ปริศนาโบราณคดี : ใครคือ ‘พระนางอะตะปาเทวี’ ในจารึกวัดร่ำเปิง ‘โป่งน้อย-อโนชา-สิริยศวดี’ หรือ ‘ชายาจีนฮ่อของพระยอดเชียงราย’?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

ใครคือ ‘พระนางอะตะปาเทวี’ ในจารึกวัดร่ำเปิง

‘โป่งน้อย-อโนชา-สิริยศวดี’

หรือ ‘ชายาจีนฮ่อของพระยอดเชียงราย’?

 

ที่ “วัดร่ำเปิง” (มีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า “วัดตโปทาราม”) มีศิลาจารึกจอมปริศนาหลักหนึ่ง เขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม (อักษรไทล้านนา) ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระวิหาร หรือด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์

จารึกหลักนี้มีสองหน้า ข้อความที่นักจารึกวิทยาได้ปริวรรตถอดความแล้ว และตีพิมพ์ในหนังสือที่วัดร่ำเปิงจัดทำ มีดังนี้

“วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราช 2035 เวลา 08.20 น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ) ได้โยคมหาอุจจ์ คือการก่อสร้างวัดได้ส่วนกันทั้งฝ่ายพุทธจักร และอาณาจักร โดยพระองค์ได้ทรงมีพระบัญชาให้พระมเหสีชื่อ ‘พระนางอะตะปาเทวี’ เป็นผู้ดำเนินการสร้าง พระนางอะตะปาเทวีได้ประชุมแต่งตั้งกรรมการ…”

จากนั้นเป็นรายนามพระมหาเถระ 5 รูป และรายนามขุนนางฝ่ายอาณาจักรอีก 7 คน ที่ได้รับหน้าที่ให้ทำงานสร้างพระเจดีย์และพระพุทธรูป ภายใต้การกำกับดูแลออกแบบอำนวยการสร้างโดย พระนางอะตะปาเทวี

คำถามคือ “พระนางอะตะปาเทวี” ผู้นี้คือใครกันแน่?

 

จารึกวัดตโปทาราม ที่ปรากฏนาม “อะตะปาเทวี”

 

ศิลาจารึกหลักนี้ระบุศักราชชัดเจนว่าสร้างปี พ.ศ.2035 ตรงกับสมัยพระยอดเชียงราย (พระญายอดเชียงราย/พระเมืองยอด) กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ 10 (ครองราชย์ พ.ศ.2031-2038)

ในเมื่อพระยอดเชียงรายมีมเหสีที่เรารู้จักกันดีชื่อ “พระนางโป่งน้อย” หรือ “อโนชาเทวี” หรือ “สิริยศวดี” ผู้เป็นพระราชมารดาของกษัตริย์ลำดับที่ 11 คือพระเมืองแก้ว

หากยึดตามข้อมูลนี้ “พระนางอะตะปาเทวี” ก็ควรเป็นอีกนามหนึ่งของพระนาง “โป่งน้อย-อโนชาเทวี-สิริยศวดี” ด้วยเช่นเดียวกัน หมายความว่า คนคนเดียวมีชื่อมากถึง 4 ชื่อ!

ในเวทีประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2560 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพหลัก ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานจัดเสวนาเกี่ยวกับ “ล้านนาศึกษา” จำนวนมากกว่า 20 หัวข้อ

หนึ่งในนั้นมีเรื่อง “เวียงน้อย เวียงเนรเทศ” รวมอยู่ด้วย เวทีเสวนามีการหยิบยกประเด็นเรื่องที่พระยอดเชียงรายถูกเนรเทศไปอยู่ที่ “เวียงน้อย” (เมืองน้อย) อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยคนที่เผด็จศึกราชบัลลังก์ของพระองค์หาใช่ใครที่ไหนเลย แท้ก็คือมเหสี พระนางโป่งน้อย/อโนชาเทวี/สิริยศวดี นั่นเอง โทษฐานที่พระยอดเชียงรายไป “หลงรักลูกฮ่อ” (หมายถึงจีนฮ่อ ภาษาล้านนาเขียน จีนห้อ) มากกว่าลูกตัวเอง (คือพระเมืองแก้ว)

งานเสวนาครั้งนั้น สมฤทธิ์ ลือชัย และเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี สองนักวิชาการอิสระด้านล้านนาศึกษา ได้ถอดรหัสนัยของประโยคที่ว่า “รักลูกฮ่อยิ่งกว่าลูกตน” ได้ว่า เราไม่ควรตีความแบบชั้นเดียวแค่ตามตัวอักษร

หากควรพินิจให้ลึกซึ้งไปด้วยว่า พระยอดเชียงรายย่อมต้องมีจิตปฏิพัทธ์เสน่หาอย่างลึกล้ำต่อ “แม่ของลูกฮ่อ” ด้วยเช่นกัน ใช่หรือไม่?

