‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ชื่อนางรุ้งแสง
ที่จารึกฐานพระพุทธรูปวัดต้นผึ้ง

ตอนที่แล้วยังไม่ได้เฉลยปมปริศนาอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ ว่าด้วยฐานจารึกพระพุทธรูปสกุลช่างฝางองค์หนึ่งปรากฏชื่อของชายาเจ้าพญาฝางมีนามว่า “รุ้งแสง”

อยากเชิญชวนผู้อ่านลองช่วยกันพิจารณาดูถึงความน่าจะเป็น ว่าชื่อนี้จะสอดรับกับคำบอกเล่าที่ “โฮลต์ ซามูแอล ฮาลเลตต์” บันทึกว่าเจ้าเมืองฝาง (พิมมะสาร) มีชายาชื่อ “นางโนจา/รุจา” ในหนังสือ The Thousand Miles on an Elephant in the Shan States ของเขา

รุ้งแสง กับโนจาเป็นคนเดียวกันได้หรือไม่? ในเมื่อฐานพระพุทธรูปมีศักราชระบุอายุ แต่คำบอกเล่าที่ฮาลเลตต์รับรู้ ไม่บอกศักราช แต่ยืนยันว่าเป็นสงครามที่ฝางสู้กับพระเจ้าสุทโธ

จากหนังสือเรื่อง “ประวัติเมืองฝาง” เรียบเรียงโดย “อินทร์ศวร แย้มแสง” ในปี 2543 และ 2551 (ท่านนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้อัพเดตหลายครั้ง ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกสุดปี 2523 และเวอร์ชั่นสุดท้ายปี 2551)

อาจารย์อินทร์ศวรผู้เรียบเรียงได้อ้างถึงเนื้อหาของจารึกที่เขียนด้วยตัวอักษรล้านนา (ไมระบุว่าเป็นอักษรธัมม์-ตั๋วเมือง หรืออักษรฝักขาม) ณ ฐานพระพุทธรูปของ “วัดแห่งหนึ่ง” โดยในเอกสารของเขาไม่ยอมระบุว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวอยู่ที่วัดใด

จนกระทั่งภายหลังดิฉันทราบมาว่า วัดที่เก็บพระพุทธรูปแห่งนั้นคือวัดต้นผึ้ง หรือวัดมธุราวาส อ.ฝาง

คำแปลจารึกฐานพระพุทธรูปสำริดนั่งขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 60-70 นิ้ว ตามที่อาจารย์อินทร์ศวรถอดความ มีดังนี้

“เมื่อ จ.ศ.967 (ตรงกับ พ.ศ.2138) ปีดับเม็ด เดือน 6 ออก 4 ค่ำเม็ง วัน 7 ไทลวงเป้า สมเด็จเจ้าวัดพระแก้วนันทะปัญโญ ก้ำภายใน พญาฝางและเจ้าแม่รุ้งแสง กางเมืองฝาง และหมื่นหลวงล่ามฝาง ก้ำภายนอก สร้างพระแก้วมงคลเป็นปัจจัยการะณะ พระพุทธเจ้าตนนี้ (หนัก-ผู้เขียน) แสนสี่หมื่นตอง ไว้สักการปูชาแก่คนแลเทวดาทั้งหลาย”

การปรากฏชื่อเจ้าแม่รุ้งแสง กับพญาฝาง ที่ฐานพระพุทธรูปนี้ อาจารย์อินทร์ศวรเห็นว่า นี่คือหลักฐานชั้นต้น ว่าเมื่อปี 2138 มีเจ้าเมืองฝางอยู่จริง และท่านมีชายาชื่อรุ้งแสง ทำให้อาจารย์อินทร์ศวร นำเอาเนื้อหาจากหนังสือ Thousand Miles on an Elephant in the Shan States มาปะติดปะต่อกัน

กลายเป็นว่า พญาฝางผู้ที่สร้างพระพุทธรูปวัดต้นผึ้งปี 2138 มีชื่อว่า พิมมะสาร (พิมพิสาร) ตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ศักราช 2138 จากฐานจารึกพระพุทธรูปวัดต้นผึ้งนั้น มีระยะเวลาห่างจากช่วงเวลาของยุคที่พระเจ้าสุทโธธรรมราชา ล้อมเมืองฝางจริงเมื่อ พ.ศ.2178 ถึง 40 ปี?

