ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤศจิกายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
พระธาตุศรีสองรัก
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี
ที่ถูกฉาบหน้าด้วยความเป็นพุทธ
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพิ่งจะฟ้องศาลจังหวัดเลย เพื่อจะขอคืนที่ดิน 106 ไร่ บริเวณ “พระธาตุศรีสองรัก” ไปดูแลจัดการ โดยอ้างว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ พ.ศ.2103 ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในจารึกโน่นเลย
เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า “พระธาตุศรีสองรัก” เป็น “วัด” ที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ และถ้าจะว่ากันโดยศัพท์แสงในศาสนาพุทธแล้ว ก็ไม่มีส่วน “สังฆาวาส” คือที่อยู่ของสงฆ์เสียด้วยซ้ำ
ภายในวัดมีเฉพาะเขต “พุทธาวาส” คือ พื้นที่ในส่วนของการประกอบพิธีกรรม ที่มีองค์พระธาตุ และวิหารที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ก็เท่านั้น
ดังนั้น พื้นที่ภายในเขตวัดพระธาตุศรีสองรัก จึงถูกดูแลโดยกลุ่มฆราวาสผู้ศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุ เช่น มูลนิธิพระธาตุศรีสองรัก และกองทุนปกป้องพระธาตุศรีสองรัก เป็นต้น
แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ กลุ่มบุคคลที่เข้ามามีบทบาทในปริมณฑลความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุองค์นี้อีกกลุ่ม ก็คือกลุ่มคนที่ผูกโยงพวกตนเองกับตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งก็เป็นตำนานที่ดูจะเกี่ยวข้องกับ “ศาสนาผี” อยู่มาก
แถมตำนานที่เกี่ยวข้องกับอะไรที่เรียกว่า “ผี” ที่พระธาตุศรีสองรัก ยังไม่ได้มีตำนานเดียวอีกด้วยนะครับ
เช่น ตำนานหนึ่งเล่าว่าเมื่อครั้งที่มีการสร้างพระธาตุองค์นี้ ได้มีผู้ศรัทธาสองนายคือ นายมั่น กับนายคง ยอมอุทิศชีวิตของตนเองให้เป็นผีเฝ้าพระธาตุ (ในทำนองเดียวกันกับตำนาน อิน จัน มั่น คง ถูกจับฝังทั้งเป็นเป็นผีเฝ้าเสาหลักเมือง) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตำนานที่น่าสนใจมากกว่าคือเรื่องของ “เจ้าพ่อกวน” กับ “เจ้าแม่นางเทียม” ซึ่งเล่าว่าเป็นชายหญิงที่ถูกกีดกันไม่ให้รักกัน จนสุดท้ายหนีมาแอบอยู่ในอุโมงค์ภายในพระธาตุศรีสองรักขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่ แต่ช่างผู้ก่อสร้างพระธาตุไม่รู้ว่ามีคนอยู่ข้างใน จึงก่อผนังปิดทับ จนทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตอยู่ข้างใน และกลายมาเป็นผีเฝ้าพระธาตุอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
และก็เป็นกลุ่มของสายตระกูล ที่ผูกโยงสายตระกูลของตนเองเข้ากับ “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียม” นี่แหละ ที่มีความเกี่ยวโยงกับการใช้พื้นที่พระธาตุศรีสองรักอย่างน่าสนใจ เพราะว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่คู่นี้มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญกับพระธาตุศรีสองรัก และพื้นที่เมืองของ อ.ด่านซ้าย อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ
ในปัจจุบันนี้ “เจ้าพ่อกวน” คือผู้ทำหน้าที่ดูแลหอบ้าน และเข้าทรงเมื่อมีพิธีเลี้ยงบ้านประจำปี โดยผู้ที่จะเป็นเจ้าพ่อกวนได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ถูกเลือกโดย “ผีเจ้าเมือง” (ที่มาลงทรง) การแต่งตั้งเจ้าพ่อกวนจะมีเมื่อเจ้าพ่อกวนคนเดิมเสียชีวิต หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยจะเลือกลูกหลานในสายตระกูลของเจ้าพ่อกวนคนเดิมเป็นผู้สืบทอด
แต่ผู้ที่ได้รับการสืบทอดเป็น “เจ้าพ่อกวน” นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงของเจ้าพ่อกวนเท่านั้นหรอกนะครับ เพราะยังเป็นของร่างทรงพระเสื้อเมือง และพระทรงเมือง (คือ ผีบรรพชนของเมือง) ฝ่ายไทย (ซึ่งถูกเรียกว่าฝ่ายขวา) ซึ่งตามความเชื่อท้องถิ่นของด่านซ้าย มีทั้งสิ้น 4 องค์ได้แก่ เจ้าเมืองวัง เจ้าแสนเมือง เจ้าองค์หลวง และเจ้าองค์ไทย
