ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ทวงคืนหินอ่อนวิหารพาร์เธนอน
ระลอกแรกของ ‘คลื่นการปลดปล่อยอาณานิคม’
ในพิพิธภัณฑ์
เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมานี้ ลินา เมนโดนี (Lina Mendoni) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศกรีซ ได้เปิดเผยว่า องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะกระตุ้นให้มีการทวงคืนชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม และโดยเฉพาะประติมากรรมหินอ่อนประดับวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ที่อังกฤษได้ยึดจากประเทศกรีซมาจัดแสดงไว้ที่บริติช มิวเซียม (ฺBritish Museum) กลับคืนสู่ประเทศกรีซ
พาร์เธนอนนั้นถือกันว่าเป็นวิหารสำคัญที่สุดของวัฒนธรรมกรีกโบราณ และถูกนับเป็นทั้งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมกรีกโบราณ, ประชาธิปไตย และวัฒนธรรมยุโรปทั้งหมด
ตัววิหารสร้างขึ้นเมื่ออำนาจของเมืองเอเธนส์เกรียงไกรที่สุด ในช่วงประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงที่งานศิลปกรรมแบบดอริก (Doric order, งานศิลปะแบบเก่าที่สุด ในแบบศิลปกรรมทั้ง 3 ของวัฒนธรรมกรีก-โรมัน) ของกรีกอยู่ในจุดสูงสุดด้วย
ยิ่งเมื่อตัววิหารแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่เทพีแห่งปัญญา ควบตำแหน่งเทพีอารักษ์ของเมืองเอเธนส์ (เมืองหลวงของประเทศกรีซในปัจจุบัน พ่วงตำแหน่งเมืองเอกของวัฒนธรรมกรีกโบราณ) อย่างเทพีอาเธน่า (Athena) ด้วยแล้ว วิหารแห่งนี้ก็ยิ่งเป็นภาพแสดงของวัฒนธรรมกรีก แถมยังเป็นวัฒนธรรมกรีกในฐานะที่ถูกนับว่าเป็นต้นกระแสธารของวัฒนธรรมยุโรปทั้งหมด ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิหารพาร์เธนอนอย่างไม่ต้องเสียเวลาไปสืบอะไรเพิ่ม
แล้วจะให้ความภาคภูมิใจในระดับเพชรยอดมงกุฎของความเป็นกรีก ถูกยึดไปจัดแสดงไว้ที่บริติช มิวเซียม ได้อย่างไรกันเล่า?
แถมนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศกรีซพยายามจะทวงคืนชิ้นส่วนประติมากรรมหินอ่อนประดับวิหารพาร์เธนอน แต่มีการเรียกร้องที่จะทวงคืนอยู่เป็นระยะ
หนล่าสุดคือเมื่อ พ.ศ.2563 หรือเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในคราวนั้นก็มีกระแสข่าวทางกลุ่มประเทศ EU จะให้การสนับสนุนประเทศกรีซในการทวงคืนชิ้นส่วนของวิหารพาร์เธนอนเหล่านี้ เนื่องจากประเทศอังกฤษได้ทำการ “Brexit” คือแยกออกจากกลุ่มประเทศ EU ไปแล้ว
โดยประณามการขนย้ายชิ้นส่วนของวิหารดังกล่าวเหล่านี้ออกนอกประเทศกรีซว่า “การขนย้ายอย่างโหดเหี้ยม” (brutally removed) เลยทีเดียว
การขนย้ายชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินอ่อนจากวิหารพาร์เธนอนอย่างโหดเหี้ยมที่ว่านี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเรือน พ.ศ.2344-2348 ซึ่งตรงกับยุคล่าอาณานิคม
