On History : ลวดลายรูปแฉกคล้ายดาว บนหน้ากลองมโหระทึก หมายถึง ‘ขวัญ’ ไม่ใช่ ‘ดวงอาทิตย์’ / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

ลวดลายรูปแฉกคล้ายดาว

บนหน้ากลองมโหระทึก

หมายถึง ‘ขวัญ’ ไม่ใช่ ‘ดวงอาทิตย์’

 

กลองมโหระทึก ทำขึ้นจาก “สำริด” โดยทั่วไปแล้ว สำริดคือโลหะผสมที่ได้มาจากการนำ “ทองแดง” ผสมเข้ากับ “ดีบุก” ดังนั้นในทาง ดนตรีวิทยา (musicology) จึงไม่ใช่กลอง เพราะไม่ได้ขึงหน้ากลองด้วยหนัง หรือวัสดุอย่างอื่นที่ไม่ใช่โลหะ

แต่นับเป็นวัฒนธรรมการตีเครื่องโลหะจากภายนอก (ที่ตีจากภายในคือ bell หรือกระดิ่ง ที่พบเห็นอยู่ตามโบสถ์คริสต์) โดยเรียกกันว่า “Gong” ซึ่งก็คือการทับศัพท์คำว่า “ฆ้อง” เอาไปใช้นั่นเอง

เครื่องดนตรีประเภทที่ถูกเรียกว่า “ฆ้อง” นี้ พบกระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทางด้านตะวันออก ของมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งหมู่เกาะ และผืนแผ่นดินใหญ่ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น (เพิ่มเติมให้ว่า วัฒนธรรมฆ้อง นี้มักจะพบคู่กันกับการตีกลองใบใหญ่ๆ อย่างกลองไทโกะของญี่ปุ่น)

ในสมัยโบราณ กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว มีชื่อเรียกกลองชนิดนี้ในหลายๆ ชื่อ เช่น กลองทอง กลองกบ ฆ้องบั้ง ฯลฯ แต่ชื่อที่ผมสนใจและอยากจะพูดถึงในที่นี้คือ กลองทอง เพราะกลองมโหระทึกพวกนี้มีเพิ่มสัดส่วนของ “ดีบุก” เข้าไปมากกว่าปกติ อย่างที่เรียกในโลกภาษาอังกฤษว่า “high tin bronze” ทำให้สำริดที่ได้จะวิบวับแวววาว และดัดแต่งให้เป็นรูปทรงได้ง่ายขึ้น

แน่นอนด้วยว่า การที่กลองมโหระทึกเหล่านี้ผลิตขึ้นจากวัสดุที่เป็นโลหะมีค่า อย่างสำริดที่มีส่วนผสมของตะกั่วในสัดส่วนที่สูงกว่าปกติ จนถูกเรียกว่า “กลองทอง” นั้น ย่อมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เครื่องดนตรีแน่ แต่ยังมีสถานภาพเป็นของมีค่า หรือเครื่องสูง ดังจะเห็นร่องรอยว่าในงานพระราชพิธีสำคัญของไทยในปัจจุบัน ยังมีการใช้กลองมโหระทึกอยู่ในหลายพระราชพิธี

 

กลองมโหระทึกเหล่านี้ นักโบราณคดีระบุว่า สร้างขึ้นในช่วงยุคสำริด ต่อเนื่องมาจนถึงยุคเหล็ก เมื่อราว 3,000-2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่เอกสารจากโลกภายนอกเรียกอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ว่า “สุวรรณภูมิ” (และก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งอีกด้วยว่า คำคำนี้ ถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา แต่มีความหมายตรงกันว่า “แผ่นดินทอง”)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “สำริด” น่าจะเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพราะในเอกสารโบราณฉบับต่างๆ มักจะเรียก สำริด หรือ “bronze” ในโลกภาษาอังกฤษว่า “ทองแดง” หรือไม่ก็เรียกว่า “ทอง” กันอย่างลุ่นๆ