เจ้าพ่อกวนยังมีผู้ที่ได้รับเลือกเป็น “พ่อแสน” เป็นผู้ปรนนิบัติของผีฝ่ายชายอีก 10 คน โดยจะถูกเลือกโดยการถูกผูกข้อมือ (ซึ่งก็มักจะเป็นคนในสายตระกูลเช่นกัน) เมื่อพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ลงทรงเจ้าพ่อกวน มีลำดับหน้าที่ และชื่อตำแหน่งดังนี้ แสนด่าน (หัวหน้า) แสนหอม แสนฮอง แสนหนูรินทร์ แสนศรีสองฮัก แสนต่างใจ แสนศรีฮักษา แสนศรีสมบัติ และแสนกำกับ
ในขณะที่ “เจ้าแม่นางเทียม” นั้นก็มีลักษณะคล้ายร่างทรงเจ้าพ่อกวน ที่สืบทอดทางสายตระกูล แต่ทำหน้าที่ลงทรงพระเสื้อเมือง และพระทรงเมืองฝ่ายซ้าย คือฝ่ายลาวทั้ง 4 ได้แก่ เจ้านางเค้า เจ้านางจวง เจ้านางจัน และเจ้านางน้อย มี “นางแต่ง” เป็นผู้ปรนนิบัติรวมทั้งสิ้น 4 คน ซึ่งก็ถูกแต่งตั้งเมื่อเจ้าแม่นางเทียมองค์ลง ไม่ต่างกับการแต่งตั้งพ่อแสนโดยเจ้าพ่อกวน
ที่แตกต่างกันคือ ฝ่ายเจ้าแม่นางเทียมจะมี “พ่อแสน” ที่ถูกเจ้าพ่อกวนแต่งตั้งคอยปรนนิบัติอยู่ด้วย 9 คน ได้แก่ แสนเขื่อน (หัวหน้าแสนฝ่ายซ้าย) แสนคำบุญยอ แสนจันทร์ แสนแก้วอุ่นเมือง แสนบัวโฮม แสนกลางโฮง แสนสุขะ เมืองแสน และเมืองจันทน์
จะเห็นได้ว่าหากตัดเรื่องราวทางความเชื่อ และจิตวิญญาณออกไปแล้ว ในทางสังคม ระบบความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม เป็นการลำดับความสัมพันธ์ในสายตระกูล ผ่านความเชื่อเรื่อง “ผี” เพื่อที่จะทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่างๆ ในชุมชนเมืองด่านซ้าย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมในความเชื่อของศาสนาผี หรือศาสนาพุทธก็ตามที
เพราะทั้งเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม และคณะพ่อแสนนางแต่งทั้งหลาย มีหน้าที่ปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ขณะที่มีการเซ่นไหว้พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองประจำปี และพิธีกรรมสำคัญที่ขึ้นชื่อของด่านซ้ายอย่าง ผีตาโขน นอกจากนี้ เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียมยังมีหน้าที่ทำบะบน และแก้บะบน ให้แก่ผู้ที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ดูแลบ้านของเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่กวนเอง ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควบคู่ไปกับการดูแลศาลประจำเมืองอีก 2 แห่ง ได้แก่ หอหลวง และหอน้อย กับวัดสำคัญ 2 แห่งคือ วัดโพนชัย และแน่นอนว่าย่อมหมายรวมถึง วัดพระธาตุศรีสองรักด้วย
ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยสักนิด ที่จะมีตำนานเรื่องเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม สิ้นใจตายอยู่ภายในพระธาตุ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เชื่อมโยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีในชุมชนเมืองด่านซ้าย กับ “พระธาตุ” ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งปลูกสร้างในศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของพระธาตุศรีสองรักนั้นออกจะมีเรื่องราวที่ซับซ้อนมากกว่านั้นอยู่พอสมควร
โดยทั่วไปแล้วมักจะอ้างกันว่า ประวัติการสร้างพระธาตุศรีสองรักนั้น ปรากฏอยู่ในจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งมีข้อความระบุว่า เมื่อระหว่างเรือน พ.ศ.2103-2106 กษัตริย์ 2 พระองค์คือ พระเจ้าไชยเชษฐา แห่งล้านช้าง ศรีสัตนาคนหุต กับพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา คือพระมหาจักรพรรดิ ได้กระทำพิธีกระทำสัตย์สาบานกันว่า จะเป็นมิตรต่อกัน ด้วยการนำน้ำจากกระออมทองของกษัตริย์ทั้งสองมาเจือเข้าด้วยกัน เป็นพิธีกรรมที่สลับซับซ้อน มีการกล่าวคำปฏิญาณ ก่อนจะหลั่งน้ำสัจจโจทกลงบนพื้นแผ่นดิน โดยมีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นพยาน และประกอบพิธี
