On History l ร่างทรง : หน้ากาก และบรรพชน ในศาสนาผี / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ร่างทรง

: หน้ากาก และบรรพชน ในศาสนาผี

 

ภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์ที่ร่วมทุนสร้างกับเกาหลีใต้อย่าง “ร่างทรง” จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ประเทศไทย วันที่ 28 ตุลาคมนี้ ซึ่งก็หมายความว่าหนังเรื่องที่ว่าจะเข้าโรงก่อนที่ข้อเขียนชิ้นนี้จะถูกตีพิมพ์ออกมาแล้วนะครับ

เนื้อเรื่องย่อๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ตรงตามชื่อเรื่องคือ เป็นเรื่องของ “ร่างทรง” ที่สืบทอด “องค์” ของอะไรที่ในเรื่องเรียกว่า “ย่าบาหยัน” ภายในสายตระกูลหนึ่ง โดยมีท้องเรื่องดำเนินอยู่ในจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสานของไทยเรานี่เอง

แต่จะมีเรื่องราวจะมีอะไรพลิกผัน หรือซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากไปกว่านี้หรือเปล่านั้น ก็คงต้องไปรับชมกันเองในโรงภาพยนตร์ เพราะเรื่องที่ผมอยากจะชวนคุยในที่นี้คือ การเข้าทรง โดยเฉพาะร่องรอยหลักฐานความเชื่อเกี่ยวกับการเข้าทรงในภาคอีสาน ไม่ได้มีเพียงการสืบทอดองค์กันทางสายตระกูลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเข้าทรงโดยการสวมหน้ากากด้วย

ใช่ครับใช่ ผมกำลังหมายถึง “ผีตาโขน” นั่นแหละ

 

ทุกวันนี้ “ผีตาโขน” ซึ่งเป็น “พิธีกรรม” โบราณ ที่กลุ่มชุมชนต่างๆ ภายในเขตพื้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เคยจัดกันอยู่แบบบ้านใครบ้านมันนั้น ได้กลายร่างเป็นงาน “เฟสติวัล” หรือ “เทศกาล” ประจำปีของอำเภอไปแล้ว แต่ร่องรอยต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่นั้น ก็ยังแสดงให้เห็นถึงเค้าเก่าในศาสนาผี ก่อนหน้าที่จะมีการยอมรับนับถือเอาพุทธศาสนาเข้ามาในชุมชน

งานบุญผีตาโขนจะจัดกันในเดือนเจ็ดหรือเดือนแปด ช่วงข้างขึ้น ภายในงานแบ่งออกเป็น 3 วัน

วันแรก ชาวบ้านจะร่วมกันสร้างหอพระอุปคุต (พระภิกษุองค์สำคัญในพุทธศาสนา ที่เคยมีชีวิตอยู่จริงช่วงสมัยพระเจ้าอโศก ราว พ.ศ.200-300) มีการกางร่มขนาดใหญ่วางไว้บนหอ และมีการนำกระทงเล็กๆ ไปวางไว้รอบหอทั้งสี่ทิศ

วันที่สอง จะอัญเชิญพระอุปคุตไปยังวัด โดยจะมีการจัดขบวนแห่พระอุปคุตอย่างสนุกสนาน มีการทำดนตรีบรรเลง การทำบั้งไฟต่างๆ

ผีตาโขนจะออกมาร่วมขบวนแห่กันตอนนี้นั่นแหละ นัยว่าพวกผีต่างๆ มาร่วมแห่พระอุปคุตไปส่งที่วัดนั่นเอง

และเมื่อไปถึงที่วัดแล้วก็จะมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นอันจบพิธีในวันนี้

ส่วนวันสุดท้าย ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญเผวด (อ่านว่า บุน-ผะ-เหวด) คือการทำบุญตักบาตร และร่วมฟังเทศน์มหาชาติ คือเรื่องของพระเวสสันดร (อันเป็นที่มาของคำว่า บุญเผวด) แต่จะมีการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนทั้งชายหญิงที่ล่วงลับไปแล้วด้วย

