บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา ’35 (ตอน1)

โดย “มือเก่า”

“เดลิมิเรอร์” 17 สิงหาคม 2533 หน้า 1-2 หัวข้อ แนะน้า ยุบสภาลาออก

“เอกภาพ” แนะคุณน้า ว่าควรจะรักความเป็นรัฐบุรุษเอาไว้ ด้วยการ ยุบสภา หรือ ลาออกดีกว่า

ด้าน นายสุชา จุลเพชร ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้ออกแถลงการณ์ โดยเริ่มจากคดีทุจริตปั๊มก๊าซของ นายสันติ ชัยวิรัตนะ รมช.มหาดไทย และลุกลามใหญ่โตถึงขั้นประจานกันเอง…ตามคำเปิดเผยของ นายสันติ ชัยวิรัตนะ ที่ว่า พรรคกิจสังคมบังคับให้ รมต. ของพรรคหาเงินเข้าพรรค 500 ล้านบาทนั้น…โดยไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลขัดขวาง ก็แสดงว่าทุกพรรคมีพฤติกรรมอย่างเดียวกัน

สหภาพฯ ในฐานะองค์กรของประชาชน ผู้ใช้แรงงาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ลาออกทั้งคณะ เพื่อรับผิดชอบต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างเป็นมหกรรมโกงบ้านกินเมืองในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งนับเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย “รัฐบาลคอร์รัปชั่นจงลาออกไป”

เรื่องอื้อฉาวเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการขับไล่รัฐบาลนายกฯ ชาติชาย

“สยามรัฐ” 16 ตุลาคม 2533 จากคอลัมน์ “ซอยสวนพลู”

เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานซืนนั้น ทำให้ผมได้รับความกระทบกระเทือนใจมากที่สุด และอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของผม คือ เรื่องนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเผาตัวตายไป 1 คน

เหตุของการเผาตัวตายนี้ ก็เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของคุณชาติชาย ชุณหะวัณ ลาออกจากตำแหน่ง หรือยุบสภา เมื่อรัฐบาลคุณชาติชาย มิได้สนใจในคำเรียกร้องนี้ และทำท่าเฉยเมยอยู่ นักศึกษาชุดนี้ ซึ่งมีประมาณ 10 คน ก็ได้ขึ้นไปบนเวที…ในเวลาเที่ยงของวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อได้พูดจาด่าว่ารัฐบาลอย่างรุนแรงแล้ว นักศึกษาคนหนึ่ง ชื่อ นายธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ ก็ได้เอาน้ำมันเบนซินราดตัวจนโชก แล้วเอาไฟแช็กจุดบุหรี่ จุดตัวขึ้นลุกโพลงไปทั้งตัว เป็นการจุดไฟเผาตัวเองจริงๆ ตามที่ได้เคยพูดไว้ ถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมทำตามคำเรียกร้อง

…เมื่อนายธนาวุฒิ ถูกไฟลวกไปทั้งร่าง ก็ส่งเสียงร้องโอดโอยไปทั่วบริเวณ แล้ววิ่งลงเวทีไป มีไฟลุกท่วมตัว เมื่อเพื่อนนักศึกษาหายตกตะลึง จึงได้วิ่งเข้าไปช่วยกันใช้เสื้อผ้าตบเอาไฟออกจากตัวนายธนาวุฒิ แต่ดูเหมือนจะช้าไปเสียแล้ว เพราะกว่าจะเอาตัวนายธนาวุฒิไปโรงพยาบาลได้ นายธนาวุฒิก็ถึงแก่กรรม

แสดงถึงการต่อต้านรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย อย่างรุนแรง

“สยามรัฐ” 19 ตุลาคม 2533 หัวข้อ “ทรรศนะ” โดย ชวลิต รุ่งแสง

ขณะนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์หนัก เรื่อง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เดินสายปราศรัยหาเสียงในแง่มุมต่างๆ แต่มาฮือฮากันมาก ตรงที่…บิ๊กจิ๋วโจมตีรัฐบาลว่า “พายเรือให้โจรนั่ง”

