On History : พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ‘ไม้เรียวหวดฟ้า’ ของสมเด็จช่วง?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

‘ไม้เรียวหวดฟ้า’ ของสมเด็จช่วง?

 

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า สมเด็จช่วง) เคยกราบทูลขอให้รัชกาลที่ 5 เปลี่ยนแบบ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” ที่เดิมจะสร้างเป็นอาคารแบบฝรั่งทั้งหลัง ให้กลายเป็นอาคารแบบฝรั่งแต่มียอดปราสาท ตามแบบสิ่งปลูกสร้างจารีตดั้งเดิมของสยาม จนได้ชื่อว่าเป็น “ฝรั่งสวมชฎา”

แน่นอนว่า ข้ออ้างสุดคลาสสิคที่ใครต่อใครพากันบอกว่า ที่สมเด็จช่วงกราบทูลทัดทานไว้อย่างนั้น เป็นเพราะอ้างว่าการสร้างพระที่นั่งเป็นตึกฝรั่งนั้นเป็นการลบล้างโบราณราชประเพณี จึงมีการรอมชอมกันด้วยการสร้างยอดปราสาทเอาไว้ข้างบนของอาคาร

แต่การรอมชอมดังกล่าวก็ดูจะไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก ในแง่ของผลลัพธ์จากการผสมผสานศิลปะไทยกับศิลปะตะวันตกเข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นพระที่นั่งองค์นี้

ดังปรากฏหลักฐานในคำบอกเล่าของ หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ ในหนังสือชื่อ “ป้าป้อนหลาน” ซึ่งอ้างถึงความเห็นที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มีต่อพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเอาไว้ว่า

“เสดจปู่ (หมายถึง เจ้าฟ้านริศฯ) รับสั่งว่าดีพระทัยที่ได้มีโอกาสทรงอำนวยการซ่อมพระที่นั่งจักรี ด้วยรำคาญทรวดทรงของเก่าอยู่ว่าน่าจะทำให้ดีกว่านั้น ท่านรับสั่งเมื่อแรกทำ ช่างฝรั่งก็ทำในส่วนของตนให้งดงามตามแบบฝรั่งไป ช่างไทยก็คิดทำเครื่องบนให้งดงามอ่อนช้อยตามแบบศิลปกรรมไทไป ไม่ได้คิดประสมประสานว่างานจะต้องต่อเนื่องกัน พอยกขึ้นไปต่อกัน ข้างล่างเป็นก้อนมลึกทึก ส่วนบนทำแบบเรียวแหลมบาง อย่างที่เรียกว่า ‘ไม้เรียวหวดฟ้า’ ทำให้ข่มกันน่าเกลียด ครั้งนั้นจึงทรงออกแบบทรวดทรงเครื่องยอดพระที่นั่งจักรีเสียใหม่ ให้อ้วนสั้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สมเด็จช่าง” อย่างเจ้าฟ้านริศฯ (และน่าจะรวมถึง “เจ้า” พระองค์อื่นๆ ด้วย) ไม่ได้รู้สึกปลาบปลื้มอะไรเลยสักนิด กับยอดปราสาทของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า ส่วนยอดของปราสาทที่ว่านี้ ถูกคำทัดทานจากสมเด็จช่วงจนทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ “หลังคากลมฐานเหลี่ยม” (Mansard) ในพิมพ์เขียวเดิมที่จะใช้ในการก่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้ ซึ่งสถาปนิกชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า จอห์น คลูนิช (John Clunish) เป็นผู้ออกแบบเอาไว้

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราก็ไม่อาจจะแน่ใจได้นักว่า ที่เรียก “ไม้เรียวหวดฟ้า” นั้นหมายถึงยอดปราสาทที่สูงชะลูดเหมือนไม้เรียวยื่นขึ้นไปบนฟ้าเท่านั้น หรือจะมีความหมายเชิงนัยยะอย่างอื่น? โดยเฉพาะเมื่อพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2419 ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งบารมีของสมเด็จช่วงกำลังยิ่งใหญ่คับประเทศสยาม

 

เสียงซุบซิบนินทาเกี่ยวกับ “สมเด็จช่วง” ที่เกี่ยวข้องกับ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” ก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้หรอกนะครับ เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนในหนังสือที่ชื่อ “โครงกระดูกในตู้” เอาไว้ว่า

“เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยา (ช่วง) ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีบุญวาสนามาก วันหนึ่งมีฝรั่งเอาแคตาลอกโคมระย้าไปให้ดู มีรูปโคมระย้าทำด้วยแก้วเจียระไน สวยงามแพรวพราวมาก ฝรั่งบอกว่าโคมอย่างนี้ผู้มีเกียรติ์สูงและมีอำนาจวาสนามากในเมืองฝรั่งจึงจะใช้ติดเพดานตึกได้

ในเมืองไทยก็เห็นมีแต่เจ้าคุณเท่านั้นที่มีบุญวาสนาและอำนาจราชศักดิ์พอที่จะมีโคมแบบนี้แขวนบนตึกที่บ้านได้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านดูรูปโคมแล้วก็ถูกใจ เพราะสวยงามหรูหราสมกับบุญวาสนาท่านจริงๆ ท่านก็ตกลงกับฝรั่งให้สั่งเข้ามา เสียเงินให้ฝรั่งไปเป็นพันๆ ชั่ง

อีกหลายเดือนต่อมาเรือที่บรรทุกโคมระย้าจากยุโรปก็มาถึง เรือมาจอดที่หน้าท่าบ้านท่าน ที่เรียกว่าบ้านสมเด็จฯ เดี๋ยวนี้พอดี พอจัดการขนโคมระย้าขึ้นท่ามาได้ก็ปรากฏว่าโคมนั้นมีขนาดใหญ่โตเหลือเกิน เข้าประตูหน้าบ้านท่านก็ไม่ได้

ถ้าจะเอาเข้าก็ต้องรื้อกำแพงบ้านลง และถึงจะเอาเข้ามาภายในบ้านได้แล้ว จะเอาโคมขึ้นตึกก็ไม่ได้ เพราะเข้าประตูไม่ได้อีก และถึงจะรื้อกำแพงตึกเอาขึ้นไปให้ได้ ก็ไม่มีที่จะแขวน หากแขวนที่ห้องใดห้องหนึ่งโคมนั้นก็จะห้อยลงมาถึงพื้นห้อง เป็นอันว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถูกฝรั่งต้มเสียสุก ท่านหมดปัญญาเข้าท่านก็เลยสั่งให้ปลูกโรงมุงจากไว้ริมตลิ่ง เอาซุงปักเป็นเสารับคานไม้ซุงแล้วเอาโคมระย้าแขวนเก็บไว้ที่นั่นหลายปี

พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านก็เข้าเป็นเจ้ากี้เจ้าการมาก แต่เดิมพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างหลังคาพระที่นั่งเป็นแบบฝรั่ง เพราะพระที่นั่งทั้งองค์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านทรงเอะอะไม่ยอม ขอพระราชทานให้สร้างเป็นหลังคาแบบไทย ยกยอดปราสาท ก็โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของสมเด็จเจ้าพระยาฯ

ท้องพระโรงกลางบนพระที่นั่งจักรีฯ อันเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกรับเอกอรรคราชทูตประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนี้นั้น สมเด็จเจ้าพระยาท่านเข้าไปเก้กังคอยดูแลเรื่องส่วนยาวส่วนกว้างส่วนสูงให้ถูกใจท่านมากที่สุด พอพระที่นั่งจะเสร็จท่านก็ให้หามเอาโคมระย้าใหญ่จากโรงริมตลิ่งเข้าไปน้อมเกล้าฯ ถวาย ให้ติดบนท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีฯ โคมนั้นยังติดอยู่จนทุกวันนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านรื่นเริงเบิกบานมากในครั้งนั้น”

 

ความมันก็น่าจะเป็นอย่างที่คุณชายคึกฤทธิ์ท่านว่าไว้แหละนะครับ ถ้าผู้สนใจในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของสกุลบุนนาคอย่างพิทยา บุนนาค (ผมคงไม่ต้องบอกว่าทำไมคุณพิทยาจึงสนใจประวัติศาสตร์ของสกุลบุนนาคเป็นพิเศษ) ไม่ไปค้นพบข้อมูลจากชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า ลูเซียง ฟูร์เนอโร (Lucien Fournereau) ระบุว่า แชนเดอเรีย หรือโคมระย้าในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น เคยจัดแสดงอยู่ที่แผนก Baccarat ในงานแสดงสินค้าโลกเมื่อ พ.ศ.2421 พร้อมกับเชิงเทียนที่เป็นชุดเดียวกันอีกสองชิ้น เครื่องแก้วทั้งสามชิ้นนี้บริษัทเยอรมันแห่งหนึ่งได้ซื้อไป และขายให้แก่พระเจ้ากรุงสยาม

ถ้าเชื่อตามนายฟูร์เนอโร ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ “Bangkok in 1892” (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2437) ก็จะไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสมเด็จช่วง กับโคมระย้าดังกล่าว แถมยังชวนให้คิดถึงความรู้สึกไม่สู้ดี ที่บรรดาเชื้อพระวงศ์มีต่ออำนาจของสมเด็จช่วงในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 พร้อมกับที่ชวนให้สงสัยด้วยว่า สมเด็จช่วงท่านเห็นว่าการสร้างพระที่นั่งด้วยตึกฝรั่งนั้น ผิดโบราณราชประเพณีจริงๆ หรือเปล่า ในเมื่อในช่วงสมัยนั้น มีตึกฝรั่งเข้ามาปะปนอยู่ในสิ่งปลูกสร้างตามธรรมเนียมไทยประเพณีเต็มไปหมดแล้ว?

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ พ.ศ.2412 รัชกาลที่ 5 ได้สถาปนาวัดราชบพิธ เป็นวัดประจำรัชกาล ก็เป็นไทยประเพณีปนฝรั่ง แถมวัดที่สมเด็จช่วงเป็นผู้สร้างเองก็คือ วัดศรีสุริยวงศ์ ที่เมืองราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2417 นี่ก็เป็นฝรั่งเสียยิ่งกว่าวัดที่เจ้าเป็นผู้สร้างเสียอีก

ที่สำคัญก็คือ “หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์” ซึ่งรัชกาลที่ 4 ให้สร้างไว้เก็บพวกเครื่องราชบรรณาการฝรั่ง และใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตอนระหว่างช่วง พ.ศ.2397-2402 นี่ก็คือหมู่ตึกฝรั่งที่สร้างเป็นพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง

แถมใน “ประกาศเทวดาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ซึ่งก็คือประกาศของรัชกาลที่ 4 ที่ว่าด้วยสาเหตุการสร้างหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์นั้น ยังบอกไว้ชัดๆ เลยด้วยว่า ต้องสร้างหมู่พระที่นั่งเป็นตึกแบบฝรั่งเพื่อแสดงความศิวิไลซ์

หมายความว่า มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างแบบตะวันตก เพื่อใช้เป็นพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว แถมยังไม่ได้มีแค่องค์เดียว แต่มีถึง 13 องค์ อีกต่างหาก

ดังนั้น ถ้ารัชกาลที่ 5 จะสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นตึกฝรั่ง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น การที่สมเด็จช่วงอ้างว่า ผิดโบราณราชประเพณีต่างหากที่เป็นเรื่องแปลก

บางทียอดแหลมๆ ของปราสาท บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น ก็อาจจะเป็น “ไม้เรียว” ที่ใช้หวด “ฟ้า” จริงๆ นั่นแหละครับ