On History : ภาชนะเขียนสีแดง วัฒนธรรมบ้านเชียง เครื่องมือสร้าง ‘ร่างเสมือน’ ในโลกหน้าให้กับผู้ตาย / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ลายเส้นตัวอย่างลวดลายต่างๆ บนภาชนะดินเผา ในวัฒนธรรมบ้านเชียง (ภาพจากหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน?)

 

 

ภาชนะเขียนสีแดง

วัฒนธรรมบ้านเชียง

เครื่องมือสร้าง ‘ร่างเสมือน’ ในโลกหน้า

ให้กับผู้ตาย

 

การเขียนสีแดงเป็นลวดลายต่างๆ ลงบนภาชนะดินเผา แบบที่เรียกว่าวัฒนธรรม “บ้านเชียง” นั้น พบกระจายตัวอยู่สองฟากข้างแม่น้ำโขง ฝั่งไทยพบทั้งเขต จ.อุดรธานี, หนองคาย อีกฟากข้างแม่น้ำมีที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว เป็นสำคัญ

แต่ภาชนะเขียนสีแบบนี้พบเฉพาะอยู่ในหลุมฝังศพเท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นเขตที่อยู่อาศัยจะไม่พบภาชนะที่เขียนสีเลย ดังนั้น การที่พบเฉพาะอยู่ในหลุมฝังศพจึงเป็นเรื่องพิธีกรรม

แถมภาชนะเขียนสีแดงแบบนี้ ยังไม่ได้มีใช้ในวัฒธรรมบ้านเชียงมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่เพิ่งพบว่ามีการใช้งานในช่วงปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง คือในช่วงราว 2,300-1,800 ปีมาแล้ว ซึ่งก็ตรงกับช่วงราว พ.ศ.200-700 เท่านั้นเอง

การเขียนด้วย “สีแดง” เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในเกือบๆ ทุกวัฒนธรรมทั่วโลก มักใช้เป็นสีที่หมายถึงเลือด โดยเฉพาะ “เลือดประจำเดือน” ซึ่งหมายถึง “ชีวิต” เพราะผู้หญิงจะมีลูก (คือ แรงงาน และผลผลิตของสังคม) ต้องมีประจำเดือนเสียก่อน

ดังนั้น ในหลายๆ วัฒนธรรมจึงมักจะมีพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กเป็นหญิงสาว หลังจากที่เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนแล้ว (คำว่า หญิงพรหมจรรย์ สมัยโบราณหมายถึง หญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน ไม่ใช่เยื่ออะไรที่มโนขึ้นมากันไปเอง)

“สีแดง” สมัยโบราณนั้น ทำขึ้นจาก “ดินเทศ” ซึ่งเป็นดินที่มีส่วนผสมของแร่เหล็ก โดยนักโบราณคดีพบว่า ในหลุมศพของแหล่งโบราณคดีบางแห่งของยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดียเหล่านี้ มีการโรยดินเทศ ซึ่งเชื่อว่า คือสัญลักษณ์ของเลือดและชีวิต ไว้บนร่างของผู้ตายด้วยเช่นกัน

กลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์ ยุคก่อนที่จะยอมรับนับถือเอาศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู (ซึ่งย่อมหมายรวมถึง การยอมรับเอาระบบสัญลักษณ์ในศาสนาเหล่านี้เข้ามาด้วย) จึงใช้ “สีแดง” ในความหมายถึง “ชีวิต” เช่นเดียวกับในวัฒนธรรมบ้านเชียงด้วย

 

ลวดลายบนภาชนะเขียนสีแบบบ้านเชียง ส่วนใหญ่มักเป็นลายโค้งวนไปมา โดยนักประวัติศาสตร์-โบราณคดี นอกเครื่องแบบ อย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ทำการเปรียบเทียบลวดลายเหล่านี้กับโบราณวัตถุอื่นๆ (ทั้งในแง่ของลวดลาย และบริบทแวดล้อมของวัตถุ) ที่อยู่ในช่วงร่วมสมัยกัน เช่น ขดทองสำริดจากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก จ.นครราชสีมา เป็นต้น ก่อนที่จะเสนอว่า ลวดลายดังกล่าวก็คือ “ขวัญ” ซึ่งมีความหมายสัมพันธ์กับ “ชีวิต” ตามความเชื่อในศาสนาผีในอุษาคเนย์

