On History : ปราสาทพนมรุ้ง สืบความศักดิ์สิทธิ์ มาจาก ‘หินใหญ่’ ในศาสนาผี / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ปราสาทพนมรุ้ง

สืบความศักดิ์สิทธิ์

มาจาก ‘หินใหญ่’ ในศาสนาผี

 

ข้อมูลจากศิลาจารึกที่ปราสาทพนมรุ้งช่วยให้เราทราบว่า ปราสาทประธาน รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในแผนผังหลัก (master plan) ที่ปราสาทพนมรุ้งนั้น สร้างขึ้นโดย (หรือไม่ก็สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแก่) “นเรนทราทิตย์” เจ้านายคนสำคัญแห่งราชวงศ์มหิธรปุระ

กล่าวโดยสรุป ราชวงศ์ “มหิธรปุระ” ก็คือราชวงศ์ที่มีพื้นเพอยู่ในบริเวณพื้นที่เขมรสูงหรือ “ขแมร์เลอ” คือพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อีสานใต้) ของประเทศไทยในปัจจุบัน

ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้คือ หิรัณยวรมัน ที่มีพื้นเพมาจากเมืองกษิตีนทราคราม (ยังไม่ทราบร่องรอยว่าหมายถึงที่ไหน?) เรื่องนี้ค่อนข้างน่าแปลกใจ เพราะตามธรรมเนียมขอมโบราณ ชื่อเมืองมักจะเป็นชื่อเดียวกับชื่อกษัตริย์ผู้สถาปนาวงศ์ หรือเมืองนั้นขึ้นมา

ตัวอย่างเช่น ชื่อตามจารึกของราชธานีอันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรขอมยุคคลาสสิค อย่างเมืองพระนครคือ “ยโศธรปุระ” นั้น ตั้งตามพระนามของกษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองคือ พระเจ้ายโศวรมันที่ 1

หรือเมือง “ภวปุระ” ที่เชิงเขาวัดพู ในแคว้นจำปาสัก ประเทศลาว ก็ตั้งขึ้นตามชื่อของพระเจ้าภววรมัน ผู้เป็นพี่ชายของเจ้าชายจิตรเสน ที่ต่อมาจะครองราชย์เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคต้นของเจนละอย่างพระเจ้ามเหนทรวรมัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จารึกทั้งหลายในดินแดน “ขแมร์กรอม” หรือเขมรต่ำคือพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มตนเลสาปเขมร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบันนั้น ต่างก็อ้างตรงกันว่า มหิธรปุระ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของดินแดนของตนเอง ก่อนที่จะมามีอำนาจเหนือราชบัลลังก์เมืองพระนครในช่วงประมาณหลัง พ.ศ.1600 จนได้สร้างปราสาทสำคัญอย่างปราสาทนครวัด และปราสาทบายน อันเป็นปราสาทศูนย์กลางของนครธม หรือเมืองพระนคร เหมือนกันทั้งสิ้น

ปราสาทพนมรุ้งจึงเป็นเทวาลัยที่คนในราชวงศ์มหิธรปุระสร้างขึ้น บนถิ่นฐานอำนาจดั้งเดิมของตนเอง คือดินแดนเขมรสูง ในช่วงเวลาที่อำนาจของราชวงศ์ที่ว่านี้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เพราะเป็นที่ยอมรับกันดีว่า ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นในช่วงหลังการก่อสร้างปราสาทนครวัดแล้วเสร็จ แต่สร้างก่อนการเกิดขึ้นของเมืองพระนครหลวง คือมีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1650-1700

 

แต่อันที่จริงแล้ว ตัวปราสาทประธาน และสิ่งปลูกสร้างอื่นภายในแผนผังหลัก ที่สร้างขึ้นพร้อมองค์ปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้ง ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่ที่สุดบนยอดเขาพนมรุ้งหรอกนะครับ เพราะยังมีปราสาทหลังน้อย ที่ก่อขึ้นจากอิฐอีก 2 องค์ตั้งอยู่ทางด้านข้าง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน

