ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มกราคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
‘ส่อง’ กิจกรรมหนุ่มสาวพระนคร ไปกับพลนิกรกิมหงวน (1)
ป.อินทรปาลิตสัญญากับผู้อ่านสมัยรัฐนิยมว่า “พล, นิกร, กิมหงวน ต่างก็ได้สัญญากันว่า ตนจะเปนสุภาพบุรุสที่เต็มไปด้วยคุนธัมและวัธนธัม เพื่อสแดงไห้เห็นว่า ประเทสไทยเราเปนอารยะแล้ว ฉะนั้น นายลิงทั้งสามจึงสแดงบทบาทแต่ที่หยู่ไนขอบเขตแห่งความเปนสุภาพบุรุสเท่านั้น”
(ป.อินทรปาลิต, 2486)
พ่อแสนกล
บันทึกฉากน้ำท่วมด้วยตัวอักษร
หัสพลนิกรกิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต มิใช่เพียงเรื่องตลกขบขันอ่านเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังบันทึกเรื่องราวทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งเหตุการณ์ร่วมสมัยภายหลังการปฏิวัติ 2475 ไว้ได้อย่างสำคัญ
เฉกเช่นเดียวกับการบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมพระนครเมื่อ 2485 ไว้ด้วยเช่นกัน
ในตอน “พ่อแสนกล” นี้ เขาเขียนขึ้นในช่วงปลายปี 2485 ภายหลังน้ำท่วมไม่นาน
จึงบรรจุเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากแค้นของคนไทยในยามสงครามโลกที่สังคมไทยถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยอุทกภัยในยุคสมัยรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้ด้วย (พีระพงศ์ ดามาพงศ์, 2550, 27)
ลอยเรือ-เล่นเพลงของหนุ่มสาว
ข้าราชการมหาดไทยร่วมสมัยคนหนึ่งเล่าถึงพระนครยามต้องน้ำท่วมไว้ว่า “บริเวณพระบรมรูปทรงม้า น้ำท่วมแค่บั้นเอว การไปมาในพระนครต้องใช้เรือกันทั่วทุกหนทุกแห่ง น้ำท่วมอยู่กว่าเดือน อาหารการกินก็ขาดแคลน ต้องมีการปันส่วนตามคูปอง…” (จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 2520, 12-13)
กระนั้นก็ดี ยังมีผู้บันทึกไว้อีกว่า แม้นน้ำท่วมจะสร้างความทุกข์ให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่และครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับ “หนุ่มสาวเด็ก ดีใจ เพราะได้เที่ยว ขี่เรือพาย ร่ายเลี้ยว สมถวิล พวกเด็กเล็ก เล่นธารา เป็นอาจินต์ ว่ายโผผิน ทั้งเล่นเรือ เหลือห้ามปราม” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 35)
ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2485 จอมพล ป.บันทึกถึงกิจกรรมหนุ่มสาวที่ออกมาเล่นเพลงเรือครั้งน้ำท่วมอย่างครึกครื้นว่า “ผ่านพระบรมรูป เห็นพี่น้องของเราลอยเรือ เล่นเพลงใต้แสงจันทร์เปนแพใหย่ น่าสนุก ฉันนึกก็ดีเหมือนกัน ถ้าทุกคนเปนทุกข์หย่างชาวนา น้ำท่วมไปทุกหนทุกแห่ง เมืองไทยคงเปนเมืองเส้าเมืองโสกไปหมด…” (สามัคคีไทย, 122-123)
บรรยากาศหวานชื่นของหนุ่มสาวครั้งนั้นทำให้กรมโฆษณาการจัดให้วงดนตรีกรมโฆษณาการขับกล่อมเพลง “ลอยล่องนาวา” ของครูเอื้อ สุนทรสนาน ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงให้ชาวพระนครได้ฟังกันเลยทีเดียว (ลาวัลย์, 2536)
น้ำท่วมพระนคร
ในหัสนิยายพลนิกรกิมหงวน
เมื่อพระนครต้องน้ำท่วมแล้ว บ้านพัชราภรณ์น้ำก็เริ่มเอ่อท่วมเพิ่มขึ้นทุกวัน ป.อินทรปาลิตใช้ปากเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ สะท้อนความรู้สึกนึกคิดแทนคนพระนครว่า
“น่าสงสารพี่น้องร่วมชาติของเราที่ต้องอุทกภัยในครั้งนี้…ฉันคิดว่าในสองสามวันนี้ คงจะท่วมพระนครเป็นแน่ เท่าที่ฟังรายการวิทยุ ก็ปรากฏว่า น้ำไหลเรื่อยลงมาทุกที ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ไร่นาก็ท่วมหมด ชาวนาไม่มีที่อยู่อาศัย รัฐบาลกำลังเร่งมือทำการช่วยเหลืออย่างแข็งแรง…”
