‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บุคคลผู้ที่ศึกษาเรื่อง “พระนางสามผิว” และ “พระเจ้าอุดมสิน” อย่างละเอียดตั้งแต่ช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ “อาจารย์อินทร์ศวร แย้มแสง” ปราชญ์เมืองฝาง โดยท่านได้หาหลักฐานเชื่อมโยงไว้หลายแนวทาง เมื่อเทียบกับอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ท่านทำเพียงแค่ถอดเทปคำสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่ให้ข้อมูลเรื่องพระนางสามผิวเป็นคำบอกเล่าเท่านั้น ยังมิทันได้เจาะลึกในรายละเอียด อาจารย์สงวนก็เสียชีวิตไปเสียก่อน

การจะตอบคำถามว่า พระนางสามผิวเป็นเรื่องจริงหรืออิงนิยายนั้น จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูรายละเอียดของสงครามสมัยพระเจ้าสุทโธรรมราชาเสียก่อน ว่าท่านสู้รบกับใครที่เมืองฝาง

อนุสาวรีย์พระเจ้าสุทโธธรรมราชา ในกรุงอังวะ

เจ้าเมืองฝางขณะนั้นใช่ชื่อ “พระเจ้าอุดมสิน” หรือไม่?
มูลเหตุแห่งการตีเมืองฝางของตลุนมิน

เราจึงต้องเริ่มต้นที่บุคคลชื่อ “พระเจ้าสุทโธธรรมราชา” (สิริสุธรรมราชา) ก่อน เขาคือกษัตริย์พม่าผู้มีหลายพระนาม เอกสารฝ่ายพม่าเรียก “ตลุนมิน” (สาลุน-Thalun Min) บ้างเรียก “ภวมังทรา” ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2172-2191 เทียบให้ง่ายคือ ร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา (2173-2199)

ในขณะนั้นอาณาจักรล้านนาซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ไม่มีกษัตริย์ ด้วยมิใช่รัฐเอกราช มีแต่เจ้าเมืองต่างพระเนตรพระกรรณที่พม่าแต่งตั้ง บางเมืองปกครองโดยขุนนางพม่า บางเมืองสถาปนาคนพื้นถิ่นให้ดูแลกันเอง บางห้วงบางตอนบ้านเล็กเมืองน้อยก็สู้รบแย่งชิงอำนาจกัน บางครั้งบางเมืองก็แข็งข้อต่อพม่าไปสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์อยุธยาให้มาคานอำนาจ ในขณะที่หลายเมืองยังจงรักภักดีต่อพม่า

จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์พม่า” ของ “หม่องทินอ่อง” กล่าวถึงพระเจ้าตลุนมินว่า เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงจากหงสาวดี (พระโค) ไปอยู่กรุงอังวะ และ “ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่หรือแคว้นไทใหญ่อื่นๆ”

กำแพงเมืองฝาง

นอกจากนี้ ยังมีความกังวล เฝ้าหวังว่า “สยามจะไม่ยุยงพวกไทใหญ่ให้ก่อกบฏตามตะเข็บพรมแดนอีก” แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการตีเมืองฝางของพระเจ้าตลุนมินในเอกสารเล่มนี้

หันมาดูเอกสารของฝ่ายล้านนาคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และตำนาน 15 ราชวงศ์ กล่าวว่า

“จุลศักราช 994 ตัว ปีเต่าสัน (ตรงกับ พ.ศ.2175) พระเจ้าสุทโธธัมมราชามังทรา มาเอาเมืองฝาง 3 ปีจิ่งได้”

อาจารย์อินทร์ศวรกล่าวว่า พ.ศ.2175 ช่วงที่ตำนานระบุว่าพระเจ้าสุทโธธรรมราชามาตีเมืองฝางนานถึง 3 ปีนั้น บุคคลที่ปกครองเมืองฝางหาได้ระบุนามว่า “พระเจ้าอุดมสิน” แต่อย่างใดไม่ (เรียกกันเพียงพระญาฝาง) และคิดว่าเมืองฝางช่วงนั้นเป็นเมืองขนาดเล็ก ขึ้นตรงต่อเชียงใหม่ สถานะของผู้ปกครองเมืองในแว่นแคว้นล้านนา โดยปกติก็ไม่เคยเรียกใครว่า “พระเจ้า” นำหน้าอยู่แล้ว

ช่วงนั้นทราบแต่ชื่อของเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ “เจ้าพลศึกซ้ายไชยสงคราม” (ท่านนี้เคยเป็นเจ้าเมืองน่านมาก่อน) เจ้าพลศึกซ้ายอยู่ฝ่าย “มังแรทิพพ์” (มังแรทิพพ์มีสถานะเป็นหลานอาของสุทโธธรรมราชา) มังแรทิพพ์ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดานาม “พระเจ้าอนอคเปตลุน” (หนองภักหวาน/มหาธรรมราชา) แล้วปราบดาขึ้นเป็นกษัตริย์อยู่ 1 ปีเศษ จากนั้นสุทโธธรรมราชาผู้เป็นอนุชาของอนอคเปตลุนก็แย่งชิงอำนาจหลานได้สำเร็จ

