ปริศนาโบราณคดี : เยี่ยมเยือน ‘อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย’ จากหัวใจ ‘ลูกสาวลำปาง'(จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

เยี่ยมเยือน ‘อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย’

จากหัวใจ ‘ลูกสาวลำปาง’ (จบ)

 

อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ปราชญ์ใหญ่แห่งเมืองลำปาง ถือกำเนิดในตระกูลลูกผสม บิดามีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว บรรพบุรุษเดินทางมาจากเมืองซัวเถา ทำให้อาจารย์ศักดิ์สามารถพูด-อ่าน-เขียนภาษาจีนได้

ฝ่ายมารดามีเชื้อสายเงี้ยว (ไทใหญ่ หมายเหตุในอดีตคำว่าเงี้ยวไม่ใช่คำหยาบ) เป็นลูกหลานของ “พระยาเทพจักรคำ” ซึ่งเป็นชาวเมืองสาด-เมืองหาง ผู้ทำงานรับใช้เจ้าหลวงบุญวาทย์อย่างใกล้ชิด จนได้นามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ว่า “รัตนชัย”

อาจารย์ศักดิ์เล่าว่า บิดา-มารดาได้หย่าร้างกัน ตัวท่านเติบโตมากับลุง (พี่ชายแม่) ชื่อ “พ่อน้อยอินต๊ะ” จึงได้ใช้นามสกุล “รัตนชัย” ตามลุงและแม่

อาจารย์ศักดิ์เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2471 ตรงกับปีมะโรง ในวัย 93 ปีเช่นนี้ต้องถือว่าสุขภาพโดยรวมของท่านแข็งแรงมากพอสมควร เหตุที่ไม่มีโรคประจำตัว เว้นแต่ขาที่เดินไม่สะดวกนัก

เนื่องมาจาก 3 ปีที่แล้ว รถประจำตัวของท่าน (เป็นรถที่มีรูปแบบพิเศษ ออกแบบให้นั่งได้คนเดียว คล้ายรถตุ๊กตุ๊ก แต่หลังคาคลุมรอบตัวโปร่งเป็นพลาสติกใส หนึ่งเดียวในสยาม) ประสบอุบัติเหตุล้มคว่ำ ทำให้ท่านไม่ได้ออกงานไปไหนมาไหนเป็นเวลา 3 ปีเต็มๆ

ทุกวันนี้จึงต้องพำนักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ในละแวกถิ่นฐานที่ท่านเกิดเรียก “บ้านวังสาด” (สื่อว่าเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากเมืองสาดในรัฐฉาน พม่า) ใกล้วัดสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง

ท่านรับประทานอาหารได้ตามปกติ แกงฮังเลกับข้าวมันไก่ คือเมนูจานโปรด มื้อเที่ยงชอบดื่มนมเปรี้ยว พูดจาเสียงดังฟังชัดไม่แหบแห้ง

ข้อสำคัญ ความทรงจำที่มีต่อบุคคลและเหตุการณ์ที่ท่านประทับใจนั้น ไม่เคยลืมเลือนเลย

“ผมได้ประกาศไปแล้วในทุกเวที ต่อหน้าผู้บริหารของกรมศิลปากร และต่อหน้าธารกำนัลชาวลำพูน หลายต่อหลายรอบแล้วว่า ผมได้สู่ขอ ดร.เพ็ญสุภา มาเป็น ‘ลูกสาวลำปาง’ ขออย่างเปิดเผยแบบ ‘หน้าหมู่’ นี่แหละ เพื่อจะให้มาช่วยสืบสานงานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีให้แก่นครเขลางค์ของผม”

นี่คือที่มาของฉายาที่อาจารย์ศักดิ์เรียกดิฉันในทุกๆ ครั้งที่เจอกันว่า “ลูกสาวลำปาง”

 