ใช่ครับ คำว่า “ทอง” ในเอกสารโบราณหมายถึงได้ทั้ง ทองแดง และทอง โดยมักจะเน้นว่าหมายถึง ทอง ด้วยการเลือกใช้คำว่า ทองคำ แทน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดถ้าดินแดนแถบอุษาคเนย์ ภาคผืนแผ่นดินใหญ่นี้จะเคยถูกเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” เพราะเป็นแหล่งทองแดงใหญ่ของโลกยุคโบราณ ไม่ใช่แหล่งทองคำอย่างที่มักจะเข้าใจกัน

แถมลักษณะเช่นนี้ยังมีปรากฏในโลกของภาษาอื่นด้วยเช่นกัน เช่น ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายครั้งก็เรียกเครื่องครัวที่ผลิตขึ้นจากสำริดว่า เครื่องครัวทองแดง มันเสียอย่างนั้นแหละ

แถมหลายหนการเลือกใช้คำว่า ภาชนะหรือเครื่องครัวทองแดง แทนที่จะเรียกว่า สำริด ก็ยังปรากฏในเอกสารวิชาการยุคเก่าๆ เสียด้วยซ้ำ

 

ที่น่าสนใจก็คือ ในเอกสารของพวกโรมัน จดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei (Periplus of The Erythrean Sea คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกหมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียด้วย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงราว พ.ศ. 500 หรือเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า พวกเขาอิมพอร์ตทองแดงส่วนหนึ่งจากโลกตะวันออกเข้ามา เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้สำริด และประติมากรรมต่างๆ

ส่วนโลกตะวันออกที่ในเอกสารโรมันหมายถึง แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าคือ อินเดีย แต่ปรากฏว่า มีการค้นพบเอกสารโบราณอายุประมาณ 2,300 ปีที่ระบุว่า ชาวอินเดียก็ไปหาซื้อทองแดงมาจากดินแดนทางตะวันออกของตนเองคือ “สุวรรณภูมิ” มาอีกทอดเหมือนกัน

แถมของที่นำเข้านั้น ยังไม่ใช่ทองแดงเพียงอย่างเดียว

แต่ยังหมายรวมถึง “ดีบุก” และเทคโนโลยีในการสร้าง “เครื่องสำริดแบบที่ผสมดีบุกในปริมาณสูง” อย่างที่เรียกกันว่า “high tin bronze” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักทั้งโรมัน และอินเดียในสมัยนั้น แต่มีอยู่ให้เพียบในอุษาคเนย์ โดยมีกลองมโหระทึกเป็นตัวอย่างสำคัญ

ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่า การผสมดีบุกเข้าไปในทองแดงนั้น ทำให้ได้สีของเครื่องสำริด ที่กลายเป็นสีทองแวววาว แถมการผสมดีบุกลงไปเป็นจำนวนมากนั้น ยังช่วยให้สามารถทำเครื่องสำริดที่มีรูปทรงซับซ้อนขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมีคำเรียกเครื่องสำริดว่า “ทองสำริด” อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ

และนี่ก็หมายความด้วยว่า การผลิตเครื่องสำริดที่มีดีบุกผสมในปริมาณมาก ไม่ว่าจะในอินเดีย หรือในโรม ก็ล้วนแต่มีหลักฐานการนำเข้าทั้งวัตถุดิบ และเทคโนโลยีการผลิตมาจากภูมิภาคอุษาคเนย์เป็นสำคัญ จนทำให้พวกเขาเหล่านั้นเรียกภูมิภาคแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่มีการผลิตกลองมโหระทึกใช้งานโดยทั่วไปในภูมิภาคแห่งนี้นั่นเอง

 

การที่กลองมโหระทึกผลิตขึ้นจากสำริดจึงย่อมแสดงสถานภาพความสำคัญ ในตัวของมันเอง และจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมต้องใช้เจ้ากลองทองชนิดนี้ประโคมในพระราชพิธีสำคัญของรัฐอยู่เสมอ

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ นักโบราณคดีขุดเจอมโหระทึกร่วมกับโครงกระดูกอยู่บ่อยๆ เช่นที่ แหล่งโบราณคดีโปรเฮียร์ (Prohear) ในกัมพูชา ซึ่งจะฝังกลองมโหระทึกไว้กับผู้ตาย คล้ายๆ กับการฝังภาชนะเขียนสีไว้กับผู้ตายที่บ้านเชียง หรือเครื่องเซ่นผู้ตายที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กลองมโหระทึกบางชิ้นในไทยก็พบว่าถูกฝัง โดยมีภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกใส่เอาไว้ที่ข้างในตัวกลองมโหระทึกด้วย