 

ข้อมูล 5 ท่อน
ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น

มาถึงจุดนี้ เรื่องจริง นิทาน คำบอกเล่า ที่เกี่ยวข้องกับนางสามผิวและพระเจ้าอุดมสินจึงค่อนข้างจะอีนุงตุงนัง กระท่อนกระแท่น ซ้ำยังถูกแยกส่วนกันออกเป็นห้าท่อนอีกด้วย คือ

ท่อนแรก เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นในปี 2178 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่าพระเจ้าสุทโธธรรมราชา (ตลุนมิน) ล้อมเมืองฝาง 3 ปี จริง

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องจริง ปี 2138 พญาฝางกับเจ้าแม่รุ้งแสงสร้างพระพุทธรูปถวายวัดต้นผึ้ง จริง

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องจริง ปี 2307 มีราชธิดาล้านช้างชื่อนางสามผิว ถูกนำตัวมาถวายให้พระเจ้ากรุงอังวะ จริง แต่ไม่มีการล้อมเมืองฝาง

เรื่องที่สี่ เป็นนิทาน พระเจ้าสุทโธธรรมราชามาตีเมืองฝางเพราะหลงรักนางสามผิว นางสามผิวและสวามีพระเจ้าอุดมสิน พร้อมใจกันปลิดชีพด้วยการโดดบ่อน้ำซาววา เพื่อเสียสละ ตัดบทมิให้สุทโธธรรมราชาทำอันตรายใดๆ แก่ชาวฝางอีก

เรื่องสุดท้าย เป็นนิทานกึ่งคำบอกเล่า คือเคยมีพญาฝางชื่อพิมมะสารกับชายาชื่อนางโนจา/รุจา ปกครองฝางไม่ได้ เมื่อพ่ายแพ้พม่า ตัดสินใจโดดบ่อน้ำตายพร้อมทหารและนางข้าหลวงอีกหนึ่งคู่

สรุปได้ว่า เรื่องราวทั้งห้าท่อนนี้ แม้จะมีจิ๊กซอว์บางตัวที่สอดคล้องกัน (คือสงครามยึดเมืองฝางของสุทโธธรรมราชา และการเสียชีวิตของเจ้าเมืองฝางพร้อมชายาด้วยการโดดบ่อน้ำ) แต่ข้อมูลส่วนอื่นๆ ก็ถือว่ายังลักลั่นกันอยู่มาก โดยเฉพาะศักราชที่ห่างกันมากถึง 40 ปี

หากจะให้พระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิว เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง มีนามว่า พญาพิมมะสาร กับนางรุ้งแสง เหตุการณ์ของเจ้าเมืองฝางยุคนั้นก็จะไม่ร่วมสมัยกับพระเจ้าสุทโธธรรมราชา

ดังนั้น เรื่องนี้ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองฝาง คงต้องช่วยกันสืบหาหลักฐานเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ว่าตกลงแล้ว “พญาฝาง” ที่ปกครองเมืองฝางในช่วงสู้รบกับสุทโธธรรมราชานานถึงสามปี คือใครกันแน่?

อนุสาวรีย์พระนางมะลิกา ณ เนินเขา ในกองบังคับการควบคุมหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 2 อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

ธิดาคนหัวฟ้อนคือนางมะลิกาจริงหรือ?

เรายังไม่ได้เจาะลึกถึงความเป็นมาของ “ธิดาเจ้าเมืองฝาง” แต่อย่างใดเลย หากเรื่องราวของพระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิว พอมีเค้าที่จะเป็นเรื่องจริงได้อยู่บ้าง ชีวิตของ “พระนางมะลิกา” ก็ไม่ควรเป็นแค่นิทานปรัมปราด้วยเช่นกันหรือไม่?

จารึกที่ฐานพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกอีกองค์หนึ่งในวัดต้นผึ้ง ระบุจุลศักราชปีเดียวกันกับจารึกชิ้นแรก(ฐานพระพุทธรูปนั่ง) ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือตรงกับ พ.ศ.2138 ทำให้อาจารย์อินทร์ศวรเชื่อว่า ผู้สร้างพระพุทธรูปทั้งสององค์คือบุคคลเดียวกัน ได้แก่ พญาฝาง (พิมมะสาร) และนางรุ้งแสง ข้อความจารึกค่อนข้างลบเลือน จับใจความได้เพียงว่า

“สร้างโดยธิดาคนหัวฟ้อนของพญาฝาง”