และสตรีที่มีเชื้อสายจีนฮ่ออนงค์นั้น หากจะเป็นคนเดียวกันกับที่ปรากฏนามว่า “อะตะปาเทวี” ในจารึกวัดร่ำเปิง จะเป็นได้ไหม

เจดีย์ปล่อง หรือทรงถะแบบจีน วัดร่ำเปิง

 

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากเราไม่สามารถหาหลักฐานชิ้นอื่นใด มายืนยันชื่อของชายาผู้เป็นจีนฮ่อของพระยอดเชียงรายนี้ได้อีกเลย

บางทีจารึกหลักอื่นๆ อาจถูกทำลายไปหมดแล้ว โดยความหึงหวงของพระนางโป่งน้อยเองนั่นแหละในคราวที่พระนางมีอำนาจ ยกเว้นแต่จารึกหลักนี้ที่ไม่ถูกทำลาย อาจเป็นเพราะมีการจารึกนามของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ร่วมเป็นสักขีในการสร้างวัดตโปทารามอยู่ด้วยหลายรูป จึงถือเป็นกฎหมายของบ้านเมืองอันศักดิ์สิทธิ์

ก่อนหน้าที่เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี จักนำเสนอประเด็นดังกล่าว นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาแทบทุกคนลงความเห็นว่า “อะตะปาเทวี” ก็คืออีกชื่อหนึ่งของพระนางโป่งน้อยนั่นเอง ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก

บางท่านพยายามให้ความหมายว่า เหตุที่เรียกมเหสีของพระยอดเชียงราย (พระนางโป่งน้อย) ว่า “อะตะปา” นั้น สืบเนื่องมาจาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระนามในฐานะที่พระนางโป่งน้อยได้ทำความดีความชอบ รับหน้าที่เป็นประธานในการสร้างวัดตโปทารามจนเสร็จสมบูรณ์

จากชื่อของวัด “ตะโป” แปลว่า เครื่องเผา ความร้อน ความเพียร แปลโดยรวมหมายถึง ธรรมอันเป็นเครื่องเผาบาปให้สิ้น

เมื่อนำคำว่า “ตะโป” ชื่อวัด มาแผลงเป็นชื่อสตรีว่า “ตะปา” แล้วเติม “อะ” นำหน้า ย่อมให้ความหมายหักล้างกัน กลายเป็นหมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิด “ความเย็น” แทน ฉะนั้นชื่อ “อะตะปาเทวี” จึงแปลเป็นภาษาไทยว่า “พระนางเรือนเย็น”

ส่วนชื่อ “สิริยศวดี” นั้น ได้รับพระนามนี้หลังจากที่พระเมืองแก้วได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทนพระยอดเชียงราย ยุวกษัตริย์พระเมืองแก้วจึงเฉลิมพระนามพระราชมารดายอยศขึ้นเป็น “สิริยศวดี”

หากเชื่อตามทฤษฎีนี้สรุปได้ว่า “โป่งน้อย” เป็นชื่อแรกเกิด ครั้นเป็นมเหสีของพระยอดเชียงรายชื่อ “อโนชาเทวี” เมื่อพระนางเป็นแม่งานสร้างวัดตโปทาราม ได้นามฉายาว่า “อะตะปาเทวี” กระทั่งเป็นมหาเทวี คือยกโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็มีชื่อว่า “สิริยศวดี”

ดังนั้น แต่ละนามของพระนางโป่งน้อยนั้น ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ แม้จะดูเหมือนว่ามีชื่อมากเกินไปสักหน่อยก็ตาม

รูปปั้นพระยอดเชียงราย ประดิษฐานที่ศาลาบาตร มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

 

รูปปั้นพระนางอะตะปาเทวี ที่ศาลาบาตรมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นองค์ความรู้ชุดเดิมๆ ที่เคยเชื่อสืบต่อกันมา

กระทั่งการเปิดประเด็นคำถามอันแหลมคมของเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ต่อรูปแบบของพระเจดีย์ในวัดร่ำเปิง ว่าหากพระนางโป่งน้อยเทวีศรีล้านนาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างพระเจดีย์ในวัดนี้จริง พระนางนึกอย่างไร จึงไปหยิบเอารูปแบบศิลปะจีนมาสร้าง?

สร้างเสร็จแล้ว ไม่รู้สึกเหมือนมีหนามมาคอยทิ่มตำใจบ้างเลยหรือ ในเมื่อรู้อยู่เต็มอกว่าพระราชสวามีของพระนางปันใจให้กับสตรีอีกนางซึ่งมีเชื้อสายจีนฮ่อ ไฉนจึงกล้าตอกย้ำบาดแผลของตัวเองด้วยการใช้รูปแบบศิลปะจีนอยู่อีก?