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า คติความเชื่อเกี่ยวกับ “กลองมโหระทึก” นั้น มีส่วนที่สัมพันธ์อยู่กับ “ความตาย” ด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นอยูบนลวดลายบนหน้ากลองมโหระทึกนั่นเอง

 

ที่ตรงกลางของหน้ากลองมโหระทึกทุกใบจะมีรูปแฉกเหมือนรูปดาว หรือพระอาทิตย์อยู่ แต่เมื่อพิจารณาถึงลวดลายต่างๆ บนกลองมโหระทึกแล้ว ก็จะเห็นว่า มีลวดลายของการจำลองเครื่องจักสานอยู่มาก เช่น ลวดลายบนหูกลองมโหระทึกใบนี้ เป็นต้น ดังนั้น ลายนี้จึงควรเป็นลายก้นของเครื่องจักสาน ที่เกิดจากการนำตอก (ไม้ไผ่ที่ฝานเป็นซี่ๆ ใช้ทำเครื่องจักสาน) มาก่อจนเป็นรูปทรงต่างๆ

ลวดลายที่ว่านี้ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของโลกโบราณ มีปรากฏในหลายวัฒนธรรมเรียกรวมๆ ว่า “endless notch” คือ “เงื่อนที่ไม่มีที่สิ้นสุด” หมายถึงความรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ การสานตอก หรือด้ายเชือก อะไรพวกนี้คือการก่อจักรวาลหรือโลกอีกใบที่ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราจับเอากลองมโหระทึกคว่ำลงรูปทรงก็จะเหมือนกับภาชนะจักสานดีๆ นี่เอง ในกรณีของไทยเรียกลายนี้ว่า “เฉลว” หรือ “ตาเหลว” ในศาสนาผีใช้เป็นวัตถุมงคล ให้โชคลาภ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้

นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นได้เสนอเอาไว้ว่า ลวดลาย “เฉลว” ที่ว่านี้คือการพยายามเลียนแบบ “ขวัญ” ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ หน่วยของพลังงานที่ขับเคลื่อนให้เกิดพลังชีวิต (ทั้งชีวิตในโลกนี้ และชีวิตในโลกอื่น ดังนั้น ขวัญจึงไม่ได้มีเฉพาะในสิ่งมีชีวิต) โดยในตัวของมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงขวัญเดียว แต่มีหลายขวัญ มีจำนวนแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ขวัญที่สำคัญที่สุดเรียกว่า “จอมขวัญ” สถิตอยู่ที่กลางกระหม่อม ก็คือส่วนที่เส้นผมวนเป็นก้นหอย ตรงบริเวณที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า ขวัญ นั่นแหละครับ

คุณสุจิตต์ยังได้เสนอต่อไปด้วยว่า ในยุคแรกเริ่มนั้น ผู้คนในสุวรรณภูมิน่าจะมีการทำเฉลวเอาไว้ฝังร่วมกับศพ แต่เพราะทำมาจากตอกไม้จึงทำให้ย่อยสลายหายไปจนนักโบราณคดีขุดไม่เจอ เกี่ยวกับเรื่องนี้ดูจะเข้ากันได้ดีเลยทีเดียวกับลวดลายรูปเฉลวบนหน้ากลองมโหระทึก ที่ถูกใช้ในพิธีศพเช่นกัน

ลวดลายบนหน้ากลองมโหระทึก ที่ชอบทึกทักกันว่าเป็นรูปดาว หรือดวงอาทิตย์นั้น ที่จริงแล้วจึงควรเป็นสัญลักษณ์ของอะไรที่เรียกว่า “ขวัญ” เกี่ยวเนื่องกับพลังงานชีวิต จึงถูกนำมาใช้ในพิธีศพ ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องพลังงานบรรพชน หรือโลกของคนที่ตายไปแล้ว ในศาสนาผียุคสุวรรณภูมิ