ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 มกราคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
ผู้เขียน | อภิญญา ตะวันออก |
เผยแพร่ |
เซอร์ไพรส์มากที่สหรัฐมอบอาวุธหนัก-แพทริออตให้ยูเครนในการรับมือปูติน ราวกับเป็นของขวัญพิเศษในการครบรอบต่อสู้กับรัสเซียอย่างทรหดมาครบปี
นี่ไม่ใช่ความบังเอิญหรอกนะที่หิมะฝั่งทวีปอเมริกาเหนือก็ตกหนักสุดในรอบ 100 ปี
แต่เมื่อกึ่งศตวรรษก่อน “ฝนดาวตก” ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคนี้ที่เขตโฮจิมินห์เทร็ลเขตสมรภูมิของ 3 ประเทศ ลาว-เวียดนาม-กัมพูชาที่สหรัฐส่งกองทหารของตนมารบกับคอมมิวนิสต์
และอย่างที่ทราบ อเมริกาก็พ่ายแพ้แก่ภูมิภาคนี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงคนหนึ่งบอกฉันว่า ถ้าไม่ถูกกดดันจากอเมริกันชนจนต้องถอนทหารแล้ว ไม่มีทางเป็นไปได้ที่คณะพล พต จะชนะลอน นอล/เขมรสาธารณะ ไม่ว่าจะในปี 1975 หรือหลังจากนั้น
แต่ฉันกลับเห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นนำกัมพูชาไปสู่อวสาน

โดยไม่ลืมว่า การถอนกองทัพออกจากเวียดนามและกัมพูชา ทำให้ไซ่ง่อน-พนมเปญซึ่งเป็นระบอบตัวแทนสหรัฐถึงกาลกับล้มครืนแล้ว
ยังทำให้ 3 ประเทศสมุนเก่าอินโดจีนเปลี่ยนไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ของจีนและสหภาพโซเวียต ถือเป็นความพ่ายแพ้แก่ยุคสงครามเย็นยกแรกของอเมริกัน
แต่ไม่กี่ปีมานี้ อเมริกันก็ซ้ำรอยเก่าที่อัฟกานิสถาน ด้วยปัญหาเดิมๆ คือการคอร์รัปชั่นอันวายวอดของรัฐบาลที่ตนคุ้มครอง ช่างเป็นสงครามที่แก้ไม่เคยตก
จนมาถึงรอบ “ยูเครน” ซึ่งอาจเป็นกรณีที่แตกต่างไปด้วยความลงตัวทั้งเวลาและคุณภาพ
และด้วยเหตุนั้นหรือไม่ ถึงทำให้อเมริกาถวายพานแพทริออต-อาวุธที่มีประสิทธิภาพและราคาที่อาจทำให้ฝ่ายศัตรูขนหัวลุกคืออยู่ที่ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนกระสุนพิสัยไกลที่ยิงออกไปหรือราว 100 ล้านบาทในแต่ละนัด!
ใจถึง-พึ่งได้
และยังแสดงให้เห็นว่าถ้าคุณพวกไม่คอร์รัปชั่น กล้าหาญมุ่งตรงที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีของอาวุธชนิดนั้น คุณไม่ถูกเราทอดทิ้ง!
เว้นเสียแต่กองกำลังท้องถิ่นจะฆ่าตัวตายด้วยการเอาอาวุธที่มอบให้ไปค้าในตลาดมืด ซึ่งพบว่าสมรภูมิที่กัมพูชาและเวียดนามใต้มอบบทเรียนนี้มาอย่างดีในปี 1970
ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นหายนะร่วมกัน

เชื่อไหม ตลอด 5 ปียุคเขมรสาธารณะ (1970-1975) นั้น การคอร์รัปชั่นช่างมีทุกรูปแบบทั้งนอกในสงคราม เพราะขณะช่วยรบไป ด้านหนึ่งของยูนิฟอร์ม หน่วยองคาพยพต่างๆ ก็ช่วยกันขโมยอาวุธยุทธภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เสบียงอาหาร ตั้งแต่บุหรี่เป็นคอตตอนไปยันน้ำมันเครื่องบินที่ไว้ใช้ในกองทัพ!