เจดีย์ที่วัดร่ำเปิงมีรูปแบบแปลกตา คือเป็นทรงคล้าย “ถะ” ของจีน ชาวล้านนาเรียก “เจดีย์ปล่อง” (ออกเสียง “ป่อง”) ประกอบด้วยการนำเรือนธาตุในผังกลมมาซ้อนชั้นทั้งหมด 7 ชั้น เรือนธาตุแต่ละชั้นมีจระนำประดับซุ้มหน้านางประดิษฐานพระพุทธรูปชั้นละ 8 องค์

รูปแบบเช่นนี้นักวิชาการด้านสถาปัตย์ลงความเห็นว่าคล้ายกับ “ถะ” ของจีนอย่างไม่ต้องสงสัย และมีข้อน่าสังเกตว่า ยังมีเจดีย์ทรงเดียวกันนี้อีกสองแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือ ที่วัดพวกหงษ์ และที่วัดร้างเชียงโฉม ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

การปรากฏขึ้นของเจดีย์ทรงถะแบบจีนเช่นนี้ หากมองผิวเผินโดยไม่วิเคราะห์เจาะลึกว่าพระยอดเชียงรายมีจิตพิศวาสต่อสตรีชาวฮ่อนั้น ก็อาจคิดไปได้ว่า การเลือกรูปแบบดังกล่าวก็เพราะพระองค์เคยเสด็จไปจิ้มก้องที่เมืองจีน แล้วได้ทอดพระเนตรเห็นเจดีย์ทรงถะจึงจดจำนำรูปแบบมาประยุกต์สร้างในเชียงใหม่ 3-4 แห่งกระมัง

ภาพนูนต่ำด้านหลังพระวิหาร แสดงฉากพระยอดเชียงรายและพระนางอะตะปาเทวีรำพึงคำนึงหาถึงกัน

 

กรณีของชื่อวัด “ร่ำเปิง” ก็เป็นอีกหนึ่งปริศนาเช่นเดียวกัน ดิฉันได้สอบถามพระเณรและแม่ชีภายในวัดว่าใครเป็นคนตั้ง ชื่อเก่าหรือใหม่ประการใด ทางวัดอธิบายว่าชื่อนี้เป็นชื่อดั้งเดิม ตีคู่มากับชื่อตโปทาราม

ร่ำเปิง เป็นภาษาล้านนา ตรงกับคำว่า “รำพึง” หมายถึง “คร่ำครวญ ระลึกถึง คะนึงหา”

ครั้นเมื่อถามว่า “ใครร่ำเปิงถึงใคร” คำตอบก็มีอยู่สองเวอร์ชั่น

บางท่านว่า พระยอดเชียงรายน่าจะสร้างเพื่อรำลึกถึงพระราชบิดา (ท้าวบุญเรือง) กับพระราชมารดา ก็เป็นได้ เหตุที่พระราชบิดามาด่วนลาจากไปก่อนวัยอันควร ด้วยถูกสมเด็จพระอัยกา (พระเจ้าติโลกราช) ประหารชีวิตด้วยความหวาดระแวง

บ้างว่าพระยอดเชียงรายกับพระนางอะตะปาเทวีคะนึงหาถึงกันและกัน (แล้วใครเล่าคืออะตะปา?)

ไม่ไกลจากวัดร่ำเปิงมีวัดชื่อโป่งน้อย ภายในมีเจดีย์ทรงระฆัง 6 เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานมาลัยเถา 6 เหลี่ยม รองรับด้วยฐานยกเก็จขนาดสูง อันเป็นรูปแบบเฉพาะหรืออัตลักษณ์ของล้านนาที่พบเห็นได้ทั่วไป

ก็น่าคิดไม่น้อย หากพระนางโป่งน้อยจะเป็นคนเดียวกันกับ “อะตะปา” ที่วัดของตัวเอง (หมายถึงวัดโป่งน้อย) สร้างเจดีย์เป็นทรงล้านนา ครั้นวัดที่พระราชสวามีให้เป็นประธานกลับไปเลือกรูปแบบศิลปะจีน?

สิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไปเพื่อค้นหาคำตอบว่าชื่อของ “อะตะปา” นางนี้ จะใช่ชายาจีนฮ่อของพระญายอดเชียงรายหรือไม่ ก็คือต้องช่วยกันพิสูจน์ให้ได้ว่า เจดีย์ปล่องอีกสององค์ที่วัดพวกหงษ์ กับวัดเชียงโฉมนั้น สร้างเมื่อไหร่ โดยใคร อย่างไรกันแน่ มีร่องรอยอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นจีนฮ่อบ้างหรือไม่

เขียนถึงบรรทัดนี้ ดิฉันได้แต่ร่ำเปิง (รำพึงรำพัน) ในใจคนเดียวว่า “แหม่ พระนางโป่งน้อยมีชื่อตั้งมากมายหลายชื่อแล้ว ขอแบ่งชื่ออะตะปา (ซึ่งฟังไปฟังมาคล้ายชื่อจีน?) มาให้ชายาจีนฮ่อของพระยอดเชียงรายสักชื่อหนึ่งมิได้เลยหรือ?”