ครั้งล่าสุดที่เราคุยกัน (วันที่ 17 ตุลาคม 2564) อาจารย์ศักดิ์ได้กล่าวชื่นชมถึงปูชนียบุคคลที่ท่านแอบไป “ฝากตัวเป็นศิษย์นอกทำเนียบ” หลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง ทั้งสามท่านนี้ได้ล่วงลับไปแล้ว

ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณของอาจารย์ศักดิ์จะมีความผูกพันกับนักวิชาการสายโบราณคดีของกรมศิลปากรอย่างแนบแน่นเสียยิ่งกว่านักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาสายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสียอีก

รายนามที่ดิฉันจักได้กล่าวต่อไปนี้ ขอโปรดให้ทุกท่านจงรับรู้ถึงความในว่าอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย คิดถึงทุกท่านมากเหลือเกิน จึงฝากความระลึกถึงผ่านมาทางดิฉัน ได้แก่ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เทิม มีเต็ม ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ และสหวัฒน์ แน่นหนา

เมื่อดิฉันถามอาจารย์ศักดิ์ว่า ทำไมจึงรู้สึกผูกพันกับชาวศิลปากร ท่านตอบว่า เป็นเพราะช่วงหนึ่ง สมัยที่ท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโยนกนั้น ได้มีนักโบราณคดีชาวอเมริกันชื่อก้องโลกคนหนึ่งนาม นาย เอ.บี.กริสโวลด์ (A.B.Griswold) เดินทางมาขอร้องให้อาจารย์ศักดิ์ช่วยพาตระเวนไปอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูปทั่วเมืองลำปาง

นายกริสโวลด์ท่านนี้เอง คือผู้เชื่อมโยงให้อาจารย์ศักดิ์ได้ไปรู้จักกับ “ท่านสุภัทร” และ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ทำให้อาจารย์ศักดิ์มีความสนใจต่องานด้านโบราณคดีของกรมศิลปากรมากเป็นพิเศษ

ด้วยเหตุนี้เอง ที่อาจารย์ศักดิ์จึงรู้สึกน้อยใจที่จังหวัดลำปางยังไม่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยกรมศิลปากร

ซ้ำต่อมา ราว พ.ศ.2548 เมื่อมีการแยกสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ออกจากสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ โดยให้สำนักศิลปากรที่ 7 น่านดูแลจังหวัดลำปาง

ซึ่งก่อนหน้า สมัยที่ยังไม่มีสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน (ดูแลน่าน แพร่ พะเยา ลำปาง) กับสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ดูแลเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน) ตัวแทนกรมศิลปากรในภาคเหนือตอนบนมีแต่สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่หน่วยเดียวนั้น

เคยมีการแบ่งภาระงานให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันช่วยดูแลมรดกด้านศิลปวัฒนธรรมของอีกจังหวัดที่ไม่มีหน่วยงานของกรมศิลปากรตั้งอยู่ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยของลำพูนต้องช่วยดูแลด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุให้แก่จังหวัดลำปางด้วย

นี่คือความผูกพันระหว่างลำพูน-ลำปาง หรือระหว่างดิฉันกับอาจารย์ศักดิ์มาอย่างนานเนิ่น เพราะดิฉันในฐานะที่อยู่พิพิธภัณฑ์ลำพูน ต้องดูแลวัดต่างๆ ให้ทางจังหวัดลำปางมาตลอด

 

ครั้นเมื่อตัดลำปางไปขึ้นกับสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ได้เดินถือหนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมศิลปากร 2-3 คน โดยให้เหตุผลว่า

“ลำปางเป็นเมืองแฝดน้องของลำพูน เพราะเจ้าอนันตยศเป็นแฝดน้องของเจ้ามหันตยศ ต่างก็เป็นโอรสของพระนางจามเทวี เขลางค์ก็เป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีเหมือนกับหริภุญไชย อธิบดีกรมศิลปากรไม่มีสิทธิ์แบ่งแยกสองเมืองแห่งลุ่มน้ำปิง-วังออกจากกัน”

“ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ยอม ผมเห็นว่าการแบ่งเขตเลือกจังหวัดของสำนักศิลปากรที่ 7 กับ 8 นั้นดูลักลั่น ผิดฝาผิดตัว แทนที่จะให้ลำปางไปขึ้นกับสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เดินทางถึงกันแค่ชั่วโมงเศษ กลับเอาลำปางไปขึ้นกับน่าน ทำไมจึงไม่สลับเอาเชียงรายไปอยู่สำนักศิลปากรที่ 7 แทน และย้ายสำนักงานแม่จากน่านมาอยู่เชียงราย อันเป็นเมืองหลัก ไปแยกเชียงราย-พะเยาสายขุนเจื๋องเขาออกจากกันทำไม กว่าจะเดินทางจากเชียงใหม่ไปถึงเชียงรายก็เกือบสามชั่วโมง”

ไม่ว่าเวทีไหน ที่อาจารย์ศักดิ์ได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารระดับสูงของกรมศิลปากร หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านต้องโอดครวญถึงแต่เรื่องความไม่เหมาะสมที่ตัดลำปางไปอยู่สำนัก 7 แล้วเอาเชียงรายมาขึ้นกับสำนัก 8 ทุกครั้งไป

ในที่สุด ราว 5-6 ปีมานี้ สมัยที่นายบวรเวท รุ่งรุจี เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้ยุบสำนักศิลปากรที่ 7 น่านลง โดยอ้างว่าบุคลากรในกรมศิลปากรโตไม่ทันที่จะนั่งตำแหน่งระดับผู้บริหาร ทำให้สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ต้องเขยิบหมายเลขไปเป็นสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดูแล 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนตามโครงสร้างเดิมอีกครั้ง คล้ายกับสมัยยังใช้ชื่อสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่

ข้อสำคัญ ได้มีการมอบหมายภารกิจให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ทำหน้าที่ดูแลจังหวัดลำปางเหมือนเดิมแล้ว ท่านคงดีใจที่ “เมืองแฝดน้องของเจ้าอนันตยศ ไม่ต้องพรากจากแฝดพี่ เจ้ามหันตยศ” อีกต่อไป

 

นอกเหนือจากความสนใจที่อาจารย์ศักดิ์มีต่องานด้านโบราณคดี โบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือศิลาจารึกแล้ว ท่านยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระไวยากรณ์การเขียนอักษรธัมม์ล้านนาอีกด้วย

“ผมฝึกเขียนตั๋วเมืองหรืออักษรธัมม์ล้านนามาตั้งแต่ยังเด็ก เรียนกับพระวัดสวนดอกบ้าง (หมายถึงวัดสวนดอกในลำปาง) วัดเชียงรายบ้าง (หมายถึงในลำปางมีวัดชื่อเชียงราย) ต่อมาปี 2539 ผมได้พบคัมภีร์ใบลานฉบับถ่ายไมโครฟิล์มว่าด้วย ‘อักขระสูตรธัมม์คำเมือง’ จากห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมจึงได้นำมาใช้เป็นตำราแบบเรียนการเขียนอักษรธัมม์ฉบับเข้าใจง่าย เรียนไว ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและประชาชนผู้สนใจทั่วไป”

ความสุขที่อาจารย์ศักดิ์ชอบเสพอีกเรื่องคือ การสีไวโอลิน และแต่งเพลง เมื่อเราถามว่าอาจารย์ศักดิ์ไปหลงใหลได้ปลื้มสุนทรียรสด้านดนตรี มาจากไหนและตั้งแต่เมื่อไหร่

“แหม่มดอยซี่ (ขออภัยหากสะกดชื่อผิด เป็นเพราะการฟังคลาดเคลื่อน) มิชชันนารีแห่งคริสตจักรลำปาง เป็นคนสอนผม ผมเรียนได้สักระยะหนึ่ง แหม่มก็แนะนำว่าให้ผมไปสอบเทียบชั้นที่ศูนย์ Trinity College ผมสอบได้ชั้นเทียบเท่ามหาวิทยาลัย จากนั้นมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญให้ผมไปช่วยร่างหลักสูตรด้านดนตรีอยู่พักหนึ่ง”

