“ป้ออุ๊ยน้อยเมือง จินาจันทร์” ลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยคนสุดท้าย

พํ่อฯอุ้ยฯน้อฯยฯเมิอฯง จินาฯจันฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ป้ออุ๊ยน้อยเมือง จินาจันทร์”

ป้ออุ๊ย หมายถึง ปู่หรือตา
น้อย เป็นคำนำหน้าชื่อของคนที่บวชเป็นสามเณรมาก่อน

พ่ออุ๊ยน้อยเมือง จินาจันทร์ จึงเป็นปู่หรือตาชื่อเมือง และเคยบวชเป็นสามเณร โดยเป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยคนสุดท้าย

พื้นเพเดิมท่านเป็นคนดอยเต่า บรรพชาเป็นสามเณรพร้อมกับพ่อน้อยหมื่น จินาจันทร์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ได้ไปอยู่กับครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดบ้านปาง และเดินทางติดตามไปถึงวัดสวนดอก เพื่อปฏิบัติดูแล พร้อมกับได้ศึกษาเรียนรู้การถือศีลภาวนากับครูบาฯ มาโดยตลอด

โดยเฉพาะช่วงที่ครูบาฯ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

 

พ่อน้อยเมือง ซึ่งเป็นสามเณรอยู่ในขณะนั้นก็ได้มีส่วนร่วมด้วย

โดยเฉพาะในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2478 ซึ่งเป็นที่มาของภาพประวัติศาสตร์ ที่เรียกกันว่า “วันจอบแรกครูบา” โดยมีครูบาศรีวิชัยนั่งบนรถยนต์ พร้อมด้วยหลวงศรีประกาศ และเถ้าแก่โหงว คหบดีเชียงใหม่

ในภาพนั้นยังมีครูบาอภิชัยขาวปีร่วมอยู่ในภาพด้วย รายล้อมไปด้วยภิกษุ สามเณร คฤหัสถ์ ที่มาช่วยกันสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในวันนั้น เป็นจำนวนมาก

ในภาพดังกล่าว พ่อน้อยเมืองได้เข้าไปนั่งใกล้กับพระครูบาฯ ตรงบริเวณบันไดรถยนต์คันนั้น ตอนนั้นท่านอายุได้ประมาณ 16 ปี และเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2565 ชมรมอนุรักษ์รถเก่าเชียงใหม่ นำรถยนต์คันดังกล่าวมาให้พ่อน้อยเมืองได้นั่งตรงที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับเวลาแล้วได้ผ่านมานานถึง 87 ปี

ในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ท่านได้ให้เหล่าศิษยานุศิษย์กลับบ้านของตนเองไปก่อน พ่อน้อยเมืองจึงลาสิกขา และกลับบ้าน โดยไม่ได้กลับไปอุปสมบทเป็นภิกษุ

จึงมีคำเรียกพ่ออุ๊ยว่า “น้อย” ในชื่อ “เมือง” ของท่าน

 

ท่านแต่งงานกับ แม่สีมา มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 9 คน

หลังจากแม่สีมาได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหลายปี ท่านก็ครองตัวอยู่คนเดียวมาตลอด ส่วนลูกๆ ก็มีครอบครัวของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กันจึงผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาดูแลพ่อน้อยเมืองที่บ้าน

พ่อน้อยเมือง จินาจันทร์ ได้ยึดเอาคำสอนของครูบาศรีวิชัยเป็นที่พึ่งพิง และปฏิบัติตัวอยู่ในศีลธรรมอันดีมาโดยตลอด โดยตอนเช้าท่านจะสวดภาวนาบท “ป๋ารมีสามสิบตั๊ด” ของครูบาฯ ทุกวัน

พ่อน้อยเมืองเคยเล่าว่า เมื่อครั้งเป็นสามเณร ท่านได้อยู่ใกล้ชิดครูบาศรีวิชัย เพื่อดูแลรับใช้ทุกเรื่องที่ครูบาฯ ต้องการ รวมทั้งการสวดมนต์ภาวนา นับลูกประคำ ซึ่งท่านจะเป็นคนต้นเสียงขึ้นบทสวด เพราะพระและสามเณรกล่าวคำสวดไม่ค่อยได้ พ่อน้อยเมืองจึงทำหน้าที่คล้ายกับเป็นหัวหน้า

ทั้งยังได้ดูแลจัดการของที่คนนำมาถวายแก่ครูบาฯ ทั้งของกิน ของใช้ ในการหุงหาอาหาร ก็จะช่วยกันทั้งหมด

นอกจากถือศีลห้า ภาวนาตลอดทุกวันแล้ว กิจกรรมที่พ่อน้อยเมืองยังทำอยู่ ถึงแม้จะอายุมากแล้ว คือ การเขียนยันต์ป๋ารมีสามสิบตั๊ดของครูบาฯ ที่เขียนด้วยลายมือตัวเองทุกผืน

นอกจากนี้ ยังเขียนคำคาถาบูชาเทียน สีเทียนบูชาลดเคราะห์ มีคาถากำกับตามราศีเกิด หรือตัวเปิ้ง (ปีนักษัตร) ของแต่ละคน ซึ่งบรรดาลูกหลานญาติพี่น้องที่มากราบคารวะ หรือมารดน้ำดำหัว ท่านก็จะมอบผ้ายันต์และเทียนบูชาให้ติดตัวไป

ด้านสุขภาพร่างกายของพ่อน้อยเมือง ถือว่าแข็งแรง แม้อยู่ในช่วงอายุถึงร้อยปีเศษ (หลักฐานตามทะเบียนราษฎร เกิดวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2462) ท่านยังตื่นเช้าประมาณตี 3 ตี 4 ทุกวัน สามารถรับประทานอาหารได้แทบทุกอย่าง หูได้ยินเมื่อคนถาม ดวงตาก็มองเห็นได้ชัดเจน เมื่อลูกหลานญาติพี่น้องมาเยี่ยมก็ยังจดจำได้

พ่อน้อยเมือง จินาจันทร์ เพิ่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา สิริอายุรวม 103 ปี

นับว่าท่านเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ล้านนาผู้หนึ่ง ที่มีผู้บันทึกภาพ เสียง และผลงานไว้มากมาย

ขออานิสงส์ที่พ่อน้อยเมือง จินาจันทร์ ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากครูบาฯ มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร จงเป็นพลวปัจจัยหนุนส่งให้ดวงวิญญาณของพ่อน้อยเมืองไปสุคติ ณ สัมปรายภพ •