ที่สำคัญก็คือ “ขวัญ” นั้นแตกต่างกับ “วิญญาณ” ที่เราอิมพอร์ตมาจากศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดียทีหลังอยู่มากเลยนะครับ ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ ก่อนที่จะยอมรับนับถือพุทธ หรือพราหมณ์ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงผู้คนที่นอนแน่นอน(นิ่ง)อยู่ในหลุมศพที่บ้านเชียงนั้น ย่อมไม่รู้จักวิญญาณตามความเชื่อแบบอินเดีย

ในความเชื่อเรื่อง “วิญญาณ” แบบอินเดียนั้น หากวิญญาณล่องลอยออกจากร่างกายของใครไป คนนั้นย่อมต้องเสียชีวิตแน่ แตกต่างไปจาก “ขวัญ” ที่ออกจากร่างแล้วไม่ตาย เรียกกลับได้ มีพิธีเรียกขวัญ ทำขวัญสารพัด

แถมในร่างกายของมนุษย์ยังไม่ได้มีขวัญแค่หน่วยเดียวอีกต่างหาก เพราะมีหลายหน่วย แล้วแต่ว่าชุมชนไหนเชื่อว่ามีขวัญกี่หน่วย แตกต่างกันไปในความเชื่อเฉพาะของแต่ละชุมชน

มากสุดที่มีการสำรวจพบคือ บางชุมชนเชื่อว่าคนเรามีขวัญ 80 หน่วย ถ้าขวัญส่วนไหนหายไปจะทำให้พื้นที่ส่วนที่ขวัญหน่วยนั้นประจำการอยู่เจ็บป่วยขึ้นมา จึงต้องเรียกขวัญกลับมา แต่ถ้าขวัญบินไปหมดทั้ง 80 หน่วย ก็เซย์กู๊ดบายให้กับโลกนี้ได้ตามระเบียบ

นอกจากนี้ ขวัญยังไม่ได้มีเฉพาะในตัวคน หรือสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีในสิ่งของต่างๆ ด้วย พูดง่ายๆ ว่า ของทุกสิ่งอย่างต่างก็มีขวัญอยู่ในนั้นทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องทำขวัญของเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะเครื่องมือทำมาหากินต่างๆ ที่ยังเห็นชัดๆ ก็คือ พิธีแรกนาขวัญ และพิธีไหว้ครู โดยเฉพาะการไหว้ครูโขนละคร นาฏศิลป์และดนตรีต่างๆ ซึ่งก็คือการเซ่นสรวงบูชา “ผีขวัญ” ที่ตั้งมั่นอยู่ในวัตถุนั่นเอง

เอาเข้าจริงแล้ว การเขียนลวดลายรูป “ขวัญ” ลงบนภาชนะด้วยสีแดง ที่มีความหมายสื่อไปถึง “ชีวิต” จึงดูจะมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตในโลกหน้า” โดยเฉพาะเมื่อผู้คนในอุษาคเนย์นั้นมีความเชื่อว่า “ความตาย” นั้นก็คือ “การเกิดใหม่” ในโลกหน้า โดยมีตัวอย่างที่สำคัญก็คือ ชาวจาม ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมลายู ควบตำแหน่งนักเดินเรือ กลุ่มหนึ่งที่เคยมีศูนย์กลางวัฒนธรรมตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม โดยชาวจามกลุ่มใหญ่ยังคงสืบทอดความเชื่อ และพิธีกรรมดังกล่าวมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

พวกจามเชื่อว่า มนุษย์เราเมื่อ “เกิด” ขึ้นมานั้น ก็คือได้ “ตาย” ไปจากท้องของแม่ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่มนุษย์ได้ตายลง คนผู้นั้นก็แค่กลับเข้าไปเกิดอยู่ในท้องแม่อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น ในการฝังศพของพวกจามจะมีการตั้งปะรำพิธีในงานศพ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง (ดังนั้น จะเรียก “ปะรำ” ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะปะรำที่พวกจามสร้างในงานศพมีหลังคาโค้งเหมือนกระดองเต่า หรือท้องของแม่ ไม่ได้เป็นหลังคาเรียบเหมือนปะรำพิธีบ้านเรา) “ศพ” ของผู้ตายก็คือ “เด็ก” ที่อยู่ในท้องของแม่

