On History l ฮัลโลวีน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชายขอบจักรวาลคริสต์ศาสนา : ศาสนาผีของโลกตะวันตก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบจาก Alaskahighwaynews

 

ฮัลโลวีน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชายขอบจักรวาลคริสต์ศาสนา

: ศาสนาผีของโลกตะวันตก

 

เอาเข้าจริงแล้ว ที่เรียกกันว่า “ศาสนาผี” นั้น ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย หรืออุษาคเนย์เท่านั้นหรอกนะครับ แต่มีอยู่ทั่วไปทุกมุมของโลก ในกรณีของโลกตะวันตก และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก

พยานที่เห็นกันได้ชัดๆ ก็คืนปล่อยผี ที่เรียกว่า “วันฮัลโลวีน” (Halloween) นี่แหละ

คำว่า “Halloween” กร่อนมาจากคำว่า “All Hollows’-even” ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า “เย็นย่ำแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล” เพราะคำว่า “even” นั้นหมายถึง “evening” ที่หมายถึง “ยามเย็น”

แปลกันตามความหมายอย่างนี้แล้วจะดูผิดไปจากที่คนไทยเรามักจะนึกภาพว่าเป็น “คืนปล่อยผี” ของพวกฝรั่ง แต่ที่จริงแล้วพี่ไทยเราก็ไม่ได้เข้าใจผิดไปหมดเสียทีเดียว เพียงแต่สาระที่สำคัญมันยังซับซ้อน และยอกย้อนมากกว่าที่มักจะเข้าใจกันต่างหาก

คริสต์ศาสนาถือว่าคนที่ตายไปแล้วจะไปรอวันตัดสินโลก คือไม่กลับมาเกิดอีก และคงไม่สามารถไปหลอกหลอนใครได้

“ผี” ในความหมายของฝรั่งจึงเป็น “ปีศาจร้าย” ที่มาคอยหลอกลวงดวงวิญญาณของมนุษย์ให้ตกไปสู่ขุมนรก ไม่ใช่คนที่ตายไปแล้ว (เช่นเดียวกับในศาสนาอิสลาม ถ้าใครเคยไปงานศพในศาสนาอิสลามแล้วก็จะพบว่า เขาไม่กลัวคนที่ตายไปแล้วเลย ท่านนอนสงบอยู่กลางบ้านท่ามกลางงานพบปะของญาติๆ ในขณะที่ชาวพุทธเราเข้าไปในงานก็ได้แต่ตัวสั่นไปด้วยความกลัว) เหมือนผีอย่างที่มักจะนึกฝันกันในโลกตะวันออกอย่างในปัจจุบันนี้

แต่ถ้าจะเป็นอย่างนั้นแล้ว ทำไมค่ำคืนที่มีการปลดปล่อยปีศาจที่ชั่วร้าย ให้ออกมาเพ่นพ่านไปไหนต่อไหนได้ จึงถูกเรียกว่า “เย็นย่ำแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล” ซึ่งมีความหมายไปในทางที่ดีมันเสียอย่างนั้น?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีร่องรอยสำคัญอยู่ที่ดั้งเดิมนั้น วันสำคัญของพวกฝรั่งก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปีต่างหาก

วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันที่พวกเพเกิน (Pagan, แปลตรงตัวว่าพวกนอกรีต แต่ในปัจจุบันมักจะมีความหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา) โดยเฉพาะพวกเคลต์ (Celt, กลุ่มชนโบราณ เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว ที่มีพื้นเพอยู่ในแถบประเทศไอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร และทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน) มีงานเฉลิมฉลองวันสำคัญตามความเชื่อของชาวเคลต์วันหนึ่งที่เรียกกันว่า “โสห์อิน” (Samhain)

คำว่า “โสห์อิน” เป็นภาษาไอริชโบราณ แปลว่า “สิ้นสุดแห่งฤดูร้อน” ซึ่งถือเป็นฤดูเก็บเกี่ยว วันโสห์อินจึงเป็นวันสิ้นสุดของการเก็บเกี่ยว ก่อนที่ความแห้งแล้งของฤดูหนาวจะมาเยือนไปด้วย

และจึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่ในอาณาบริเวณของพวกเคลต์จะเต็มไปด้วยพิธีเฉลิมฉลอง (ในชื่อที่ต่างๆ กันไป) เมื่อล่วงเข้าถึงวันโสห์อินดังกล่าว

ดังนั้น ที่จริงแล้ว “ฮัลโลวีน” จึงนับได้ว่าเป็น “คืนสุกดิบ” ของ “วันโสห์อิน” โดยเหตุผลก็อยู่ที่ชื่อเรียกวันฮัลโลวีนเองนั่นแหละ

แน่นอนว่า อะไรก็ตามที่ออกมาเพ่นพ่าน ในคืนก่อนหน้าช่วงเวลาพิเศษอย่างวันโสห์อินได้ พวกเคลต์ย่อมไม่นับว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย (ถึงอาจจะไม่ได้ให้แต่คุณ แถมยังให้โทษบ้าง แต่ก็เป็นเพราะเซ่นไม่ดี พลีไม่ถูก ไม่ต่างอะไรกับผีบรรพชนตามคติที่พบได้ทั่วไปในโลกตะวันออก) แต่ถูกนับว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างหาก

 

นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อนิโคลาส โรเจอร์ส (Nicholas Rogers) เคยอธิบายไว้ว่า เทศกาลฮัลโลวีนสืบทอดมาจากเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญของชาวโรมัน (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ เพเกิน พวกหนึ่งเพราะเป็นเทศกาลที่มีมาก่อนโรมันจะนับถือพระคริสต์) อย่างน้อยสองเทศกาล

หนึ่ง คือเทศกาลเฉลิมฉลองเทพี “โพโมนา” (Pomona) เทพีแห่งผลหมากรากไม้ตามความเชื่อของพวกโรม (ความเชื่อเกี่ยวกับเทพีโพโมนาในหัวของพวกฝรั่งมั่นคงพอที่จะทำให้ชาวฝรั่งเศสเรียก “แอปเปิ้ล” ว่า “pompe” ซึ่งชวนให้คิดไปถึงผลไม้สำคัญที่ใช้ฉลองในคืนฮัลโลวีนนอกเหนือไปจาก เจ้าหัวฟักทองที่เรียกว่า แจ็ก โอ แลนเทิร์น [Jack-O’-lantern] คือ ผลแอปเปิ้ลเชื่อม)

สอง คือเทศกาล “พาเรนตาเลีย” (Parentalia) ซึ่งก็คือเทศกาลบูชาบรรพชนของพวกโรม เรียกง่ายๆ ว่าคือ “วันสารท” แต่เทศกาลสารทของพวกโรมนี้ปกติจะเริ่มต้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ไม่ได้ตรงกับฮัลโลวีนในวันที่ 31 ตุลาคม หรือวันโสห์อินเมื่อ 1 พฤศจิกายน แต่อย่างใด

ความเชื่อเรื่องนี้ถูกผสมปนเปเข้ามาในภายหลัง โดยเฉพาะในช่วงรุ่งเรืองของคริสต์ศาสนา

ชาวคริสต์ได้ผนวกพิธีพื้นเมืองของพวกเพเกินเข้ามาในศาสนาของตนเอง ไม่ต่างอะไรไปจากการที่พวกเขาได้ผนวกเอาวันบูชาพระอาทิตย์เข้ามาเป็นวันประสูติของพระคริสต์ ที่รู้จักกันในชื่อของวันคริสต์มาสในสมัยหลังเช่นกัน

ศาสนาคริสต์มีความเชื่อในนักบุญ (Saint) ว่ามีเป็นจำนวนมาก และแต่ละวันในรอบปีก็มักจะตรงกับวันที่ระลึกถึงนักบุญองค์ต่างๆ โดยมีอยู่วันหนึ่งที่เรียกว่า “วันที่ระลึกถึงนักบุญทั้งมวล” (All Saints’ Day) ที่หมายถึงวันที่ระลึกถึงนักบุญทั้งหมดที่มีอยู่ตามชื่อเรียกของวันดังกล่าว

