‘คลั่งชาติ’ ด้วยประวัติศาสตร์หลงยุค

นักเรียนทั่วประเทศไทยถูกยัดเยียดความรักชาติด้วยประวัติศาสตร์ “หลงยุค” ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่รักษาโครงเรื่องหลักแบบ “นิยาย” จากประวัติศาสตร์ชนชาติไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้าที่กำหนดให้จีนเป็นศัตรูผู้รุกรานขับไล่ชนชาติไทย และด้อยค่าเพื่อนบ้านด้วยการยกตนข่มท่าน

ประวัติศาสตร์ชนชาติไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้ามีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้ (1.) ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่เทือกเขาอัลไต ซึ่งอยู่ทางเหนือของจีนต่อเขตมองโกเลีย (2.) ถูกจีนรุกรานต้องถอยร่นลงทางใต้ แล้วชนชาติไทยสร้างอาณาจักรน่านเจ้า (3.) ต่อมากองทัพจีนโจมตียึดอาณาจักรน่านเจ้า แล้วขับไล่ชนชาติไทยอพยพถอนรากถอนโคนไปตั้งหลักแหล่งบริเวณประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของมอญและเขมร

ประวัติศาสตร์ฉบับอัลไต-น่านเจ้า ถูกคัดค้านจากนักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและนานาชาติ โดยเฉพาะจากนักวิชาการจีนที่แสดงหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดียืนยันแข็งแรงว่าจีนไม่เคยขับไล่ชนชาติไทย และน่านเจ้าไม่ใช่ของชนชาติไทย แต่เป็นของชาติพันธุ์ที่พูดตระกูลภาษาจีน-ทิเบต

กระทรวงศึกษาธิการต่อมาได้ปรับปรุงหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ด้วยการ (1.) ยกเลิกเรื่องอัลไตเป็นแหล่งกำเนิดชนชาติไทย (2.) ยกเลิกน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของ ชนชาติไทย และ (3.) ยกเลิกจีนขับไล่ชนชาติไทย ฯลฯ

แต่ไม่เลิกเรื่องชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในจีนตามฉบับอัลไต-น่านเจ้า เพียงไม่ระบุชื่อจีนตรงๆ แต่ใช้โวหารบอกว่าหลักแหล่งเดิมของชนชาติไทยอยู่เหนือขึ้นไปจากดินแดนไทยปัจจุบัน

 

“เชื้อชาตินิยม” ในโรงเรียน

ประวัติศาสตร์ที่ใช้เพื่อการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ เป็นประวัติศาสตร์ “แนวตั้ง” ของคนกลุ่มเดียวที่เรียกชนชาติไทย จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ “หลงยุค” แบบ “เชื้อชาตินิยม” มีเนื้อหาเริ่มแรกสรุปดังนี้

(1.) ชนชาติไทยสืบย้อนหลังได้ราว 2,000 ปีที่แล้วหรือก่อนหน้านั้น (2.) มีหลักแหล่งเดิมอยู่เหนือขึ้นไปจากดินแดนประเทศไทย (3.) ต่อมามีการเคลื่อนย้ายจากแหล่งเดิมลงทางใต้สู่ดินแดนลาวและไทยปัจจุบัน

[สรุปจากหนังสือรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของกระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2563 หน้า 95-99]

 

หนังสือเรียนมีปัญหา


[1.] ไม่มีชนชาติไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์

ชนชาติ หมายถึง เชื้อชาติสายเลือดบริสุทธิ์ เป็นความเข้าใจตรงกันอย่างกว้างขวางในไทยตั้งแต่สมัยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติ” เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศและเพลงชาติจากสยามเป็นไทย

เชื้อชาติ-RACE ไม่มีจริงโดยธรรมชาติ แต่ (1.) ถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุโรปมากกว่า 200 ปีมาแล้ว (ซึ่งตรงกับไทยสมัยอยุธยาก่อนกรุงแตก 2310) (2.) จากนั้นแพร่ถึงไทยสมัยล่าอาณานิคม (3.) ต่อมาถูกชนชั้นนำใช้งานราว 100 ปีมาแล้ว (ในแผ่นดิน ร.6) และ (4.) ถูกใช้ในประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการราว 90 ปีมานี้ หรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

จากหลักฐานแสดงมานี้ย่อมเป็นพยานว่าไม่มีชนชาติไทย-เชื้อชาติไทยสมัยกรุงธนบุรี, กรุงศรีอยุธยา, กรุงสุโขทัย ฯลฯ หรือกรุงไหนๆ ก่อนหน้านั้นขึ้นไป

ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับตามที่ระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องชนชาติไทยสืบย้อนหลังได้ราว 2,000 ปีมาแล้ว

[2.] ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์ ไม่เคยมีบริเวณเหนือขึ้นไปจากดินแดนประเทศไทย

“เหนือขึ้นไปจากดินแดนประเทศไทย” (ในประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ) ข้อความที่ยกมาเจตนาจะให้หมายถึงดินแดนจีนภาคใต้ซึ่งเป็นที่รับรู้ในหมู่นักวิชาการสากลว่าบริเวณนี้ถูกเรียก “โซเมีย” เป็นถิ่นฐานของคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่จีนเรียก “เยว่” มีมากเป็นร้อยเผ่า โดยไม่มีชนชาติไทย-เชื้อชาติไทย แต่มีกลุ่มชนพูดตระกูลภาษาไท-ไต (ไท-กะได) ที่เรียกตนเองด้วยชื่อต่างๆ ได้แก่ ลื้อ, จ้วง, ผู้ไท, ผู้โท้, ผู้นุง ฯลฯ ไม่เรียกตนเองว่าไทย หรือชนชาติไทย-เชื้อชาติไทย