ส่วนเสาเอกปะรำพิธีจะมี “ลึงค์” (จามเรียกว่า “ลิงคัม”) ที่ทำจากไม้ ตั้งเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของอวัยวะเพศชาย และเชื่อว่าเป็นการสร้างร่างกายในโลกใหม่ให้กับผู้ตาย

แต่ร่างกายสำหรับที่จะอยู่ในโลกใหม่ที่ว่านั้น มีลักษณะเป็นนามธรรมเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ หลายครั้งจึงมีการใช้วัตถุต่างๆ สมมุติใช้เป็น “ร่างเสมือน” (substitute body)

ซึ่งหลายครั้งก็ใช้ “หิน” ก้อนใหญ่ หรือหินที่มีการจัดแต่งเป็นรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นหินหลายก้อน หรือหินก้อนเดียว อย่างที่เรียกว่า “วัฒนธรรมการนับถือหิน” (Megalithic culture, คำนี้แปลตรงตัวว่า วัฒนธรรมหินใหญ่ แต่หลายครั้งหินที่ถูกนำมาใช้ก็เป็นหินก้อนไม่ใหญ่นัก บางทีก็เป็นหินก้อนเล็กๆ เสียด้วยซ้ำ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้น ในที่นี้จึงขอเรียกว่า วัฒนธรรมการนับถือหิน ซึ่งใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงมากกว่า) โดยในกรณีของพวกจามปัจจุบันนั้น ใช้หินก้อนขนาดเท่าลูกแตงโมใบเขื่อง เป็นร่างเสมือนโดยมีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “กุต” (Kut)

การเขียนลวดลายสีแดงเป็นรูปขวัญลงบนภาชนะดินเผาของวัฒนธรรมบ้านเชียง ก็คงจะเป็นขั้นตอนในพิธีกรรมที่สร้างร่างกายในโลกใหม่ เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ในพิธีการฝังศพของชาวจาม เผลอๆ อาจทำหน้าที่เป็น “ร่างเสมือน” ไม่ต่างกันกับกุตของพวกจามเสียด้วยซ้ำ

ร่องรอยที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ลวดลายที่ประดับอยู่ในภาชนะดินเผาบ้านเชียงนั้น ไม่ได้มีแต่ลวดลายคดโค้งที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ขวัญ” เท่านั้น

แต่ยังพบลวดลายรูป “เครื่องเพศของผู้หญิง” ปะปนอยู่ด้วยอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็เขียนเป็นลายเครื่องเพศหญิงที่มีลายขวัญอยู่ข้างในเสียด้วยซ้ำ

พื้นที่ว่างที่อยู่ภายในภาชนะเหล่านี้จึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ไม่ต่างไปจากภายในครรภ์ของมารดา ที่กำลังให้กำเนิดชีวิตขึ้นใหม่อยู่ พูดง่ายๆ ว่า พื้นที่ว่างภายในภาชนะนั้นไม่ต่างไปจากมดลูกของแม่ แต่เป็นแม่ในอีกโลกหนึ่งนั่นเอง (พร้อมกันกับที่ชวนให้ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมเราจึงมีความเชื่อเรื่อง จับผีใส่หม้อถ่วงน้ำ และทำไมคำว่า “หม้อ” ก็มีนัยยะเกี่ยวพันกับอวัยวะเพศหญิง?)

แถมเอาเข้าจริงแล้ว ลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะในวัฒนธรรมบ้านเชียงเท่านั้นนะครับ ในวัฒนธรรมอื่นๆ ของโลกก็มีร่องรอยของการใช้หีบศพ (ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือ ภาชนะประเภทหนึ่ง) ในการสร้างครรภ์ของมารดาในโลกใหม่อยู่บ่อย เช่น วัฒนธรรมอียิปต์ และโรมัน เป็นต้น

ภาชนะเขียนลายสีแดงในวัฒนธรรมบ้านเชียง จึงไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่เครื่องเซ่นอุทิศถวายให้กับผู้ตายในโลกหน้า แต่คือเครื่องใช้ในพิธีกรรมที่สร้าง “ร่างเสมือน” ในโลกใหม่ให้กับผู้ตายต่างหาก