บิ๊กจิ๋วเคยเปิดเผยว่า เป็นผู้สนับสนุน จัดให้พลเอกชาติชายขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อเห็นรัฐบาลเป็น “โจร” จึงเปรียบเสมือนตนเป็นผู้พายเรือให้ “โจร” นั่ง

“มติชนสุดสัปดาห์” 29 พฤษภาคม 2535 บทความพิเศษ โดย ดร.วิชัย ตันศิริ

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ช่วงบ่ายได้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง…คณะนายทหารที่เรียกตนเองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. ได้เข้ายึดอำนาจรัฐ ควบคุมตัว ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยเหตุผล 5 ประการ คือ

1. พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวงของคณะบริหารประเทศ

2. ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ

3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

4. การทำลายสถาบันทางทหาร

5. การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ประชาชนก็ไม่รู้สึกแปลกใจอะไร ส่วนหนึ่งคาดคะเนว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ส่วนหนึ่งก็อาจจะแอบดีใจ ที่จะได้เห็นการล้มกระดานกันเสียที อันที่จริง ข้อกล่าวหาที่ รสช. กล่าวหาทั้ง 5 ข้อ ก็มีส่วนถูกอยู่มากเช่นกัน ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าไม่มีกลุ่มพลังใดๆ ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร

ไม่ต่อต้าน และยังแสดงความยินดีอีกด้วย

“มติชน” 25 กุมภาพันธ์ 2534 หัวข้อ “ประชาชนหลั่งใหล มาลัยน้ำใจบิ๊กสุ”

13.00 น. ที่สวนรื่นฤดี นายขจิต ไชยนิคม ประธานสมาพันธ์ครู และตัวแทนภาคต่างๆ อีก 5 คน ได้มอบกระเช้าดอกไม้ให้พลเอกสุจินดา

นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู กล่าวกับพลเอกสุจินดา ว่า สมาคมครู 117 องค์กรทั่วประเทศ ขอแสดงความยินดี และเห็นด้วยกับการกระทำครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศชาติประสบปัญหาคอร์รัปชั่น สมควรได้รับการแก้ไข

“มติชน” 27 กุมภาพันธ์ 2534 หัวข้อ “ดอกไม้ให้บิ๊กสุมีเยอะ”

14.00 น. ที่สวนรื่นฤดี กลุ่มสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝายผลิตฯ นำโดย นายสุชา จุลเพชร ประธานสหภาพ และตัวแทนจากคณาจารย์มหาวิทยาลัย นำโดย นายสมพล มงคลพิทักษ์ ประธานสภาคณาจารย์กลางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มอบกระเช้าดอกไม้ เพื่อเป็นกำลังใจ และสนับสนุนคณะ รสช.

สื่อมวลชนรายงานถึงเสียงสนับสนุน รสช. จากหลายสาขาอาชีพ

“มติชน” 28 กุมภาพันธ์ 2534

หัวข้อ ส.ส.ร้อง เลิกกฎอัยการศึก

13.30 น. ที่หอประชุมกองทัพบก คณะผู้แทนราษฎรจากหลายพรรค จำนวน 50 คน ได้นำกระเช้าดอกไม้มามอบให้พลเอกสุจินดา แสดงความเห็นด้วยกับกรณีที่ รสช. จะให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้

พลเอกสุจินดา กล่าวกับคณะอดีต ส.ส. ภายหลังรับดอกไม้ว่า ต้องขอโทษที่ทำให้ ส.ส. ตกงาน จิตใจไม่มีเจตนาเช่นนั้น แต่เพราะไม่มีทางเลือก ในวิธีสุดท้ายที่คิดจะทำกัน โดยคิดว่า วิธีนี้จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยดีขึ้น ขอยืนยันว่า จะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว

พลเอกสุจินดา กล่าวถึงการปฏิวัติของ รสช.