คำว่า “หัวฟ้อน” แปลว่าคนโต

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์อินทร์ศวรยังได้ข้อมูลเพิ่มเติม เป็นจิ๊กซอว์อีกตัวหนึ่ง จากคำบอกเล่าของ “พ่อหนานพรหมินทร์ จรินทร” ที่เคยเดินทางไปเขตไทใหญ่ แล้วได้กราบพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่พระบาทรังรุ้ง (ฮางอุ้ง) เมืองหาง

พ่อหนานพรหมินทร์เล่าให้อาจารย์อินทร์ศวรฟังว่า บริเวณนั้นมีเจดีย์สำริดสูง 1 เมตร (เคลื่อนย้ายได้) ที่ฐานเขียนด้วยตัวอักษรล้านนาความว่า

“เจดีย์ของนางคำเอ้ยธิดาพญาฝางสร้าง”

แสดงว่า นางคำเอ้ยนี้ควรเป็นคนเดียวกันกับ “ธิดาคนหัวฟ้อน” หรือลูกสาวคนโตของพญาฝางอย่างแน่นอน

อาจารย์อินทร์ศวรจึงเชื่อมโยงไปอีกว่า ธิดาคนหัวฟ้อนในจารึกวัดต้นผึ้งก็ดี นางคำเอ้ยในจารึกที่เจดีย์เมืองหางก็ดี คือลูกสาวของพระนางสามผิว ผู้มีนามว่า “มะลิกา” ได้หรือไม่?

คำถามมีอยู่ว่า พญาฝางและชายา (ตามที่เรื่องเล่าระบุว่าคือพระเจ้าอุดมสิน กับพระนางสามผิว) นั้น จะมีพระธิดากี่องค์กันแน่ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พระนางมะลิกาคือธิดาองค์โต?

 

หลากหลายนามเวียงแม่อาย
เวียงมะลิกา เวียงสนธยา เวียงลับแล

ปัจจุบัน อ.แม่อายเป็นที่ตั้งของเวียงมะลิกา บ้างเรียกเวียงแม่อาย เวียงสนธยา เวียงลับแล เป็นเวียงที่แยกออกมาจากเมืองฝาง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือมีลำน้ำแม่อายไหลผ่าน เป็นเวียงที่พญาฝางสร้างให้ลูกสาว เวียงเหล่านี้คือเวียงเดียวกัน เพียงแต่มีชื่อเรียกหลายชื่อ

เวียงมะลิกา ตำนานการสร้างเวียงกล่าวว่า ตอนพระนางสามผิว (พระมารดาของนางมะลิกา) ทรงครรภ์อยู่นั้น พระนางเกิดขัดเคืองพระทัยต่อสนมเอกของพระเจ้าอุดมสินนางหนึ่ง จึงทำให้ไม่มีสมาธิ ขณะจุดเทียนสักการะพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ เทียนได้เผาไหม้พระโอษฐ์ของพระพุทธรูป ครั้นเมื่อคลอดพระธิดาออกมา พบว่ามีตำหนิที่พระโอษฐ์ล่างแหว่งไป ดุจเดียวกับพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ที่ถูกเปลวเทียนเผาไหม้ ฉะนั้น

เมื่อโตเป็นสาว พระเจ้าฝางเกรงจะเป็นที่อับอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมือง จึงโปรดให้สร้าง “สวนหลวง” ขึ้นทางเหนือของเวียงสุทโธ ใกล้เมืองฝาง พระราชทานให้บุตรีประทับมีชื่อว่า “เวียงมะลิกา”

ในวันที่นางมะลิกายาตราเข้าสู่เวียงแห่งใหม่มีไพร่พลตามไปด้วยจำนวนมาก ใช้เวลาเดินทางยาวนาน กว่าจะถึงเวียงก็พลบค่ำสนธยา จึงได้ตั้งชื่อเวียงใหม่แห่งนี้ว่า “เวียงสนธยา”

หอศาลองครักษ์ เวียงมะลิกา

ปริศนา “นางคำเอ้ย” เวียงหวาย เวียงนาง

นอกจากนี้ ยังมีเวียงอีกสองแห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับธิดาของพญาฝางด้วยเช่นกัน แต่จะเชื่อมโยงว่าเป็นเวียงของพระนางมะลิกาได้หรือไม่ เราลองมาวิเคราะห์พร้อมๆ กัน

เวียงแรกชื่อ “เวียงหวาย” ตั้งอยู่หมู่ 9 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง ห่างจากเวียงฝางไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ตัวเวียงอยู่บนเนินขนาดย่อม