ในช่วงเวลาดังกล่าวจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman empire) ได้ครอบครองพื้นที่ประเทศกรีซอยู่ โธมัส บรู๊ซ ผู้มีศักดิ์เป็นเอิร์ลที่ 7 แห่งเอลกิ้น (the Seventh Earl of Elkin) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำจักรวรรดิออตโตมันในขณะนั้น ได้เป็นผู้เจรจานำเอาเหล่าชิ้นส่วนประติมากรรมหินอ่อนที่ใช้ประดับวิหารแห่งนี้ออกมาไว้ในสหราชอาณาจักร (พร้อมกับโบราณวัตถุจากวิหารอื่นๆ ในกรีซ) ก่อนที่จะถูกนำเข้าไปเก็บรักษา และจัดแสดงที่บริติช มิวเซียม ในเวลาต่อมา
(ดังนั้น หลายครั้งจึงมีการเรียกกลุ่มประติมากรรมจากวิหารพาร์เธนอนที่อยู่ในบริติช มิวเซียมเหล่านี้ว่า “หินอ่อนเอลกิ้น” [Elkin Marbles] เพราะท่านเอิร์ลแห่งเอลกิ้นคือ โธมัส บรู๊ซ เป็นผู้นำเข้ามาในอังกฤษนั่นเอง)
แต่โบราณวัตถุมีค่า ทั้งในแง่ของมูลค่า และคุณค่าทางจิตใจ จำนวนมหาศาลที่จัดแสดงอยู่ในบริติช มิวเซียม ไม่ได้มีแต่ที่นำมาจากประเทศกกรีซ แต่ยังมีที่นำมาจากสถานที่อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
บริติช มิวเซียม ตั้งอยู่ในเขตบลูมส์บิวรี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2296 โดยในช่วงเริ่มแรกเป็นสถานที่เก็บของสะสมของแพทย์ และนักธรรมชาติวิทยาเชื้อสายไอริช ผู้มีชื่อเสียงอย่างเซอร์ ฮันส์ สโลน (Sir Hans Sloane, พ.ศ.2203-2296) แต่ได้เปิดให้บริการแก่สาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2302
ในช่วงเริ่มแรกที่บริติช มิวเซียมเปิดให้บริการแบบเป็นสาธารณะนั้น ก็ได้เพิ่มเติมบรรดาข้าวของมีค่าและโบราณวัตถุต่างๆ เข้ามาอีกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของต่างๆ ที่นักสำรวจชื่อดังของโลกอย่างกัปตันเจมส์ คุก (James Cook, พ.ศ.2271-2322) สำรวจได้มาจากทะเลใต้, โบราณวัตถุ (และบางส่วนของโบราณสถาน) ของกรีก-โรมัน ที่อดีตทูตชาวอังกฤษ ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องของการสะสมของกรีกและโรมัน ซึ่งเคยไปประจำอยู่ที่เมืองเนเปิล ในประเทศอิตาลีปัจจุบันนี้อย่างเซอร์ วิลเลียม ฮามิลตัน (Sir William Hamilton, พ.ศ.2273-2346) ขายให้
รวมไปถึงโบราณวัตถุจำนวนมากจากอียิปต์ และซูดาน ที่พวกอังกฤษไปได้มาจากสงครามที่เรียกกันว่า “ยุทธภูมิแห่งแม่น้ำไนล์” ที่มีฝรั่งเศสเป็นคู่รบในช่วง พ.ศ.2341 อีกด้วย
พูดง่ายๆ ว่า ศิลปะและโบราณวัตถุในมิวเซียมแห่งนี้ ได้มาจากสิ่งที่เรียกว่า “การขนย้ายอย่างโหดเหี้ยม” ในยุคล่าอาณานิคมแทบจะทั้งนั้น โดยในปัจจุบัน บริติช มิวเซียม มีคอลเล็กชั่นในครอบครองมากกว่า 13 ล้านชิ้น แถมยังเป็น 13 ล้านชิ้นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งยวดแทบจะทั้งหมด
