ปริศนาโบราณคดี l สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ กับการอบรมเสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่

กับการอบรมเสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก

 

เมื่อช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ต้นปีที่ผ่านมา วันที่ 19 เมษายน (นับระบบใหม่ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ตามปฏิทินเกรกกอเรียน) หรือวันที่ 12 เมษายน (นับระบบเดิมตามปฏิทินจูเลียน) เมืองเชียงใหม่หรือนพบุรีศรีนครพิงค์ อดีตราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนามีอายุครบรอบ 725 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างโดยพระญามังรายในเดือนเมษายนปี พ.ศ.1839

เดิมนั้น สถานศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ต่างมีแผนการที่จะจัดงานเฉลิมฉลองให้แก่เมืองเชียงใหม่ในวาระอันสำคัญนี้อย่างเกริกตระการ ปรากฏว่าต้องมาประสบกับสถานการณ์ปิดเมืองด้วยวิกฤตโควิดอันสร้างความเจ็บปวดให้แก่แทบทุกวงการและทุกโครงการต้องหยุดชะงัก

ดับฝันดับอารมณ์ของนักวิชาการ ศิลปินทุกสาขา นักขับเคลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ต่างฝ่ายต่างเตรียมตัวจะจัดงาน 725 ปีเมืองเชียงใหม่ให้ยิ่งใหญ่อลังการลงโดยสิ้นเชิง

จนกระทั่งใกล้จะสิ้นปีพุทธศักราช 2564 อยู่รอมร่อ (อันที่จริงแนวคิดเรื่อง 725 ปีเมืองเชียงใหม่ ยังสามารถเฉลิมฉลองได้อีกสักระยะไปจนถึงกลางเดือนเมษายนปีหน้า) หน่วยงานต่างๆ พลันหมดไฟ บ้างก็หมดงบฯ เกินกว่าจะลุกขึ้นมาจัดงานอะไรให้แก่เชียงใหม่ในวาระพิเศษนี้ได้

สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ หรือใช้อักษรย่อว่า สสทน.ชม. ซึ่งมีเครือข่ายทั้งหมด 17 จังหวัดทั้งภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ในฐานะที่ดิฉันได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา

ดิฉันจึงได้เสนอโครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า “เสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก” ให้แก่คณะกรรมการบริหารของ สสทน.ชม. ซึ่งมี “คุณเชียรสงค์ ศรีสวัสดิ์” เป็นนายกสมาคมได้พิจารณา

โดยให้เหตุผลไปว่าเราเหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้นแล้ว ที่จะมีสิทธิ์ใช้สโลแกนหรือแบรนด์ “725 ปีเมืองเชียงใหม่” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และคงน่าเสียดายมากหากเราปล่อยให้วาระสำคัญนี้ผ่านเลยไป

ในนามของ สสทน.ชม. ซึ่งเป็นสมาคมหนึ่งที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนี้ สมควรจัดกิจกรรมอะไรบางอย่างบ้างไหม ที่กระตุ้นให้เกิดพลวัตต่อการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ ช่วงหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดอันรุนแรงที่ค่อยๆ ซาลงบ้างแล้ว

อันเป็นที่มาของโครงการที่ดิฉันโปรยหัวในบทความชิ้นนี้ “เสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก” คีย์เวิร์ดสำคัญอีกคำนอกเหนือจากตัวเลข 725 ปีแล้ว ผู้อ่านยังเห็นคำว่า “เสน่ห์เชียงใหม่” อีกคำหนึ่งด้วย

เจดีย์วัดป่าแดงมหาวิหาร

ทําไมต้องใช้คำนี้ คำว่า “เสน่ห์เชียงใหม่” หรือ Charming Chiang Mai (บ้างใช้ Chiang Mai Charming) เป็นคำที่เกิดขึ้นครั้งแรกจากการเสวนาในเวทีที่ สสทน.ชม. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมด้วยการเชิญผู้รู้ในวงการท่องเที่ยวมาระดมสมองหารือกันว่า ควรจะใช้คำใดหรือสโลแกนใดดีเพื่อนำมาเป็นแบรนด์ประชาสัมพันธ์ให้แก่เมืองเชียงใหม่ในวาระครบรอบ 725 ปี ที่พอพูดปั๊บ ฟังหนเดียวแล้ว “ใช่เลย!”

ถ้าจำไม่ผิดบุคคลสองคนแรกที่เป็นต้นคิด ประดิษฐ์คำคำนี้ขึ้นมานำเสนอต่อที่ประชุมคือ “คุณพนม มีสุข” อดีตนายก สสทน.ชม. ผู้ดำริโครงการนั่งสามล้อ-ตักบาตรพระรอบคูเมือง ขานรับสำทับด้วย “แม่ครูรำพัด โกฏแก้ว” นักขับเคลื่อนวัฒนธรรมแห่งบ้านม่อนฝ้าย

ทำให้ต่อมาเมื่อจังหวัดเชียงใหม่ต้องการคิดหาถ้อยคำที่ดูดีและดึงดูด เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเปิดเมืองเชียงใหม่เพื่อการท่องเที่ยว คล้ายกับโมเดลของ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นั้น

ก็ได้มีผู้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ว่า ควรใช้คำว่า “เสน่ห์เชียงใหม่” มากกว่าที่จะไปเลียนแบบคำว่า “เชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์”

เจดีย์วัดอุโมงค์

โครงการ “เสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก” ซึ่ง สสทน.ชม.ดำริจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลักๆ คือ