เห็นท่านอาจารย์ศักดิ์เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักวรรณกรรม นักจารึกวิทยา และนักดนตรีแบบนี้ ท่านยังเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และนักมวยอีกด้วย

“วัยเด็กผมชอบอ่านงานของ ป.อินทรปาลิตมาก จึงฝันอยากทำอะไรโลดโผนบ้าง มีแชมป์มวยไทยชื่อดัง ‘สมาน ดิลกวิลาศ’ ถูกส่งมารบที่เชียงรายสมัยสงคราม เมื่อผมรู้รีบไปขอขึ้นครู ครูสมานสอนเทคนิคการชกหมัดหนัก ฝึกฝนสักพักผมได้โอกาสขึ้นชกที่เชียงราย ชกครั้งแรกก็ชนะเลย พอได้แชมป์ปั๊บก็แขวนนวมปุ๊บ เพราะกลัวว่าชกครั้งต่อไปอาจแพ้”

ว่าแล้วอาจารย์ศักดิ์ก็หัวเราะเสียงดังอย่างอารมณ์ดี

 

เรื่องมวยนี่ อาจารย์ศักดิ์ยอมรับว่าเป็นแค่ความกระหายรสชาติของชีวิตลูกผู้ชายเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วสิ่งที่ท่านใฝ่ฝันจริงๆ ก็คือการอยากเป็น “นักหนังสือพิมพ์” ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์ของ “สงัด บรรจงศิลป์” นักหนังสือพิมพ์เนื้อหอม จบด้านสื่อสารมวลชนมาจากอเมริกาหมาดๆ

“คุณสงัดมอบหมายให้ผมเป็นตัวแทนนักข่าวในภาคเหนือของมูลนิธิเอเชีย ผมได้เรียนรู้การทำหนังสือพิมพ์แบบ One Man Complete คือทำคนเดียวทว่าใช้นามแฝงนับสิบ เขียนตั้งแต่ข่าวอาชญากรรมหน้าหนึ่ง ข่าวสังคม แซะการเมือง หน้าวรรณกรรม บันเทิง เรื่องสวยๆ งามๆ ดูดวง ตอบปัญหา จนถึงหน้าสุดท้ายคือข่าวกีฬา ผมเคยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ภาคเหนือนิวส์ เสียงโยนก ฯลฯ”

พวกเราสัมภาษณ์อาจารย์ศักดิ์นานเกินกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งแล้ว จนรู้สึกเกรงใจอยากให้ท่านได้พักผ่อนในช่วงบ่ายแก่ๆ นี้บ้าง ก่อนลากลับ ท่านได้กระซิบสั่งว่า

“อย่าลืมนะ ดร.เพ็ญสุภา เรื่องแรก หาบ่อน้ำโบราณแถวกู่ขาว-กู่คำให้เจอ เรื่องที่สอง ต้องอ่านตำนานไฟมล้างกัปป์ (ม้างกัป) เหลือฉบับเดียวอยู่ที่ผมนี่ให้จบ และเรื่องสุดท้าย ช่วยถอดปริศนา ‘หนองฟ้าเลื่อน’ (ภาษาล้านนาออกเลี่ยน) และ ‘ดงสมอ’ ให้ผมด้วย สถานที่นี้มีอิฐรุ่นเก่าสมัยเขลางค์-หริภุญไชย ผมขอฝากสามเรื่องนี้ให้เป็นภาระแก่ลูกสาวลำปางช่วยสานต่อ”

ดิฉันน้อมรับภารกิจนี้ด้วยความเต็มใจ และภูมิใจยิ่งนักกับฉายาแสนน่ารัก “ลูกสาวลำปาง”