โชคดีที่ฝ่ายเขมรแดงไม่มีนักบิน ไม่งั้นทั้งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินคงถูกขายยกลำ
นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อย่างที่ทราบ หนหนึ่ง ประธานาธิบดีลอน นอล ถึงกับหัวเสีย สั่งห้ามเครื่องบินทุกประเภทบินผ่านพนมเปญ หลังจากที่เขาถูกเครื่องบินโจมตี
และผู้ที่ปฏิบัติการบนเครื่องบินลำนั้น ก็เป็นนายทหารอากาศที่ขับเครื่องบินมาจากฐานทัพของจังหวัดกำปงสปือ ส่วนอาวุธและระเบิดที่ใช้ถล่มทำเนียบจัมกามอนของนายพลลอน นอล ก็มาจากการขโมยมา ซึ่งต่อจากนั้น นาวาอากาศเอกคนดังกล่าวก็ขับเครื่องบินหายไปในป่าลึกซึ่งเป็นเขตปลดแอกของพล พต
โชคดีที่ทหารเขมรแดงมีขีดความสามารถต่ำ พวกเขาใช้เป็นแต่ปืนครกประทับบ่า ดังนี้ เรื่องการขโมยเครื่องบินยกลำไปจึงไร้ประโยชน์!
กระนั้น เหมือนเล่นเกมโปลิศจับขโมยที่เกิดขึ้นตลอดเวลาระหว่างสงครามในภูมิภาคนี้ การลักลอบอาวุธไปขายฝ่ายตรงข้ามที่นับวันจะเต็มไปด้วยหลักเหลี่ยมของแต่ละหน่วยเหล่าตั้งแต่ระดับบนจนถึงล่าง!
กองทหารจีไอจึงไม่ได้สู้กับเวียดกงแบบกองโจรเท่านั้น
แต่ยังต้องต่อสู้กับกองทัพพันธมิตรของฝ่ายลอน นอล ที่พร้อมจะขายความลับของหน่วยตนต่อทหารป่าเขมรแดง จนแยกไม่ได้ว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู
ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียศักยภาพมากมายไปกับข้อมูลลวงพราง ทั้งหน่วยรัฐบาลท้องถิ่นและประชาชนซึ่งร้ายแรงเสียกว่าการสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์
และรัฐบาลของลอน นอล ไม่ว่าจะตั้งมาสักกี่ชุดก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้เลยสักครั้ง
ตรงข้ามพวกเขากลับร่วมกันทำเป็นขบวนการ ซึ่งนับวันมีแต่จะยิ่งสยดสยอง!
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่อเมริกันทำได้อย่างมาก ก็คือการโจมตีทางอากาศไปทั่วเขตเวียดกงในกัมพูชา
ทว่า ยิ่งถล่มมากเท่าใด อาวุธในคลังก็ยิ่งหายมากเท่านั้น
และถึงขั้นที่ว่าหน่วยงานกองทัพไปร่วมมือเอกชนกันทำมาหากินอย่างเอิกเกริกโอฬาริก
ด้วยฉากเล่าต่อไปนี้ บางทีหน่วยสืบราชการลับที่แฝงตัวไปในหมู่ทหารลอน นอลในเขตพนมเปญ-กำปงสปือที่เป็นแค่ดงตาลป่าละเมาะ แต่จู่ๆ พวกเขาก็ตกอยู่ในวงล้อมแห่งความอึมครึมที่มองไม่เห็นแม้เงาศัตรู
แต่ในที่สุด ก็ต้องถอนกำลังด้วยตัวเปล่า ทิ้งอาวุธและอุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญเท่าที่มี เพื่อรักษาชีวิตทุกคนให้เหลือรอดจากกับดักแห่งนั้น!
วันหนึ่ง จู่ๆ กับดักเช่นเดิมแบบนั้นกลับไม่อาจต่อรองอีกต่อไป เมื่อกลุ่มช่างภาพและคณะนักข่าวต่างประเทศที่ออกเดินทางกันเป็นขบวนพากันไปที่แห่งหนึ่งและไม่กลับออกมาอีกเลย!