1.เพื่อให้มัคคุเทศก์และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เกิดการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ผ่านตัวอย่างชิ้นงานพระธาตุเจดีย์ที่อยู่ในวัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่

2. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมประชาสัมพันธ์แบรนด์ด้านการท่องเที่ยว “เสน่ห์เชียงใหม่” ของจังหวัดเชียงใหม่

3. เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับผู้มาเยือน และมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในวาระที่เชียงใหม่มีอายุครบ 725 ปี

เจดีย์วัดโป่งน้อย

รูปแบบของกิจกรรมคือ เป็นการจัดอบรม โดยดิฉันเป็นวิทยากร ภาคเช้าบรรยายให้ความรู้เรื่องแหล่งท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ที่มีเสน่ห์ ในวาระครบรอบ 725 ปีการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในปีพุทธศักราช 2564

ตามด้วยการบรรยายหัวข้อประวัติความเป็นมาของเจดีย์ที่สำคัญ 25 องค์ ทั้งด้านตำนานการก่อสร้าง และรูปแบบศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ในวัดต่างๆ ของเชียงใหม่ ที่ดิฉันคัดสรรและหยิบยกเป็นตัวอย่างขึ้นมาพรรณนาให้ผู้เข้าอบรมทราบที่มาที่ไปในทุกมิติ

ภาคบ่าย พาผู้เข้าอบรมไปทัศนศึกษาในพื้นที่จริง ดิฉันจะแนะนำถึงเทคนิควิธีการบรรยายว่าควรให้ข้อมูลอะไรแก่นักท่องเที่ยวบ้าง จึงจะเกิดความซาบซึ้ง เห็นคุณค่า เข้าใจและเข้าถึง “เสน่ห์ของเชียงใหม่” อย่างแท้จริง

พื้นที่ที่ใช้ในการสาธิตบรรยายนำชม กอปรด้วย วัดป่าแดง วัดอุโมงค์ วัดโป่งน้อย และวัดร่ำเปิง ในเขตเทศบาลตำบลสุเทพ ซึ่งเทศบาลตำบลสุเทพเองก็ยินดีเป็นเจ้าภาพร่วมในการบริการรถราง เช่นเดียวกับ “เขียวสวยหอม” ก็สนับสนุนรถรางอีก 1 คัน

กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกเหนือจากสมาชิกของสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังประกอบด้วยมัคคุเทศก์ (มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าอบรมคือมัคคุเทศก์) ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว บริษัททัวร์ พระภิกษุ สื่อมวลชน นักศึกษา ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ฯลฯ

จากเดิมกำหนดจำนวนผู้เข้าอบรมเพียง 30 คน ต่อ 1 รุ่น (รุ่นละ 1 วัน) แต่ครั้นเมื่อเปิดรับสมัครทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของดิฉันเพียงแค่คืนเดียว ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจอย่างล้นหลามมากเกินกว่า 300 คน จนต้องรีบประกาศปิดรับสมัครในวันรุ่งขึ้นทันที

และต้องขยายการจัดกิจกรรมจาก 2 รุ่น (หรือ 2 รอบ) รุ่นละ 30 คน มาเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 40 คน รวม 160 คน

เจดีย์วัดร่ำเปิง

คณะผู้จัดขอสารภาพว่า แม้กระนั้นก็ยังมิอาจตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประสงค์จะร่วมโครงการได้อย่างทั่วถึง จึงต้องกราบขอประทานอภัยต่อทุกท่านที่ให้ความสำคัญแก่กิจกรรม อุตส่าห์ลงชื่อสมัคร ทว่าต้องพลาดสิทธิ์เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ด้วย

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า คนในวงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมัคคุเทศก์นั้น มีอาการ “อั้น” ต่อโอกาสที่จะได้รับการอบรมข้อมูลเชิงลึกด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โบราณสถานมานานเหลือเกินแล้ว นับแต่การค่อยๆ หายไปของนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่เคยหลั่งไหลมาเยือนเมืองเชียงใหม่ในยุคทองช่วง 2-3 ทศวรรษก่อน

ประกอบกับเมื่อมีกิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้แก่มัคคุเทศก์ในรอบหลายปีที่ผ่านๆ มาคราใด สังเกตว่าผู้จัดแต่ละองค์กรมักมุ่งเน้นไปที่หัวข้อเหล่านี้ …การเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวหากเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก …เชียงใหม่เมือง Creative City …การเป็นเจ้าบ้านที่ดีในช่วงวิกฤตโควิด เป็นต้น

หัวข้อส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ “สถานการณ์” หรือ “กระแส” ของเหตุการณ์ปัจจุบัน มากกว่าที่จะเปิดพื้นที่ต่อการให้ข้อมูลเชิงลึก อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่มัคคุเทศก์เวลาต้องเผชิญหน้ากับนักท่องเที่ยวที่รู้จริง รู้ลึก รู้รอบมาพอตัวแล้ว และต้องการต่อยอดเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายจากคนในพื้นที่

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม “เสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก” ที่ดิฉันและ สสทน.ชม.ได้จัดขึ้นนั้น สามารถติดตามรับชมคลิปวิดีโอได้ หลังวันที่ 8 พฤศจิกายน ศกนี้เป็นต้นไปค่ะ

และนอกจากนี้แล้ว คณะผู้จัดยังมีแผนการจะนำเสนอเสน่ห์ของเชียงใหม่ในแง่มุมต่างๆ อีกมากมายหลายมิติ อาทิ “เสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี : 25 สุนทรีย์แห่งพุทธปฏิมา” โปรดติดตามความเคลื่อนไหว