห่ง ผมยังซอกแซกน้อยกว่าสงวนหลายเท่า”

พวกเรา (หมายถึงดิฉันและคุณพันธุ์นพิต) เคยเรียนให้อาจารย์ศักดิ์ทราบว่า หลังจากเสร็จงานเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีชาตกาล ให้คุณพ่อสงวน ซึ่งทางสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพเมื่อวันเกิดท่าน 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาแล้ว

เราตั้งใจจะทำพิธี “ทานสะเปาคำ” ส่งดวงวิญญาณให้แก่คุณพ่อสงวน ไปสู่สัมปรายภพอย่างสงบ สง่า สมเกียรติภูมิ เนื่องจากอาจารย์สงวนเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2518 ขณะนั้นคุณพันธุ์นพิตมีอายุเพียง 8 ขวบ ผลงานของอาจารย์สงวนกระจัดกระจาย ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่มีใครดูแล

จนกระทั่งปี 2552 สำนักพิมพ์ศรีปัญญาได้ประสานทายาททยอยนำเอางานบางเล่มของอาจารย์สงวนมาปัดฝุ่นจัดพิมพ์ใหม่ นับจนปัจจุบันมีผลงานจำนวนมากกว่า 8 เรื่อง (รอพิมพ์อีกเกิน 10)

กอปรกับคุณพันธุ์นพิตเองได้จัดสร้างห้องสมุดให้แก่คุณพ่อที่บ้านขอนตาล (เยื้องวัดพระนอนขอนตาล) เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจึงเห็นว่า ควรมีพิธี “ทานสะเปาคำ” ส่งดวงวิญญาณให้ผู้วายชนม์ไปสู่ปรโลก

พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม ปราชญ์ล้านนาผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมล้านนา และเคยเป็นผู้ใกล้ชิด ดร.ฮันส์ เพนธ์ แนะนำคุณพันธุ์นพิตว่า

“คุณพ่อสงวนเป็นเพื่อนกับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ทันได้รู้จักกับอาจารย์สงวน แต่ผมทำงานกับ ดร.เพนธ์ อย่างใกล้ชิดที่สถาบันวิจัยสังคม มช. ดร.เพนธ์พูดถึงอาจารย์สงวนให้ผมฟังเสมอ ว่าเวลาจะไปเก็บข้อมูลตามชุมชนป่าเขาดงดอยที่ไหน ดร.เพนธ์ต้องขอติดรถจี๊ปของอาจารย์สงวนไปด้วยทุกครั้ง เพราะอาจารย์สงวนเป็นคนลุย มุ่งมั่นศึกษาวิจัยเจาะลึก ชอบสัมภาษณ์ชาวบ้าน เป็นตัวอย่างของนักวิชาการที่เสียสละ อุตสาหะ ลงพื้นที่จริง ยอมเหน็ดเหนื่อย ไม่ได้มานั่งคิดต้นทุนค่าน้ำมูกน้ำมัน

ดังนั้น ในฐานะที่ผมสนิทกับ ดร.เพนธ์ และอาจารย์สงวนเป็นเพื่อนรักของ ดร.เพนธ์ ผมจึงขอแนะนำให้หนูนิต (พันธุ์นพิต) ทำพิธีส่งสการคุณพ่อครั้งใหญ่ ด้วยการ ‘ทานสะเปาคำ’ หมายถึงการอุทิศเรือสำเภาทองลำใหญ่ ใส่เครื่องอุปโภค บริโภค ส่งกระแสจิตไปยังท่าน ให้ท่านฝ่าข้ามฝั่งวัฏสงสาร เพราะที่ผ่านมา ท่าน (อาจ) ยังคงเฝ้าเวียนวนเป็นห่วงทั้งลูกสาวและกังวลทั้งผลงานที่กระจัดกระจาย”

ขอกราบขอบพระคุณ “พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม” ที่ยินดีปวารณาตัวเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมครั้งสำคัญนี้ให้แด่อาจารย์สงวน พิธี “ทานสะเปาคำ” เป็นพิธีกรรมโบราณหาดูได้ยาก โดยคุณพันธุ์นพิต จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 ตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของอาจารย์สงวนปี 2518 เมื่อมีอายุ 54 ปี

พิเศษสุด ช่วงบ่ายวันนั้น หลังจากเสร็จพิธีช่วงเช้าแล้ว คณะนักวิชาการทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส จักเปิดเวทีล้อมวงเสวนาทางวิชาการหัวข้อน่าสนใจยิ่ง “หลากหลายมุมมองต่อ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่”

วิทยากรฝ่ายสงฆ์นำโดย ท่านพระครูอดุลสีลกิตติ์ จอว.วัดธาตุคำ และเจ้าคณะตำบลหายยา, พระครูธีรสุตพจน์, ดร. (พระมหาสง่า) จอว.วัดผาลาดสกิทาคามี, พระปลัดจรินทร์ ธมฺมวโร จอว.วัดศรีดอนไชย ช้างคลาน

วิทยากรฝ่ายฆราวาส ตัวพ่อหนานศรีเลา เกษพรหมเอง, อ.เกริก อัครชิโนเรศ, อ.ภูเดช แสนสา และดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้ดำเนินรายการ

สถานที่จัดงานคือบ้านปราชญ์ล้านนา อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ บ้านท่าวัง ต.แม่ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เยื้อวัดพระนอนขอนตาล สนใจร่วมกิจกรรมโทร.ถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทร.ดิฉัน 08-5037-1120

บทความฉบับนี้ ขึ้นต้นด้วยการจากไปของท่านอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย และลงท้ายด้วยการเชื้อเชิญผู้สนใจร่วมงาน “ทานสะเปาคำ” อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ผู้ซึ่งลาลับจากโลกนี้ไปนานแล้วถึง 48 ปี ทว่า ช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านคือเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย •