ปริศนาโบราณคดี : 100 ปีชาตกาล นักประวัติศาสตร์ล้านนา ‘อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์’ (1)

 

 

100 ปีชาตกาล

นักประวัติศาสตร์ล้านนา

‘อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์’ (1)

 

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ เป็นนักประวัติศาสตร์ล้านนารุ่นบุกเบิกที่ฝากผลงานไว้มากมาย หากยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี เนื่องจากท่านถือกำเนิดในวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2464 แถวประตูท่าแพ ใกล้วัดมหาวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์

เมื่อวันพุธที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ดิฉันและคณะประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร (นามสกุลจริง ดอกบัวแก้ว) กวี-นักจารึกล้านนา และนายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาปีที่ 1 วิชาเอกประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์อัตชีวประวัติและผลงานของอาจารย์สงวนจากลูกสาวของท่านชื่อ “คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์”

เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อรำลึกถึงนักประวัติศาสตร์ล้านนาท่านนี้ในปีหน้าช่วงวันเกิดของท่าน ณ บ้าน “วรรณกรรมล้านนา” เลขที่ 4/1 หมู่ 5 บ้านท่าวัง เยื้องวัดพระนอนขอนตาล ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับทายาท ทำให้เราทราบว่า อาจารย์สงวนเป็นบุตรลำดับที่ 2 ในบรรดา 6 คนของ “ขุนโชติศุขรัตนากร” (นามสกุลพระราชทาน “สุขรัตน” (Sukharatna) สกุลนี้สืบเชื้อสายมาจากนายร้อยเอก ขุนฤทธิราวี (แก้ว) ประจำกองทัพที่ 1 กับนายสุข สังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ของรัชกาลที่ 5)

ขุนโชติศุขรัตนากร และนางบุญรอด จันทนา บิดา-มารดาของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์

ขุนโชติฯ รับราชการสังกัดกรมสรรพสามิต ถิ่นฐานเดิมเป็นชาวสุพรรณบุรี มีเชื้อสายแขก ผิวคล้ำตาโต ต่อมาได้ย้ายมาประจำการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงพบรักกับนางบุญรอด จันทนา ชาวอำเภอแม่แตง ผู้เป็นมารดาของอาจารย์สงวน

คุณแม่บุญรอดเคยไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผ่านการสมรสกับชาวต่างชาติมาก่อนแล้ว และมีลูกชายหนึ่งคนซึ่งคุณพันธุ์นพิต ผู้ให้สัมภาษณ์เรียกว่า “ลุงลี่” เป็นลูกครึ่ง ถือว่าลุงลี่มีศักดิ์เป็นพี่ชายต่างบิดาของอาจารย์สงวน ทำให้อาจารย์สงวนมีความสนใจในด้านภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเยาว์

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาจารย์สงวนเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนใด ทราบกันแต่ว่าเรียนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งความรู้ของคนยุคก่อนถือว่าสูงมากแล้ว เพราะยังไม่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์

หลังจากเรียนจบ ม.8 (ปัจจุบันคือ ม.6) นายสงวนได้บรรจุเป็นครูบนดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ขุนโชติฯ บิดาแนะนำว่าอยากให้ลูกชายรับข้าราชการ มีความมั่นคงจะได้ไม่ลำบาก

คุณพันธุ์นพิตกล่าวว่า ไม่ทราบแน่ชัดนักว่าอาจารย์สงวนใช้ชีวิตแห่งการเป็นครูดอยอยู่นานกี่ปี ทราบแต่ว่าช่วงนั้นอาจารย์สงวนได้แต่งงานครั้งแรกกับสตรีที่เรียกกันว่า “แม่นาง” ด้วยความไม่คาดฝัน แม่นางต้องมาเสียชีวิตพร้อมลูกในท้องขณะคลอด ยังความโศกเศร้ามาสู่อาจารย์สงวนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มิอาจทนใช้ชีวิตครูดอยอย่างเดียวดายได้ หลังจากรับราชการได้เพียงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น อาจารย์สงวนก็ลาออก

“คุณพ่อผันตัวเองมาเป็นนักข่าว ทำหนังสือพิมพ์ชื่อ ‘ถิ่นเหนือ’ ด้วยความภาคภูมิใจกับฉายาของฐานันดรที่ 4 โดยคุณพ่อได้รับทุนจากคุณปู่ (ขุนโชติฯ) ให้เปิดโรงพิมพ์ชื่อ ‘สงวนการพิมพ์’ เป็นทั้งเจ้าของโรงพิมพ์ เป็นทั้งคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุ คุณพ่อทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับด้านสื่อสารมวลชน ท่านสนุกกับการสัมภาษณ์ผู้คนมากมาย ทำงานในสายนักหนังสือพิมพ์ได้สักระยะ คุณพ่อนึกอยากได้ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์และวิธีการเขียนภาษาไทย จึงตัดสินใจมุ่งหน้าเดินทางไปกรุงเทพฯ เมื่ออายุประมาณ 35 ปี ใช้ชีวิตที่นั่นอีก 5 ปี จนแต่งงานกับภรรยาคนที่สองชื่อคุณป้าจำเรียง”