พ่อเฒ่าจิวิ่งต่า เชื้อสายไทใหญ่เล่าให้อาจารย์อินทร์ศวรฟังว่า

“นางคำเอ้ย ลูกสาวของพญาฝาง ได้เข้ามาปกครองเวียงหวาย”

น่าสนใจว่าที่ตั้งของ “เวียงหวาย” อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองฝาง ไม่ใช่ทิศเหนือแถว อ.แม่อาย เวียงหวายจึงไม่ใช่เขตรอยต่อเชื่อมเมืองฝางไปสู่เวียงมะลิกาหรือเวียงสนธยาแต่อย่างใด

เวียงโบราณอีกแห่งหนึ่ง ใม่ไกลจากเวียงหวายมีชื่อว่า เวียงนาง อยู่บนยอดเขาไกลจากเวียงหวายไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร จากการสำรวจของอาจารย์อินทร์ศวร พบว่าเป็นตัวเวียงขนาดเล็ก รูปวงกลมมีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มีมุขปาฐะเล่าว่าเวียงนาง เป็นเวียงที่ประทับพักผ่อนของพระนางคำเอ้ย

น่าสงสัยยิ่งนักที่คนในพื้นที่แถบตะวันตกของเมืองฝาง ใกล้พรมแดนไทใหญ่ ไม่มีใครกล่าวถึง พระนางมะลิกา เลย มีแต่การกล่าวถึง “นางคำเอ้ย”

นางคำเอ้ยคือใคร เป็นพี่สาวคนโตของนางมะลิกาได้หรือไม่ จากชื่อ “เอ้ย” คือ “พี่เอื้อย” น่าจะหมายถึงพี่สาวคนโต/ ธิดาหัวฟ้อน ราชนารีท่านนี้น่าจะมีตัวตนอยู่จริง เพราะพบชื่ออย่างน้อย 2 จุด ทั้งในจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดต้นผึ้งปี 2138 หนึ่งชิ้น กับจารึกที่ฐานเจดีย์ใกล้พระบาทรังรุ้งอีกชิ้นหนึ่ง ไม่ระบุศักราช

เมื่อพิจารณาจากทำเลของเวียงหวาย-เวียงนาง พบว่าตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองฝางมากนัก หาก “พญาฝาง” ผู้เป็นพระบิดาของนางคำเอ้ย เป็นพญาฝางองค์เดียวกันกับผู้เป็นบิดาของนางมะลิกา ก็อาจเป็นไปได้ว่า พญาฝางได้สร้างเวียงหวายให้นางคำเอ้ยลูกสาวคนโตปกครอง มีเวียงนางเป็นที่ประทับพักผ่อน

และต่อมาได้สร้างเวียงมะลิกา หรือเวียงสนธยา ให้ลูกสาวคนรองปกครอง คือที่ตั้ง อ.แม่อายปัจจุบัน

 

เวียงลับแล เวียงนี้ไร้เงาบุรุษ

ตํานานเวียงมะลิกากล่าวว่า ก่อนตั้งพระครรภ์ พระนางสามผิวผู้เป็นพระมารดาทรงสุบินว่า มีช้างเผือกนำดอกมะลิมาถวาย จึงขนานนามธิดาว่า “มะลิกา” ตามความฝัน

ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า นางมะลิกามีตำหนิที่ปากแหว่ง จึงมีความอาย การใช้ชีวิตในเวียงที่แยกออกมาต่างหากจึงอยู่แบบมิดชิดคล้ายเมืองลับแล ตำนานบางกระแสกล่าวว่า ในเวียงนี้ไม่มีบุรุษเพศเลย มีแต่สตรีล้วนๆ รวมไปถึงทหารที่เชี่ยวชาญการธนู

หลังจากที่พระนางมะลิกาสวรรคตแล้ว เวียงก็ร้างลงทันทีเพราะขาดผู้นำ ขาดทายาทปกครองบ้านเมือง ถือเป็นเวียงที่อายุไม่ยืนยาวนัก มีนางพญานั่งเมืองเพียงพระองค์เดียวคือพระนางมะลิกา

ขอจบเรื่องราวของ “พระนางสามผิว” และ “พระนางมะลิกา” ไว้เพียงแต่เท่านี้ เนื่องจากพื้นที่การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองฝางนั้น ค่อนข้างห่างไกลจากตัวผู้เขียน หากในอนาคตได้พบหลักฐานอะไรเพิ่มเติมจะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง •

 

 

‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (1)

‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (2)