[3.] ไม่มีการเคลื่อนย้ายจากเหนือลงใต้

การเคลื่อนย้ายของชนชาติไทย-เชื้อชาติไทยจากแหล่งเดิมทางเหนือลงใต้ ด้วยการอ้างหลักฐานพงศาวดารล้านช้างกับตำนานสิงหนวัติ ตามที่มีในประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต้องทำความเข้าใจร่วมกันในสาระสำคัญ ดังนี้

(หนึ่ง) พงศาวดารล้านช้างกับตำนานสิงหนวัติ เป็นเรื่องเล่าความเป็นมาของบรรพชนลาว 2 กลุ่ม ซึ่งถูกเรียกสมัยหลังๆ ว่าลาวพุงขาว (ลุ่มน้ำโขง) กับลาวพุงดำ (ลุ่มน้ำสาละวิน)

(สอง) ทิศทางเคลื่อนไหวไม่ใช่จากเหนือลงใต้ แต่ทำแนวทแยงตะวันตก-ตะวันออก ดังนี้

พงศาวดารล้านช้าง เคลื่อนไหวในแนวตะวันออกไปตะวันตก จากลุ่มน้ำแดงในเวียดนามไปลุ่มน้ำโขง (ลาว, ไทย) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตำนานสิงหนวัติ เคลื่อนไหวในแนวตะวันตกไปตะวันออก จากลุ่มน้ำสาละวิน (พม่า) ไปลุ่มน้ำคำ-กก-อิง (ไทย)

“เคลื่อนย้าย” กับ “เคลื่อนไหว” ให้ความเข้าใจและความรู้สึกต่างกัน เคลื่อนย้าย มุ่งไปในทาง “ยกครัว” หรือ “ยกโขยง” ไปพร้อมกันหมดไม่เหลือใครอยู่ที่เดิม เคลื่อนไหว มุ่งไปในทางคนกลุ่มหนึ่งออกเผชิญโชค หรือ “แยกครัว” ไปก่อบ้านสร้างเมืองใหม่ โดยไปๆ มาๆ ไม่ตัดขาดหรือทิ้งถิ่นเดิม แต่พ่อแม่พี่น้องส่วนใหญ่ไม่ได้ไปด้วยทั้งหมด แต่อยู่บ้านเดิม

พงศาวดารล้านช้างและตำนานสิงหนวัติ ระบุชัดเจนว่าพ่อแม่และพี่น้องกลุ่มหลักยังอยู่ที่เดิม เพราะไม่ได้เคลื่อนไหว “แยกครัว” ไปอยู่ที่ใหม่พร้อมกันกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวแยกไปที่ใหม่ และทั้งสองกลุ่มมีการติดต่อไปมาหาสู่กันไม่ขาดสายตราบจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์ “เชื้อชาตินิยม” ในการศึกษาไทย อยู่ในหนังสือรายวิชาพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ

คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน?

“ชนชาติไทย” เป็นคำมีปัญหาที่สื่อไปทาง “เชื้อชาติไทย” ซึ่งไม่มีในโลก จึงควรปรับเป็นเรื่องราวของ “คนไทย” ที่มีคำถามนานแล้ว และจะมีต่อไปไม่สิ้นสุดว่า คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน?

“คนไทย” เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ และตรวจสอบไม่ได้ด้วยดีเอ็นเอ แม้นักโบราณคดีไทยกลุ่มหนึ่งพยายามหลายครั้งพิสูจน์ความเป็นไทยด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และดีเอ็นเอ แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะพิสูจน์ไม่ได้

คนไทยเป็นลูกผสม “ร้อยพ่อพันแม่” จากคนหลายชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์และในโลก ที่พูดภาษาไทยและมีวัฒนธรรมไทย แล้วกลายตนเป็นไทย ซึ่งพบหลักฐานและร่องรอยเก่าสุดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีศูนย์กลางอยู่อยุธยา เรือน พ.ศ.1900

ดังนั้น คนไทยมีความเป็นมาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความเป็นคนและความเป็นไทย โดยความเป็นคนมีก่อน ส่วนความเป็นไทยมีภายหลัง

ความเป็นคน หมายถึง คนเท่ากันล้วน “ไม่ไทย” ในอุษาคเนย์และในโลก โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์ [สอดคล้องกับโคลงว่า “ฝูงคนกำเนิดคล้าย คลึงกัน / ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง” (พระราชนิพนธ์ ร.5)]

คน “ไม่ไทย” เหล่านี้อยู่ในรัฐอยุธยา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วอยู่ในวัฒนธรรมไทย นานไปก็กลายตนเป็นไทย (บรรพชนคนไทยทุกวันนี้) เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและชุมชน

ความเป็นไทย หมายถึง ภาษาและวัฒนธรรมไทยที่แลกเปลี่ยนแล้วผสมกลมกลืนกับภาษาและวัฒนธรรมอื่นซึ่ง “ไม่ไทย” เช่น มอญ, เขมร, มลายู, อินเดีย, จีน ฯลฯ รวมทั้งแขกมุสลิมและฝรั่ง

รากเหง้าของภาษาและวัฒนธรรมไทย คือ ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต มาจาก “โซเมีย” ระหว่างพรมแดนตอนใต้ของจีนกับตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์จ้วง-ผู้ไท ราว 3,000 ปีมาแล้ว

ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต เคลื่อนไหวตามเส้นทางการค้าดินแดนภายใน (โดยคนไท-ไตไม่จำเป็นต้องโยกย้ายหรืออพยพตามไปด้วย) จากตะวันออกไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ ถึงลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีบอกเป็นสัญลักษณ์อยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม และพงศาวดารล้านช้าง •