ที่กรุงเทพฯ อาจารย์สงวนได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของปราชญ์ใหญ่แห่งสยามในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน หรือเสฐียรโกเศศ จึงได้รับการฝึกฝนขัดเกลาด้านวิธีการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อีกทั้งได้รับความเมตตาจากบรมครูท่านนี้ด้วยการแนะนำหนังสือดีๆ ให้อ่าน

อาจารย์สงวนถ่ายรูปกับ “พระยาอนุมานราชธน” ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ

ในช่วงที่กำลังสนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่อย่างดำดิ่งนั้น อาจารย์สงวนได้เขียนหนังสือเรื่อง “ตำนานเมืองสยาม” ออกมา ครั้นเมื่อพระยาอนุมานราชธนได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าว ท่านให้คำแนะนำอันทรงคุณค่าต่ออาจารย์สงวนว่า

“จะมาเขียนทำไมเรื่องประวัติศาสตร์สยาม มีคนทำงานด้านนี้ตั้งเยอะแยะแล้ว ทำไมจึงไม่กลับไปค้นคว้าและเขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาดูบ้างเล่า แทบจะหาคนทำเรื่องนี้ไม่มีเลย”

 

ข้อแนะนำนี้มีพลานุภาพยิ่ง ถึงกับเปลี่ยนชีวิตของอาจารย์สงวน ให้พลิกเข็มทิศ เดินทางกลับมาเมืองเหนือเพื่อมุ่งมั่นทำโรงพิมพ์ต่อ เมื่อกลับมาล้านนาครั้งนี้ อาจารย์สงวนค่อยๆ ผันบทบาทของตัวเองจากการเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ไปสู่การเป็นปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเต็มตัว

เสริมสร้างความมั่นใจด้วยการแสวงหาบรมครูผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาศึกษาอย่างเอกอุ ณ ยุคสมัยนั้น

อาจารย์สงวนไปฝากตัวขอเป็นศิษย์กับพระมหาหมื่น วุฒิญาโณ ปราชญ์คนสำคัญแห่งวัดเจดีย์หลวง (เดิมคณะที่ท่านสังกัดแยกเป็นอีกวัดหนึ่งชื่อวัดหอธรรม) ผู้รวบรวมและปริวรรตคัมภีร์ใบลานจำนวนมหาศาล

ท่านที่สองคือ พระธรรมราชานุวัตร แห่งวัดพระสิงห์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ปราชญ์ล้านนาอีกรูปผู้จัดทำพจนานุกรมล้านนา-ไทย

บรมครูอีกหนึ่งท่านที่อาจารย์สงวนไปขอฝากตัวเป็นศิษย์คือ ครูบาหมู แห่งวัดเชียงหมั้น และจากนั้นอาจารย์สงวนก็ออกเดินทางเก็บข้อมูล ที่เป็นเอกสารชั้นต้นประเภทคัมภีร์ใบลานและปั๊บสาตามวัดต่างๆ ทั่วทั้ง 8 จังหวัดในล้านนาเพื่อนำมาศึกษา

“เมื่อไปถึงวัดแต่ละแห่ง คุณพ่อไม่เคยขอยืมเอาคัมภีร์ใบลานหรือเอกสารใดๆ ของวัดติดตัวกลับมาใช้งานที่บ้านเลย เพราะท่านกลัวบาป เกรงว่ากว่าจะหวนกลับนำไปคืนไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน จึงใช้วิธีอดทนเอา นั่งคัดลอกข้อความซึ่งส่วนใหญ่เขียนด้วยตัวอักษรธรรมล้านนาเฉพาะในส่วนที่ท่านสนใจ ใส่ลงสมุดบันทึก บางครั้งใส่กระดาษฟุลสแก๊ป อย่างหลังขดหลังแข็ง จากนั้นเมื่อกลับมาบ้าน ท่านจะนำตัวเขียนนั้นมาแปล หากติดขัดตรงไหน ท่านจะแวะเวียนไปขอคำปรึกษาหารือจากพระอาจารย์ทั้งสามท่านที่เอ่ยนามมาแล้วให้ช่วยตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง”

คุณพันธุ์นพิตกล่าว

คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์ ธิดาของอาจารย์สงวนผู้ให้สัมภาษณ์

เรื่องราวที่อาจารย์สงวนสนใจนั้นค่อนข้างกว้าง หลากเรื่องหลายรส เหตุที่ต้องนำเสนอในหนังสือพิมพ์รายวันด้วย ดังนั้น เนื้อหาต้องมีหลายมิติ ทั้งเรื่องราวตำนานและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ในขณะเดียวกันก็มีการบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัย หรือบุคคลสำคัญที่ท่านทันได้สัมผัสพูดคุย อาทิ เรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปี พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระสุนทรพจนกิจ (กวีล้านนา) เป็นต้น