ปราสาทอิฐทั้งสองหลังนี้มีลวดลายจำหลักแสดงให้เห็นว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงราว พ.ศ.1500 ซึ่งก็สอดคล้องกับการพบจารึกที่ปราสาทพนมรุ้งหลายหลัก ที่มีศักราชเก่าแก่ถึงช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะจารึกปราสาทพนมรุ้ง 3 ซึ่งข้อความในด้านที่ 1 ของจารึกหลักนี้ได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ได้ถวายเพดาน, สร้างสระน้ำ, สร้างกองอิฐ, ถวายอาศรม พร้อมทาสและสิ่งของต่างๆ แก่เทวสถาน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่ปราสาทพนมรุ้งจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น ได้มีการเคารพบูชา และเป็นเทวาลัย หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว

พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 นั้น อ้างตนว่า สืบเชื้อสายขัตติยะมาจากวงศ์แห่งเมืองภวปุระ ที่บริเวณวัดพู (คือวงศ์ของพระเจ้าภววรมัน และเจ้าชายจิตรเสนคือ มเหนทรวรมัน ที่มีอำนาจเหนือพื้นที่เขมรสูง หรืออีสานใต้ของไทยปัจจุบันเป็นอย่างมาก) แต่เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร ในเขมรต่ำคือที่ราบลุ่มตนเลสาปเขมร เมื่อ พ.ศ.1487 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับอายุสมัยของปราสาทน้อยทั้ง 2 หลังที่ว่านี้

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 จะเป็นผู้สร้างปราสาทอิฐหลังน้อยทั้งสองหลังนี้ ก็คงจะไม่น่าแปลกใจอะไรนัก

 

ในจารึกปราสาทพนมรุ้ง 3 หลักเดิม ยังมีข้อความในด้านที่ 2 กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ผู้เป็นบุตรชายของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ว่า ได้ถวายสิ่งของและข้าทาสแก่เทวสถานบนเขาพนมรุ้งนี้อีกด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทวสถานบนเขาพนมรุ้งได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ปราสาทอิฐทั้งสองหลังที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หลักฐานของความศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ที่สุด บนยอดเขาพนมรุ้งนี้อยู่นั่นเอง เพราะยังมีจารึกปราสาทพนมรุ้ง 1 ซึ่งก็พบที่ปราสาทหลังนี้เช่นกัน แต่มีรูปแบบตัวอักษรเก่าแก่ไปถึงช่วงราว พ.ศ.1200-1300 ซึ่งนักอ่านจารึกโบราณเรียกตัวอักษรแบบนี้ว่า ตัวอักษรแบบหลังปัลลวะ (ปัลลวะ เป็นชื่อราชวงศ์ทางตอนใต้ของอินเดีย ตัวอักษรที่ใช้กันในราชวงศ์นี้ได้แพร่หลายเข้ามาสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์เมื่อหลัง พ.ศ.1100 และได้วิวัฒนาการรูปแบบจนต่างไปจากที่ใช้กันในราชวงศ์ดังกล่าว จึงเรียกกันว่า อักษรแบบหลังปัลลวะ เพราะพัฒนารูปแบบจนต่างไปจากอักษรแบบปัลลวะ)

ถึงแม้ว่าข้อความในจารึกปราสาทพนมรุ้ง 1 นั้น จะไม่ได้บอกอะไรกับเรามากไปกว่าว่า ได้มีการสร้างวัตถุบางอย่างขึ้นเพื่อผลบุญตามคำแนะนำของนักบวช

แต่การมาสร้างอะไรที่ว่านั้น (ซึ่งไม่มีข้อมูลพอจะระบุได้ว่าเป็นอะไร?) บนยอดเขานั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า ยอดเขาแห่งนี้นั้นถึงว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่บนนั้นมาตั้งแต่เมื่อช่วง พ.ศ.1200-1300 คือช่วงก่อนหน้าการสร้างปราสาทประธานที่ปราสาทพนมรุ้งมาเฉียดๆ 500 ปีเลยทีเดียว

และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ถ้าจะว่ากันตามจารึกปราสาทพนมรุ้ง 2 ซึ่งมีปีศักราชระบุตรงกับ พ.ศ.1532 (ตรงอกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ที่มีพระนามอยู่ในจารึกปราสาทพนมรุ้ง 3 ด้านที่ 2) ก็เรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นว่า “กมรเตง ชคต วนํรุง” คือ “ผู้เป็นเจ้าแห่งพนมรุ้ง”

ภาพซ้าย : ฐานของมุขทางด้านหน้า ของปราสาทประธานที่พนมรุ้ง อันเป็นที่ประดิษฐานทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ สลักฐานบัวชุดล่างสุดไม่ครบชุด คือขาดท้องไม้บางส่วน และฐานบัวคว่ำ คงเป็นเพราะข้อจำกัดของขนาดหินศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่เดิม ภาพขวา : ฐานปราสาทประธานที่พนมรุ้ง สลักขึ้นจากหินใหญ่ ตามธรรมชาติ ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมในศาสนาผี ภาพถ่ายโดย : ศิริวุฒิ บุญชื่น

ดังนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้มีหลักฐานการขึ้นมากระทำการบัดพลีสังเวยต่างๆ บนยอดเขาพนมรุ้งตั้งแต่เมื่อหลัง พ.ศ.1200 นั้นก็คือ “ผู้เป็นเจ้าแห่งพนมรุ้ง” นี่เอง

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ นั่นคือเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้คืออะไรแน่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้เราอาจพิจารณาได้จากชุดฐานบัวชั้นล่างสุด ที่ปราสาทประธาน ของปราสาทพนมรุ้งเอง เพราะฐานปราสาทที่ว่านี้สลักขึ้นจากหินก้อนใหญ่ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บนยอดเขาพนมรุ้ง

แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมมีการบูชาหินใหญ่ก้อนนี้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อในวัฒนธรรมการบูชาหิน (megalithic culture) มาก่อนหน้าที่จะมีการสร้างปราสาทหลังนี้เมื่อหลัง พ.ศ.1650 แล้ว

ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.1500 ซึ่งอาจสร้างในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 นั้น ก็สร้างขึ้นอยู่ทางด้านข้างของเจ้าหินใหญ่ก้อนนี้ นัยว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชาเจ้าหินใหญ่ โดยในสมัยนั้นอาจถูกจับบวชเข้าไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยถือว่าเป็น “สวยัมภูวลึงค์” คือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งถือกันว่าเป็นศิวลึงค์ประเภทที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

และจึงไม่แปลกอะไรนักที่เมื่อจับบวชหินใหญ่ในศาสนาผี ให้กลายมาเป็นศิวลึงค์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ก็จะตั้งชื่อเรียกเจ้าหินศํกดิ์สิทธิ์ก้อนนี้ว่า “กมรเตง ชคต วนํรุง”

ยิ่งเมื่อมีการใช้หินใหญ่ ก้อนเดียวกันนี้เองมาสลักเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพนมรุ้ง จึงเป็นการควบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีดั้งเดิม เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพนมรุ้ง ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ ที่ใช้สำหรับเป็นที่สถิตรวมเข้ากับพระศิวะของนเรนทราทิตย์ เชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์มหิธรปุระ ตามความเชื่อในลัทธิเทวราชของพวกขอมยุคคลาสสิค

เอาเข้าจริงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของ “ศิวลึงค์” ที่ปราสาทพนมรุ้งนั้น จึงเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับความเฮี้ยนของผีที่ประจำอยู่ใน “หินใหญ่” บนยอดเขา ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้เป็นเจ้าแห่งเขาพนมรุ้งนั่นแหละครับ