น้ำท่วมครั้งนี้หนักถึงขนาดที่ร้านค้าต่างๆ จำนวนมากต้องปิดทำการ ส่วนพลนิกรเจ้าของห้างพัชราภรณ์ที่ถนนราชดำเนิน รวมทั้งร้านค้า โรงสีของกิมหงวน ไม่สามารถเปิดร้านได้เช่นกัน พวกเขาจึงต้องอยู่บ้านเฉยๆ เจ้าคุณปัจจนึกฯ จึงเปรยว่า เห็นใจและสงสารเหล่าเกษตรกร ที่ไร่นาล่มและคงต้องอดอยากยากแค้น
เย็นวันนั้น สมาชิกในบ้านพัชราภรณ์ลงขันเงินบริจาคช่วยเหลือประชาชนได้ 4,499 บาท โดยเจ้าคุณปัจจนึกฯ นำเงินไปบริจาคที่กรมประชาสงเคราะห์ (ป.อินทราปาลิต, 2486, 28)
ฉากน้ำท่วมในพลนิกรกิมหงวน
ป.อินทราปาลิตบันทึกฉากพระนครน้ำท่วมด้วยอารมณ์ชวนหัวว่า
“ในที่สุดจังหวัดพระนครก็ถูกอุทกภัยคุกคาม น้ำไหลบ่าท่วมถนนสายต่างๆ ท่วมบ้านเรือเคหสถานทุกหนทุกแห่ง ระดับสูงขึ้นทุกๆ วัน พระนครหลวงราวกับกรุงเวนิส การคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ข่าวที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นความจริง เช่น รถยนต์ชนกับเรือจ้าง…
บนถนนรถกับเรือแล่นกันสับสนอลหม่าน คลื่นของรถบัสประจำทางราวกับเรือกลไฟที่เดินในแม่น้ำ หนุ่มๆ สาวๆ เห็นเป็นของสนุก พากันเดินท่องน้ำหาเรื่องให้เท้าเปื่อย บ้างก็พายเรือเล่น พวกสุภาพสรีต่างนุ่งกางเกงขาสั้น…การท่องน้ำเล่นโก้เป็นอยู่ 3-4 วัน ทางการเห็นไม่เป็นเรื่อง ก็สั่งตำรวจตะครุบผู้ที่ท่องน้ำหรือพายเรือเล่นด้วยความสนุกสนาน” (ป.อินทราปาลิต, 33)
ระดับน้ำท่วมในพระนครครั้งนั้นสูงถึง 1.25 เมตร ทำให้บ้านพัชราภรณ์ถูกน้ำท่วม และเรือนต้นไม้เสียหาย พืชผักสวนครัวของเหล่าภริยาที่ปลูกตามนโยบายรัฐนิยมต้องจมหายลงไปใต้กระแสน้ำ กรงไก่ที่สามเกลอเคยเห่อนั้น ขณะนี้ถูกน้ำท่วมกรงจนต้องยกพื้นยกกรงไก่ขึ้น
ส่วนชั้นล่างของตัวตึกใหญ่ของบ้านพัชราภรณ์และที่ตึกเหล่าสหายพักนั้นน้ำท่วมเข้าไปยังชั้นล่างของอาคาร เจ้าคุณประสิทธิ์ฯ ต้องจ้างช่างไม้ทำคานไม้ยกรถหลายคันขึ้นสูงให้พ้นระดับน้ำ เหล่าสามเกลอก็อลหม่านวุ่นเรื่องน้ำท่วมมากมาย ร้านค้าปิดของพวกเขาต้องปิดขาดรายได้ ยกเว้นนายปัจจนึกพินาศที่ยังมีรายได้จากลูกหนี้ที่มาชำระดอกเบี้ยไม่เว้นแต่ละวัน
ในหัสนิยายบันทึกความลำบากยากเย็นในยามน้ำท่วมของชาวพระนครว่าเป็นของธรรมดา ทุกบ้านเรือนต้องยกพื้นเรือนหนีน้ำ ส่งผลให้ราคาไม้กระดานแพงเท่าเหล็กในเวลาก่อนสงคราม อาหารการกินแพงหูฉี่ ก๋วยเตี๋ยวเริ่มขึ้นราคาจากชามละ 5 สตางค์เป็น 10 สตางค์
ป.อินทรปาลิตบันทึกว่า ของกินของใช้ขณะนั้นล้วนขึ้นราคาทั้งนั้น โดยเฉพาะอาหารประเภทผักสด ราคาแพงจับไม่ติด แทบไม่มีใครกล้าซื้อกิน เช่น ผักกาน้ากิโลละ 10 สลึง คนจนล้วนย่ำแย่ ส่วนคนรวยก็สบาย แม้นรัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะช่วยได้ เช่น แจกข้าวสาร ยกพื้นกระดานสำหรับทางเดินให้ตามหน้าห้องแถว ส่งแพทย์ออกตรวจตราความทุกข์สุขของราษฎรแล้วก็ตาม ดูเหมือนจิตใจของชาวพระนครครั้งนั้นเข้มแข็งยิ่ง
เมื่อเหล่าพลนิกรกิมหงวนออกไปทำงานไม่ได้ ไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์ไม่ได้ แต่ต้องใช้เรือแล้วไปต่อรถสามล้อถีบสลับต่อเรือและรถเป็นช่วงๆ ทำให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่ชอบไปเที่ยวหาของกินอร่อยๆ ที่ย่านราชวงศ์ แต่เมื่อน้ำท่วม ค่าเดินทางขึ้นราคาตามไปด้วยเฉลี่ยราว 3 บาท พร้อมความทุลักทุเลในการแต่งกายชุดสากลที่ต้องถอดรองเท้าถือเพื่อเดินลุยน้ำอวดประชาชี (ป.อินทรปาลิต, 34-35)
อย่างไรก็ตาม ป.อินทรปาลิตบันทึกถึงขวัญกำลังใจของชาวพระนครในครั้งนั้นไว้ว่า ถึงแม้ประชาชนจะต้องประสบอุทกภัยและอยูในสถานะสงคราม แต่พวกเขายังตั้งมั่นอยู่ในความสงบ มีกำลังใจเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับสถานการณ์อันคับขันได้ดี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022