“ข่าวสด” 13 พฤษภาคม 2535 หน้า 21 หัวข้อ คราวนี้ห้ามขาด “ปฏิวัติ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา การปฏิวัติ เป็นการทำลายประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พลเอกสุจินดากล่าวว่า ไม่ ถ้ามีบางอย่างที่จำเป็นเขาคงต้องทำ ในฐานะที่ผมเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นคนสามารถจะทำได้ก็ต้องทำ

อีกครั้งหนึ่ง ที่พลเอกสุจินดากล่าวถึงการปฏิวัติ แต่ที่ชัดเจนที่สุด น่าจะมาจากการเปิดเผยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน น.ส.พ.สยามรัฐ วันที่ 14 ธันวาคม 2537 คอลัมน์ ซอยสวนพลู

ใจความว่า ท่านนายกฯ ชาติชายคิดหาวิธีที่จะป้องกันทหาร มิให้ยึดอำนาจจากท่าน แต่วิธีของท่านนั้นเสมือนกับเป็นการดึงฟ้าลงมาป้องกันเก้าอี้ของตนเอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของ รสช.

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับ 29 พฤษภาคม 2535 หน้า 42 โดย ดร.วิชัย ตันศิริ

รสช. ได้แสดงจุดยืนว่า ไม่มีเจตนาจะยึดอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และตั้งใจจะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด…

…ภายหลังจากที่ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ แล้ว การณ์กลับปรากฏว่า รัฐบาลอานันท์ดูจะดำเนินการค่อนข้างเป็นอิสระ จากแนวนโยบายของ รสช. ในหลายๆ กรณี จนกระทั่งระยะหลังได้รับสมญานามว่า เป็นรัฐบาลลืมเปลือกหอย

ความอะลุ้มอล่วยและผ่อนปรนของ รสช. จะเห็นได้จากกรณีที่ให้เสรีภาพหนังสือพิมพ์ ในขอบเขตที่กว้างขวางในระยะต่อมา

แปลว่า ประชาธิปไตยเบ่งบานในสมัย รสช. สื่อมวลชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ รสช. ได้อย่างเสรี เป็นยุคที่เสรีภาพสว่างไสวยิ่งกว่ารัฐบาลเลือกตั้งบางสมัยเสียอีก

“สยามรัฐ” 15 เมษายน 2536 หน้า 5 จากบทความของ ศ.บุญชนะ อัตถากร เรื่อง บันทึกความทรงจำช่วงหนึ่งกับ รสช.

ตามประวัติศาสตร์ 60 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่า การปฏิวัติ รัฐประหารทุกครั้งในประเทศไทย คณะผู้ยึดอำนาจจะใช้ “อำนาจปฏิวัติ” เพื่อรักษาอำนาจของตน ให้สืบทอดต่อไป สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ตรงกันข้าม คณะ รสช. มิได้ใช้อำนาจเช่นนั้น คณะ รสช. ได้มอบให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเศษ โดยรัฐบาลอานันท์มิได้ให้ความสนใจในอำนาจปฏิวัติของ รสช. เพราะนายกฯ อานันท์ เป็นผู้ที่มีความคิดทางการเมืองเป็นเสรีนิยม คณะ รสช. มีความเป็นสุภาพบุรุษและเกรงใจนายกฯ อานันท์มาก ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เพราะนโยบาย และการกระทำของรัฐบาลอานันท์ มีผลทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย

เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2475 ที่มีการปฏิวัติแล้วคณะปฏิวัติไม่ยอมขึ้นสู่อำนาจ แสดงว่ามีเจตนาจะสืบทอดอำนาจหรือไม่

“มติชน” 21 เมษายน 2536 จากใจ นายอานันท์ ปันยารชุน

…ที่จริงแล้ว เขาสามารถที่จะให้คนใดคนหนึ่งในคณะทหาร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เมื่อแสดงความจริงใจอยากได้พลเรือน และเปิดโอกาสให้ผมเลือกคณะรัฐบาลได้ 80-90% และได้รับการยืนยันว่า เป็นการยึดอำนาจชั่วคราว ต้องการให้มีการร่าง รธน. ต้องการให้มีการเลือกตั้ง และพวกเขาจะลุกจากหน้าที่ไป

แสดงว่า รสช. เป็นเผด็จการหรือไม่ ต้องการอำนาจ หรือหวังสืบทอดอำนาจหรือไม่