การบุกเมืองฝางของตลุนมิน เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่เจ้าพลศึกซ้ายไชยสงครามได้กระทำการอุกอาจปลดพระญาทิพพเนตรและพระญาหน่อคำ (หมวกคำ) สองพ่อลูกเจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งอยู่ฝ่ายตลุนมินมาขังไว้ที่เชียงใหม่ แล้วแต่งตั้งให้เจ้าเมืองละคอรคนของฝ่ายตนขึ้นเป็น พระญาศรีสองเมืองวิไชยปราการ ปกครองเชียงแสนแทน

ความล่วงรู้ถึงพระเจ้าสุทโธธรรมราชา จึงจำเป็นต้องยกทัพมาปราบเชียงใหม่ จับพระญาพลศึกซ้ายพร้อมกวาดต้อนผู้คนไปไว้ที่หงสาวดี และทำการลดอำนาจ ลดกำลังของเมืองเชียงใหม่ หลังจัดการเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าตลุนมินก็ขึ้นไปปราบหัวเมืองทางเหนือของล้านนาต่อ โดยเฉพาะเมืองฝาง เป็นเมืองที่ต่อต้านพม่าอย่างเข้มแข็ง ต้องใช้เวลาปราบนานถึง 3 ปี 3 เดือนจึงจักสำเร็จ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องการชี้ให้เห็นถึงมูลเหตุแห่งการสู้รบกันระหว่างพระเจ้าสุทโธธรรมราชา กับเจ้าเมืองฝาง (ซึ่งเราไม่อาจทราบนามของพระองค์รวมทั้งพระชายา) ว่ามิได้มีสาเหตุมาจากการที่พระเจ้าสุทโธธรรมราชาลุ่มหลงความงามจนต้องแย่งชิงตัวพระนางสามผิวแต่อย่างใดเลย

อนุสาวรีย์พระเจ้าอุดมสิน และพระนางสามผิว หน้าวัดป่าอุดมสิน

มี “นางสามผิว” อีกคนเป็นธิดาล้านช้าง

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 5 ได้กล่าวถึงสตรีนางหนึ่งมีนามว่า “นางสามผิว” เช่นเดียวกัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่ห่างไกลจากสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชานานถึง 132 ปี

“พม่าแต่งตั้งเจ้าฟ้าชายแก้วเป็นเจ้าเมืองปกครองลำปางปี จ.ศ.1126 (พ.ศ.2307) ล้อโป่ซุก แม่ทัพพม่าได้เอาตัวขนานกาวิล กับนายดวงทิพ บุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว ยกพลชาวเมืองลำปาง สมทบกับกองทัพพม่า ยกไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์ ได้เมืองแล้วก็เอาตัวธิดาเจ้าเมืองเวียงจันทน์ชื่อ “นางสามผิว” ส่งไปถวายพระเจ้าอังวะมังลอง”

เห็นได้ว่าชื่อของ “นางสามผิว” ก็มีอยู่จริงในช่วงปี พ.ศ.2307 ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 (ปี 2310) ทว่า เป็นคนละคน คนละเหตุการณ์กัน นางสามผิวคนนี้เป็นธิดาเจ้าเวียงจันทน์ ถูกส่งไปเป็นบาทบริจาริกาของพระเจ้ามังลอง แห่งกรุงอังวะ

น่าสนใจว่า นางสามผิวคนนี้มีความสัมพันธ์กับกษัตริย์อังวะจริง อาจเป็นเหตุให้ คนรุ่นหลังจดจำเอาชื่อพร้อมทั้งเรื่องราวระหว่างสตรีผู้มีนามว่า “นางสามผิว” กับ “กษัตริย์อังวะ” มาผสมปนเปกันกับเรื่องราวของเมืองฝางในอีกยุคสมัยหนึ่ง

น้ำบ่อซาววา

เจ้าพิมมะสาร นางแสงรุ้ง?