เมื่อเทียบกับการจากโลกนี้ไปของอาจารย์สงวนด้วยวัยเพียง 54 ปี พบว่า 15 ปีสุดท้ายของชีวิต ท่านกรำงานหนักมาก สร้างผลงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เท่าที่ขณะนี้คุณพันธุ์นพิตรวบรวมมาได้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหลายร้อยบทความ มีทั้งที่เคยตีพิมพ์ในลักษณะรูปเล่มมาแล้ว และมีทั้งลายมือเขียน ซึ่งยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร กวี อดีตนักจารึกวิทยา แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงช่วงที่เขายังทำงานเป็นข้าราชการว่า

“ในห้องทำงานของอ้ายนั้นมีหนังสือที่เขียนโดย ‘อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์’ เต็มตู้หนังสือทั้งสองใบ โดย ดร.เกษม บูรณกสิกร ท่านสนใจด้านนี้มาก ความที่เป็นนักมานุษยวิทยา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มช. ได้ควักทุนทรัพย์ส่วนตัวซื้อหนังสือจำนวนมากกว่า 30 เล่มของอาจารย์สงวนมาเก็บรวบรวมไว้ และยกหนังสือทั้งหมดให้แก่ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม มช.”

ข้อมูลนี้สอดคล้องต้องตรงกันกับคำสัมภาษณ์ของทายาทอาจารย์สงวน ซึ่งกล่าวว่า

“ตอนคุณพ่อเสีย ข้าเจ้าอายุเพียง 8 ขวบ เมื่อโตเป็นสาว คุณแม่ได้เล่าว่า มีสถานศึกษาสองแห่งมาขอซื้อหนังสือผลงานของคุณพ่อ ทั้งฉบับที่ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้ว และบางส่วนเป็นต้นฉบับลายมือเขียน เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ นั่นคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพายัพ ช่วงนั้นครอบครัวเราขาดเสาหลักเพราะสูญเสียคุณพ่อ คุณแม่อยู่ในสถานะยากลำบากมาก อีกทั้งต้องเร่ร่อนไปมา เกรงหนังสือทั้งหมดจะสูญหาย คุณแม่จึงตัดสินใจขายไป จนทำให้ที่บ้านเราไม่มีหนังสือต้นฉบับของคุณพ่อเลย”

กระทั่งต่อมาเมื่อคุณพันธุ์นพิตเริ่มรู้ความมากขึ้น เธอหยิบแฟ้มต่างๆ ของคุณพ่อสงวนมาพลิกดู ได้พบพินัยกรรมที่คุณพ่อเขียนไว้ในปี 2516 (สองปีก่อนเสียชีวิต) ถึงเธอผู้เป็นลูกสาวคนโต มีข้อความในทำนองว่า ขอฝากให้เธอช่วยดูแลรักษา “ลิขสิทธิ์” มรดกผลงานที่ท่านได้กลั่นกรองจากสมองมาทั้งชีวิต ด้วยการนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใหม่ อย่าได้ละขว้าง

“บ้านวรรณกรรมล้านนา” สถานที่เก็บรวบรวมผลงานของอาจารย์สงวน

อันเป็นที่มาของการที่คุณพันธุ์พนิตต้องออกเดินสายไปตามห้องสมุดต่างๆ เพื่อเสาะหาผลงานหนังสือของคุณพ่อสงวน ขอถ่ายสำเนา เธอได้พบว่ามีหนังสือบางเล่มถูกนำไปพิมพ์ใหม่ซ้ำอีกหลายครั้งโดยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์จากทายาท

“อาจเป็นเพราะหนังสือในช่วงบั้นปลายชีวิตของคุณพ่อไม่ได้ใช้ชื่อจริงก็เป็นได้ ข้าเจ้าเคยได้ยินคุณพ่อบ่นว่าท้อ น้อยใจต่อชะตาชีวิต ที่กรำงานหนัก แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ทำให้คุณพ่อลองหันมาใช้นามปากกาดูบ้าง เผื่อว่าชื่อใหม่จะช่วยทำให้ชีวิตของคุณพ่อรุ่งเรืองขึ้นมาบ้าง ท่านจึงใช้นามปากกาว่า ‘หนานเต๋จา’ ข้าเจ้าก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมต้องใช้ชื่อนี้ ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยบวชเป็นพระมาก่อน (คนล้านนาที่เคยบวชเรียนมาแล้วสึกจะถูกเรียกด้วยคำนำหน้าว่าหนาน) ทราบแต่ว่า ‘หนานเต๋จา’ เป็นชื่อเดิมของพญาปราบสงคราม ผู้ถูกจารึกในนาม ‘กบฏพญาผาบ’ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่”

เรื่องราวที่ไม่เคยมีใครบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ยังไม่จบ โปรดติดตามอ่านฉบับหน้า