 

การที่มีลำดับพิธีการอย่างนี้จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีคำอธิบายในทำนองที่ว่า คำว่า “ผีตาโขน” นั้นเพี้ยนมาจาก “ผีตามคน” คือผีตามคนไปทำบุญที่วัด แต่มันจะเป็นอย่างนั้นไปได้อย่างไรเล่าครับ ในเมื่อยังมีชื่อเรียกผีตาโขนอีกอย่างหนึ่งว่า “ผีตาขน” ซึ่งแม้จะเป็นคำเรียกที่ไม่แพร่หลายนัก แต่ก็ไปพ้องกันกับประเพณีอีกอย่างหนึ่งของชุมชนที่อยู่ไม่ไกลออกไปคือ ประเพณี “ผีขนน้ำ” ที่บ้านนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย

ประเพณีผีขนน้ำนั้นเป็นขบวนแห่ที่มีการสวมใส่หน้ากากเป็นผี ไม่ต่างอะไรกับขบวนแห่ผีตาโขน แต่จัดกันในเดือนหกเพื่อ “เลี้ยงบ้าน” คือไหว้ “ผีเจ้าปู่” หรือ “ผีบรรพชน” ที่ช่วยคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และมีพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องในศาสนาผีล้วนๆ ดังนั้น จึงมักจะถูกอธิบายว่า เป็นคนละพิธีกันกับ “ผีตาโขน” ที่เป็นเรื่องของพุทธ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากลองตัดอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธในงานพิธีที่เกี่ยวข้องกับผีตาโขนทิ้งไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเหลือแค่ขบวนแห่ผีตาโขน (หรือผีตาขน), การจุดบั้งไฟ, การทำบายศรีสู่ขวัญ แถมยังมีการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ไม่ต่างไปจากจุดมุ่งหมายของประเพณีผีขนน้ำ ที่จัดขึ้นเพื่อเลี้ยงผีบรรพชน เพื่อความอุดมสมบูรณ์เลยสักนิด

 

ว่ากันว่า คำว่า “ผีขนน้ำ” แต่เดิมเรียกว่า “ผีขน” แต่เมื่อหลังจบพิธีมักจะมีฝนตกลงมา ชาวบ้านจึงพากันเปลี่ยนมาเรียกว่า ผีขนน้ำ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ส่วนที่เรียกว่า “ผีขน” มีคำอธิบายว่า เป็นเพราะผีเหล่านี้เป็น “วิญญาณ” (ที่ถูกคือ “ขวัญ” เพราะในศาสนาผีไม่มีวิญญาณ มีแต่ขวัญ) ของสัตว์จำพวกงัวควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังล่องลอยอยู่ตามที่พวกมันเคยอาศัย ชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงกระดึงของพวกมัน แล้วพบเห็นแต่ขน แต่ไม่พบตัว จึงเรียก ผีขน หมายถึง ผีขนงัว ผีขนควาย

แต่คำอธิบายนี้ใช้อธิบายชื่อ “ผีตาโขน” ไม่ได้ เพราะชาวบ้านที่ด่านซ้ายไม่ได้เชื่อมโยงผีตาโขนของพวกเขา เข้ากับงัวควาย หรือสัตว์หน้าขนชนิดอื่นๆ เลย

สิ่งที่ควรจะนำมาพิจารณามากกว่าจึงเป็นเรื่องของ “หน้ากาก” เพราะทั้ง “ผีตาโขน” และ “ผีขนน้ำ” นั้นเป็นขบวนแห่ที่ชาวบ้านสมมติตนว่าเป็นผีผ่านการสวมหน้ากาก (ประกอบกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ) ที่สำคัญก็คือกลุ่มคนทั้งที่ด่านซ้าย และเชียงคานนั้น ต่างก็เคลื่อนย้ายมาจากเมือง “หลวงพระบาง” ในประเทศลาว ซึ่งมีความเชื่อสำคัญเกี่ยวกับหน้ากากที่สัมพันธ์อยู่กับ “ผีบรรพชน” ด้วย