แต่ความคลุมเครือและฉ้อฉลนี้ก็ใช่ว่ากองทัพอเมริกันจะไม่ทำอะไร
พวกเขายังคงเดินหน้าสแกนหาด้วยเครื่องมือบางอย่างไม่ต่างจากเครื่องตรวจกับดักระเบิด ด้วยการส่งหน่วยลับไปทำงานในองค์กรนอกรัฐบาลอย่างเอ็นจีโอ
ในบางพื้นที่ เช่น พระตะบอง เราจึงพบว่า อดีตนักวิจัยชนกลุ่มน้อยชาวบารังจากเวียดนาม จู่ๆ ก็มาทำงานเป็นนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมพันธุ์พืชเขตร้อนและชลประทาน
การออกสำรวจอ่างเก็บน้ำของเขา พลัน นำไปสู่เรื่องการสร้างเขื่อนที่คืออำนาจทั้งฝ่ายสังคมนิยมและทุนนิยมเสรีที่มาทิ้งบอมบ์ไว้กับภูมิภาคนี้
นี่เป็นการตั้งสมมุติฐาน-ทฤษฎีอีกข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันสงครามอินโดจีน
ถ้าความจริงในความลับของกองทัพว่าด้วยสงครามคือการคอร์รัปชั่นที่ไม่เคยสูญพันธุ์ การฉ้อฉลเช่นนั้นยิ่งนานปีและนับวันก็ยิ่งแยบยลพิสดาร มันยังแทรกอยู่ในทุกมิติอณูของภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่มีดีกรีลดลง
ทั้งที่สงครามก็จบไปนานแล้ว
ตัวอย่างสมัยเขมร ที่บัดนี้ยังถูกนำมาจำลองใช้ในกองทัพของภูมิภาคนี้ อาทิ ระบบการจ่ายค่าสินไหมชดเชยแก่หน่วยรบที่ตายในสมรภูมิ ที่อนิจจา เงินสินไหมบำรุงขวัญจากงบฯ หน่วยลับอเมริกัน กลับถูกระบอบฉ้อฉลของผู้บังคับบัญชากองทัพลอน นอล-หักคอมมิสชั่นเข้ากระเป๋าตัวเอง
และนี่คือหนึ่งใน 108 ด้านของเงาอดีตที่ยังมืดมน ราวกับสงครามไม่หายไปไหนในภูมิภาคนี้ มันยังคงฝังรากมากับสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ต่างกินบุญเก่าเหล่านั้น กลับมีราคาที่ต้องจ่ายตามมากับการซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์และการคอร์รัปชั่นจากวัฒนธรรมเงินทอนคอมมิสชั่น
ราวกับเป็นดีเอ็นเอของกองทัพแห่งภูมิภาคนี้
มันยังเป็นทฤษฎีที่เกือบจะเรียกว่าการสมคบคิดที่สมบูรณ์แบบหรือไม่? ความจริงที่ว่า นายทหารชั้นอีลิตที่กำลังเผชิญกับวิกฤตรัดเข็มสมัยสมัยสีหนุคิสต์ที่ใช้เงินอย่างมือเติบ กลับร่ำรวยในทางลับ ฤๅเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ควรพิสูจน์ทราบ?
เช่นเดียวกับนายพลไทยผ้าขาวม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “ถนอม-ประภาส” ที่ล้วนแต่ร่ำรวยผิดปกติ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั่น
ในความเป็นยุคร่วมสมัยเดียวกัน ให้น่าสังเกตว่า อเมริกันไม่ได้ทิ้งบอมบ์ในสงครามคอมมิวนิสต์ที่เขมรและเวียดนาม ทว่า มันโดมิโนนั้นยังเป็นระเบิดลูกระนาดที่ติดดาบอำนาจแฝงแก่ทหารอีลิตชนชั้นนำ จนกลายเป็น “ดีเอ็นเอ” พันธุ์เดียวกันด้านคอร์รัปชั่นจากติดเชื้อความมั่งคั่งที่มาจากสงครามและความละโมบ
ที่แม้สมรภูมิสงครามอินโดจีนจะสิ้นสุดไปหลายทศวรรษแล้ว แต่ผลพวงคอร์รัปชั่นที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู ที่แม้วอชิงตันจะพยายามปิดแผลเรื้อรังด้วยการแอนตี้คอร์รัปชั่นซึ่งก็ช้าไปมาก เมื่อศาสตร์เฉพาะทางแห่งวงจรอุบาทว์นี้ ได้ฝังลึกในทุกสารบบ โดยเฉพาะองค์กรด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้
ไม่เท่านั้น ความสัมพันธ์ที่ไม่หวนคืนในกัมพูชาและเข้ามาแทรกกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังกลายเป็นหลุมดำของภูมิภาคและอาจเช่นเดียวกับไทย ตราบใดที่แรงจูงใจในคอมมิสชั่นยังเป็นปัญหาหลักที่ยังแก้ไม่ตก
ก็อย่าหมายเลยว่า หมู่บ้านนี้จะสงบ!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022