ถึงแม้ว่าข้อความในจารึกหลักนี้จะปรากฏคำว่า “สีมาสองรัก” อยู่ในบรรทัดที่ 27 ของด้านที่ 1 และบรรทัดที่ 21 ในด้านที่ 2 ของจารึก (จารึกหลักนี้มี 2 ด้าน เขียนถึงเรื่องราวเดียวด้วยตัวอักษรที่แตกต่างกัน คือด้านที่ 1 เขียนด้วยตัวธรรมอีสาน ส่วนด้านที่ 2 เขียนด้วยตัวอักษรขอม แต่ทั้งหมดเป็นภาษาไทย) แต่ก็ไม่ได้มีระบุชัดว่า ให้มีการสร้างพระธาตุขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พระธาตุศรีสองรัก นั้นควรจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานถึงพิธีกระทำสัตย์สาบานที่ระบุถึงในจารึกนี่เอง
ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้วนะครับ เพราะเมื่อครั้งที่พวกฝรั่งเศสได้ขนเอาจารึกหลักนี้ไปไว้ที่ลาวเมื่อ พ.ศ.2449 นั้น (ปัจจุบันจารึกหลักนี้เก็บรักษาอยู่ที่ หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว) พระครูลุน และพระแก้วอาสา นายอำเภอด่านซ้ายในขณะนั้น ได้จำลองจารึกขึ้นใหม่ เรียกกันว่า จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 2 (ในขณะที่จารึกหลักที่ถูกขนย้ายไปยังเมืองเวียงจันทน์เรียก จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1) โดยได้เพิ่มข้อความต่างๆ เข้าไปอีกมาก
ในบรรดาข้อความ (ซึ่งย่อมถูกตีความใหม่ตามโลกทัศน์ของผู้จำลองจารึกขึ้น) ที่ถูกเพิ่มขึ้นในจารึกหลักใหม่ที่ว่านี้ ก็ได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นเป็น “อุทิศเจดีย์ศรีมหาธาตุให้เป็นเอกสีมา” (บรรทัดที่ 30)
พร้อมๆ กันกับที่เพิ่มเติมข้อความว่า ใช้พระธาตุนี้เป็น “หลักด่าน” (ดูในบรรทัดที่ 30-31) คือ “เขตแดน” ระหว่างอยุธยา และล้านช้าง ตามความเข้าใจของคนในช่วงรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคที่สยามกำลังปักปันเขตแดน กับชาติเจ้าอาณานิคมที่เข้ามาปกครองพม่า, มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา ทั้งๆ ที่เขตแดนในความหมายอย่างจารึกที่สร้างขึ้นนี้ ไม่เคยมีอยู่ในสำนึกของคนในอุษาคเนย์ยุครัฐจารีต
เอาเข้าจริงแล้ว “พระธาตุศรีสองรัก” จึงควรจะเป็น “สีมาสองรัก” ในจารึก ซึ่งก็คือ “เครื่องหมายแสดงเขต” ว่าเป็นพื้นที่บริเวณที่พระไชยเชษฐา และพระมหาจักรพรรดิ ได้กระทำพิธีสัตย์สาบานว่าจะเป็นมิตรต่อกัน
พิธีดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดที่ระบุอยู่ในจารึกแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพิธีกรรมในศาสนาผี ที่เชิญเอาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาในกรุงศรีอยุธยา และล้านช้าง มานั่งเป็นพระอันดับให้ขลังขึ้นก็เท่านั้น
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่วัดแห่งนี้จะไม่เคยมีพระจำพรรษา แถมยังมีอะไรที่คล้ายๆ กับ “นักบวช” ในศาสนาผีอย่าง เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม เป็นผู้คอยอุปัฏฐากดูแล
(อันที่จริงแล้ว จากข้อมูลแวดล้อมก็ชวนให้เชื่อได้มากว่า บริเวณพื้นที่วัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีมาก่อน ไม่อย่างนั้นพระเจ้าไชยเชษฐา กับพระมหาจักรพรรดิจะไปทำพิธีสัตย์สาบานที่นั่นทำไม?)
การที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอ้างว่า วัดพระธาตุศรีสองรักเป็นวัดในพุทธศาสนามาตั้งแต่เริ่มแรก โดยอ้างข้อมูลจากจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก จึงเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างมาก เพราะจารึกหลักเดียวกันนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณวัดพระธาตุศรีสองรักเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี เพียงแต่ใช้ “พระธาตุ” ของศาสนาพุทธมาเป็นเครื่องหมาย เพราะอำนาจทางวัฒนธรรมของรัฐจารีตยุคโน้น ผูกอยู่กับฉากหน้าที่เป็นพุทธศาสนาก็เท่านั้น