วันที่ระลึกนักบุญทั้งมวลดังกล่าว แต่เดิมจะฉลองกันทุกวันที่ 13 พฤษภาคม โดยเริ่มมีการฉลองมาตั้งแต่ พ.ศ.1152 แต่ต่อมาในสมัยของพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 4 (Pope Gregory IV) เมื่อปี พ.ศ.1378 ได้เลื่อนมาให้ตรงประจำกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกปี

และโทษฐานที่วันที่ 1 พฤศจิกายน นั้นตรงกับวันโสห์อิน ตามความเชื่อของชาวเคลต์ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเลื่อนวันออลเซนเดย์ออกมาให้ตรงกับวันดังกล่าว เป็นอิทธิพลของพวกเพเกิน (แม้จะมีบางท่านอธิบายว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดของพวกเยอรมันเก่าด้วยก็ตามที)

 

คริสต์ศาสนาจำเป็นต้องผนวกเอาความเชื่อ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพื้นเมืองเข้ามาเป็นของตนเอง ซึ่งวันโสห์อินก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดในความเชื่อของพวกเคลต์ จึงตกเป็นเหยื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ตามความเชื่อพื้นเมือง วันโสห์อินเป็นวันที่ประตูที่เชื่อมระหว่าง “โลกอื่น” กับ “โลกมนุษย์” ที่เราทั้งหมดอาศัยอยู่นี้ จะเปิดออกและเชื่อมเข้าหากัน จนทำให้สิ่งที่อาศัยอยู่ในอีกโลกหนึ่งสามารถข้ามผ่านมายังโลกของเราได้

ในขณะที่ คำว่า “pagan” เองก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า “paganus” ในภาษาละติน หมายถึง “ชาวบ้าน” หรือ “คนชนบท” โดยนัยยะแล้ว คำว่า “เพเกิน” จึงมีความหมายถึง “คนอื่น” หรือ “คนนอก” มาตั้งแต่ต้น

บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในศาสนาของพวกเพเกินที่อยู่บริเวณชายขอบ หรือโลกอื่น ที่ไม่ใช่ปริมณฑลความเชื่อของศาสนาคริสต์ที่แท้จึงเข้ามาเคาะประตูบ้าน ป้วนเปี้ยนอยู่ในโลกของชาวคริสต์ได้ (อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็หมายถึง “พลเมือง” หรือ “civilian” ได้เหมือนกัน)

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่โป๊ปเกรกอรี่ที่ 4 ท่านจะจิ้มเอา “วันออลเซนต์เดย์” ของชาวคริสต์ แล้วเลื่อนให้มาต้องตรงกันกับ “วันโสห์อิน” ของชาวเคลต์ ที่ถูกนับว่าเป็นพวกเพเกิน

และก็ไม่น่าแปลกอะไรเช่นกันที่ตามความเชื่อของชาวคริสต์ เจ้าปีศาจนอกรีตที่มีหัวเป็นฟักทองอย่าง แจ็ก โอ แลนเทิร์น กับภูตผีปีศาจตนอื่นๆ จะเข้ามาเพ่นพ่านในโลกมนุษย์ตามจักรวาลวิทยาของคริสต์ศาสนา ในค่ำคืนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล ที่เรียกว่า “ฮัลโลวีน” ได้

เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่ (คำนี้ย่อมมีระหว่างบรรทัดที่หมายถึง การมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าศาสนาใหม่ ซึ่งมักจะเป็นศาสนาที่ใหญ่กว่า และมีเงื่อนไขที่เป็นสากลมากกว่า) มักจะถูกลดบทบาทลงไปเป็น “ผี” (ซึ่งยังเฮี้ยน และสามารถให้คุณ ให้โทษแก่ศาสนิกในพื้นที่ หรือวัฒนธรรมนั้นๆ ได้อยู่ แม้ว่าจะเข้ารีตนับถือศาสนาใหม่แล้วก็ตาม) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกเรียกอย่างเหยียดว่าเป็น “คนนอก” หรือ “เพเกิน” ของจักรวาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใหม่อยู่เสมอ

วันฮัลโลวีน จึงเป็นร่องรอยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของศาสนาผีในโลกตะวันตก ที่ในกรณีนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้แตกต่างอะไรกันนักกับสถานะของศาสนาผีในโลกตะวันออก และโดยเฉพาะในไทย