จิ๊กซอว์อีกสองชิ้นที่อาจารย์อินทร์ศวร แย้มแสง พยายามสืบค้นหาร่องรอยเกี่ยวกับ “พระญาฝาง” ในช่วงพม่าปกครองล้านนา แล้วนำมาปะติดปะต่อเพื่อให้ได้ทราบชื่อที่แท้จริงของพระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิวก็คือ

1. หลักฐานชิ้นแรก ข้อมูลจากหนังสือ The Thousand Miles on an Elephant in the Shan States เขียนโดย Holt Samuel Hallett เมื่อปี พ.ศ.2427

2. หลักฐานอีกชิ้นคือ จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสำริดสกุลช่างฝางองค์หนึ่ง ที่ระบุศักราชและนามของผู้อุทิศถวาย

หลักฐานทั้งสองชิ้นนี้มีรหัสของชื่อ “พิมมะสาร” กับ “นางแสงรุ้ง” ซึ่งอาจารย์อินทร์ศวรสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิว ตามการถอดรหัสดังนี้

หลักฐานชิ้นแรก หนังสือที่เขียนโดย “โฮลต์ ซามูแอล ฮาลเลตต์” วิศวกรรถไฟชาวอังกฤษ ที่เข้ามาบนแผ่นดินสยาม ล้านนา และรัฐฉาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีการแปลเป็นภาษาไทยสองครั้ง ครั้งล่าสุดโดย คุณสุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ ในบทที่ 28 ช่วงท้ายๆ ของหนังสือกล่าวถึงการเดินทางผ่านเมืองฝาง

ฮาลเลตต์บันทึกไว้ (ตามสำนวนแปลครั้งแรกที่อาจารย์อินทร์ศวร นำมาอ้างในหนังสือประวัติเมืองฝางของท่าน) ว่า

“พญาฝางชื่อ พญาพิมมะสาร พร้อมด้วยภริยาชื่อ รุ้งแสง หรือรุจา และคนสนิทชายหญิงอีกสองคนถูกจับได้ตอนเมืองฝางแตกในเวลากลางคืน และถูกมัดไว้จะนำตัวไปอังวะ แต่พอรุ่งเช้ากลับหายไป ที่มีคนพบคนตายในบ่อน้ำนั้นจริง”

สำนวนการแปลครั้งแรก ระบุชื่อภริยาของพญาพิมมะสาร ว่าชื่อรุ้งแสง ในขณะที่สำนวนแปลล่าสุดของสุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ กลับระบุชื่อว่า “โนชา”

“กลับมาเรื่องที่สนทนากับเจ้าพญา (หมายถึงเจ้าพญาไชย เจ้าเมืองฝาง ผู้ให้ข้อมูล) ท่านเล่าว่า แม่ทัพพม่าชื่อสุทโธ (Soo Too) เคยยึดเมืองฝางไว้ 3 ปี 3 เดือน ผู้คนส่วนใหญ่หลบหนีไปเมืองเชียงใหม่ ตอนนั้น พญาพิมพิสาร (Phya Pim-ma-san) เป็นเจ้าหลวง ภรรยาชื่อ “นางโนชา” (Nang Lo cha) ในคืนที่เมืองฝางแตก เจ้าหลวงปีนไปซ่อนตัวบนต้นไม้ แต่ทหารพม่าจับได้ กลายเป็นนักโทษถูกล่ามโซ่ติดกับภรรยา และขุนนางตัวโปรดอีก 2 คน ถึงตอนเช้าทั้ง 4 คนก็หายตัวไป และพบเป็นศพในบ่อน้ำที่ท่านชี้ให้ดูนั่นเอง”

ฮาลเลตต์บันทึกเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 140 ปีก่อนนับจากปัจจุบัน โดยผู้ที่เล่าให้เขาฟังต้องเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังกลับไปอีกนานถึง 248 ปี (เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของปี 2175 ในปี 2423) โดยที่ตัวผู้บันทึกเองก็มีการแสดงความเห็นต่อท้ายไว้ว่า

“เรื่องนี้เหมือนดัดแปลงมาจากประวัติเจ้าชายมองโกลแห่งเมืองคุนหมิง ที่เมื่อจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิงทรงยึดเมืองคุนหมิงได้ใน พ.ศ.1924 ทั้งเจ้าชาย ชายา และขุนนางคนสนิทต่างกระโดดน้ำตายในทะเลสาบใกล้เมือง”

ย้อนกลับมาดูการแปลคำว่า พิมมะสาร-พิมพิสาร จากต้นฉบับ Pimmasan นั้นพอเข้าใจได้ว่าคือชื่อเดียวกัน ทว่า ชื่อ Lo Cha นี่สิ ซึ่งเมื่อแปลเป็น โนชา โนจา รุจา ยังพอกล้อมแกล้ม เหตุไฉนการแปลครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนจึงลากไปไกลเป็นรุ้งแสง?

หลักฐานชื่อของ “รุ้งแสง” แม้ไม่มีในบันทึกของวิศวกรชาวอังกฤษ หากปรากฏในจารึกที่ฐานพระพุทธรูปสกุลช่างฝาง ณ วัดแห่งหนึ่ง เรื่องนี้ต้องอธิบายกันอีกยาวในฉบับหน้า •

 

‘พระนางสามผิว’ และ ‘พระนางมะลิกา’ เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? (1)