 

หน้ากากสำคัญของเมืองหลวงพระบางคือ หน้ากากของ “ปู่เยอ ย่าเยอ” ที่เก็บรักษาไว้ในหอปู่เยอ ย่าเยอ วัดอาฮาม ในเมืองหลวงพระบางนั่นเอง โดยในทุกวันสงกรานต์ของแต่ละปี จะมีการแห่ “ร่างทรง” ที่สวมหน้ากากของปู่เยอ ย่าเยอ ไปรอบเมือง นับว่าเป็นการประกอบพิธีเลี้ยงผี ปู่เยอ ย่าเยอ ในฐานะที่เป็นผีบรรพชน เทวดาหลวง ควบตำแหน่งผีอารักษ์ของหลวงพระบาง

ความในพงศาวดารล้านช้างเล่าว่า เมื่อครั้งที่ขุนบรมราชาธิราช หรือที่ลาวเรียก “ขุนบูลม” ต้นตระกูลของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท เพิ่งขึ้นครองราชย์ที่เมืองแถน (เมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนาม) ยังสร้างบ้านแปงเมืองไม่แล้วเสร็จ ก็เกิดเครือเขากาด คือเถาวัลย์ขนาดใหญ่สูงขึ้นหนึ่งโยชน์ ปกคลุมไปทั่วทั้งเมืองแถน จนหนาวเย็น ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน จนทำไร่นาไม่ได้ ขุนบูลมจึงสั่งให้คนไปโค่นเครือเขากาดทิ้ง แต่ก็ไม่มีคนทำสำเร็จ

ต่อมามีผู้เฒ่า 2 คน ชื่อเฒ่าเยอ กับเฒ่ายา ได้อาสาไปฟันเครือเขากาดทิ้ง โดยได้สั่งเสียไว้ว่า ถ้าพวกเขาตายไปให้เซ่นสรวงดวงวิญญาณของพวกเขา โดยก่อนจะกินอาหารหรือทำการอันใด ก็ขอให้เซ่นสรวงหรือบอกกล่าวก่อน

จากนั้นพวกเขาก็พากันไปตัดเครือเขากาดเป็นเวลา 3 เดือน 3 วัน จึงสำเร็จ แต่ทั้งคู่ก็สิ้นใจตายลงพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกับที่ตัดเถาวัลย์ยักษ์นี่ได้สำเร็จ

บรรดาผู้คนในเมืองแถนจึงพากันทำตามคำสั่งเสียของพวกท่าน โดยเซ่นสรวงเป็นผีบรรพชน และเทวดาอารักษ์ พร้อมกับตั้งชื่อเรียกว่า ปู่เยอ ย่าเยอ

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งถือว่าตนเองสืบสายมาจากขุนบุลม จะเซ่นสรวงหน้ากากของปู่เยอ ย่าเยอ ในฐานะของผีบรรพชน หรือเทวดาอารักษ์

และก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรเช่นกัน ถ้าผู้คนที่เคลื่อนย้ายตนเองมาจากหลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็นที่ด่านซ้าย ซึ่งมีขบวนแห่ผีตาโขน และเชียงคาน ที่มีขบวนแห่ผีขนน้ำ จะนำเอาประเพณีการเข้าทรงผีบรรพชนด้วยการสวมใส่หน้ากาก แล้วจัดขบวนแห่เพื่อเซ่นสรวงบูชาผีบรรพชนของพวกเขา เพื่อให้ช่วยคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และมีพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์

คำว่า “ขน” หรือ “โขน” ในที่นี้ จึงควรเกี่ยวข้องกับ “หน้ากาก” อันเป็นทั้งสัญลักษณ์ และเครื่องมือที่ใช้สำหรับในการเข้าทรง “ผีบรรพชน” ของพวกเขามากกว่าอย่างอื่นนั่นเอง