การจัดแสดงของในมิวเซียม หรือที่เรียกในโลกภาษาไทยว่า “พิพิธภัณฑ์” แบบที่นำเอาของที่ถือว่าดี ถือว่าคลาสสิค อย่างของกรีก-โรมัน ที่มักจะถือกันว่าเป็นต้นกระแสธารของวัฒนธรรมยุโรปทั้งหมด และข้าวของวัฒนธรรมโบราณที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ หรือเมโสโปเตเมียของบริติช มิวเซียมนั้น ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการแสดงถึงอำนาจในการจัดการหนึ่งในอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
การแสดงความมีอำนาจที่ว่า ก็ย่อมหมายถึงการประกาศศักดาเหนือดินแดนบริเวณที่มีอารยธรรมอียิปต์โบราณ และเมโสโปเตเมียเป็นพี่เต้ย อย่างดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามลำดับ
และก็ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่า ทั้งสองภูมิภาคดังกล่าวก็ถูกบรรดาชาติเจ้าอาณานิคมจากยุโรปรุมทึ้งแย่งชิงกันในสมัยอาณานิคมรุ่งเรือง ซึ่งก็คือช่วงคาบเกี่ยวกับที่มีการจัดแสดงโบราณวัตถุเหล่านี้ในบริติช มิวเซียม นั่นเอง
อำนาจเหนืออารยธรรมเหล่านี้จึงเป็นคำเตือน และการแสดงความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนของอารยธรรมเหล่านั้นด้วยอะไรที่ในยุคสมัยนั้นเรียกว่า “ภารกิจของคนขาว” ไปโดยปริยาย
ภารกิจของคนขาว มีที่มาจากแนวคิดในการมองผู้คนผิวสีอื่น ไม่ว่าจะเหลือง หรือว่าจะดำ เป็นอนารยชน, อันที่จริงแล้วในหลายครั้ง คนขาวหรือฝรั่งเหล่านี้ก็มองคนผิวสีอื่นแทบจะไม่ต่างไปจากสัตว์เลยทีเดียว, ที่ยังไม่เจริญอย่างพวกของตนเอง พวกคนขาวจึงอ้างว่า การทำให้คนผิวสีอื่นมีอารยะ ด้วยการเข้าไปยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติ และดินแดน รวมถึงทำการปกครองบุคคลเหล่านั้นเป็นภารกิจของพวกตนเอง เพื่อที่จะทำให้ผู้คนผิวสีอื่นมีอารยะขึ้นมานั่นเอง
อังกฤษเองก็ดูจะรู้ซึ้งกับชนักปักหลังของตนเองในข้อนี้ดีเลยทีเดียว ดังนั้น ในขณะที่ยูเนสโกและกรีซเรียกร้องให้เรื่องราวของการทวงคืน “หินอ่อนเอลกิ้น” จากวิหารพาร์เธนอนเหล่านี้ เป็นวาระที่ต้องมี “คณะกรรมการรัฐบาลระหว่างชาติที่เกี่ยวข้อง” (Intergovernmental Committee) เป็นผู้ตัดสิน รัฐบาลอังกฤษกลับผลักให้เป็นเรื่องของบริติช มิวเซียม ไม่ใช่ภาระของรัฐบาล หรือวาระแห่งชาติใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ทางฝั่งของกรีซเองก็แสบพอที่จะยกประเด็นเรื่องวิธีการจัดแสดงของทางบริติช มิวเซียม ว่ามีการจัดแสงที่ไม่เหมาะสม
ในวันที่โลกอยู่ในกระแส “ปลดปล่อยอาณานิคม” (decolonization, ซึ่งฝั่งกรีซและยูเนสโกเองก็หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาใช้อย่างชัดเจน) บางทีบรรดาอดีตชาติเจ้าอาณานิคมน้อยใหญ่ รวมถึงชาติที่เป็นเจ้าอาณานิคมภายในอย่างสยามประเทศไทย คงต้องเตรียมพร้อมคืนทรัพย์สมบัติมีค่าที่ไป “ขนย้ายอย่างโหดเหี้ยม” ของคนอื่นเขามา
เพราะว่าปรากฏการณ์ทวงคืนประติมากรรมหินอ่อนประดับวิหารพาร์เธนอนในครั้งนี้ ยังเป็นเพียงแค่คลื่นระลอกแรกเท่านั้น ที่ตามมาน่าจะมีอีกเพียบเลยแหละ